เทรนด์ใหม่ทั่วโลก!!ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ข้อดี-ข้อจำกัดที่องค์กรต้องรู้

เทรนด์ใหม่ทั่วโลก!!ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ข้อดี-ข้อจำกัดที่องค์กรต้องรู้

เช้าวันจันทร์ เป็นวันที่ใครๆ ก็ไม่อยากตื่นไปทำงาน แถมในแต่ละสัปดาห์ กว่าจะผ่านพ้นไปถึงวันศุกร์ได้ต้องใช้ร่างกายเหนื่อยล้าแบบสุดๆ พอช่วงวันหยุด 2 วันก็แสนเศร้า ช่างผ่านไปไวเหลือเกิน!!!

KEY

POINTS

  • “การปรับลดวันทำงาน” เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาหลายปี โดยมีการทำวิจัยศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งหลายประเทศมีการทดลองใช้การทำงาน4วันต่อสัปดาห์
  • ข้อดีของการทำงาน4วันต่อสัปดาห์ สุขภาพดี ลดความเครียด ดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาทำงาน ลดโลกร้อน ขณะเดียวกัน ข้อจำกัด กฎหมาย วันหยุดประจำปี
  • ประเทศไทย ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะกับลักษณะการทำงานหรือไม่ เพราะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกจ้างรายวัน ยังไม่สามารถลดชั่วโมงการทำงานของตัวเองลงได้

เช้าวันจันทร์ เป็นวันที่ใครๆ ก็ไม่อยากตื่นไปทำงาน แถมในแต่ละสัปดาห์ กว่าจะผ่านพ้นไปถึงวันศุกร์ได้ต้องใช้ร่างกายเหนื่อยล้าแบบสุดๆ พอช่วงวันหยุด 2 วันก็แสนเศร้า ช่างผ่านไปไวเหลือเกิน!!!

ปัจจุบันหลายคน หลายองค์กร เริ่มตระหนักถึง Work-life Balance หรือการใช้ชีวิตที่ไม่ได้โฟกัสเรื่องงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพและชีวิตส่วนตัวมากขึ้นด้วย จึงไม่แปลกที่คนยุคใหม่จะมองว่า การทำงานมีวันหยุดเพียง 2 วัน/สัปดาห์ไม่ตอบโจทย์และไม่เพียงพอสำหรับการพักผ่อนหรือลองทำกิจกรรมใหม่ๆ 

“การปรับลดวันทำงาน” เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาหลายปี โดยมีการทำวิจัยศึกษาอย่างจริงจัง งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชี้ว่า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างมากหากทำงานเกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

ส่วนการศึกษาของ Harvard ก็ระบุเอาไว้ว่าทำงาน 6 ชั่วโมง/วัน ดีที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป ไม่ใช่เรื่องดี และส่งผลโดยตรงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

หลายคนและหลายองค์กรคงเคยนึกถึงการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์กันอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าเมื่อวันทำงานลดน้อยลงแล้ว ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานจะยังมีเท่าเดิมไหม หรือหากจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ลดลงจะมีผลต่อรายได้หรือเปล่า 

แนวคิดการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ จึงยังเป็นข้อถกเถียงกันมาโดยตลอดว่า สรุปแล้วมันเวิร์กสำหรับสังคมการทำงานจริงๆ หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

งานแบบไหนที่คนรุ่นใหม่ SAY YES อยากทำงานด้วยมากที่สุด

ประชุมทั้งวัน จะเอาเวลาที่ไหนไปทำงาน

ทำไมคนเราต้องทำงาน 5 วัน? 

ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มนุษย์เริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่ทำการเกษตรแบบตามใจฉัน มาเป็นการหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นแรงงานในโรงงาน ซึ่งตามข้อมูลในช่วงนั้นแรงงานจะทำงานกันที่ 60 - 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์กันเลยทีเดียว คนส่วนใหญ่ทำงานกันแบบไม่มีวันหยุด หรือไม่ก็ได้หยุดกันเพียง 1 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น

จนเมื่อปี 1926 ที่ Henry Ford เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ยี่ห้อดังอย่าง Ford Motor เกิดไอเดียขึ้นมาว่า จะเป็นอย่างไรหากพนักงานมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สามารถใช้เวลากับครอบครัวได้มากขึ้น และมีเวลาว่างมากพอที่จะหาความรู้ใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมได้ มี Work-life balance ที่ดีกว่าเดิม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในโรงงานได้ดีขึ้นไหม และไม่ใช่เพียงแค่สงสัย แต่ Henry Ford ได้ลองทำจริง

โดยประกาศลดวันทำงานของพนักงานลง จาก 6 วัน เหลือ 5 วัน และจำกัดชั่วโมงการทำงานให้เหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยที่การลดวันทำงานจะไม่กระทบต่อค่าจ้างและสวัสดิการที่พนักงานได้รับอยู่แล้ว

นโยบายนี้ของ Henry Ford สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก และได้รับเสียวิพากษ์วิจารณ์ว่าคงจะไปไม่รอด เพราะมีแต่ขาดทุน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ของคนส่วนใหญ่ เพราะผลประกอบการของ Ford Motor กลับพุ่งสูงขึ้นหลังจากที่ประกาศใช้นโยบายลดวันทำงานลง บริษัทได้กำไรมากขึ้น ซึ่งสร้างผลกระทบไปในวงกว้าง ทำให้หลายบริษัททั้งในยุโรปและอเมริกาเริ่มหันมาทำตาม ทำให้ชั่วโมงเฉลี่ยในการทำงานเริ่มลดลงจนเป็นเช่นปัจจุบัน

ถ้าปรับวันทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์

อย่างที่รู้ ๆ กันว่า ชั่วโมงการทำงานปกติของออฟฟิศทั่ว ๆ ไป คือ ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 5-6 วันต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่จะมีชั่วโมงการทำงานปกติอยู่ที่ประมาณ 40-48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ คือ การลดชั่วโมงการทำงานปกติลงอีก 1-2 วัน ทำให้เหลือชั่วโมงการทำงานเพียง 32 ชั่วโมง

โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มวันหยุดเป็นวันศุกร์หรือวันจันทร์ 1 วัน แต่ก็มีไอเดียของการหยุดวันพุธด้วยเช่นกัน ซึ่งแบบหลังนี้เองที่พนักงานออฟฟิศหลายคนคิดว่าดีกว่า เพราะได้มีช่วงให้หยุดพักจากงานระหว่างสัปดาห์ ทำให้ไม่ต้องเหนื่อยล้ามากเกินไป

ไอเดียการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์อาจฟังดูเหมือนเรื่องเพ้อฝันที่นายจ้างหลายคนคงไม่ยอม แต่ความเป็นจริงแล้ว ประวัติศาสตร์เรื่องเวลาการทำงานของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา โดยมีแนวโน้มที่ชั่วโมงการทำงานจะถูกลดลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีชั่วโมงการทำงานปกติในอเมริกาคือ 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จนมาถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่พนักงานโรงงานถูกกำหนดให้ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น ทำให้ความคิดที่ว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

ข้อดีของวันทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพราะต้องโฟกัสมากขึ้น

แม้ว่าชั่วโมงการทำงานจะน้อยลง แต่ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงตาม เพราะมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันพบว่า พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่เสียเวลาประมาณ 2.5 ชั่วโมง ไปกับการเล่นอินเตอร์เน็ตระหว่างการทำงาน เพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเวลาการทำงานยาวนานเกินไป

นอกจากเวลาที่ต้องเสียไปกับกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงานแล้ว พบว่าชีวิตมนุษย์ออฟฟิศยังหมดเวลาไปกับ การประชุม มากมายในแต่ละวัน ทำให้เหลือเวลาการทำงานจริง ๆ น้อยมาก ทำให้ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อสะสางงานของตัวเอง การลดเวลาการทำงานเหลือ 4 วันจะทำให้พนักงานบริษัทต้องปรับวิธีการทำงานใหม่ เลือก จัดอันดับความสำคัญของงาน ลดการประชุมที่ไม่จำเป็น ลดกิจกรรมที่ไม่สำคัญและไม่เสียเวลาการทำงานไปกับกิจกรรมที่เปล่าประโยชน์ ซึ่งจะช่วยสร้างผลกระทบไปถึง วัฒนธรรมองค์กร เลยทีเดียว

ขณะเดียวกันตัวพนักงานเองก็จะรู้จักจัดอันดับความสำคัญของงาน และด้วยเวลาการทำงานที่กระชับกว่าเดิมก็จะทำให้พนักงานไม่สามารถเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระระหว่างเวลางานได้อีกต่อไป เพราะต้องเร่งทำงานให้เสร็จ และที่สำคัญไม่ต้องกังวลว่าจะมีเวลาพักน้อย เพราะการมีวันหยุดเพิ่มอีก 1 วัน ทำให้มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ

  • สุขภาพดี มีความสุข คือคีย์ของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

ความเครียดในที่ทำงาน ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการทำงานหนักมากเกินไป เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานมีสุขภาพแย่ลง และยังส่งผลถึง สุขภาพจิต โดยตรงของพนักงาน และที่สำคัญสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับมาที่ประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้กลายเป็นวงจรที่ไม่สร้างสรรค์และไม่สร้างประโยชน์ให้กับบริษัท

การลดวันทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์จะส่งผลเชิงบวก ทั้งในแง่ของสุขภาพจิตที่พนักงานมีเวลาผ่อนคลายมากขึ้น และสุขภาพกายที่ทำให้มีเวลาดูแลตัวเอง มีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าการลดชั่วโมงการทำงานจะช่วยให้พนักงานมีความเครียด ความเหนื่อยล้า และอารมณ์ด้านลบน้อยลง

จากงานวิจัยของ Karolinska Institutet สถาบันด้านการแพทย์ในสวีเดนพบว่าเมื่อลดเวลาทำงานลง 25% จะช่วยเสริมสุขภาวะในการนอนหลับและลดความตึงเครียดลงได้ ในขณะที่อีกงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การทำงานที่ลดลงทำให้ชีวิตครอบครัวของพนักงานดีขึ้น เพราะพนักงานมีเวลาที่จะไปใส่ใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างมากขึ้น ซึ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญของการมีชีวิตที่มีความสุข และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดก็ออกมาตอกย้ำถึงความจริงข้อนี้ เพราะจากการศึกษาพบว่า เมื่อพนักงานมีความสุขจะช่วยให้ผลิตภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 13%

  • ดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาทำงาน

คนที่ทำงานหนักไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนที่ทำงานเก่งเสมอไป สิ่งสำคัญคือต้องมีความสามารถในการเรียงลำดับความสำคัญของงาน ซึ่งจะทำให้งานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในเวลาที่จำกัด และคนเก่งเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับเวลามากเป็นอันดับต้น ๆ ของชีวิต นอกจากจะต้องทำงานให้ดีในเวลาที่เหมาะสมแล้ว คนเก่งยังเลือกที่จะให้ความสำคัญกับ Work-life balance เพราะมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาตัวเอง และใช้เวลาไปกับเรื่องที่สามารถพัฒนาความคิด จิตใจ และเป็นประโยชน์กับชีวิตของตัวเองได้จริง ๆ

ดังนั้นเวลานอกเหนือจากการทำงานก็สามารถที่จะเอาไปใช้หาความรู้ เรียน คอร์สออนไลน์ พัฒนาตัวเองได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับเรื่องไม่จำเป็นในชีวิต สิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อภาพใหญ่ขององค์กร หากองค์กรรู้จักให้ความสำคัญกับเวลา ก็เหมือนมีเป้าหมายเดียวกันกับ Talent หรือคนเก่ง ๆ เหล่านี้ และจะสามารถดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาร่วมงานด้วยได้ไม่ยาก

  • ช่วยลดโลกร้อน

หลายคนอาจทำหน้าสงสัยว่าทำงาน 4 วันจะเกี่ยวอะไรกับการลดโลกร้อน แต่รู้หรือไม่ว่าการที่พนักงานต้องมาทำงานที่ออฟฟิศสร้าง Carbon footprint อีกทางหนึ่ง เริ่มตั้งแต่การเดินทางจากบ้านมาที่ออฟฟิศ การเปิดแอร์ในออฟฟิศ การใช้ไฟในการทำงาน และอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิด Carbon footprint ที่มาจากการทำงานในแต่ละวัน มีการทดลองในรัฐ Utah ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทดลองลดการทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ และวัดปริมาณ Carbon footprint รวมถึงผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของการทดลองสามารถลดปริมาณ Carbon footprint ได้ถึง 6,000 เมตริกตัน และลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปจากการใช้พลังงานได้มากถึง 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการที่พนักงานไม่ต้องเดินทางออกจากบ้านไปทำงานเพียงแค่สัปดาห์ละ 1 วันเท่านั้น เป็นการลดภาวะโลกร้อน และทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและสภาพจิตใจของมนุษย์โดยตรง

ข้อจำกัดของวันทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

กฎหมายวันหยุดและวันทำงานในไทย

ปัจจุบันกฎหมายในไทยกำหนดชั่วโมงการทำงานไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่ายังมีหลายบริษัทให้พนักงานทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ โดยที่บริษัทจะต้องให้วันหยุดกับพนักงานดังนี้

  • วันหยุดประจำสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน
  • วันหยุดตามประเพณี ไม่ต่ำกว่า 13 วันต่อปี โดยให้รวมวันแรงงานแห่งชาติเข้าไปด้วย
  • วันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือวันลาพักร้อน ไม่ต่ำกว่า 6 วันต่อปี ซึ่งถ้าลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าเพื่อสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมเพื่อหยุดในปีต่อ ๆ ไปได้
  • วันลาป่วย ไม่เกิน 30 วันต่อปี
  • วันลาคลอดบุตร ไม่เกิน 90 วัน โดยนับรวมวันหยุดอื่น ๆ
  • วันลากิจ ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี

มีรายงานผลสำรวจจากผู้เข้าร่วมโครงการพบว่า 15% ของพนักงานที่เข้าร่วมทดลองทั้งหมดเกือบ 3,000 คน ชอบการทำงานในรูปแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ แม้บริษัทจะเพิ่มค่าจ้าง (เล็กน้อย) เพื่อโน้มน้าวให้พวกเขากลับไปทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ แต่พวกเขาส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจ เว้นแต่ว่าบริษัทจะให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 26-50% 

โดยมีพนักงาน 1 ใน 3 ระบุว่า นั่นอาจชนะใจพวกเขาได้สำหรับกระบวนการในการปรับลดชั่วโมงทำงานนั้น บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต้องคิดหาวิธีการต่างๆ มาใช้ลดเวลาทำงานต่อสัปดาห์ของพนักงานให้สั้นลงอย่าง “มีความหมาย” ตั้งแต่การให้วันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน ไปจนถึงการลดวันทำงานในหนึ่งปีเหลือเฉลี่ย 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ต้องมั่นใจว่าพนักงานยังคงได้รับ ค่าจ้างเต็ม 100% เท่าเดิม

เมื่อสิ้นสุดการทดลองในระยะเวลา 6 เดือน พนักงานผู้เข้าร่วมทดลองได้รายงานถึงประโยชน์ต่างๆ ที่ได้เกี่ยวกับโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็น

  • ลูกจ้างมีการนอนหลับพักผ่อนที่ดีขึ้น
  • ลูกจ้างมีระดับความเครียดลดลง
  •  ลูกจ้างชีวิตส่วนตัวสมดุลขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น
  • ลูกจ้างทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลที่ดีขึ้น
  • รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
  • การลาออกของพนักงานในบริษัทลดลง

หลังจากนี้ กลุ่ม 4 Day Week Global กำลังประสานงานโครงการนำร่องนี้ให้ขยายขอบข่ายออกไปทั่วโลก เพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ เปลี่ยนจากการทำงานมาตรฐาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มาเป็นรูปแบบ 32 ชั่วโมง โดยให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม

โครงการนำร่องในสหราชอาณาจักรครั้งนี้ มีบริษัทเข้าร่วมทดลองจำนวนมากเป็นสองเท่า และพนักงานเข้าร่วมทดลองเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับโครงการนำร่องรุ่นก่อนหน้า และถือเป็นโครงการทดลองที่ใหญ่ที่สุดในหมวดเกี่ยวกับการปรับชั่วโมงการทำงานและสวัสดิการลูกจ้าง

หลายประเทศทั่วโลกทดลองลดวันทำงาน

ประเด็นการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมานานแล้ว ยิ่งมีเหตุการณ์โควิด-19 หลายองค์กรก็ต้องปรับตัวและสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน เพื่อรักษาพนักงานเอาไว้ โดยที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกก็ได้ทดลองลดจำนวนวันทำงาน ตัวอย่างเช่น

  •  ไอซ์แลนด์ : พนักงาน 2,500 คน (คิดเป็นจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของคนวัยทำงานทั้งประเทศ) ทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2015 – 2019 แม้แต่ภาครัฐของไอซ์แลนด์เองก็ยังนำเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทั่วโลกสนใจเรื่องนี้มากขึ้น
  • เบลเยียม : พนักงานมีสิทธิ์เลือกที่จะทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ได้ โดยไม่ถูกลดเงินเดือน ส่วนใครอยากทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ก็ยังทำได้เช่นเดิม
  •  นิวซีแลนด์ : บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อย่าง Unilever ได้ทดลองให้พนักงาน 81 คน ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 1 ปี โดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิม โดยในตอนนี้บริษัทกำลังจะขยายการทำงาน 4 วันนี้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ด้วย
  • อังกฤษ : ประกาศทดลองลดวันทำงานเป็น 4 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 6 เดือน โดยพนักงานที่ลงทะเบียนร่วมการทดลองนี้จะเหลือชั่วโมงทำงานเพียง 32 ชั่วโมง/สัปดาห์ และยังได้รับค่าตอบแทนจำนวนเท่าเดิม 
  •  ญี่ปุ่น : ในปี 2019 บริษัทไมโครซอฟท์ ในญี่ปุ่น ได้ทดลองเพิ่มวันหยุดทุกวันศุกร์ให้พนักงานเป็นเวลา 1 เดือน และพบว่าพนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 39.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2018

จากการทดลองในหลายประเทศพบว่า ข้อดีของการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์คือ ช่วยลดความเครียดให้กับพนักงานและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) จากการทำงาน ด้านสุขภาพและ Work-Life Balance ก็ดีขึ้น แถมยังมีเวลาให้กับครอบครัวและตัวเองในการพัฒนาหรือเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม

ส่วนประสิทธิภาพของการทำงานนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ แถมบางคนยังทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในรายงาน 4 Day Week Campaign จาก Platform London รายงานว่า การลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ ช่วยลดปริมาณ Carbon Footprint ในสหราชอาณาจักรได้มากถึง 21.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเลยทีเดียว เห็นได้ว่าการลดวันทำงานยังมีส่วนช่วยลดพลังงานจากการเดินทางได้ด้วย

ส่วนข้อเสียก็มีเหมือนกัน เพราะพบว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ไม่ใช่โมเดลที่ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม งานบางประเภท เช่น บริการฉุกเฉินหรือการขนส่ง จำเป็นต้องมีคนทำงาน 7 วัน/สัปดาห์ จึงไม่สามารถปรับลดวันได้ และพนักงานบางคนอาจจะคุ้นชินกับการทำงาน 5 วัน/สัปดาห์มากกว่า และหากคนกลุ่มนี้ไม่สามารถปรับตัวกับความยืดหยุ่นนี้ก็อาจส่งผลในด้านลบต่อการทำงานแทน

พนักงานกลุ่มประเทศอาเซียนสนใจทำงาน 4 วัน/สัปดาห์

ในอีกหลายประเทศก็กำลังให้ความสนใจกับเทรนด์นี้ จากการสำรวจของ Milieu พบว่า พนักงานในสิงคโปร์, เวียดนาม, ไทย, ฟิลิปปินส์ สนใจการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ด้วยเหมือนกัน ตัวอย่างผลสำรวจพบว่า มากถึง 76 เปอร์เซ็นต์ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 1,000 คนในสิงคโปร์ สนใจการทำงาน 4 วันและหยุดพักผ่อน 3 วันเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อยากใช้ชีวิตเพื่อการทำงานแค่อย่างเดียว แต่ใช่ว่าทุกคนจะอยากมีวันว่างเพื่อพักผ่อน 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะยังมีอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการลดชั่วโมงงาน เช่น มาเลเซีย เมียนมาร์ และกัมพูชา เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เอื้อต่อการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ขนาดนั้น เพราะมีหลายอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง เช่นเดียวกันกับชาวสิงคโปร์หลายคนที่ยังมองว่า ค่าครองชีพในประเทศนั้นค่อนข้างสูง จึงไม่เห็นด้วยกับการลดชั่วโมงการทำงานลง เพราะการลดวันทำงานเหลือเพียงแค่ 4 วันนั้นหมายความว่าชั่วโมงงานและค่าแรงก็จะหายตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทย เมื่อลองค้นหาในโซเชียลมีเดียเรื่องการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ก็พบว่ามีหลายคนพูดถึงแนวคิดนี้บ้างแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ว่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะกับลักษณะการทำงานหรือไม่ เพราะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกจ้างรายวัน ยังไม่สามารถลดชั่วโมงการทำงานของตัวเองลงได้

หากถามว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์จะเกิดขึ้นจริง และกลายเป็นมาตรฐานการทำงานของทั่วโลกได้ไหม เมื่อมองภาพรวมจากการทดลองในหลายๆ ประเทศแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะทำได้จริง และจะไม่กระทบต่อการทำงานอย่างที่หลายๆ คนกังวลใจ เพียงแต่ว่าต้องปรับให้เข้ากับรูปแบบการทำงาน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับทั้งองค์กรและคนทำงาน และอาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อให้ทุกคนปรับตัวเข้ากับการทำงานในรูปแบบใหม่นี้กันได้อย่างทั่วถึง

อ้างอิง: Jobsdb ,The Washington Post  และ Urban Creature