ปริญญาจะล้าสมัย? โลกการทำงานยุคนี้นายจ้าง 81% เน้นทักษะมากกว่า

ปริญญาจะล้าสมัย? โลกการทำงานยุคนี้นายจ้าง 81% เน้นทักษะมากกว่า

แม้จะยื่นเรซูเม่เกรดเลิศจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง บริษัทกลับไม่มองตรงนั้น แต่มักถามว่า “เคยทำโปรเจกต์อะไรสำเร็จมาแล้วบ้าง?” ยุคนี้นายจ้างสนใจทักษะมากกว่าใบปริญญา

KEY

POINTS

  • ทักษะจริงพูดแทนใบปริญญา 81% ของผู้บริหารในปี 2025 หันมาเน้นการจ้างงานจาก “สกิล” มากกว่า “ดีกรี” ใครมีผลงานจับต้องได้ มีพอร์ต มีประสบการณ์ ยิ่งได้เปรียบ
  • การเรียนรู้ทางเลือกมาแรง คอร์สออนไลน์ ใบเซอร์วิชาชีพ และบูตแคมป์กลายเป็นทางลัดสู่สายอาชีพที่มั่นคง โดยไม่ต้องใช้เงินและเวลาเท่าปริญญา
  • พอร์ตดี-เครือข่ายแน่น ช่วยสร้างโอกาสได้เพียบ ผลงานจริงและคอนเนกชันบน LinkedIn ช่วยเปิดประตูงานมากกว่าการสมัครแบบส่งเรซูเม่เปล่าๆ เพราะ 85% ของงานได้จาก “คนรู้จัก” ไม่ใช่เรซูเม่ 

เคยไหม? ยื่นเรซูเม่พร้อมดีกรีเป๊ะจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ HR กลับไม่สนใจ แล้วเน้นถามที่ว่า “เคยทำโปรเจกต์อะไรสำเร็จมาแล้วบ้าง?” เนื่องจากบริษัทอยากรู้ว่าคุณเคยสร้างผลงานอะไร เคยสร้างแอปฯ สุดเจ๋ง หรือเคยแก้ปัญหาระบบงานอะไรในบริษัทก่อนๆ ? บอกเลยว่า ใครที่มีฝีมือ มีไฟ และกล้าโชว์ผลงาน ปี 2025 นี่คือยุคทองของคุณ!

เพราะในยุคที่โลกหมุนเร็วด้วย AI งานระยะไกล (Remote work) และสกิลใหม่ๆ ผุดขึ้นทุกวัน ใบปริญญาที่เคยถูกมองว่าเป็น "ใบเบิกทาง" สู่ชีวิตการทำงาน อาจไม่ใช่ตั๋วทองอีกต่อไป!

โลกการทำงานยุคนี้ สิ่งที่นายจ้างส่วนใหญ่ต่างก็มองหาไม่ใช่แค่ใบปริญญาอีกต่อไป แต่คือ “คุณทำอะไรได้จริง” มากกว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นนักพัฒนาแอปฯ สายครีเอทีฟด้านแคมเปญ หรือมือแก้เกมระบบให้บริษัททำงานได้เร็วขึ้น ทั้งหมดนี้คือ “ของจริง” ที่กำลังมีค่ากว่าเกรดในใบจบการศึกษา

ทักษะการทำงานสำคัญกว่าดีกรี ผู้สมัครงานยุคนี้ต้องปรับตัว

งานวิจัยจาก Harvard Business School เคยเผยถึงรายงานเมื่อหลายปีก่อน ระบุว่า 6 ใน 10 บริษัทในสายการศึกษาและสุขภาพ เริ่มไม่สนใจใบปริญญาเป็นตัวชี้วัดผลงานอีกต่อไป และในวันนี้ มีรายงานหลายชิ้นพบว่า มีผู้บริหารมากถึง 81% หันมาเน้น “ทักษะจริง” ของผู้สมัครงานมากกว่าจะดูที่ใบปริญญา

เพราะในโลกที่เปลี่ยนเร็วแบบนี้ บริษัทอยากได้คนที่ “พร้อมลุย” มากกว่าคนที่แค่เรียนเก่ง ใครโชว์พอร์ตได้ว่าทำงานอะไรสำเร็จสักอย่าง มีใบรับรอง (Certificate) ที่ตรงสายงาน หรือเคยทำงานโปรเจกต์จริงสำเร็จมาแล้ว นั่นคือแต้มต่อชัดๆ

โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากเป็นหนี้จากการกู้ยืมเรียน 4 ปี ตอนนี้มีเส้นทางใหม่ให้เลือกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นลงเรียนคอร์สออนไลน์ เข้าค่ายบูตแคมป์ หรือเรียนหลักสูตรที่มีใบรับรองวิชาชีพจากแพลตฟอร์มอย่าง Coursera, Udemy, หรือ Google Career Certificates ที่เรียนได้ตามสไตล์คุณเอง ไม่ต้องเสียเงินหลักแสน เรียนจบแล้วนำใบรับรองไปสมัครงานได้ในหลากหลายอาชีพ

จากข้อมูลของ Pearson ในปี 2021 พบว่า 60% ของนายจ้างเริ่มเปิดใจรับคนที่ไม่มีปริญญา แต่มีใบเซอร์รับรองสกิล ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจาก 40% ในปี 2019 และหลายคนมองว่าผู้สมัครแบบนี้ มีความพร้อมกว่าคนที่มีแต่ใบปริญญาด้วยซ้ำ

โลกการทำงานเปลี่ยนไว นายจ้างมองหาคนเก่ง เคยทำโปรเจกต์บางอย่างสำเร็จ!

โดยเฉพาะในปี 2025 ตลาดงานยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็ว นายจ้างส่วนใหญ่มองว่าประสบการณ์ไม่ใช่แค่เรื่องเสริม แต่กลายเป็น "อาวุธลับ" ของคนหางาน ใครที่เคยทำฟรีแลนซ์ อินเทิร์น หรือมีโปรเจกต์ส่วนตัว มักจะได้รับการพิจารณาเข้าทำงานมากกว่าคนที่เรียนจบมาเฉยๆ โดยไม่มีผลงาน

อย่าลืมโชว์พอร์ต โชว์เคส หรือผลงานใดๆ ก็ตามที่แสดงให้เห็นว่า คุณเคยทำอะไรให้เกิดผลลัพธ์จริง เช่น ช่วยให้บริษัทเซฟค่าใช้จ่าย เพิ่มยอดขาย หรือทำระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้คือหลักฐานที่บอกว่า “คุณทำงานให้องค์กรได้จริง”

นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายและตัวตนบนโลกดิจิทัลก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันคือ “ต้นทุน” ที่คนรุ่นใหม่ต้องใช้ให้เป็น ยุคนี้ไม่ใช่แค่ทำผลงานดี แต่ต้อง “ทำดีให้คนเห็น” ด้วย

ดังนั้น อย่าลังเลที่จะไปโพสต์ผลงานใน LinkedIn, เข้าร่วมคอมมูนิตี้สายงาน, หรือคุยกับคนที่ทำงานในสายที่คุณสนใจ อย่ารอให้งานมาหา แต่จงสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นจากเครือข่ายที่คุณรู้จัก เพราะวันนี้ 85% ของงานได้มาจาก "คอนเนกชัน" ไม่ใช่จากเรซูเม่

สุดท้ายแล้วใบปริญญายังสำคัญอยู่ไหม?

แน่นอน ยังมีบางสายงานที่ใบปริญญายังขาดไม่ได้ เช่น แพทย์ วิศวกรรมบางแขนง กฎหมาย หรือวิชาการ แต่ในหลายๆ สายอาชีพตอนนี้ บริษัทเริ่ม “ปลดล็อก” ข้อกำหนดเรื่องปริญญากันแล้ว ยกตัวอย่างเช่น Google, IBM และ Walmart ที่เริ่มเน้นทักษะจริงมากกว่าชื่อมหาวิทยาลัยในปี 2024

อย่างไรก็ตาม ใบปริญญาจะยังคงไม่หายไปในเร็วๆ นี้ แต่มันกลายเป็นแค่ “พื้นฐาน” ของคนหางานทั่วไป ไม่ใช่ “ไม้ตาย” หรือใบเบิกทางสู่อาชีพรายได้สูงอีกต่อไป ที่สำคัญต้องจำไว้ว่า โลกการทำงานเปลี่ยนไปไวมาก โดยเฉพาะปีนี้คือปีที่ “ทักษะจริง ผลงานจริง และใจพร้อมลุย” จะเป็นสามปัจจัยหลักที่พาคุณไปได้ไกลกว่าที่เคย เพราะอนาคตการทำงาน...คุณต้องเป็นผู้กำหนดให้ตัวเอง

 

 

อ้างอิง: Forbes, Upwork, hbs.edu, maryville.edu, Zippia