อังกฤษวิจัยจริงจัง “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” ได้ผลดี หรือ แค่อยากหยุดเพิ่ม?

อังกฤษวิจัยจริงจัง “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” ได้ผลดี หรือ แค่อยากหยุดเพิ่ม?

ส่องโมเดลการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โครงการต้นแบบของสหราชอาณาจักร ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานและพนักงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริงหรือไม่

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา พนักงานบริษัทกว่า 3,300 คน จาก 70 บริษัท ทั้งที่เป็นบริษัทขนาดเล็กในท้องถิ่น ไปจนถึงบริษัททางการเงินขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักร ได้เริ่มนำร่อง “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” (จันทร์-พฤหัสบดี) โดยไม่มีการหักค่าแรง นับเป็นการทดลองการทำงานรูปแบบใหม่ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

โครงการนำร่องนี้ จัดขึ้นโดย “4 Day Week Global” ชุมชนไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อสนับสนุนการทำงาน 4 วัน ร่วมมือกับ “Thinktank Autonomy” องค์กรวิจัยอิสระ ที่ประกอบด้วยกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และวิทยาลัยบอสตัน ใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 เดือน ด้วยระบบ 100:80:100 คือ จ่ายค่าจ้าง 100% ในระยะทำงาน 80% โดยที่จะต้องมีประสิทธิภาพในการทำงาน 100% เช่นเดิม

โจ โอคอนเนอร์ หัวหน้าผู้บริหารของกลุ่ม 4 Day Week Global โต้โผหลักที่ผลักดันให้เกิดโครงการนี้ เปิดเผยกับสำนักข่าว The Guardian ว่า “หลังจากที่เราเจอกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทตระหนักได้ว่าสิ่งที่จะทำให้ได้เปรียบคู่แข่งนั้น คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน ลดชั่วโมงการทำงานลง และการทำงานมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์

  • ทำงาน 4 วันให้ได้ดี ต้องวัดผล 3 ด้าน

นักวิจัยจะทำงานร่วมกับแต่ละบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ของประสิทธิภาพการทำงานและสวัสดิภาพของพนักงาน ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร

จูเลียต ชอร์ นักเศรษฐศาสตร์​ และศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ผู้เป็นหัวหน้านักวิจัย กล่าวถึงกระบวนการวิจัยในครั้งนี้ว่า “เราจะวิเคราะห์จากพนักงานว่ามีการตอบสนองต่อวันหยุดพิเศษอย่างไร ทั้งในแง่ของความเครียด ความเหนื่อยหน่าย ความพึงพอใจในการทำงาน ไปจนถึงคุณภาพชีวิต สุขภาพ การนอนหลับ การใช้พลังงาน การเดินทาง และด้านอื่น ๆ ของชีวิต โดยเราจะวัดผลทั้งหมด 3 ด้าน ทั้งตัวพนักงาน บริษัท และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

เอ็ด ซีเกิล ผู้บริหารระดับสูงของ Charity Bank กล่าวว่า ภูมิใจที่เป็นหนึ่งในธนาคารแห่งแรกในสหราชอาณาจักรที่เข้าร่วมโครงการนี้ “เรามีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมานานแล้ว แต่การระบาดใหญ่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป สำหรับธนาคารของเราแล้ว ต่อไปการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันจะกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะแนวคิดทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ไม่เหมาะสมกับศตวรรษนี้แล้ว”

ซีเกิลกล่าวต่อว่า “เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน พร้อมคงเงินเดือนและสวัสดิการเดิมไว้ จะทำให้พนักงานที่มีความสุข ส่งผลให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดี ตลอดจนภารกิจทางสังคมของเรา”

  • วันทำงานน้อยลง แต่ประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น

จนถึงตอนนี้เวลาได้ล่วงเลยมาแล้ว 4 เดือน จากวันแรกที่โครงการวิจัยได้เริ่มต้นขึ้น พบว่า 95% ของบริษัทที่เข้าร่วมการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ระบุว่า ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานอยู่ในระดับเท่าเดิมหรือดีขึ้น ในขณะที่ 86% มีแนวโน้มที่จะทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์นี้อย่างถาวร

แกร์รี คอนรอย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ 5 Squirrels บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ที่มีพนักงานประจำ 13 คน กล่าวกับสำนักข่าว CNN ว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์สร้างคุณประโยชน์ที่คาดไม่คิด “พวกเราน้ำหนักลงไปเยอะมาก ก่อนหน้านี้เราน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตลอด ตอนนี้ทีมเวลาเตรียมอาหารการกิน มีเวลาไปยิมมากขึ้น มีเวลาใส่ใจสุขภาพของตัวเอง” 

ขณะที่ ซาแมนธา ลอสซี  กรรมการผู้จัดการ Unity บริษัทประชาสัมพันธ์ในลอนดอน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่บริษัทเริ่มทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ลูกค้าต่างพอใจกับผลงานของบริษัท ขณะที่พนักงานต่างมีแรงบันดาลใจและสร้างสรรค์มากขึ้น 

จากการศึกษาภายในของบริษัทพบว่า ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 35% และพนักงานรู้สึกมีสุขภาพดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น เมื่อเทียบกับตอนทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์

กลายเป็นว่าตอนนี้ ทุกคนต่างอยากร่วมงานกับ Unity ลอสซีระบุว่า “ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราพยายามหาคนมีฝีมือมาร่วมงานกับเรา เราจ่ายเงินให้ตัวแทนจัดหางานไปเยอะมาก แต่หลังจากที่เราปรับการทำงาน กลับมีแต่คนส่งใบสมัครมาร่วมงานกับเรา ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการหางานได้มาก”

ในขณะเดียวกัน ลูกค้าของเธอก็จะนำแผนการทำงาน 4 วัน ไปเสนอต่อบริษัทที่ทำงานอยู่ “มีลูกค้ากล่าวกับฉันว่า จะนำโครงการนี้ไปเล่าให้กับฝ่าย HR ฟัง” ลอสซีกล่าวปิดท้าย

ชอร์ กล่าวว่าการทำงาน 4 วันในสัปดาห์ เป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สำคัญสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในตลาดแรงงาน อีกทั้งยังทำให้พนักงานมีความสุขและสุขภาพดีขึ้น หลังจากเกิดภาวะหมดไฟอย่างยาวนานในช่วงการระบาดของโควิด-19

“ชาวอเมริกันกำลังพบว่า วันหยุดสองวันนั้นไม่เพียงพอ พวกเขาไม่สามารถอัดแน่นการทำภารกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จภายในวันเสาร์และอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานบ้าน ดูแลครอบครัว มีเวลาส่วนตัวเพื่อหยุดพัก และเตรียมตัวเพื่อไปทำงานในวันจันทร์ได้”

  • บอกลาการเกลียดวันจันทร์ (Monday Blue)

สำหรับลอสซีแล้ว ช่วงสัปดาห์แรก ๆ ที่ต้องปรับตัวสู่การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ นั้นเหมือน “ฝันร้าย” ที่สุด เพราะบริษัทของเธอมีพนักงานน้อยเกินไปที่ตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของลูกค้า “ตอนนั้นฉันทำได้แค่นั่งลงบนพื้นแล้วร้องไห้” ลอสซีกล่าว

แต่แล้วทีมของเธอค่อย ๆ ปรับตัว หาวิธีที่จะทำงานได้โดยไม่ขาดตอน จนปัจจุบันมีกฎเวลาประชุมทีม 15 นาที ประชุมกับลูกค้า 30 นาที และสามารถส่งอีเมลงานให้กับในทีมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของโควตาอีเมลทั้งหมดในแต่ละวัน

นอกจากนี้ยังประยุกต์ระบบสัญญาณไฟจราจรมาใช้ในทีมอีกด้วย เพื่อลดการรบกวนสมาธิในเวลางาน แต่ละโต๊ะของพนักงานจะมีปุ่มสัญญาณไฟตั้งอยู่ ถ้าเกิดไฟเป็นสีแดง แสดงว่าพวกเขากำลังทำงาน ไม่ต้องการให้ใครมารบกวน ถ้าเกิดไฟเป็นสีเหลืองแปลว่าพวกเขากำลังยุ่งอยู่แต่สามารถพูดคุยได้ ส่วนไฟสีเขียวแสดงว่าพวกเขากำลังว่างพร้อมที่จะพูดคุยด้วย

ขณะที่ องค์กรของคอนรอยนั้นกำหนดช่วงเวลา “ทำงานโดยปราศจากสิ่งรบกวน” หรือ “Deep Work Time” ซึ่งกำหนดไว้ในช่วง 2 ชั่วโมงแรกในการทำงานตอนเช้า และ 2 ชั่วโมงแรกในการทำงานตอนบ่าย ในเวลานั้นพนักงานทุกคนจะโฟกัสกับงานของตน โดยไม่รับโทรศัพท์ ไม่อ่านอีเมล และไม่ตอบข้อความใด ๆ เลย

จนถึงตอนนี้พนักงานหลายคนเริ่มถอดปลั๊กโทรศัพท์สำนักงานออกแล้ว เพราะทำให้เสียสมาธิในการทำงาน ซึ่งในตอนแรกลูกค้าต่างเป็นกังวลในการติดต่อสื่อสาร แต่ภายหลังพวกเขาได้เปลี่ยนมาใช้การส่งอีเมลแทน

ลอสซีกล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้ทุกอย่างราบรื่นดี ตอนนี้พวกเรากลับรู้สึกว่า การทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์เป็นเรื่องที่ไร้มนุษยธรรมสิ้นดี และพนักงานที่นี่ไม่มีใครเป็นโรคเกลียดวันจันทร์”

แม้ว่าผลระยะเวลาของโครงการนี้ยังไม่ครบกำหนดและไม่ได้สรุปผลวิจัย แต่บริษัทในหลายประเทศ เช่น เบลเยี่ยม ไอซ์แลนด์ เยอรมนี สเปน ญี่ปุ่น เริ่มนำโครงการนี้ไปประยุกต์ใช้กับรูปแบบการทำงานของบริษัท ขณะที่นิวซีแลนด์เริ่มลดชั่วโมงการทำงานต่อวันลง ส่วนในสหรัฐและแคนาดาเริ่มพูดถึงการลดจำนวนทำงานต่อสัปดาห์ลงแล้ว

จะเห็นได้ว่า แนวคิดการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เริ่มแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก แม้จะค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ แต่ก็น่าจะเป็นเทรนด์การทำงานที่มาแรงในอนาคต คงต้องรอดูกันหลังจากที่ผลวิจัยโครงการนี้ได้ข้อสรุปแล้ว จะช่วยให้แนวคิดนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นหรือไม่ และบริษัทใดในไทยจะรับแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้เป็นเจ้าแรก


ที่มา: CNN, Euro NewsThe Guardian