ถ้าเป็น 'หัวหน้า' แล้วเครียด-กดดันกว่าเดิม พนักงาน 62% ขอไม่เป็นดีกว่า!

ถ้าเป็น 'หัวหน้า' แล้วเครียด-กดดันกว่าเดิม พนักงาน 62% ขอไม่เป็นดีกว่า!

ถ้าการขึ้นเป็น “หัวหน้า” แล้วเครียด-กดดันกว่าเดิม แถมให้เงินเพิ่มนิดเดียว พนักงาน 62% ก็ไม่อยากเป็น! รู้จัก “Quiet Ambition” วัยทำงานไม่อยากไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงๆ เพราะไม่ชอบงานยุ่งจนไม่มีชีวิตส่วนตัว

KEY

POINTS

  • หากการขึ้นสู่ตำแหน่ง “หัวหน้า” แล้ววัยทำงานต้องเครียด-กดดันกว่าเดิม แถมให้เงินเพิ่มนิดเดียว พนักงาน 62% ก็ไม่อยากเป็น! 
  • รู้จัก “Quiet Ambition” เทรนด์ของพนักงานยุคนี้ที่ไม่อยากไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงๆ เพราะไม่ชอบงานยุ่ง กินเวลาเยอะ จนไม่มีชีวิตส่วนตัว
  • พวกเขามีความสนใจในความก้าวหน้าส่วนบุคคลมากขึ้น เช่น การเป็น Specialist ในสายงานของตนเอง บริษัทบางแห่งปรับตัวโดยออกแบบเส้นทางอาชีพให้พนักงานโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารเสมอไป

ถ้าการขึ้นเป็น “หัวหน้า” แล้วเครียด-กดดันกว่าเดิม แถมให้เงินเพิ่มนิดเดียว พนักงาน 62% ก็ไม่อยากเป็น! รู้จัก “Quiet Ambition” วัยทำงานไม่อยากไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงๆ เพราะไม่ชอบงานยุ่งจนไม่มีชีวิตส่วนตัว

ไม่ใช่แค่เทรนด์ “Quiet Quitting” เท่านั้นที่กำลังมาแรงในกลุ่มพนักงานบริษัททั่วโลก แต่อีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังน่าจับตามองก็คือ “Quiet Ambition” ซึ่งหมายถึง การที่พนักงานบริษัทไม่อยากถูกโปรโมตขึ้นเป็น “หัวหน้างาน” หรือ “ผู้บริหาร” เพราะมองว่า เป็นงานที่เครียด-กดดันมากขึ้น ได้เงินเพิ่มเล็กน้อยแลกกับการมีเวลาส่วนตัวน้อยลง จึงดูเหมือนว่างานตำแหน่งสูงๆ อาจไม่คุ้มค่าอีกต่อไป 

ในยุคอดีต การทำงานโดยพยายามไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของสายงาน เคยเป็นก้าวสำคัญที่ชี้วัดความสำเร็จระดับบุคคล แต่ตอนนี้วัยทำงานกลับละทิ้งเป้าหมายดังกล่าวมากขึ้น นั่นไม่ได้แปลว่าพวกเขาขาดความทะเยอทะยาน แต่โลกการทำงานยุคนี้ ผู้คนนิยาม “ความสำเร็จ” ของตนเองแบบใหม่ 

พนักงาน 62% ไม่อยากไต่เต้าสู่ระดับหัวหน้า เพราะไม่ชอบงานยุ่ง แต่อยากให้ความสำคัญกับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น

จากผลสำรวจล่าสุดของ Visier ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่ใช้วิเคราะห์สถานที่ทำงาน (สำรวจจากชาวอเมริกัน 1,000 คน) พบว่า พนักงานมากถึง 62% กล่าวว่า พวกเขาต้องการทำงานในตำแหน่งพนักงานทั่วไปมากกว่าที่จะไต่เต้าไปสู่ระดับผู้จัดการ-หัวหน้างาน ขณะที่มีพนักงานเพียง 38% เท่านั้นที่รายงานว่าพวกเขาอยากจะไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้จัดการในบริษัทปัจจุบันของตน อีกทั้ง ในบรรดาผู้ตอบแบบสำรวจ 40% รายงานด้วยว่า ความกังวลที่ใหญ่ที่สุดในการเป็นผู้จัดการ-หัวหน้างาน คือ ความเครียด ความกดดัน และการใช้เวลาทำงานมากขึ้นในแต่ละวัน

หลายๆ คนอยากหลุดพ้นจากชีวิตการทำงานที่ยุ่งเหยิง และเข้ามาบดขยี้ชีวิตส่วนตัวของพวกเขามากเกินไป ผู้คนสมัยนี้จึงไม่ให้ “หน้าที่การงาน” มาเป็นจุดหลักของการดำรงชีวิตอีกต่อไป และกำลังขีดเส้นแบ่งระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวของตนอย่างมั่นคง พนักงานเริ่มให้ความสำคัญกับตำแหน่งใหญ่ๆ ในอาชีพการงานน้อยลง แล้วเบนเข็มชีวิตมาให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวและครอบครัวมากขึ้น 

เมื่อทีมงานจาก Visier ถามพนักงานกลุ่มตัวอย่างว่า อะไรคือความทะเยอทะยานจริงๆ ในชีวิตของพวกเขา? ผลสำรวจพบว่า 

67% กล่าวว่า พวกเขาต้องการใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น 
64% กล่าวว่า พวกเขาต้องการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงขึ้น 
58% กล่าวว่า พวกเขาต้องการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
มีเพียง 9% เท่านั้นที่บอกว่า พวกเขาต้องการเป็นผู้จัดการ/หัวหน้างาน 
และเพียง 4% เท่านั้นที่บอกว่า ต้องการทำงานในบทบาท C-suite หรือผู้บริหารระดับสูง

พนักงานบางคน "ชอบงานของตัวเอง" ไม่ได้อยากทำงานสายบริหาร หรือไปจัดการคนอื่น

นอกจากเหตุผลเรื่องอยากมีสุขภาพดี และอยากใช้ชีวิตส่วนตัวกับเพื่อนฝูงและครอบครัวมากขึ้นแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่พนักงานไม่อยากไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้นก็คือ “พวกเขาชอบงานที่ทำอยู่” อยากทำงานของตัวเองอย่างอิสระโดยไม่ต้องจัดการคนอื่น พวกเขาสามารถเพลิดเพลินกับการทำงานและได้รับเงินเดือนที่เหมาะสมโดยไม่ต้องเผชิญกับความท้าทายที่มาพร้อมกับหน้าที่การบริหารจัดการ

คนทำงานในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้างานก็ประสบความสำเร็จ และมีความพึงพอใจในตนเองได้ ที่สำคัญ.. สมัยนี้ผู้คนมีโอกาสน้อยลงที่จะก้าวขึ้นตำแหน่งสูงๆ ขององค์กรได้เหมือนยุคอดีต เนื่องจากองค์กรหลายแห่งเริ่มมีฐานะทางการเงินที่ราบเรียบมากขึ้น ผลประกอบการไม่ได้พุ่งสูงเหมือนยุคก่อนๆ 

สอดคล้องกับการวิจัยของ Washington Post ที่พบว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลที่เกิดระหว่างปี 1980 ถึง 1994 ไม่ค่อยสนใจงานบริหารจัดการคนอื่น แต่พวกเขามีความสนใจในความก้าวหน้าส่วนบุคคลมากขึ้น เช่น การเป็น Specialist ในสายงานของตนเอง ส่งผลให้บริษัทบางแห่งถึงกับเปลี่ยนคำจำกัดความของความสำเร็จในที่ทำงานใหม่ ด้วยการออกแบบเส้นทางอาชีพให้พนักงานโดยที่ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารเสมอไป

พนักงานหนุ่มสาวไม่อยากทำงานตำแหน่งบริหารจัดการ องค์กรต่างๆ อาจประสบปัญหาขาดแคลนผู้นำ

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ได้ส่งผลกระทบในอีกมุมหนึ่งคือ อาจทำให้โครงสร้างบริษัทสั่นคลอน เนื่องจากพนักงานหนุ่มสาวไม่ต้องการขึ้นสู่ตำแหน่งการบริหารจัดการ จึงเป็นไปได้ที่องค์กรต่างๆ อาจประสบปัญหาการขาดแคลนผู้นำ เนื่องจากผู้นำเดิมรุ่นเบบี้บูมเมอร์และ Gen X เกษียณอายุ

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ นายจ้างต้องให้การสนับสนุนและจัดสวัสดิการให้ตรงกับสิ่งที่ลูกจ้างต้องการ หากบทบาทผู้บริหารมาพร้อมกับชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นหรือตัวเลือกการแบ่งงาน ก็อาจทำให้งานเหล่านี้น่าสนใจยิ่งขึ้นได้

สิ่งสำคัญ คือ จำไว้ว่าพนักงานระดับปฏิบัติการก็มีคุณค่าต่อองค์กรเช่นกัน ไม่ใช่ว่าพนักงานทั่วไปทุกคนที่จะอยากทำงาน “บริหารจัดการ” และการจะเป็นผู้จัดการ-หัวหน้าที่ดี ในการทำหน้าที่นั้นได้ ก็ต้องใช้ทักษะเฉพาะทางด้วย ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเหมาะสม