"กาแฟ" ช่วยให้สมองตื่นตัวแค่ 3 ชม. ต่างกับ "ชาเขียวมัทฉะ" สดชื่นได้นานกว่า

"กาแฟ" ช่วยให้สมองตื่นตัวแค่ 3 ชม. ต่างกับ "ชาเขียวมัทฉะ" สดชื่นได้นานกว่า

จริงอยู่ที่ "กาแฟ" ช่วยให้วัยทำงานบูสต์สมองให้สดชื่นกระฉับกระเฉงได้ดี แต่คาเฟอีนในกาแฟมักจะหมดฤทธิ์เร็ว ขณะที่คาเฟอีนใน "ชาเขียวมัทฉะ" ช่วยให้สมองตื่นตัวเช่นกัน แถมยังช่วให้สดชื่นได้ยาวนานกว่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “กาแฟ” เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคน “วัยทำงาน” ที่ขาดไม่ได้ในทุกๆ เช้า แต่หลายคนมักจะรู้สึกว่าหลังดื่มกาแฟไปไม่กี่ชั่วโมง ก็จะเริ่มง่วงและเซื่องซึมอีกครั้ง จนต้องเติมกาแฟเข้าร่างกายเป็นแก้วที่ 2-3-4 ในแต่ละวัน แถมวันไหนไม่ได้ดื่มก็มักจะมีอาการที่เรียกว่า “ถอนคาเฟอีน

หากไม่อยากมีอาการ “ถอนคาเฟอีน” ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยของการบริโภคกาแฟมากเกินไป ได้แก่ อาการกระวนกระวายใจ หงุดหงิด หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว นอนไม่หลับ และ/หรือ ถ้าไม่อยากดื่มกาแฟหลายๆ แก้วต่อวัน อาจจะลองเปลี่ยนมาดื่ม “ชาเขียวมัทฉะ” ทดแทนได้

 

  • ชาเขียวมีคาเฟอีนเหมือนกาแฟ แต่ไม่ทำให้เกิดอาการ "ถอนคาเฟอีน"

มีข้อมูลงานวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า เครื่องดื่มชาเขียวมัทฉะนอกจากช่วยให้สมองตื่นตัวได้ดีแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพในแง่ของการมีสาร antioxidant EGCG หรือสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยลดการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย ที่ส่งผลในการป้องกันมะเร็ง

อีกทั้ง มีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟ นั่นจึงไม่ก่อให้เกิดอาการถอนคาเฟอีน อีกทั้งชาเขียวจะค่อยๆ ปลดปล่อยคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายอย่างช้าๆ ทำให้สมองตื่นตัวและกระฉับกระเฉงได้ยาวนานกว่าคาเฟอีนในกาแฟ

\"กาแฟ\" ช่วยให้สมองตื่นตัวแค่ 3 ชม. ต่างกับ \"ชาเขียวมัทฉะ\" สดชื่นได้นานกว่า ภาพจาก : medium

 

  • "กาแฟ" vs "ชาเขียวมัทฉะ" ดื่มแก้วไหนสดชื่นได้นานกว่า?

มีข้อมูลจาก healthline.com รายงานว่า กาแฟ 1 หน่วยบริโภค (ปริมาณ 8 ออนซ์ หรือ 240 มล.) มีคาเฟอีนอยู่ที่ 96-120 มก. ขณะที่ชาเขียวมัทฉะ 1 หน่วยบริโภค (ปริมาณ 2 ออนซ์ หรือ 60 มล.) จะใช้ผงมัทฉะ 1 กรัม จะมีคาเฟอีนอยู่ที่  38-88 มก. เท่านั้น สรุปได้ว่าในหนึ่งหน่วยบริโภค กาแฟจะให้คาเฟอีนสูงกว่ามัทฉะค่อนข้างมากทีเดียว

ด้วยความที่ “กาแฟ” มีคาแฟอีนปริมาณมาก จึงช่วยให้สดชื่นและคลายความง่วงได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายจะดูดซับคาเฟอีนเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว 99% ซึ่งหมายความว่า หลังจากดื่มกาแฟไปเพียง 15-30 นาที คาเฟอีนในกาแฟจะไปปิดกั้นการทำงานของสารเคมีในสมองของเราที่ชื่อว่า “อะดีโนซีน” (มีหน้าที่ทำให้เรารู้สึกง่วงนอนและอ่อนล้า) เมื่อคาเฟอีนขัดขวางไม่ให้อะดีโนซีนทำงาน เราจึงรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าในแทบจะทันที และจะรู้สึกตื่นตัวไปอีก 2-3 ชั่วโมง

จากนั้นคาเฟอีนก็จะหมดฤทธิ์ลง ทำให้บางคนอาจกลับมาง่วงซึมอีกครั้ง จนต้องหากาแฟแก้วถัดไปมาดื่มอีก บางคนดื่มมากถึง 3-4 แก้วต่อวัน ซึ่งการได้รับปริมาณคาเฟอีนในปริมาณมากต่อวัน นั่นส่งผลให้เกิดอาการ “ถอนคาเฟอีน” เมื่อไม่ได้ดื่มหรือดื่มน้อยกว่าปกติ

แต่ในทางกลับกัน “ชาเขียวมัทฉะ” แม้จะให้สารคาเฟอีนในปริมาณที่น้อยกว่ากาแฟ 50% แต่ก็ช่วยให้ผู้ดื่มกระปรี้กระเปร่าและสดชื่นได้เช่นกัน อีกทั้งการออกฤทธิ์ของคาเฟอีนในชาเขียวนั้น ยังเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากชาเขียวมัทฉะมีสาร “แอล-ธีอะนีน (l-theanine)” ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมคาเฟอีนได้ช้าลง

ดังนั้น แม้ผู้ดื่มชาเขียวมัทฉะจะไม่รู้สึกตื่นเต็มตาในทันที แต่ฤทธิ์ของคาเฟอีนจะยืนระยะไปได้นาน 4-6 ชั่วโมง ซึ่งทำให้สมองตื่นตัวได้นานกว่าการดื่มกาแฟ จึงไม่จำเป็นต้องดื่มชาเขียวหลายๆ แก้วต่อวัน อีกทั้ง “แอล-ธีอะนีน” ในมัทฉะช่วยลดความเครียด ช่วยต้านความวิตกกังวล และไม่ก่อให้เกิดอาการ “ถอนคาเฟอีน” ได้อีกด้วย

\"กาแฟ\" ช่วยให้สมองตื่นตัวแค่ 3 ชม. ต่างกับ \"ชาเขียวมัทฉะ\" สดชื่นได้นานกว่า

  • เทียบชัดๆ ข้อดี-ข้อเสีย "กาแฟ" vs "ชาเขียวมัทฉะ"

แต่ทั้งนี้ เราไม่ได้บอกว่าการดื่ม “กาแฟ” ไม่ดีหรือไม่มีประโยชน์ เพราะข้อดีของกาแฟก็มีอยู่ไม่น้อยหากดื่มในปริมาณที่เหมาะสม โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก National Library of Medicine ระบุว่า การดื่มกาแฟทุกวัน วันละ 2 ถ้วย มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของ “โรคเบาหวานประเภท 2” ได้ถึง 12%

อีกทั้ง การบริโภคกาแฟอาจเชื่อมโยงกับการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และอาจช่วยป้องกันมะเร็ง และช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้

ขณะที่ชาเขียวมัทฉะ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง มีแร่ธาตุและกรดอะมิโนต่างๆ ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ แถมยังมีคุณสมบัติต่อต้านริ้วรอยและอาจฟื้นฟูเซลล์ร่างกายให้แข็งแรง ช่วยลดน้ำหนัก ลดความดันโลหิต

อีกทั้งมีระดับ pH ที่สมดุล ทำให้ช่วยย่อยอาหารได้ดี มีสาร “คาเทชิน” ซึ่งจะช่วยให้ลดกลิ่นปากและลดคราบฟัน ช่วยปรับปรุงสภาวะทางอารมณ์และจิตใจของคุณ ลดความเสี่ยงของอาการตื่นตระหนก ลดความเครียดและความกังวลใจ ช่วยบรรเทาอาการของภาวะซึมเศร้าและทำให้ผ่อนคลายผ่อนคลาย

อย่างไรก็ตาม วัยทำงานและชาวออฟฟิศทั้งหลายสามารถเลือกดื่มเครื่องดื่มทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ตามความพึงพอใจ และเหมาะกับสภาพร่างกายของตนเอง สิ่งสำคัญอยู่ที่การดื่มในปริมาณที่เหมาะสม และเลี่ยงการดื่มใกล้ๆ กับเวลาเข้านอนจะดีที่สุด

------------------------------------

อ้างอิง : Coffee and caffeine intake and incidence of type 2 diabetes mellitusHow Do Matcha and Coffee Compare?Matcha VS Coffee: What’s the difference?Does Matcha Have As Much Caffeine As Coffee?,  Caffeine in Matcha vs Coffee: Which one is Better? 

กราฟิก : ณัชชา พ่วงพี