เทรนด์ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาแรง เปิดไอเดีย You Do You Fridays ลองแล้วเวิร์ก!

เทรนด์ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาแรง เปิดไอเดีย You Do You Fridays ลองแล้วเวิร์ก!

ช่วง 1-2 ปีมานี้ เทรนด์ 4-day work week หรือการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ยังคงกระแสแรงต่อเนื่อง ล่าสุด.. บริษัท Exos ในสหรัฐก็ทดลองทำดูบ้าง ผลปรากฏว่าได้ผลดีต่อทั้งองค์กรและพนักงาน

KEY

POINTS

  • 1-2 ปีมานี้ เทรนด์ 4-day work week หรือการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ยังคงกระแสแรงต่อเนื่อง 
  • ล่าสุด.. บริษัท Exos ในสหรัฐก็ทดลองทำดูบ้าง โดยเอามาปรับใช้เป็นโครงการนำร่อง "You Do You Fridays" ผลปรากฏว่าได้ผลดีต่อทั้งองค์กรและพนักงาน
  • ผลการทดลองพบว่า ก่อนจะเริ่มโครงการฯ มีพนักงานถึง 70% ที่รายงานว่าพวกเขารู้สึกเหนื่อยล้า แต่หลังจากร่วมโครงการฯ จำนวนพนักงานที่เหนื่อยล้าลดลง เหลือเพียง 36% 

ช่วง 1-2 ปีมานี้ เทรนด์ 4-day work week หรือการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ยังคงกระแสแรงต่อเนื่อง ล่าสุด.. บริษัท Exos ในสหรัฐก็ทดลองทำดูบ้าง ผลปรากฏว่าได้ผลดีต่อทั้งองค์กรและพนักงาน

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่โลกหลังยุคโควิดทำให้ชีวิตการทำงานของผู้คนเปลี่ยนไปแล้ว พนักงานจำนวนมากหันมาประเมินบทบาทการทำงานของตนเองใหม่อีกครั้ง ขณะที่หลายๆ องค์กรก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสมดุลชีวิต  สุขภาพจิต และการป้องกันภาวะหมดไฟของพนักงานมากขึ้น โดยอาจใช้เครื่องมืออย่างผู้ช่วย AI เข้ามาช่วยทำงาน (Task) บางขั้นตอนที่ซ้ำซากจำเจ หรืออาจมีการตั้งนโยบายใหม่ๆ เพื่อให้พนักงานลาหยุดพักได้มากขึ้น 

โดยหนึ่งในกลยุทธ์ของหลายๆ บริษัทที่นำมาใช้ดูแลพนักงานก็คือ การใช้แนวคิด “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” หรือ 4-day work week ซึ่งก่อนหน้านี้ มีหลายองค์กรในประเทศฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ทดลองทำงานในรูปแบบดังกล่าว บริษัทบางแห่งก็ได้ผลดี แต่บางแห่งก็อาจไม่ได้ผลนัก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบกับผลลัพธ์ เช่น ขนาดขององค์กร, จำนวนพนักงาน, ลักษณะของงาน, ความสามารถในการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ ฯลฯ

(อ่านเพิ่มบริษัทในเยอรมนี ทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ หวังดึงคนเก่งร่วมงานมากขึ้น)

เทรนด์ "ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์" เติบโตขึ้น และเกิดวิธีการปรับใช้ที่หลากหลายมากขึ้น

ล่าสุด.. มีข้อมูลจาก Forbes รายงานว่า มีบริษัทอีกแห่งในสหรัฐอย่าง “Exos” (บริษัทผู้ให้บริการด้านฟิตเนสและฝึกสอนด้านการออกกำลังกายในที่ทำงาน รวมถึงการโค้ชด้านความเป็นผู้นำแก่ผู้บริหาร) ได้ทดลองปรับวิธีทำงานตาม แนวคิด ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ดูบ้าง แม้จะยังเป็นเพียงโครงการนำร่อง แต่ก็มีการวัดผลพบว่า วิธีนี้ช่วยให้พนักงานทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความเหนื่อยหน่ายลง

อีกทั้งหากย้อนดูปรากฏการณ์นี้ในองค์กรต่างๆ ทั่วโลก จะเห็นว่าเทรนด์นี้ขยายขอบเขตเติบโตมากขึ้น หลายบริษัทมีการปรับปรุงจำนวนวันทำงานของพนักงาน เพื่อป้องกันปัญหาการลางานบ่อยๆ และปัญหาสุขภาพจิตของพนักงาน โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่าหลายบริษัทได้ตั้งนโยบายใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับแนวคิด “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” ไม่ว่าจะเป็น 

- การหมุนเวียนรายชื่อพนักงานให้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์สลับกันเป็นรายๆ ไป (สัปดาห์นี้ให้ A หยุดงานเพิ่มหนึ่งวัน สัปดาห์ถัดไปให้ B หยุดงานเพิ่มหนึ่งวัน แล้วสลับวนคนใหม่ไปเรื่อยๆ)

- ให้พนักงานหยุดเพิ่มในบางสัปดาห์แบบศุกร์เว้นศุกร์ 

- ตั้งนโยบาย “Summer Hours” ในวันศุกร์ของบางสัปดาห์ (ให้หยุดงานเพิ่ม) เพื่อทำกิจกรรมตามฤดูกาลของท้องถิ่น

- ไม่ต้องหยุดเพิ่มในวันศุกร์ก็ได้ แต่ขอให้เป็นวันทำงานที่ “ไม่มีการประชุม” (Zero-Meeting Fridays) เพื่อทำงานค้างต่างๆ ให้เสร็จสิ้น

“You Do You Fridays” อีกหนึ่งนโยบายที่พัฒนามาจากแนวคิด ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

สำหรับบริษัท Exos ได้เริ่มทำโครงการนำร่องตามแนวคิดทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยตั้งนโยบายใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ประกาศให้ทุกๆ วันศุกร์ เป็นวันที่เรียกว่า “You Do You Fridays” หรือวันที่คุณเลือกได้ว่าจะทำอะไร โดยมีกฎอยู่ข้อเดียวคือ “ห้ามโต้ตอบกับเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะทางอีเมลหรือการประชุมออนไลน์ใดๆ ก็ตาม” อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้ประกาศให้วันศุกร์เป็นวันหยุด 

“You Do You Fridays” เป็นวันที่บริษัทให้พนักงานสามารถกำหนดเองได้ว่าจะ ลาหยุด ทำงานค้างต่อให้เสร็จ หรือไปทำธุระส่วนตัวต่างๆ ได้ โครงการนำร่องนี้เริ่มต้นเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2023 จนถึงเดือนมีนาคม-เมษายนปีนี้ (รวมระยะเวลาทดลองประมาณเกือบๆ 1 ปี ) ทดลองกับพนักงานจำนวน 3,500 คนในบริษัท โดยกำหนดให้ You Do You Fridays มีขึ้นในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ โดยการกำหนดนโยบายขึ้นมา ก็ช่วยเน้นย้ำถึงแนวทางของบริษัทในการฝึกสอนความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งส่งเสริมแนวคิด “การฟื้นฟูเชิงกลยุทธ์” เพื่อร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นของพนักงาน 

เกรก ฮิลล์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของ Exos กล่าวว่า “ผู้นำองค์กรต่างๆ เริ่มตระหนักว่าพวกเขาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในที่ทำงานของเราได้ หากไม่แก้ไขปัญหาในบุคลากรเสียก่อน แนวคิดนี้คือการนำการฟื้นฟูมาสู่องค์กรผ่านความยืดหยุ่น”

ผลลัพธ์ชี้ชัด แนวคิดทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ช่วยให้พนักงานของ Exos ได้รับประโยชน์จริง!

โครงการนำร่อง You Do You Fridays ของ Exos นั้นไม่ได้ทำกันเล่นๆ แต่พวกเขาใช้ตัววัดผลลัพธ์ซึ่งได้รับการวิเคราะห์โดยศาสตราจารย์ อดัม แกรนต์ ของ Wharton Hill ซึ่งพบว่า การทำงานสี่วันต่อสัปดาห์มีประโยชน์ที่แท้จริง โดยสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่ตรงกับงานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ที่ได้แสดงเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น หลังจากประกาศใช้ “You Do You Fridays” Exos ได้สำรวจความเห็นของพนักงานและพบว่า 91% ของพนักงานมองว่า เวลาของพวกเขาถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพในการทำงาน เทียบกับ 64% ก่อนที่จะเริ่มโครงการฯ 

ในขณะเดียวกัน พนักงานรายงานว่าพวกเขารู้สึกเหนื่อยล้าจากงานก็มีจำนวนลดลงด้วย โดยก่อนจะเริ่มโครงการฯ มีพนักงานถึง 70% ที่รายงานว่าพวกเขารู้สึกเหนื่อยล้าในบางครั้ง แต่หลังจากเข้าร่วมทดลองกับโครงการฯ มีพนักงานเพียง 36% เท่านั้นที่รายงานถึงความเหนื่อยล้าดังกล่าว (อัตราการลาออกก็ลดลงเช่นกัน แม้ว่าจะน่าสังเกตว่าช่วงเวลาดังกล่าวซ้อนทับกับตลาดการจ้างงานที่ลดลงก็ตาม)

“ความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นสิ่งที่เปิดหูเปิดตาให้องค์กรอย่างแท้จริง เราตระหนักว่าโลกการทำงานยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีการพูดคุยกันมากมายเกี่ยวกับแนวคิดการทำงานรูปแบบใหม่ และการฟื้นฟูพนักงาน ซึ่งที่สุดแล้วก็พบว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่จะได้ผลดีเท่านี้” ฮิลล์กล่าว

ฮิลล์บอกอีกว่า เหตุที่ทางบริษัทดำเนินโครงการ “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” แล้วได้ผลดีนั้น มาจากการมุ่งเน้นไปที่ความพร้อมในวัฒนธรรมองค์กรของพวกเขา และตั้งใจมอบวันหยุดให้พนักงาน ทั้งยังสนับสนุนการจัดสรรเวลางานให้สั้นลง เช่น จำกัดการประชุมไว้ที่ 25 หรือ 50 นาทีเท่านั้น เพื่อปรับปรุงวาระการประชุมและเป้าหมายการประชุมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

นอกจากนี้ ยังผลักดันให้วันอังคารและพฤหัสบดีเน้นไปที่การประชุมสำคัญโดยเฉพาะ ในขณะที่วันจันทร์และวันพุธเน้นไปที่การทำงานเป็นรายบุคคล เพื่อช่วยให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการ “สลับหน้างานไปมา” ที่อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง (งานเสร็จช้าลงกว่าเดิม)