‘หมอตังค์ มรรคพร’ นายแพทย์เล่า ‘คดีฆาตกรรม’ กับบทเรียนจาก ‘ความตาย’
กรุงเทพธุรกิจ พูดคุยกับ “หมอตังค์ มรรคพร ขัติยะทองคำ” นายแพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและเวชศาสตร์ทางเพศ เจ้าของรายการ “เวรชันสูตร” ที่ยืนหยัดเล่าคดีฆาตกรรมมาถึง 5 ปี จนมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน มียอดชมหลักล้านเกือบทุกคลิป
“คดีอาชญากรรม” (True Crime) กลายเป็นหนึ่งในหมวดความบันเทิงที่คนหันมาฟังกันมากขึ้นในปัจจุบัน เมื่อมีคนฟังมากขึ้น ก็มีคนหันมาเล่าเรื่องเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในช่องที่อยู่ในแถวหน้าของแวดวงนี้ คงจะหนีไม่พ้นช่อง “Tang Makkaporn” ของ “หมอตังค์ มรรคพร ขัติยะทองคำ” นายแพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและเวชศาสตร์ทางเพศ เจ้าของรายการ “เวรชันสูตร” ที่ยืนหยัดเล่าคดีฆาตกรรมมาถึง 5 ปี จนมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน มียอดชมหลักล้านเกือบทุกคลิป
หมอตังค์อธิบายให้ฟังว่า สาเหตุที่คนเราชอบฟังเรื่องเล่าคดีอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นคดีฆาตกรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องผี เพราะความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์เรา และช่วยให้อะดรีนาลีนได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“มนุษย์เรามีความอยากรู้อยู่ในตัว ยิ่งเรื่องอาชญากรรมจะยิ่งก็ยิ่งเล่นกับความอยากรู้ของเรา ว่าจะเป็นแล้วอย่างไงต่อ ตามจับคนร้ายได้ไหม ยิ่งฟังยิ่งตื่นเต้น กระตุ้นอะดรีนาลีน เหมือนดูหนังผีที่ดูแล้วได้ลุ้นไปกับตัวละคร แต่คดีอาชญากรรมยังให้ข้อคิดด้วย สุดท้ายเราก็จะพึงระวังในการใช้ชีวิต การไว้ใจคนอื่น ได้เรียนรู้บทเรียนจากเรื่องราวเหล่านี้”
หมอตังค์เป็นหนึ่งคนที่ชอบเรื่องราวคดีอาชญากรรมมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากการสะสมหนังสือการ์ตูนมังงะแนวสืบสวนสอบสวน พอโตขึ้นก็เริ่มดูซีรีส์เกี่ยวกับอาชญากรรม จากนั้นก็หันไปดูสารคดีคดีอาชญากรรม และศึกษาคดีของฆาตกรต่อเนื่องต่างประเทศ
สำหรับจุดเริ่มต้นการทำช่องยูทูบ มาจากตอนไปทำงานที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งพอมีเวลาว่างอยู่บ้าง ประกอบกับเพื่อนแนะนำให้ลองทำคลิปดู เพราะหมอตังค์ชอบพูดคุยเล่าเรื่อง จึงหยิบเอาความชอบของตัวเองมาทำ จนกลายเป็นรายการ “เวรชันสูตร” เป็นรายการที่จะนำคดีอาชญากรรมมาเล่า และสอดแทรกความรู้ทางการแพทย์เข้าไปด้วย
เนื่องด้วย เรื่องที่เล่าในรายการเป็นคดีที่เกิดขึ้นจริง หมอตังค์จึงให้ความสำคัญกับข้อมูลเป็นพิเศษ “ถ้าเราถ่ายทอดออกมาแล้วคลาดเคลื่อนบิดเบือน คนที่เสียหายจะเป็นเจ้าของเรื่อง ทั้งตัวเหยื่อและครอบครัว ตังค์อยากทําให้ถูกต้องมากที่สุด ให้น่าเชื่อถือที่สุด สมบูรณ์ที่สุด”
ขณะเดียวกัน หมอตังค์ตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในคดีที่นำมาเล่า จึงมักไม่ลงรายละเอียดมากนัก แม้ว่าในช่วงแรกจะทำให้ยอดวิวดีก็ตาม เพราะการเล่าการกระทำของฆาตกร ยิ่งเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมเหยื่อ ที่สำคัญหมอตังค์ไม่ได้สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และจะไม่ใส่อารมณ์ชี้นำคนดู เน้นนำเสนอเรื่องราวประวัติบุคคล และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากคดี เพื่อให้คนดูใช้วิจารณญาณตัดสินเอาเอง
“เราเสนอเพื่อเป็นอุทาหรณ์ มีประโยชน์ต่อคนฟัง เป็นกรณีศึกษา เป็นตัวแทนความห่วงใยที่มอบให้กับคนดู เพราะเป็นเคสจริงที่เกิดขึ้น เราจะได้ระแวดระวังตัวได้” หมอตังค์กล่าว
ในเมื่อหมอตังค์ให้ความสำคัญกับความถูกต้องและข้อมูลที่ครบถ้วนเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่ค่อยได้เล่าคดีในไทยมากนัก “เราต้องมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาก ๆ ซึ่งคดีในไทยที่เล่าโดยสำนักข่าว อาจจะไม่ค่อยปะติดปะต่อพอจะร้อยเรียงเรื่องราวได้ อาจจะกระทบกับคนที่เกี่ยวข้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และถ้าเอามาทำโดยไม่ได้ข้ออนุญาตก่อนก็คงจะไม่ดี”
ผ่านมา 200 กว่าตอนของรายการเวรชันสูตร มีเคสจากประเทศไทยเพียงเคสเดียว ซึ่งได้รับความร่วมมือกับสํานักงานอัยการสูงสุด โดยคดีนี้หมอตังค์ได้พูดคุยกับอัยการที่สืบคดีนี้ และอ่านสำนวนคดีจริง ๆ ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากเพียงพอที่จะถ่ายทอดออกมาอย่างมั่นใจ อีกทั้งคดีนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของคุณแม่คนหนึ่งที่รักลูกสุดหัวใจ อยากทวงคืนความยุติธรรมให้กับลูกที่เสียชีวิต และเห็นถึงความพยายามของอัยการที่ตามคดีไม่ปล่อย ไม่หลงไปกับอํานาจเงินทองที่มีคนเสนอให้
ในขณะเดียวกัน หมอตังค์ก็พยายามจะหาคดีที่มาจากประเทศต่าง ๆ ที่อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก เช่น บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา, ไซปรัส, โดมินิกัน และคาซัคสถาน มาเล่าให้ฟังบ้าง เพราะอยากสะท้อนบริบทสังคมของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันก็ได้คอนเทนต์ที่สดใหม่มากขึ้น ได้มุมมองใหม่มากขึ้น
“ตังค์ทำเคสสหรัฐมามากกว่า 160 เคสแล้ว ตังค์เลยคิดว่าเราน่าจะลองไปเล่าเคสของประเทศต่าง ๆ เหมือนทําให้เราได้รู้จักประเทศและบริบทสังคมของเขา และอยากสะท้อนด้วยว่า ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ก็ไม่มีที่ที่ปลอดภัย 100% ทุกประเทศสามารถเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ได้”
ในการเล่าเรื่องแต่ละครั้ง หมอตังค์ใช้เวลาหาข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งบางในช่วงแรกทำให้อินไปกับเรื่องราว จนบางครั้งเกิดความอคติกับเรื่องราวและใส่อารมณ์ในการเล่าเรื่อง เขาจึงต้องปรับตัวไม่ให้ตนเองรับเรื่องราวมากเกินไป หมอตังค์เล่าว่าใช้เทคนิคที่ได้จากการเป็นหมอเข้ามาช่วย
“การเป็นหมอกับการเล่าคดีฆาตกรรมมีความใกล้เคียงกันคือ เห็นความตายต่อหน้าเหมือนกัน เวลาเห็นคนไข้ที่เราผูกพันเสียชีวิต ทางการแพทย์เราจะสอนกันว่า เรามี Empathy ได้ แต่อย่ามี Sympathy คือเราเข้าใจว่าสัจธรรมของโลกเป็นอย่างไร เปลี่ยนความเสียใจที่เรามีเป็นการรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด แสดงออกอย่างโปรเฟสชันนอล แต่ถ้ามี Sympathy มากเกินไป เราร้องไห้ไปกับญาติ อาจดูไม่โปรเท่าไหร่ ต้องมีขอบเขต”
“ตังค์เลยเอาวิธีนี้มาประยุกต์ใช้ในการทำคดี ด้วยการกำหนดขอบเขตความคิดของตัวเอง และจัดการกับอารมณ์ตัวเองไม่ให้ดําดิ่งไปกับเคสต่าง ๆ เหมือนมีภูมิคุ้มกันจากการแพทย์มาแล้ว”
คดีที่หมอตังค์นำมาเล่ามีด้วยกันหลากหลายยุค ตั้งแต่สมัยที่ยังตรวจดีเอ็นเอไม่ได้ มาจนถึงคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้หมอตังค์เห็นถึงรูปแบบคดีและการสืบสวนที่แตกต่างกันไป เปลี่ยนตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือความรุนแรงในจิตใจมนุษย์
“ความอํามหิตความโหดเหี้ยมยังมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ยิ่งในยุคปัจจุบันเราไม่สามารถสังเกตความโหดร้ายที่ซ่อนอยู่ได้ด้วยซ้ำ หลายคนพยายามเก็บไว้ แล้วก็ระเบิดออกมาตู้มทีเดียว แต่สมัยก่อนอยากแสดงอะไรก็แสดงออกมา ดังนั้นแพทเทิร์นอาจจะแตกต่าง แต่ความโหดร้ายยังอยู่ทุกยุคทุกสมัยเหมือนเดิม”
นอกจากจะทำคลิปลงในช่องยูทูบแล้ว ล่าสุดหมอตังค์ยังมีผลงานเขียนหนังสือเล่มแรก “รอยยิ้มความตาย ประกายความหวัง” ซึ่งเป็นหนึ่งในความฝันตั้งแต่เด็ก
“ตังค์เป็นหมอก็เห็นความตาย พอได้มาทําช่อง คลุกคลีอยู่ในวงการ True Crime ก็มาเล่าเรื่องคนตายอีก เราต่างคิดความตายมันน่าเศร้าจริง ๆ มันหดหู่ มันมืดมน แต่ตังค์ลองคิดว่า มีความตายครั้งไหนไหมที่สร้างความหวัง มอบกำลังใจ หรือมีคนยอมตายเพื่อบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งในโลกใบนี้มีเรื่องราวแบบนี้เยอะมาก ตังค์เลยรวบรวมมา 22 เรื่องราว ของ 21 บุคคล และอีกหนึ่งน้องหมา”
“ในหนังสือมีเรื่องเล่าของเด็กอายุ 4-5 ขวบ ที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งทำให้ตังค์รู้ว่าชีวิตคนเราไม่ได้ตัดสินว่าเราต้องมีอายุยืนถึงจะเรียกว่ามีชีวิตคุ้มค่า แต่คือตอนที่เรามีชีวิตอยู่ เราได้ทําอะไรให้คนรอบข้างจดจํา หรือหลงเหลืออะไรให้กับโลกใบนี้ อันนี้เป็นคําตอบที่เราควรจะค้นหามากกว่า”
หมอตังค์เปรียบชีวิตของทุกคนในหนังสือเป็น “ดอกหิมาลายันป๊อปปี้” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดอกแห่งความเสียสละ เนื่องจากดอกไม้นี้จะเบ่งบานสวยสะพรั่งที่สุด ก็เมื่อถึงวันสุดท้ายในชีวิต เหมือนกับชีวิตของทุกคนที่ได้เสียสละอะไรบางอย่างไว้ให้กับคนข้างหลัง โดยหน้าปกหนังสือเล่มนี้ก็เป็นรูปดอกหิมาลายันป๊อปปี้ ที่เป็นฝีมือของคุณพ่อของหมอ
ในหนังสือเล่มนี้ มีหนึ่งบุคคลที่เลือกจะ “การุณยฆาต” ตนเอง ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและถกเถียงกันในวงกว้าง หลายประเทศอนุญาตให้ผู้ป่วยเลือกใช้วิธีนี้ เพื่อจากไปอย่างสงบได้ และหลายคนอยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในมุมมองของหมอตังค์คิดว่า ถ้ามีการุณยฆาตเป็น “ทางเลือก” สำหรับคนไข้ก็น่าจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย
“มนุษย์เราไม่มีสิทธิ์เลือกเกิดได้ แต่อย่างน้อยหลังจากเกิดมาแล้ว เรามีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจทําอะไรต่าง ๆ เราเลือกกินของที่อยากกิน เราทําตามความฝัน อยากเดินไปเส้นทางนี้ เรามีสิทธิ์เลือกได้ ตังค์รู้สึกว่าความตายก็ไม่ได้ต่างกัน เราควรจะมีสิทธิ์เลือกความตายของเรา เปรียบชีวิตเป็นหนังสือ เราก็ควรได้เขียนบทสุดท้าย ตังค์เลยเห็นด้วยกับการที่เราจะมีทางเลือกให้เรา ก่อนที่จะเสียชีวิต”
“ถ้าเราเกิดป่วยแล้วอยู่ในสภาวะที่ตายทั้งเป็น บางที่การมีทางเลือกว่าเราสามารถทำอะไรบางอย่างที่ดีสำหรับชีวิตเราก็อาจจะดีกว่า แต่บุคคลที่ขอยื่นการการุณยฆาตต้องผ่านการประเมินทางด้านจิตใจ ผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน ไม่ใช่อยากเสียชีวิตยื่นใบวันนี้ พรุ่งนี้ทําเลย เมื่อมีการประเมินเยอะ แปลว่าคนที่ผ่านมาได้เขาตั้งใจ คิดแล้ว ไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบแน่นอน”
“เหมือนกับชีวิตของเบตซี เดวิส ในหนังสือ เขาได้ออกแบบชีวิต 2 วันสุดท้ายบนโลก เขาได้อยู่กับคนที่เขารักและมีความสุข เขาได้แบ่งปันอะไรบางอย่างให้กับผู้คน ทําให้รู้สึกว่ามันดี ถ้าเรามีการการุณยฆาตเป็นทางเลือก”
สำหรับหมอตังค์แล้ว ความตายเป็นเพียงสถานะหนึ่งในชีวิต แต่เราไม่ควรรอให้ใครสักคนจากไปก่อนที่เราจะได้เรียนรู้และระลึกถึงคนเหล่านั้น
“เราได้เรียนรู้แต่ละคนตอนที่เขามีชีวิตอยู่ต่างหาก ความตายเป็นเหมือนจุดจุดหนึ่งที่ก็แค่เป็นสถานะ ความตายมีแต่ความเศร้าโศกเสียน้ำตา การที่เราคิดถึงเขา นึกถึงเขาแล้วยิ้มได้ มันคือช่วงเวลาที่คน ๆ นั้นกําลังมีชีวิตอยู่ เรามองความตายเป็นเรื่องใหญ่ แต่เรามองวันธรรมดาในชีวิตเป็นเรื่องเล็ก ใช้ชีวิตเป็นวัน ๆ ดังนั้นตังค์ว่าเราไม่ได้เรียนรู้ในความตาย เราควรเรียนรู้กันตอนที่เรามีลมหายใจอยู่ หรือว่าช่วงที่เราได้ใช้ชีวิตตรงนั้นจากชีวิตใครก็ได้”
ด้วยแนวคิดนี้ทำให้หมอตังค์เลือกที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ทิ้งเอาไว้ เพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าเขาคือใคร “สุดท้ายวันหนึ่งตังค์ไม่อยู่แล้ว ทุกคนเสียใจ แต่สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะรู้จักตังค์จากตอนที่มีชีวิต ตังค์เคยทำอะไรไว้บ้าง ตังค์เลยต้องทําอะไรหลายอย่างทิ้งไว้ เผื่อวันหนึ่งตังค์จากไป คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านหนังสือ ได้มีช่องยูทูบให้ได้เข้าไปเจอทุกวัน”
“มีข้อคิดหนึ่งที่ตังค์ชอบมาก ๆ ตอนแกะบทสัมภาษณ์ของเบตซี เดวิส ที่เธอบอกว่า ‘จงเอาสิ่งที่พวกเธอชอบในตัวฉัน ไปเพิ่มพูนในตัวคุณ’ ซึ่งความชอบในตัวตนของเบตซีล้วนเกิดขึ้นตอนที่เธอมีชีวิต ไม่ได้เกิดตอนที่เธอตายไปแล้ว ดังนั้นเราควรเรียนรู้บุคคลตอนที่เขาช่วงเวลาเขามีชีวิตมากกว่า”
แม้หมอตังค์จะคลุกคลีอยู่กับความตาย เขาก็ไม่เชื่อในโลกหลังความตาย ซึ่งอาจเป็นเพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ที่เรียนรู้มาตลอดชีวิต แต่ก็ไม่ได้ลบหลู่ความเชื่อของใคร
“พอเสียชีวิตแล้ว ก็แค่ดับไปเลย ไม่รู้สึกอะไรอีก ไม่ได้ล่องลอยไปไหน ไม่ได้ไปเกิด อาจเพราะเราเรียนด้านวิทยาศาสตร์มาตลอด เลยนึกภาพไม่ออกว่าจะมีพลังงานจากไหนมาส่งเสริมให้จิตใจเราอยู่ได้ ตอนนี้เลยยังไม่เชื่อ แต่ตังค์ก็เคารพความคิดของคนอื่น ไม่แน่ถ้าในอนาคตมีหลักฐานมากพอ ตังค์อาจเปลี่ยนความคิด”
ในปี 2024 ถือเป็นปีที่หมอตังค์ได้ลองทำอะไรหลายอย่าง ตั้งแต่ “ชันสูตร ON STAGE” โชว์เล่าคดีสด ๆ ไปจนถึงออกหนังสือเล่มแรกในชีวิต และยังมีรายการ “Crime Junction คน คลั่ง คดี” ที่ทำร่วมกับ “ฟาโรห์ The Common Thread” ทางช่อง “Real” ที่หมอตังค์และเพื่อน ๆ รวมตัวกันทำ เพื่อเป็นช่องทางให้มาเล่าเรื่องราวที่พวกเขาสนใจ รวมถึงช่อง “Doctor Tang” ที่นำเสนอเรื่องราวทางการแพทย์ แต่หมอตังค์ก็ยังมีความฝันที่อยากจะทำอะไรอีกหลายอย่าง
“ตอนนี้อยากจะไปลุยด้านการศึกษาให้มากขึ้น อยากจะเปิดเวทีเสวนาตามสถานศึกษา ให้น้อง ๆ ร่วมพูดคุยกับเรา แบ่งปันแชร์ความรู้ที่น้องถนัด ซึ่งก็มีคุย ๆ กับทางมหาวิทยาลัยบ้างแล้ว ตังค์รู้สึกว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ วันหนึ่งตังค์อยากทําให้การศึกษาเข้าถึงให้ได้ทุกที่ เพราะประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่เยอะ”
หมอตังค์เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่สนใจเรื่องการศึกษาเป็นเพราะตอนที่ไปประจำการที่แม่ฮ่องสอน เห็นเด็ก ๆ ที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษา ดังนั้นเวลาที่มีหมอหรือตำรวจมาออกค่าย แล้วช่วยสอนหนังสือ น้อง ๆ จะดีใจมากที่ได้เรียนหนังสือ
ในปัจจุบันที่โลกหมุนไปไว มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ความรุนแรงและคดีฆาตกรยังคงอยู่ การประคองตนและดูแลสุขภาพใจตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ
“เราอยู่ในยุคที่สุขภาพจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก และอยากให้กำลังใจทุกคน ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไรอยู่ เราจะต้องผ่านไปให้ได้ อยากให้มีรอยยิ้มในทุกวัน มีเสียงหัวเราะสม่ำเสมอ”
“บางทีความสุขของเรา อาจจะเป็นแค่การได้กินอาหารอร่อย ได้ดูอะไรที่ชอบ แต่อยากขอให้สำรวจความสุขของตัวเองสม่ำเสมอ แล้วก็มีกำลังใจดี ๆ ในทุกวัน”