7 อาชีพสายงานโรงงานมาแรง! สหรัฐฯ คาดอีก 8 ปีต้องการแรงงานพุ่ง 30%

7 อาชีพสายงานโรงงานมาแรง! สหรัฐฯ คาดอีก 8 ปีต้องการแรงงานพุ่ง 30%

ยุคใหม่ของสายงานโรงงานกำลังมาถึง! สหรัฐฯ เดินหน้าทุ่มลงทุนสร้างโรงงาน ดัน 7 อาชีพในสายงานเเหล่านี้โตพุ่งเกือบ 30% ภายในปี 2033 แต่อาจยังขาดแคลนแรงงานทักษะเฉพาะทาง

KEY

POINTS

  • สหรัฐฯ ทุ่มลงทุนโรงงานครั้งใหญ่ การลงทุนก่อสร้างโรงงานพุ่งแตะ 225,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากปี 2020 ทำให้สายอาชีพภาคการผลิตมีแนวโน้มเติบโตถึง 30% ในอีก 8 ปี
  • คาดว่าจะต้องการแรงงานในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องถึง 3.8 ล้านตำแหน่ง แต่หากไม่เร่งพัฒนาทักษะ อาจมีตำแหน่งว่างสูงถึง 1.9 ล้าน เพราะแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม
  • Gen Z เสี่ยงหลุดวงโคจรแรงงาน ในสหรัฐฯ มีคนรุ่นใหม่กว่า 4.3 ล้านคนที่ไม่เรียน ไม่ทำงาน และไม่ได้เข้าร่วมฝึกอบรม การสร้าง “ทางเชื่อม” ระหว่างทักษะกับโอกาสจึงกลายเป็นความท้าทายใหญ่ของตลาดแรงงานยุคใหม่

ไม่นานมานี้มีรายงานภาพรวมเกี่ยวกับอาชีพสายโรงงาน-ภาคการผลิตของ Deloitte คาดการณ์ระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ จะเติบโตเกือบ 30% ภายในปี 2033  โดยการลงทุนสร้างและขยายโรงงานพุ่งขึ้นเกือบ 3 เท่านับจากมิถุนายน 2020 และทะลุ 225,000 ล้านดอลลาร์ในมกราคม 2024 เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายในรัฐบาลทรัมป์ ยังส่งเสริมการลงทุนด้านนี้อย่างต่อเนื่อง

Deloitte ระบุว่าอุตสาหกรรมการผลิตจะต้องการแรงงานถึง 3.8 ล้านตำแหน่ง ภายใน 8 ปีข้างหน้า แต่ถ้าไม่แก้ปัญหาช่องว่างทักษะ อาจมีงานว่างกว่า 1.9 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ ซีอีโอของ Manufacturing Institute ชี้ว่า บริษัทต้องเน้นลงทุนในเทคโนโลยี ฝึกอบรม และดึงคนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบนิเวศแรงงานเพื่อรองรับการเติบโต

7 สายงานการผลิต ที่เติบโตเร็วและเงินดี ในช่วงนี้และอนาคตอันใกล้

ตามการวิจัยจาก Go Banking Rates และรายละเอียดจากสำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า โอกาสงานในสายงานโรงงาน-สายงานการผลิตเหล่านี้มีการเติบโตสูงและค่าตอบแทนสูง โดยสรุปออกมาได้ 7 อาชีพ ได้แก่ 

1. นักสถิติ
รายได้เฉลี่ยต่อปี 103,300 ดอลลาร์ (ราวๆ 3,400,000 บาทต่อปี) เติบโต +12% ซึ่งถือว่าโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยงานทั่วไป 3 เท่า 

2. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
รายได้เฉลี่ยต่อปี 112,590 ดอลลาร์ (ราวๆ 3,700,000 บาทต่อปี) เติบโต +36% เห็นได้ชัดเลยว่าเติบโตแรงกว่าอาชีพอื่นในกลุ่มสายงาน

3. นักโลจิสติกส์
รายได้เฉลี่ยต่อปี 80,880 ดอลลาร์ (ราวๆ 2,600,000 บาทต่อปี) เติบโต +19% เป็นสายงานที่ครอบคลุมถึงห่วงโซ่อุปทานงานโรงงานทั้งหมด

4. วิศวกร
รายได้เฉลี่ยต่อปี 102,000 - 155,000 ดอลลาร์ (ราวๆ 3,000,000 - 5,000,000 บาทต่อปี) ทั้งนี้รายได้ขึ้นอยู่กับสาขางานของวิศวกรด้วย เช่น วิศวกรฮาร์ดแวร์ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่าสาขาอื่นๆ 

5. ผู้จัดการระบบสารสนเทศ
รายได้เฉลี่ยต่อปี 171,200 ดอลลาร์ (ราวๆ 5,600,000 บาทต่อปี) เติบโต +17% ทำงานระดับสูงในด้านระบบ IT ของโรงงาน

6. นักพัฒนาซอฟต์แวร์
รายได้เฉลี่ยต่อปี 133,080 ดอลลาร์ (ราวๆ 4,400,000 บาทต่อปี) เติบโต +18%  แม้บางบริษัทปรับลดพนักงานออก แต่ในภาพรวมตลาดยังต้องการ

7. ช่างซ่อมบำรุง-ช่างเทคนิคโรงงาน
รายได้เฉลี่ยต่อปี 63,670 ดอลลาร์ (ราวๆ 2,100,000 บาทต่อปี) เติบโต +15% อาชีพนี้มีหน้าที่ดูแลเครื่องจักรมีความจำเป็นสูง

ช่องว่าง Gen Z อาจเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานหนัก แต่โอกาสเปิดกว้าง

ในขณะที่ตลาดงานยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับภาวะหลงทางมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลล่าสุดระบุว่า มีชาวอเมริกันรุ่น Gen Z (อายุประมาณ 16-24 ปี) กว่า 4.3 ล้านคน ที่ไม่ได้เข้าเรียนหนังสือ ไม่ได้ทำงาน และไม่ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมใด ๆ เลย ทำให้เกิดคำถามว่า งานในภาคการผลิตอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับอนาคตหรือไม่?

แม้งานบางตำแหน่งในอุตสาหกรรมการผลิตจะมีรายได้ดีและดูน่าสนใจ แต่อีกด้านก็ต้องการวุฒิการศึกษาระดับสูงและประสบการณ์การทำงานมาก่อน ทำให้เด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานอาจเข้าไม่ถึงงานเหล่านี้ ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เรื่องของการมี “งานเงินดี” เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของ “โอกาสเข้าถึง” โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะการจะเข้าถึงได้นั้น นอกจากต้องมีทักษะแล้ว ยังต้องมีความตั้งใจจริงด้วย

งานวิจัยของ Measure of America ซึ่งจัดทำโดย Social Science Research Council เรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า “ภาวะหลุดวงโคจร” (Disconnection) คือการที่ประชากรจำนวนมากหลุดจากระบบการเรียน การทำงาน และการฝึกอบรมโดยสิ้นเชิง สำหรับผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ การหาวิธีดึงคนเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบได้คือสิ่งสำคัญที่ตอบโจทย์คุณได้ เพราะแม้โอกาสในสายงานภาคการผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่การเชื่อมโยงทักษะของคนรุ่นใหม่ให้ตรงกับโอกาสเหล่านั้น ยังคงเป็นความท้าทายในการดึงดูดและรักษาคนทำงานให้ได้ในระยะยาว

วิธีแก้ปัญหาขาดแรงงานภาคการผลิต ต้องลงทุนฝึกอบรม สร้างเส้นทางอาชีพให้ชัด

ผู้นำองค์กร ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและศักยภาพของคนทำงานมากกว่าที่เคยเป็นมา ต้องเน้น "การฝึกอบรมทักษะ" เพื่อรองรับงานด้านการผลิตกำลังกลายเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ท่ามกลางกระแสที่หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของปริญญามหาวิทยาลัย ทักษะที่ใช้งานได้จริงกลับกลายเป็นสิ่งที่แรงงานยุคใหม่ต้องมี เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตก็ถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่กำลังได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ แต่แน่นอนว่าโอกาสใหม่ๆ เหล่านี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน ทุกฝ่ายต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง และสำหรับวัยทำงานยุคใหม่หลายคนอาจเกิดความลังเลใจ เพราะความเชื่อมั่นในตลาดแรงงานถูกสั่นคลอนอย่างหนัก ด้วยว่ายุคนี้พบว่ามีประกาศรับสมัครงานปลอม (หรือเรียกว่า "ghost jobs") เต็มไปหมด

มีเสียงสะท้อนจากคนหางานจำนวนมาก ที่ใช้เวลาหลายเดือนหรือแม้แต่เป็นปีๆ โดยยังหางานที่มั่นคงไม่ได้ ทำให้ปัญหาวนลูปแบบ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ปรากฏขึ้น คนหางานจำนวนมากเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าและหมดไฟ เพราะพยายามหางานที่พอจะเชื่อถือได้ แต่กลับหาไม่เจอ

คำถามสำคัญจึงกลายเป็นว่า จะออกแบบการฝึกอบรมเพื่อเตรียมคนให้พร้อมสำหรับงานแห่งอนาคตได้อย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่อาจทำให้ข้อมูลสถิติที่ดูดีในภาพรวม แต่กลับไม่ตรงกับความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) อาจดูเป็นอาชีพที่มีอนาคตสดใสและค่าตอบแทนสูง แต่คำถามคือ คนทั่วไปมีทักษะเฉพาะทางแบบนั้นหรือเปล่า? หรือแม้แต่มีแล้ว เขาอยากทำงานสายนี้ไปตลอดหรือไม่?

เพราะแค่เห็นโอกาส ไม่ได้แปลว่าเราจะคว้าได้ทันที ตลาดแรงงานวันนี้จึงเต็มไปด้วยช่องว่างระหว่าง “ตำแหน่งที่เปิดรับ” กับ “ความต้องการที่แท้จริงของคนทำงาน” เพราะตัวเลขเงินเดือนหรือสถิติต่างๆ อาจไม่สามารถเล่าเรื่องทั้งหมดของงานเหล่านั้นได้

 

อ้างอิง: Forbes, Deloitte, BoardConvertingNews, Supplychain247l2l.com