‘มัทฉะ’ ขาดตลาด? โซเชียลจุดกระแสความฮอต ต้นทางญี่ปุ่นผลิตไม่ทัน

‘มัทฉะ’ ขาดตลาด? โซเชียลจุดกระแสความฮอต ต้นทางญี่ปุ่นผลิตไม่ทัน

คนทั่วโลกคลั่งดื่ม ‘มัทฉะ’ จนขาดตลาด?! โซเชียลจุดกระแสเทรนด์เครื่องดื่มคู่วัยทำงาน โชว์ไลฟ์สไตล์สุขภาพดีด้วยเมนูมัทฉะ ทำแหล่งผลิตต้นทางฟาร์มญี่ปุ่นผลิตสินค้าไม่พอขาย

KEY

POINTS

  • มัทฉะขาดตลาด กลายเป็นประเด็นฮอตที่เหล่าชาเขียวเลิฟเวอร์พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งต่างก็สงสัยว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผงมัทฉะหาซื้อได้ยากในช่วงนี้ หนึ่งในสาเหตุคือ กระแสฮิตเครื่องดื่มมัทฉะในโลกโซเชียลพุ่งแรง จนผู้ผลิตต้นทางจากฟาร์มญี่ปุ่นผลิตไม่ทัน
  • ข้อดีด้านสุขภาพของมัทฉะ คือ มีสารไฟโตนิวเทรียนต์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์มากมาย เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง ป้องกันโรคเรื้อรังและโรคระบบประสาทเสื่อม ลดความเครียด ความกังวล ฯลฯ 
  • มัทฉะเป็นผลิตภัณฑ์ตามฤดูกาล จึงต้องมีระยะเวลาเฉพาะในการเจริญเติบโตและการเก็บเกี่ยว ทำให้มีปริมาณน้อยลงโดยเฉพาะในช่วงที่ฤดูเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เก็บเกี่ยวใบชาได้น้อยลงกว่าเดิม

หรือชาเขียวมัทฉะจะเป็นอีกอย่างที่กำลังหายไป? ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปี 2025 กระแสมัทฉะขาดตลาด กลายเป็นประเด็นฮอตที่เหล่าชาเขียวเลิฟเวอร์พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง เกิดคำถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผงมัทฉะขาดตลาด เป็นเพราะปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนผลผลิตใบชาลดน้อยลง ตามรอยเมล็ดโกโก้และเมล็ดกาแฟ (เครื่องดื่มคู่วัยทำงาน) ไปอีกรายหรือไม่

ขณะที่ข้อมูลอีกหลายแหล่งก็ชี้ว่า เป็นเพราะกระแสรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ที่เห็นว่าการดื่มชาเขียวมัทฉะดีต่อสุขภาพมากกว่า จึงทำให้วัยทำงานหลายคนเปลี่ยนใจจากเครื่องดื่มคู่กายอย่าง ‘กาแฟ’ มาเป็น ‘มัทฉะ’ สักแก้วในตอนเช้าก่อนไปทำงาน แต่ก่อนจะไปรู้สาเหตุมัทฉะขาดตลาดที่แท้จริง ชวนมาทำความรู้จักเครื่องดื่มมัทฉะกันให้มากขึ้น และหาคำตอบว่าระหว่างการดื่ม กาแฟ VS มัทฉะ แบบไหนดีกว่ากัน

ชาเขียวมัทฉะคืออะไร แตกต่างจากชาเขียวแบบใสหรือไม่?

มัทฉะเป็นผงชาเขียวบดละเอียดที่ได้มาจากใบชา Camellia sinensis ซึ่งเป็นต้นชาสายพันธุ์เดียวกับที่ใช้ทำชาเขียวใสและชาดำ อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตทำให้มัทฉะแตกต่างจากชาเขียวและชาดำ และน้ำชาที่ชงออกมาก็จะมีสี ลักษณะ และรสชาติไม่เหมือนกัน

สำหรับการผลิตผงมัทฉะ จะเริ่มจากการปลูกต้นชาในที่ร่มจนได้ยอดใบชาที่เหมาะสมกับการผลิต เมื่อเก็บเกี่ยวใบชาแล้ว ใบชาจะถูกนึ่งและตากแห้ง จากนั้นคัดแยกก้านออกให้เหลือแต่ใบแห้ง แล้วนำไปบดละเอียดทั้งใบอย่างระมัดระวังในอุณหภูมิที่ควบคุมได้ จนออกมาเป็นผงมัทฉะสีเขียวสดใส เมื่อชงกับน้ำร้อนจะมีลักษณะขุ่นและสีเขียวเข้ม มีคาเฟอีนสูงกว่าชาเขียวใส

ขณะที่กระบวนการผลิตใบชาเขียว (สำหรับชงชาเขียวใส) นั้นง่ายกว่า โดยหลังจากเก็บใบชาเขียวแล้วก็จะนำไปผ่านความร้อน แล้วนำไปตากแห้ง (ไม่มีขั้นตอนการบด) เวลาชงดื่มกับน้ำร้อนจะใส่แช่ไปทั้งใบ น้ำชาที่ได้จะออกมาใสและสีเขียวอ่อน มีคาเฟอีนต่ำกว่ามัทฉะ ส่วนการผลิตชาดำ จะนำใบชาแบบเดียวกันมาผ่านกระบวนการสัมผัสกับอากาศจนเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้ใบชาเป็นสีดำ เมื่อตากแห้งและนำไปชงกับน้ำร้อน ชาจะมีสีและรสชาติที่แตกต่างออกไป

‘มัทฉะ’ ขาดตลาด? โซเชียลจุดกระแสความฮอต ต้นทางญี่ปุ่นผลิตไม่ทัน

เช็กลิสต์ประโยชน์ของมัทฉะที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสารสำคัญที่เครื่องดื่มอื่นไม่มี

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า ในมัทฉะมีสารไฟโตนิวเทรียนต์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมาก สารชนิดนี้พบในใบชา Camellia sinensis ซึ่งนำมาผลิตเป็นผงมัทฉะโดยเฉพาะ โดยสารไฟโตนิวเทรียนต์มีอยู่หลายชนิด เช่น คลอโรฟิลล์, คาเฟอีน ฯลฯ สำหรับคลอโรฟิลล์มีประโยชน์ต่อสุขภาพในแง่ของการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง ป้องกันโรคอ้วน 

ส่วนคาเฟอีนที่มีอยู่ในมัทฉะก็ทำให้รู้สึกตื่นตัวมากขึ้น ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคเรื้อรังและโรคระบบประสาทเสื่อมได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสารแอล-ธีอะนีน กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ลดความเครียดและความวิตกกังวล รวมถึงมีสารคาเทชิน ที่สามารถต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันแบคทีเรีย ไวรัส อาการแพ้ การอักเสบ และมะเร็งได้ด้วย

ในขณะที่บทความของนิตยสารสุขภาพ AARP (18 เมษายน 2024) ระบุถึงประโยชน์ของมัทฉะไว้เช่นกันว่า มีส่วนช่วยปรับปรุงสุขภาพทางปัญญาในผู้หญิงสูงอายุ เปลี่ยนแปลงจุลินทรีย์ในลำไส้ให้มีสุขภาพดี ลดความเครียด นอกจากนี้ยังอาจช่วยชะลอวัยก่อนวัย และลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดได้ แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม นักวิจัยเชื่อว่าประโยชน์ของมัทฉะที่ดีต่อสุขภาพนั้น อาจเป็นเพราะมีโพลีฟีนอลในปริมาณสูง ซึ่งเป็นกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน

อีกทั้งตามข้อมูลวิชาการตีพิมพ์ในปี 2023 ระบุถึงการศึกษาเชิงทดลอง 5 รายการเพื่อศึกษาว่าสารสำคัญในมัทฉะมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร และผลการทดลองพบว่า มัทฉะช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และปรับปรุงความจำ-การทำงานของสมองได้จริง และยังไม่มีผลกระทบเชิงลบต่ออารมณ์แต่อย่างใด 

มัทฉะ VS กาแฟ เลือกแก้วไหนดีกว่า? โดยเฉพาะในแง่อาการ “ถอนคาเฟอีน” 

การดื่มมัทฉะทำให้วัยทำงานบูสต์สมองให้ตื่นตัวได้ดีเหมือนการดื่มกาแฟ แต่ที่ดีกว่านั้นคือ “ไม่มีอาการถอนคาเฟอีน” เช่น หงุดหงิด ปวดหัว เป็นต้น โดยกาแฟ 1 หน่วยบริโภค (ปริมาณ 8 ออนซ์ หรือ 240 มล.) มีคาเฟอีนอยู่ที่ 96-120 มก. ขณะที่ชาเขียวมัทฉะ 1 หน่วยบริโภค (ปริมาณ 2 ออนซ์ หรือ 60 มล.) จะมีคาเฟอีนอยู่ที่ 38-88 มก. เท่านั้น โดยสรุปคือกาแฟจะให้คาเฟอีนสูงกว่ามัทฉะค่อนข้างมากทีเดียว

ด้วยความที่กาแฟมีคาแฟอีนปริมาณสูง จึงช่วยให้สดชื่นและคลายความง่วงได้ดี เนื่องจากร่างกายจะดูดซับคาเฟอีนเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว หลังจากดื่มไปเพียง 15-30 นาที ผู้ดื่มก็จะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าแทบจะทันที แต่จะรู้สึกแบบนั้นได้แค่ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นก็อาจกลับมาง่วงซึมอีกครั้ง จนต้องดื่มแก้วต่อๆ ไป (บางคนดื่มมากถึง 3-4 แก้วต่อวัน) หากรับคาเฟอีนในปริมาณมากต่อวันจะส่งผลให้เกิดอาการ “ถอนคาเฟอีน” ตามมา ได้

ในทางกลับกัน “ชาเขียวมัทฉะ” แม้จะให้สารคาเฟอีนในปริมาณที่น้อยกว่ากาแฟ 50% แต่ก็ช่วยให้ผู้ดื่มกระปรี้กระเปร่าและสดชื่นได้เช่นกัน อีกทั้งการออกฤทธิ์ของคาเฟอีนในชาเขียวนั้น ยังเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากชาเขียวมัทฉะมีสาร “แอล-ธีอะนีน (L-theanine)” ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมคาเฟอีนได้ช้าลง 

แม้ผู้ดื่มชาเขียวมัทฉะจะไม่รู้สึกตื่นเต็มตาในทันที แต่ฤทธิ์ของคาเฟอีนจะยืนระยะไปได้นาน 4-6 ชั่วโมง ซึ่งทำให้สมองตื่นตัวได้นานกว่าการดื่มกาแฟ และไม่จำเป็นต้องดื่มปริมาณมากเกินไป จึงไม่ก่อให้เกิดอาการ “ถอนคาเฟอีน” นั่นเอง นี่จึงอาจเป็นเหตุผลให้คนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพหันมาดื่มมัทฉะแทนกาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ 

‘มัทฉะ’ ขาดตลาด? โซเชียลจุดกระแสความฮอต ต้นทางญี่ปุ่นผลิตไม่ทัน

ทำไมมัทฉะขาดตลาด เพราะภัยโลกร้อนหรือบริโภคเยอะจนผลิตไม่ทัน?

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงรู้แล้วว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มัทฉะขาดตลาด ก็คือความนิยมที่มากขึ้นของผู้คนที่หันมาดื่มมัทฉะเพื่อหวังผลด้านสุขภาพ ยิ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีมัทฉะเผยแพร่ออกมาเท่าไหร่ ก็ยิ่งกระตุ้นให้ผู้คนอยากบริโภคมัทฉะมากขึ้นเท่านั้น ตามรายงานของ The Business Research Company ได้คาดการณ์ไว้ว่า ตลาดมัทฉะจะเติบโตในอัตราทบต้นที่ 10.39% ต่อปี (ระหว่างปี 2023 ถึง 2028) และคาดว่าจะทำรายได้สูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2028

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยบางชิ้นค้นพบว่า สาเหตุที่ทำให้มัทฉะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันมาจากอิทธิพลของเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอินฟลูฯ สายอาหารและสายสุขภาพ มักจะนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอาหาร-เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมัทฉะว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ โดยส่วนใหญ่มักพูดถึงรสชาติที่ครีมมี่ เข้มข้น และความอูมามิ รวมถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ต่อสุขภาพ

จากการวิจัยข้างต้น ทีมวิจัยได้ศึกษาถึงเนื้อหาวิดีโอบน YouTube 100 อันดับแรกที่ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับมัทฉะ พบว่า อินฟลูเอ็นเซอร์จำนวน 21% พูดถึงความครีมมี่ของมัทฉะ ในขณะที่ 23% พูดถึงเกี่ยวกับความนุ่มนวล และ 24% คิดว่ามัทฉะมีรสชาติเข้มข้น ในจำนวนนี้ผู้มีอิทธิพล 16% พูดถึงการเผาผลาญและ 27% เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่ามัทฉะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง 

ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคมีสูง แต่ทางฝั่งผู้ผลิตกลับผลิตมัทฉะคุณภาพดีออกมาได้อย่างจำกัด ข้อมูลจาก Forbes ระบุว่า ใบชาที่ใช้สำหรับผลิตมัทฉะโดยเฉพาะนั้นกำลังขาดแคลน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ตามฤดูกาล จึงต้องมีระยะเวลาเฉพาะในการเจริญเติบโตและการเก็บเกี่ยว ทำให้มีปริมาณน้อยลงโดยเฉพาะในช่วงที่ฤดูเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เก็บเกี่ยวใบชาได้น้อยลงกว่าเดิมด้วย 

ประกอบกับฟาร์มผลิตใบชาในญี่ปุ่นที่มีกำลังผลิตน้อย ฟาร์มมัทฉะของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็กที่ทำธุรกิจแบบครอบครัว ไม่ได้พึ่งพาเครื่องจักรในอุตสาหกรรม เกษตรกรเหล่านี้ยังคงยึดมั่นในวิธีการแบบดั้งเดิมในการผลิตมัทฉะ (ใช้เครื่องบดหินแกรนิตแบบโบราณ) จึงมีกำลังในการผลิตต่ำ ส่งผลให้ผลิตสินค้าออมาไม่เพียงพอความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งขับเคลื่อนโดยกระแสโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันพบว่าเริ่มมีฟาร์มผลิตมัทฉะใหม่ๆ เริ่มผุดขึ้นในจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่าจะมีมัทฉะมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความท้าทายอยู่ที่คุณภาพของมัทฉะ ฟาร์มรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่เหล่านั้นต้องพิสูจน์ว่าจะสามารถผลิตมัทฉะออกมาได้มีคุณภาพเทียบเท่ากับฟาร์มญี่ปุ่นแบบออริจินอลได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากระแสความฮิตในการบริโภคเครื่องดื่มมัทฉะของคนรุ่นใหม่ จะยังคงพุ่งสูงแซงหน้าเครื่องดื่มสุขภาพอื่นๆ ในท้องตลาดต่อไปอีกนานหลายปี

 

อ้างอิง: Theconversation, Forbes, WomensHealthmag, AARP, ThebusinessResearchCompany, Tenzotea