ฮอลลีวูดวิกฤติ? นักเขียนบทเสี่ยงเตะฝุ่น หางานยากสุดในรอบหลายปี

การจ้างงานในฮอลลีวูดเข้าขั้นวิกฤตจากโรคระบาด การประท้วงยืดเยื้อ ไฟป่า ซ้ำเติมด้วยแผนภาษีใหม่ของทรัมป์ นักเขียนบทจบใหม่เจอทางตัน แม้จบสถาบันระดับโลกก็หางานไม่ได้
KEY
POINTS
- ตำแหน่งงานนักเขียนบทในฮอลลีวูด เริ่มหายากกว่าที่เคย แม้จะจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านภาพยนตร์ หลายคนยังถูกเมินใบสมัคร ทำให้รู้สึกท้อแท้และไร้ทิศทาง
- วิกฤติหลายระลอกซ้ำเติมตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิง ตั้งแต่โควิด-19, การประท้วงหยุดงานของนักเขียนและนักแสดง, เหตุการณ์ไฟป่าในแคลิฟอร์เนีย ไปจนถึงการหดตัวของงบผลิต ล้วนทำให้การจ้างงานลดลง โดยเฉพาะในตำแหน่งเริ่มต้น
- คนรุ่นใหม่ถูกท้าทายอย่างหนักในวงการที่เคยเป็น “ดินแดนแห่งความฝัน” แม้จะมีคุณสมบัติเพียบพร้อม แต่หลายคนต้องเผชิญกับความเงียบจากนายจ้าง และไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรคือสิ่งที่ควรปรับปรุง
สำหรับใครหลายคน ฮอลลีวูด คือดินแดนแห่งความฝัน แหล่งรวมคนเก่งมากความสามารถที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงานบันเทิงระดับโลก แต่สถานการณ์ปัจจุบันใน "เมืองแห่งความบันเทิง" แห่งนี้กลับไม่สดใสอย่างที่เคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นเส้นทางอาชีพ โอกาสในการหางานระดับเริ่มต้น โดยเฉพาะตำแหน่งนักเขียนบท กำลังกลายเป็นความท้าทายที่สาหัสเกินคาด
ล่าสุด.. สถานการณ์ตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดกำลังเผชิญกับภาวะซบเซาอย่างหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มตำแหน่งงานระดับเริ่มต้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างเส้นทางอาชีพในวงการนี้ ปัญหาการหางานที่ยากลำบากนี้ กำลังสร้างความกังวลใจอย่างยิ่งให้กับทั้งผู้หางาน และผู้ที่ติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก
โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่เรียนสายภาพยนตร์ และต้องการเข้ามาทำงานใน "ตำแหน่งนักเขียนบท" ในวงการฮอลลีวูด ซึ่งสายอาชีพนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์เนื้อหาในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์ กำลังพบว่า ประตูแห่งโอกาสงานของพวกเขาเจอทางตันอย่างมาก ความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้สมัครงานคือ "มันไม่ควรจะยากขนาดนี้เลย" ในการที่จะหางานทำในสิ่งที่พวกเขารักและเรียนมา
กรณีศึกษา: เส้นทางที่ขรุขระของบัณฑิตจบใหม่
แบรนดี เฮอร์นันเดซ (Brandy Hernandez) หญิงสาววัย 22 ปี ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของเด็กจบใหม่สายหนัง ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายนี้ ได้แชร์ประสบการณ์ที่สะท้อนภาพรวมของตลาดแรงงานในฮอลลีวูดได้อย่างชัดเจน เธอสำเร็จการศึกษา ในปี 2024 จาก University of Southern California School of Cinematic Arts ซึ่งถือเป็นสถาบันชั้นนำด้านภาพยนตร์แห่งหนึ่งของโลก และได้เริ่มกระบวนการหางานอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงต้นปี 2025 ที่ผ่านมา
ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ เฮอร์นันเดซ ได้ยื่นใบสมัครงานในอุตสาหกรรมบันเทิงไปแล้วเกือบ 200 ตำแหน่ง ตัวเลขจำนวนมากนี้ ชี้ให้เห็นถึงความพยายามอย่างไม่ลดละของเธอ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ตามมากลับน่าผิดหวังอย่างยิ่ง เพราะเธอไม่เคยได้รับการตอบกลับใดๆ เลย แม้แต่จดหมายปฏิเสธสั้นๆ ที่บ่งบอกว่าใบสมัครได้รับการพิจารณาแล้วก็ไม่มี นี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้สมัครงานจำนวนมากรู้สึกไร้ทิศทางและไม่รู้ว่าตนเองควรปรับปรุงในส่วนใด
ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่เธอโชคดีพอที่จะผ่านการคัดเลือกในเบื้องต้นและได้รับเรียกสัมภาษณ์ในขั้นตอนติดตามผล สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมักจะเป็นการถูก "เงียบหาย" หรือที่ในวงการเรียกกันว่า "ghosted" นั่นหมายความว่า การติดต่อสื่อสารจะหยุดลงทันทีหลังจากจบการสัมภาษณ์ โดยไม่มีการแจ้งผลการพิจารณาหรือคำอธิบายใดๆ ตามมา ประสบการณ์เหล่านี้สร้างความรู้สึกท้อแท้เป็นอย่างมาก
เฮอร์นันเดซ บอกว่า เธอมีความเข้าใจในความเป็นจริงของวงการนี้ เธอทราบดีว่าเธอจะไม่ก้าวขึ้นไปเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้ทันทีที่เรียนจบ แต่ความคาดหวังของเธอก็แค่ได้เริ่มต้นทำงานจากตำแหน่งระดับล่าง เธอเชื่อว่าด้วยคุณสมบัติและพื้นฐานการศึกษาของเธอจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เธอควรจะมีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับการพิจารณาในตำแหน่งงานเหล่านี้ แต่พอไม่ได้งานสักที เธอจึงรู้สึกว่าสถานการณ์การหางานปัจจุบัน "มันไม่ควรจะยากขนาดนี้เลยจริงๆ"
เปิด 4 ปัจจัยซ้ำเติม วิกฤติการจ้างงานในวงการฮอลลีวูด
ความซบเซาและภาวะหดตัวของโอกาสงานในวงการฮอลลีวูดนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นผลลัพธ์จากการซ้อนทับกันของวิกฤตหลายประการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่
1. ผลกระทบต่อเนื่องจากโรคระบาดโควิด-19
ปัจจัยแรกที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล และยังคงทิ้งร่องรอยไว้คือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 การแพร่ระบาดทั่วโลกได้กระตุ้นให้เกิดการชะลอตัวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ของการผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ การถ่ายทำต้องหยุดชะงัก โครงการถูกเลื่อน และงบประมาณการผลิตถูกทบทวนใหม่ ฯลฯ
แม้ปีนี้ 2025 สถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลายลงแล้ว และอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาเคลื่อนไหว แต่ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและโครงสร้างที่เกิดขึ้นยังคงส่งผลต่อความสามารถในการสร้างงานใหม่
2. การประท้วงหยุดงานครั้งประวัติศาสตร์ของฮอลลีวูด
เมื่ออุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวหลังโควิด กลับต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญอีกประการ คือ การประท้วงหยุดงานพร้อมกันของสองสหภาพแรงงานที่ทรงอิทธิพลที่สุดในฮอลลีวูด ได้แก่ สมาคมนักเขียนแห่งอเมริกา (Writers Guild of America - WGA) และสมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ (SAG-AFTRA)
การประท้วงของทั้งนักเขียนบทและนักแสดงกินระยะเวลานานหลายเดือนในช่วงปี 2023 และส่งผลให้การผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์เกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิง แม้การประท้วงจะยุติลงในที่สุด แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ก็ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมช้าลง การจ้างงานต่างๆ ก็ทำได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
3. เหตุการณ์ไฟป่าครั้งร้ายแรงในลอสแอนเจลิส
นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในอุตสาหกรรมแล้ว เหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่เองก็ส่งผลกระทบเช่นกัน ในเดือนมกราคม 2025 รัฐแคลิฟอร์เนียโดยเฉพาะในเขตลอสแอนเจลิส ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ไฟป่าเหล่านี้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลในหลายพื้นที่
แหล่งข่าววงในหลายฝ่ายได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า แม้ไฟไหม้ครั้งนี้จะไม่ส่งผลเสียโดยตรง แต่เหตุการณ์นี้ก็ "ไม่ได้สร้างประโยชน์ใดๆ" ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเมือง วิกฤติธรรมชาตินี้อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการดำเนินการผลิตหนัง ในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงไปอีก
4. การหดตัวโดยรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด
ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นผลพวงจากโควิด-19, การประท้วง, หรือเหตุการณ์ไฟป่า, ล้วนนำไปสู่ผลลัพธ์ร่วมกันคือ "การหดตัวลงในภาพรวมของอุตสาหกรรม" หมายความว่า ขนาดของอุตสาหกรรมบันเทิงในแง่ของการผลิต งบประมาณ และกิจกรรมโดยรวมได้ลดลง
เมื่ออุตสาหกรรมโดยรวมมีขนาดเล็กลง จำนวนโครงการที่ดำเนินการก็น้อยลงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งงานในระดับเริ่มต้น (เด็กจบใหม่พยายามสมัครงาน) ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
แผนภาษีใหม่ของทรัมป์ ปัจจัยล่าสุดที่ซ้ำเติมความไม่แน่นอนในสายงานผลิตภาพยนตร์
ท่ามกลางความท้าทายที่ยังคงคุกคามอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ล่าสุดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศแผนภาษีใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภูมิทัศน์การผลิตภาพยนตร์ นั่นคือ การเตรียมเก็บภาษีนำเข้า (tariff) ในอัตรา 100% สำหรับภาพยนตร์ที่ผลิตในต่างประเทศ
เจตนาที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือการ "ดึงอุตสาหกรรมการสร้างภาพยนตร์กลับมายังสหรัฐอเมริกา" รวมถึงรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นฐานที่ตั้งหลักของฮอลลีวูด แนวคิดคือ การทำให้การถ่ายทำหรือการผลิตภาพยนตร์ในต่างประเทศมีต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก เพื่อกระตุ้นให้สตูดิโอ และผู้ผลิตหันกลับมาลงทุนและสร้างงานภายในประเทศแทน หากแผนนี้มีผลบังคับใช้ อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งอาจสร้างโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทั้งหมดจากแผนภาษีใหม่นี้ ต่อสถานการณ์การจ้างงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (ในระยะสั้น) และสำหรับตำแหน่งงานระดับเริ่มต้น ที่กำลังเผชิญความยากลำบากอยู่ในขณะนี้ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด และยังต้องวิเคราะห์ผลกระทบในเชิงลึกต่อไป แผนนี้อาจสร้างความไม่แน่นอนใหม่ๆ ก่อนที่จะเห็นผลเชิงบวกในระยะยาว
ท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์การหางานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นเส้นทางอาชีพในฐานะนักเขียนบท กำลังอยู่ในช่วงที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะเกิดปัจจัยแง่ลบซ้ำซ้อนกันมาติดๆ และยังมาเจอ "แผนภาษีนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศล่าสุดของทรัมป์" ก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับสถานการณ์อาจยิ่งแย่ลง?
ผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาและมุ่งมั่นที่จะเข้ามาทำงานในวงการนี้ กำลังเผชิญกับการ หางานยาก! ในรอบหลายปี พวกเขาต้องใช้ความอดทนและความพยายามอย่างมหาศาลในการฝ่าฟันวิกฤตินี้ไปให้ได้ อนาคตของตลาดแรงงานในฮอลลีวูด จึงยังคงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
อ้างอิง: South China Morning Post