พนักงาน 53% สิ้นหวังในการทำงาน 'ผู้นำ' ต้องปลุกใจและซัพพอร์ตทีมอย่างไร?

พนักงาน 53% สิ้นหวังในการทำงาน 'ผู้นำ' ต้องปลุกใจและซัพพอร์ตทีมอย่างไร?

วิจัยเผย วัยทำงาน 53% รู้สึกแย่ หดหู่ สิ้นหวังในหน้าที่การงาน และเกิดความเครียดเชิงลบกับที่ทำงาน เปิด 4 เคล็ดลับ ที่ "ผู้นำ" หรือ "หัวหน้างาน" สามารถปลุกใจและช่วยซัพพอร์ตพนักงานให้มีพลังสู้ต่อไปได้

KEY

POINTS

  • วิจัยเผย วัยทำงาน 53% รู้สึกแย่ หดหู่ สิ้นหวังในหน้าที่การงาน และเกิดความเครียดเชิงลบกับที่ทำงาน 
  • เปิด 4 เคล็ดลับ ที่ "ผู้นำ" หรือ "หัวหน้างาน" สามารถปลุกใจและช่วยซัพพอร์ตพนักงานให้มีพลังสู้ต่อไปได้
  • 1 ใน 4 ข้อที่สำคัญก็คือ ผู้นำที่ต้องการสร้างความหวังให้แก่ทีม ควรรับฟังอย่างเปิดใจ และตระหนักถึงความชอบ ความต้องการ ความคาดหวัง และค่านิยมของพนักงานในทีมอย่างแท้จริง

วิจัยเผย วัยทำงาน 53% รู้สึกแย่ หดหู่ สิ้นหวังในหน้าที่การงาน และเกิดความเครียดเชิงลบกับที่ทำงาน เปิด 4 เคล็ดลับ ที่ "ผู้นำ" หรือ "หัวหน้างาน" สามารถปลุกใจและช่วยซัพพอร์ตพนักงานให้มีพลังสู้ต่อไปได้

ปัญหาสุขภาพจิตในวัยทำงานกำลังเป็นประเด็นสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานการศึกษาวิจัยจาก UK Think Tank Resolution Foundation พบว่า วัยทำงานในสหราชอาณาจักรจำนวนมากในปัจจุบัน กำลังหมดอาลัยตายอยากและรู้สึกสิ้นหวังกับการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานบริษัทอายุน้อย มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่ดี

การวิจัยดังกล่าวพบว่า 34% ของชาวอังกฤษอายุ 18-24 ปี รายงานว่าตนเองกำลังเผชิญกับอาการป่วยทางจิตใจต่างๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือโรคไบโพลาร์ โดยผู้ที่มีอาการดังกล่าวเพิ่มขึ้น 24% ในปี 2564-2565 เมื่อเทียบกับปี 2543 

ขณะที่ 40% ของคนหนุ่มสาวที่มีอายุน้อยกว่ากลุ่มข้างต้น คือมีอายุระหว่าง 16-24 ปี ก็กำลังประสบกับอาการวิตกกังวล

การค้นพบนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Champion Health ผู้ให้บริการด้านสุขภาพในที่ทำงานระดับโลก ที่ได้ทำการสำรวจและศึกษาข้อมูลจากพนักงานมากกว่า 4,000 คนในสหราชอาณาจักรและทวีปยุโรป 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากอาการป่วยดังกล่าว การวิจัยของ Champion Health ยังพบว่ากลุ่ม "วัยทำงาน" ก็อาการหนักไม่แพ้กัน โดยพบว่าพนักงาน 53% รู้สึกแย่ หดหู่ หรือสิ้นหวังในชีวิตและการทำงาน อีกทั้งเกือบ 2 ใน 5 หรือประมาณ 38% กำลังเผชิญกับความเครียดเชิงลบในที่ทำงาน ในขณะที่ความกังวลทางการเงินเป็นสาเหตุหลักของความเครียด 

ปรากฏการณ์นี้อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปสู่การลดลงของผลิตภาพโดยรวมขององค์กรด้วย 

พนักงาน 53% สิ้นหวังในการทำงาน \'ผู้นำ\' ต้องปลุกใจและซัพพอร์ตทีมอย่างไร?

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้แก้ไขได้ โดยจะต้องอาศัย "ผู้นำ" หรือ "หัวหน้างาน" ให้เข้ามามีส่วนในการดูแลแก้ไขตรงจุดนี้ให้กับพนักงาน เพื่อปลุกพลังแรงใจ สร้างความหวัง และช่วยซัพพอร์ตให้พนักงานทุกคนในทีมสามารถทำงานต่อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยอาจนำเคล็ดลับ 4 ข้อจากผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลากรไปปรับใช้กับทีมงานของคุณได้ ดังนี้ 

1. รับฟังพนักงานอย่างจริงใจ

ยกตัวอย่างการช่วยซัพพอร์ตด้านแรงใจให้กับพนักงานของบริษัท Insights ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลากรในที่ทำงาน โดย มาร์คัส ไวลี (Marcus Wylie) หัวหน้าฝ่ายวัฒนธรรมของบริษัทนี้ ให้คำแนะนำว่า ผู้นำที่ต้องการสร้างความหวังให้แก่ทีม ควรพยายามตระหนักถึงความชอบ ความต้องการ ความคาดหวัง และค่านิยมของพนักงานในทีม ตลอดจนจุดแข็งและความท้าทายของพวกเขา ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการที่หัวหน้าตั้งใจที่จะ "รับฟังพนักงานด้วยความอยากรู้อยากเห็น" อย่างแท้จริง

ไวลีอธิบายว่า “การถามลูกน้องในทีมว่า 'สบายดีไหม' กับการถามว่า 'วันนี้รู้สึกอย่างไรกับตัวเอง?' สองคำถามนี้มีความแตกต่างกัน ลองถามด้วยคำถามอย่างหลังให้มากขึ้น เพื่อแสดงถึงความใส่ใจที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่คำถามผิวเผิน และควรรับฟังคำตอบโดยไม่ต้องคาดหวัง ตัดสิน หรือสันนิษฐาน” นอกจากนี้ ผู้นำยังต้องแน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นของตนเอง เช่นเดียวกับวิธีที่เพื่อนร่วมงานมองพวกเขา เพื่อที่พวกเขาจะสามารถขับเคลื่อนทีมไปในทิศทางเชิงบวกได้

2. รักษาความรู้สึกของการทำงานอย่างมีความหมายให้คงอยู่กับทีม

“ดังที่ วิคเตอร์ แฟรงเกิล (Viktor Frankl) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ค้นพบว่า แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ผู้คนต่างแสวงหาความหมายและจุดประสงค์ในชีวิต” เอมี แบรดลีย์ (Amy Bradley) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านความเป็นผู้นำและการจัดการที่โรงเรียนธุรกิจ Hult Ashridge กล่าว

เธอบอกอีกว่า เมื่อบางสิ่งมีความหมาย มันช่วยให้คนเราตอบคำถามตัวเองได้ว่า 'ฉันมาทำอะไรที่นี่' หรือ 'ฉันทำงานนี้ไปทำไม' ท่ามกลางวิกฤติค่าครองชีพและความไม่มั่นคงของโลกที่สั่นคลอนจิตใจพนักงานหนักหน่วงอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือ พนักงานต้องสามารถค้นพบความหมายในการทำงานของตนได้ เนื่องจากมันนำมาซึ่งความหวังของการทำงานในแต่ละวัน

ที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ความหมายของงานที่ทำ มีความสำคัญต่อพนักงาน โดยหลายๆ คนจัดอันดับให้ "การทำงานที่มีความหมาย" เป็นสิ่งมีค่าสูงกว่า "ค่าจ้าง" ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ผู้นำมักมองข้ามการรักษาระบบนิเวศดังกล่าวให้คงไว้ในทีม แบรดลีย์จึงแนะนำว่า หัวหน้างานควรใส่ใจและทำให้บรรยากาศนี้คงอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยให้พื้นที่พนักงานในการนพูดคุยเกี่ยวกับความหมายของงาน และจุดประสงค์ของการทำงานของพวกเขาให้มากขึ้น

พนักงาน 53% สิ้นหวังในการทำงาน \'ผู้นำ\' ต้องปลุกใจและซัพพอร์ตทีมอย่างไร?

“การยืนยันว่าการทำงานของพนักงานนั้นมีความหมาย ไม่ว่าจะมีความหมายต่อครอบครัว มีความหมายต่อชุมชนรอบข้างบริษัท หรือแม้แต่มีความหมายต่อจิตวิญญาณของตนเอง การย้ำเตือนถึงสิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานมีความรู้สึกในแง่บวกมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการทำงานระหว่างหัวหน้า-ลูกน้องได้อย่างมีคุณภาพ การทำงานร่วมกันได้ดีกับเพื่อนร่วมงาน และความรู้สึกได้รับการสนับสนุน มันสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนให้พนักงานก้าวไปข้างหน้า และสร้างการมีส่วนร่วมให้กับพนักงานได้มากขึ้น นำไปสู่ประสิทธิภาพงานที่สูงขึ้นตามไปด้วย” เธอกล่าว

3. หาวิธีจัดการปัญหารูปแบบใหม่ๆ เมื่อเกิดความขัดแย้งในทีม

เดวิด ลิดเดิ้ล (David Liddle) ซีอีโอและหัวหน้าที่ปรึกษาของ The TCM Group ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการไกล่เกลี่ย และยังเป็นผู้เขียนหนังสือ Manage Conflict ให้ความเห็นว่า “ความขัดแย้ง การร้องเรียน และข้อกังวลต่างๆ ที่เราเห็นในที่ทำงานของเรา มีส่วนทำให้เกิดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในระดับสูง เมื่อผู้คนทำงานในวัฒนธรรมที่เป็นพิษ ซึ่งมีทั้งความหยาบคาย การกลั่นแกล้ง การคุกคาม และการเลือกปฏิบัติ มันมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน” 

ลิดเดิ้ล เน้นย้ำว่า ผู้นำและหัวหน้างานมีบทบาทสำคัญในการสร้างสถานที่ทำงานที่มีความสุข ดีต่อสุขภาพกายและจิตใจ และความสามัคคี ซึ่งนำไปสู่พนักงานที่มีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพสูง เพราะผู้นำจะเป็นผู้กำหนดโทนบรรยากาศของที่ทำงาน และพฤติกรรมของทุกคนในทีม ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เช่น บรรยากาศการทำงานเคร่งเครียด, บรรยากาศเนือยนิ่งไม่แอคทีฟ, บรรยากาศครื้นเครง แอคทีฟ เต็มไปด้วยพลังงานของทุกคนในทีม เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้นำต้องคิดหาวิธีใหม่ในการรับมือปัญหาความขัดแย้งในที่ทำงาน ลิดเดิ้ลแนะนำให้หัวหน้างานพยายามใช้วิธีที่มีความเห็นอกเห็นใจและร่วมมือกันมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา เช่น การสนทนาและการไกล่เกลี่ย แทนที่จะพึ่งพานโยบายทางวินัยที่เคร่งครัด 

พนักงาน 53% สิ้นหวังในการทำงาน \'ผู้นำ\' ต้องปลุกใจและซัพพอร์ตทีมอย่างไร?

4. เป็นผู้นำที่ดีด้วยการทำเป็นตัวอย่างให้ดู

ศาสตราจารย์ วินเซียน เซอร์เวนตี (Vinciane Servantie) รองคณบดีฝ่ายวิชาการของ Universidad De Los Andes School of Management ในโคลอมเบีย และผู้นำโครงการ CEMS กล่าวว่า ผู้นำต้องส่งเสริมความหวังให้พนักงาน ด้วยการแสดงให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถสอดคล้องกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ โดยการสร้างชุมชนที่เป็นหนึ่งเดียวกันตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความหมายสอดคล้องกับเป้าหมายนั้น

เซอร์เวนตีให้เหตุผลว่า ในการจัดการกับปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้นำควร “เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจด้วยการทำเป็นตัวอย่าง” โดยแสดงให้พนักงานในทีมเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้เป็นไปได้ แม้แต่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

สุดท้ายนี้ การสื่อสารและความโปร่งใสในการเป็นผู้นำ ก็ถือเป็นพื้นฐานสำคัญไปไม่น้อยกว่ากัน การมีช่องทางการสื่อสารที่ชัดเจนและเปิดกว้างระหว่างผู้นำและพนักงาน สามารถส่งผลดีได้อย่างมีนัยสำคัญต่อขวัญกำลังใจ ความไว้วางใจ และการมีส่วนร่วมโดยรวมภายในองค์กร