ไขคดีกับ ‘ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน’ ฝึกสมอง ได้ความรู้แบบไม่รู้ตัว

ไขคดีกับ ‘ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน’ ฝึกสมอง ได้ความรู้แบบไม่รู้ตัว

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 12 เกร็ดความรู้ที่ได้รับจากการอ่านและชมการ์ตูนเรื่อง “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน” ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน” หรือ “โคนัน” การ์ตูนสืบสวนสอบสวนผลงานจากปลายปากกาของ อ.โกโช อาโอยามา ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี (แต่เวลาในเรื่องกลับเดินมาแค่ครึ่งปี และเพิ่งรู้ตัวหัวหน้าชายชุดดำ) โดยในปัจจุบันทำยอดขายของมังงะโคนันทำไปแล้วกว่า 270 ล้านเล่มทั่วโลก ครองอันดับ 4 ของมังงะที่มียอดขายสูงสุดของโลก และออกมาแล้วทั้งสิ้น 107 เล่ม

ส่วนภาพยนตร์ก็ยังทำลายสถิติของตัวเองทุกปี โดยในปีนี้ “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะมูฟวี่ 28 ปริศนาภาพติดตามรณะ” (2025) ทำรายได้ในการฉายวันเปิดตัวอยู่ที่ 1,050 ล้านเยน มียอดตั๋วรับชม 690,000 ใบ ซึ่งทำลายสถิติรายได้ของการฉายในวันแรก แซงหน้ายอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะ มูฟวี่ 27 ของปี 2024 ด้วยความนิยมล้นหลามจึงทำให้โคนันยังไม่มีทีท่าว่าจะจับลงง่าย ๆ 

นอกจากเนื้อเรื่องสุดสนุก ชวนให้ได้ขบคิดไขคดีไปกับเจ้าเด็กแว่นยอดนักสืบ และมีคาแรกเตอร์หลากหลายที่ชวนให้ผู้คนตกหลุมรักแล้ว ในแต่ละคดี อ.โกโช ยังได้สอดแทรกเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ  ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 12 เกร็ดความรู้ที่ได้รับจากการอ่านและชมการ์ตูนเรื่องนี้ แต่ต้องเตือนไว้ก่อนว่าบทความนี้มีการสปอยด์เนื้อเรื่องบางส่วนของยอดนักสืบจิ๋วโคนัน

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’

1. ‘น้ำยาล้างห้องน้ำ+น้ำยาซักผ้าขาว’ ปล่อยก๊าซคลอรีนถึงตายได้
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 3
ตอนที่ 128-129 คดีห้องอาบน้ำที่ปิดล็อก
มังงะเล่มที่ 20

หากจะพูดถึงตอนที่เศร้าที่สุดของโคนัน ใครหลาย ๆ คนคงจะคิดถึง “คดีห้องอาบน้ำที่ปิดล็อก” ที่พี่สาวฆาตกรรมน้องสาวด้วยความเข้าใจผิด ซึ่งนอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องความเศร้าแล้วในคดีนี้ยังสอดแทรกความรู้ไว้อีกด้วย

ในคดีนี้คนร้ายตั้งใจจะใช้น้ำยาล้างห้องน้ำและน้ำยาซักผ้าขาวเป็นเครื่องมือฆาตกรรม เนื่องจากน้ำยาล้างห้องน้ำมี “กรดไฮโดรคลอริก” เป็นส่วนประกอบสำคัญ ส่วนน้ำยาซักผ้าขาวมีสาร “โซเดียมไฮโปคลอไรต์” หากนำน้ำยาทั้ง 2 ชนิดมาผสมกันจะทำให้เกิด “ก๊าซคลอรีน” ที่มีความเป็นพิษสูง เป็นอันตรายรุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและเลือดเป็นกรด ส่งผลให้เสียชีวิตได้

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’ 2. ‘ไซยาไนด์’ มีกลิ่นเหมือนอัลมอนด์
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 5
ตอนที่ 204-208 การคืนชีพที่เดิมพันด้วยชีวิต 
มังงะเล่มที่ 25-26

สารโพแทสเซียม ไซยาไนด์” เป็นหนึ่งในอาวุธสังหารยอดฮิตที่คนร้ายใช้ และมักจะมาพร้อมกับคำพูดประมาณว่า “มีกลิ่นอัลมอนด์ออกจากปาก แสดงว่าเขาถูกฆ่าโดยไซยาไนด์” จนกลายเป็นหนึ่งในเกร็ดความรู้ที่คนมักจะจำได้เสมอ เมื่อพูดถึงโคนัน

แม้ว่าก่อนหน้านี้ อ.โกโช อาโอยามา จะเคยหยิบไซยาไนด์มาใช้บ้างแล้ว แต่สารพิษนี้ถูกพูดถึงจริงจังในตอน “การคืนชีพที่เดิมพันด้วยชีวิต” ซึ่งเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่ชินอิจิคืนร่างกลับมาไขคดีที่เกิดขึ้นระหว่างการแสดงละครเวที โดยในเรื่องระบุไว้ว่า ไซยาไนด์ทำให้ริมฝีปากและปลายเล็บของผู้ตายเป็นสีม่วงชมพู เพราะทำให้การส่งผ่านอิเล็กตรอนในเซลล์ถูกทำลาย ไม่สามารถใช้ออกซิเจนในเลือดได้

ไซยาไนด์” มีกลิ่นเฉพาะตัวเรียกว่ากลิ่นอัลมอนด์ขม (Bitter Almond) เนื่องจากในอัลมอนด์ขมก็มี “อะมิกดาลิน” (Amygdalin) ในรูปของสารประกอบที่มีลักษณะคล้ายน้ำตาล ถือแหล่งกําเนิดไฮโดรเจนไซยาไนด์ในธรรมชาติ ซึ่งต่างจากอัลมอนด์หวาน (Sweet Almond) ที่กินกันทั่วไป

 

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’ 3. ‘ฟัน’ ส่วนที่แข็งที่สุดในร่างกาย
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 6
ตอนที่ 268-269 ความลับของเหล่าไอดอล 
มังงะเล่มที่ 32

มีตอนหนึ่งที่โคนันได้ไปงานประกาศหมั้นของกลุ่มไอดอลชื่อดัง แต่ก็ไม่วายเกิดคดีขึ้นจนได้ ซึ่งทริคของคดีในครั้งนี้ใช้อวัยวะในร่างกายเป็นอาวุธ นั่นก็คือเล็บและฟัน

ฟัน” ถือเป็นกระดูกที่แข็งแรงที่สุดในร่างกายมนุษย์ โดยเคลือบฟัน (enamel) เป็นเนื้อเยื่อแข็งชั้นนอกที่มีความแข็งแรงมากที่สุดของฟัน มีสีขาว ผิวเป็นมัน ทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องเนื้อฟันด้านใน ด้วยความแข็งแรงคงทนนี้เองจึงทำให้ฟันถูกนำมาใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลหรือชันสูตรศพ แต่ฟันจะแข็งแรงแต่ก็มีความเปราะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลรักษาฟันให้ดี และหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่แข็งเกินไป เพื่อให้ฟันอยู่กับเราไปนาน ๆ

 

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’ 4. ‘แมว’ กินนมวัวไม่ได้
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 10
ตอนที่ 466 ทางไปโรงเรียนที่เป็นความลับสุดยอด 
มังงะเล่มที่ 49

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า “แมว” ไม่สามารถกินนมวัวได้ บางครั้งอาจจะเผลอให้แมวกินนมวัว และพบว่าน้อง ๆ ท้องเสีย และไม่ยอมกินนมวัวอีก ในโคนันก็มีเรื่องราวทำนองนี้เช่นกัน พร้อมได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ร่างกายของแมวไม่มีเอนไซม์ที่ใช้ย่อยน้ำตาลในนมวัว และสารอาหารในนมวัวที่เป็นสัตว์กินพืช ก็ไม่เหมาะกับแมวที่เป็นสัตว์กินเนื้อ ดังนั้นหากแมวกินนมเพียว ๆ ก็จะทำให้ท้องเสีย

ควรใช้นมผงสำหรับเด็กมาชงกับน้ำอุณหภูมิประมาณ 38 องศาเซลเซียส โดยต้องเจือจางกว่าปรกติประมาณ 2 เท่า แต่ควรใช้เฉพาะในกรณีที่ไม่มีนมสำหรับแมว หรือไม่มีร้านขายอาหารสัตว์

 

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’ 5. การรักษา ‘ลูคีเมีย’ ทำให้กรุ๊ปเลือดเปลี่ยน
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 11
ตอนที่ 538-551 ดำปะทะแดงเดือด 
มังงะเล่มที่ 57

กรุ๊ปเลือด” เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต แต่สำหรับบางคนที่ “ปลูกถ่ายไขกระดูก” ในการรักษาโรคลูคีเมีย ร่างกายของผู้ที่ได้รับบริจาคเลือดก็จะเปลี่ยนไปเป็นเลือดกรุ๊ปเดียวกับผู้บริจาค

ดังเช่น “ฮอนโด เอย์สึเกะ” ที่เป็นโรคลูคีเมีย ก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดโดยใช้ไขสันหลังของพี่สาวของตนในภายหลัง จนกรุ๊ปเลือดของเขาเปลี่ยนจากกรุ๊ป O เป็น AB ตามพี่สาวหลังจากได้รับการผ่าตัด 

 

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’

6. วิธีลด ‘ไฟฟ้าสถิต’ 
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 12
ตอนที่ 575-576 ดอกไม้ไฟสีฟ้าแห่งความแค้น
มังงะเล่มที่ 61

เวลาหน้าหนาว หรือผิวแห้ง มักจะเกิด “ไฟฟ้าสถิต” ได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาเดินเข็นรถชอปปิ้งในห้าง หรือประตูรถ หรือแม้แต่เดินเฉียดกับคนข้าง ๆ ก็เกิดอาการช็อตเปรี๊ยะ ๆ ขึ้นได้ ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากการเสียดสีกันของวัตถุ 2 ชนิด เช่น เวลาใส่เสื้อขนสัตว์หรือผ้าร่ม แล้วเดินแกว่งแขน จนเกิดการเสียดสีระหว่างผิวหนังและเสื้อ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอิเล็กตรอนขึ้น ร่างกายรับประจุไฟฟ้าบวกมาจำนวนมาก เมื่อไปสัมผัสกับลูกบิดประตูที่เป็นโลหะจะเกิดการถ่ายประจุลบเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีประจุเป็นกลาง จึงเกิดไฟฟ้าสถิตขึ้น  

ในโคนันเองก็มีคดีฆาตกรรมที่อาศัยประโยชน์จากไฟฟ้าสถิต โดยโคนันได้บอกวิธีกำจัดไฟฟ้าสถิตง่าย ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ปรกติแล้วคนส่วนใหญ่มักจะกลัวไฟฟ้าสถิตและใช้เพียงนิ้วเดียวลองจับต้อง แต่การจับไปเต็ม ๆ มือจะช่วยให้ถ่ายเทไฟฟ้าออกไปได้ง่าย จึงไม่เกิดการช็อตออกมา เช่น ตอนจะลงจากรถให้เอามือแตะที่หลังคารถก่อน ส่วนก่อนจะขึ้นรถก็ให้เอามือแตะพื้นก่อน ถ้าเป็นลูกบิด ให้เอามือแตะที่กำแพง เพื่อระบายไฟฟ้าสถิตที่ะสะสมอยู่ออกไป 

Sekaiichi Uketai Jugyou รายการของประเทศญี่ปุ่น ได้จัด 7 อันดับสาระโคนันที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยยกให้วิธีลดไฟฟ้าสถิตเป็นเกร็ดความรู้ที่ได้ใช้ประโยชน์มากที่สุดเป็นอันดับ 1

 

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’ 7. ‘แผลเป็น’ มีขนาดเท่าเดิม ไม่โตตามร่างกาย
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 12
ตอนที่ 583-584 แผลเป็นที่เรียกหาอดีต 
มังงะเล่มที่ 64

มีเศรษฐินีคนนึงมาจ้างนักสืบโมริให้ตามหา เด็กชายในความทรงจำที่เคยช่วยชีวิตเธอเอาไว้ เพื่อจะมอบลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เป็นการตอบแทน โดยมีเบาะแสว่า เด็กชายคนนั้นมีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่จากไหล่ซ้ายไปไหล่ขวา และมีผู้ชายที่มีแผลเป็นยาวมาสวมรอยแอบอ้างว่าเป็นเด็กชายคนนั้น เพราะเข้าใจว่ารอยแผลจะยาวขึ้นเมื่อโตขึ้น แต่ความจริงแล้ว แผลที่เกิดขึ้นในตอนเด็ก เมื่อเกิดแล้ว จะมีขนาดเท่าเดิม ไม่โตตามร่างกาย

ข้อมูลจากผศ. นพ.ธีรพงษ์ รัตนนุกรม สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า รอยแผลเป็น เกิดขึ้นจากกระบวนการซ่อมแซมและสมานบาดแผลที่ผิดปกติของร่างกาย ทำให้มีคอลลาเจนที่อัดแน่นอย่างไม่เป็นระเบียบที่ใต้ชั้นผิว ส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นผิดปกติที่ผิวหนัง

 

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’ 8. สาเหตุที่ชุดผ่าตัดเป็นสีเขียว
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 12
ตอนที่ 609-612 คฤหาสน์แห่งความตายและกำแพงสีแดง
มังงะเล่มที่ 65

"กำแพงสีแดง” เป็นอีกหนึ่งตอนที่อยู่ในความทรงจำของผู้ชมโคนันอย่างมาก ทั้งเนื้อเรื่องเข้มข้นพูดถึงสีและภาพติดตา ไดอิ้งแมสเสจที่คนตายทิ้งไว้ และยังเปิดตัว “โมโรฟุชิ ทาคาอากิ”  สารวัตรจากกรมตำรวจนากาโนะ หรือที่รู้จักในชื่อ “โคเมย์” ตำรวจผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ขงเบ้ง” (และชอบพูดสำนวนที่ฟังแล้วก็งง ๆ ต้องให้รันคอยช่วยแปลให้)

โดยในคดีนี้มีการอธิบายทฤษฎี “ภาพติดตา” เอาไว้ว่า เป็นการจ้องมองสีใดสีหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ พอเวลาหันไปมองที่อื่น สีที่มองมายังคงเหลือเป็นภาพติดตาเหลืออยู่เป็นคู่สีตรงข้าม เหมือนกับ “ชุดผ่าตัด” ที่เป็นสีเขียว เพราะหมอผ่าตัดต้องเห็นสีแดงจากเลือดเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นภาพติดตา จนไม่มีสมาธิในการทำงาน ดังนั้นจึงทำให้อุปกรณ์ทุกอย่างของหมอเป็นสีเขียว ตั้งแต่เครื่องแต่งกายไปจนถึงผ้าคลุม เมื่อหมอเงยหน้าขึ้นมามอง ก็จะช่วยในการปรับสมดุลสายตากับการรับรู้สีของสมอง ทำให้ตาไม่เพี้ยน

 

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’ 9. ใช้กรรไกรตัดแก้วได้ในน้ำ 
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 18
ตอนที่ 916-917 เหตุเกิดเหมือนเมื่อ 17 ปีก่อน
มังงะเล่มที่ 89-90

ตามปรกติแล้ว จะไม่สามารถตัดแก้วด้วยกรรไกรได้ มันจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ แต่หากตัดในน้ำจะสามารถตัดแก้วได้ในน้ำโดยไม่แตก จากปรากฏการณ์เชิงกลเคมีที่เรียกว่า “Rehbinder Effect” ที่โมเลกุลของน้ำจะแทรกซึมเข้าไปในแก้ว ทำให้แก้วอ่อนตัวลง จนสามารถตัดออกมาได้ตามต้องการ โดยปรากฏการณ์นี้ตั้งชื่อตาม ปิออเตอร์ อเล็กซานโดรวิช เรห์บินเดอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวโซเวียต ผู้นำเสนอทฤษฎีนี้เป็นคนแรก

สำหรับ Rehbinder Effect ถูกพูดถึงในโคนันตอน “เหตุเกิดเหมือนเมื่อ 17 ปีก่อน” ที่ผู้ตายได้ตัดกระจกออกเพื่อใช้เป็นข้อความระบุตัวคนร้าย ซึ่งเหมือนกับเหตุการณ์การฆาตกรรม “ฮาเนดะ โคจิ” นักแข่งโชงิมืออาชีพที่ตายไปเมื่อ 17 ปีก่อน และเป็นการเปิดตัว “รัม” (Rum) โค้ดเนมของเบอร์สององค์กรชายชุดดำเป็นครั้งแรก

 

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’ 10. ระยะศอกถึงข้อมือเท่ากับขนาดของฝ่าเท้า  
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 18
ตอนที่ 921-922 เวทีแห่งการทรยศ 
มังงะเล่มที่ 90 

ร่างกายของมนุษย์ถูกวิวัฒนาการขึ้นมา เพื่อให้เกิดสมดุลและเคลื่อนไหวได้ดี หลาย ๆ ส่วนของร่างกายจึงมีอัตราส่วนความยาวเท่ากันในลักษณะสมมาตร หนึ่งในนั้น คือ ความยาวจากข้อมือถึงข้อพับแขนเท่ากับความยาวของเท้า และไม่น่าเชื่อว่าโคนันก็จะเอาข้อมูลนี้มาใช้ในการหาตัวคนร้ายด้วยเช่นกัน

ในตอน “เวทีแห่งการทรยศ” เป็นการเผชิญหน้ากันของศัตรูคู่อาฆาตอย่าง “อามุโร โทโอรุ” ชายผู้มีสามตัวตน กับ “อากาอิ ชูอิจิ” ในร่างของ “โอกิยะ สึบารุ” แต่ก็ไปพัวพันกับการเสียชีวิตของนักร้องดัง ที่ถูกแขวนคอเสียชีวิตอยู่กลางฮอลล์คอนเสิร์ต ในคดีนี้มีการม้วนเก็บเชือกโดยใช้การพันรอบแขน ซึ่งเชือกในที่เกิดเหตุที่ถูกเก็บไว้มีขนาดประมาณเท้าของรัน โคนันจึงรู้ได้ว่าคนที่ก่อคดีน่าจะเป็นคนตัวเล็กเป็นคนม้วน

 

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’ 11. ทำความสะอาดคราบเลือดบนเสื้อผ้าด้วย ‘หัวไชเท้า’
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 19
ตอนที่ 949-950 โชว์สืบสวนสไลต์เอโดะข้างบ้าน 
มังงะเล่มที่ 92

หัวไชเท้า” มีเอนไซม์โปรตีเอส (Protease) สามารถทำให้โปรตีนแยกตัวได้ ซึ่งสามารถใช้ทำความสะอาดคราบเลือดบนเสื้อผ้าได้ด้วย โดยนำหัวไชเท้าห่อในผ้า แล้วนำไปแปะที่รอยเลือดทั้งหน้าและหลังให้ชุ่ม จากนั้นนำกระดาษทิชชูซับออก เลือดก็จะหลุดออกมา ถ้าทำซ้ำ 3-4 รอบรอยเลือดก็จะหายไป ทั้งนี้สารชนิดนี้ก็มีอยู่ในขิงด้วยเช่นกัน

ข้อมูลนี้ปรากฏอยู่ในตอน “โชว์สืบสวนสไลต์เอโดะข้างบ้าน” ซึ่งเป็นตอนแรกที่ “วากิตะ คาเนะโนริ” พนักงานที่ทำงานอยู่ในร้านเบกะอิโรฮะซูชิ ปรากฏตัว (และเฉลยในภายหลังว่าเป็นรัมปลอมตัวมา)

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’ 12. สัญญาณมือขอความช่วยเหลือสากล
ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์ ปี 23
ตอนที่ 1167-1168 ทาคางิกับดาเตะคำสัญญาในสมุดบันทึก
มังงะเล่มที่ 101-102

ในยอดนักสืบจิ๋วโคนัน มีการใช้รหัสมอร์ส รหัส SOS มาใช้ขอความช่วยเหลือหลายต่อหลายครั้ง และล่าสุดก็มีการใช้ “สัญญาณมือขอความช่วยเหลือสากล” (Signal for Help) ด้วย สัญลักษณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2020 โดยมูลนิธิสตรีแคนาดา (Canadian Women's Foundation) ที่คิดค้นเพื่อให้เหยื่อสามารถขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นแบบลับ ๆ เมื่อถูกคุกคามหรือตกอยู่สถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย จากความรุนแรงจากคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด หรือการลักพาตัว

สัญญาณมือนี้ สามารถทำได้ด้วยมือเพียงข้างเดียวในลักษณะการหันฝ่ามือออกด้านนอก พับนิ้วหัวแม่มือบนฝ่ามือ แล้วนำนิ้วที่เหลืออีกสี่นิ้วมาปิดนิ้วบนนิ้วหัวแม่มืออีกที โดยในโคนันเอามาใช้ในคดีที่เด็กชายชาวต่างชาติถูกลักพาตัว และหมวดทาคางิได้โชว์สกิลบู๊สุดเท่ สมเป็นผู้ชายธงเขียวอีกด้วย

ที่มา: art ofCreative ThailandThe MatterRama Channel

กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง

เกร็ดความรู้จาก ยอดนักสืบจิ๋ว ‘โคนัน’