อยากประสบความสำเร็จ ต้องรู้จัก 'ตั้งเป้าหมาย' เปิด 6 หมุดหมายสำคัญของชีวิต

อยากประสบความสำเร็จ ต้องรู้จัก 'ตั้งเป้าหมาย' เปิด 6 หมุดหมายสำคัญของชีวิต

นักจิตวิทยาเผย อยากประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องรู้จักตั้ง “เป้าหมาย” ก่อน ช่วยให้เข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น ถ้ายังนึกเป้าหมายไม่ออก ลองเช็ก 6 เป้าหมายสำคัญของชีวิตเหล่านี้เป็นไกด์ไลน์

KEY

POINTS

  • “วัยทำงาน” หลายคนอยากประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นจากอะไร ต้องทำอย่างไรเพื่อไปให้ถึงฝัน คำตอบอาจอยู่ที่การ “ตั้งเป้าหมาย” ให้ชัดๆ ก่อนเป็นอันดับแรก  
  • นักจิตวิทยาคลินิก เผย นักแสดงชื่อดังระดับโลก นักธุรกิจเก่งๆ หรือนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จนั้น พวกเขามีสิ่งหนึ่งเหมือนกันคือ “พวกเขาตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน” 
  • “การตั้งเป้าหมาย” ที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต ลองเลือกจาก 6 ด้านเหล่านี้ ได้แก่ งานและอาชีพ, ความสัมพันธ์, สุขภาพ, จิตวิญญาณ, งานอดิเรก, มรดก

นักจิตวิทยาเผย อยากประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องรู้จักตั้ง “เป้าหมาย” ก่อน ช่วยให้เข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น ถ้ายังนึกเป้าหมายไม่ออก ลองเช็ก 6 เป้าหมายสำคัญของชีวิตเหล่านี้เป็นไกด์ไลน์

“วัยทำงาน” มักเกิดคำถามกับตัวเองว่า เราทำงานนี้หรือทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไรกันแน่? เพราะไม่ว่าจะลงแรงกายแรงใจทำแค่ไหนก็ยังดูเหมือนห่างไกลกับคำว่า “ประสบความสำเร็จ” เมื่อทุกคนอยากประสบความสำเร็จในชีวิต แต่หลายคนไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นจากอะไร ต้องทำอย่างไรเพื่อไปให้ถึงฝัน

ถ้าใครเคยคิดหรือรู้สึกแบบนี้ คุณอาจจะต้องรวบรวมสติแล้วพาตัวเองกลับสู่จุดเริ่มต้น อย่างการ “ตั้งเป้าหมาย” ให้ชัดๆ ก่อนเป็นอันดับแรก 

นักแสดง นักธุรกิจ หรือนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ มีสิ่งหนึ่งเหมือนกัน คือ "ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน"

โดย “อีริค พอร์ตเตอร์ราท” นักจิตวิทยาคลินิกด้านการปฏิบัติงาน และ “อลัน อีเกิล” ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารระดับผู้บริหาร ได้แชร์ประสบการณ์จากการทำงานของพวกเขากับเหล่าบุคคลชั้นนำของโลกกว่า 25,000 คน ไว้ว่า เหล่านักแสดงคนดัง นักธุรกิจชื่อดัง หรือนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จนั้น พวกเขามีสิ่งหนึ่งเหมือนกันคือ “พวกเขาตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน” 

[อีริค เป็นเจ้าของหลักสูตรการพัฒนาความแข็งแกร่งทางจิตใจที่ถูกนำไปฝึกอบรมในหน่วย Navy SEALs, ทีมนักกีฬาระดับโลก, เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน, ผู้นำทางธุรกิจ และนักบินอวกาศของ NASA ขณะที่ อลัน เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารระดับผู้บริหาร ผู้ได้ร่วมงานกับผู้บริหาร Google หลายฝ่ายมา 16 ปี]

 

อีริคและอลันบอกอีกว่า นักแสดงที่ดีที่สุดในโลกนั้น พวกเขาไม่ได้เกิดมาเก่ง แต่พวกเขาเรียนรู้และฝึกฝนตนเองไปให้สู่ความเป็นเลิศ โดยหลักปฏิบัติอันดับ 1 ที่ผู้ประสบความสำเร็จมักลงมือทำเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (The best) ของชีวิตพวกเขา ก็คือ “การตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่” จาก 6 ด้านของชีวิต ได้แก่ 

1. การทำงาน: การเติบโตในงาน และ/หรือ สายอาชีพของเรา

2. ความสัมพันธ์: คู่รัก ครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน

3. สุขภาพ: การออกกำลังกาย โภชนาการ และด้านอื่นๆ ของความเป็นอยู่ที่ดีทางร่างกาย

4. จิตวิญญาณ: ความเชื่อและการปฏิบัติบางอย่างที่มีความหมายลึกซึ้งมากไปกว่าเรื่องทางกายและจิตใจของเรา (อาจรวมถึงศาสนา แต่คนนอกศาสนาก็มีจิตวิญญาณด้วย)

5. งานอดิเรก: สิ่งที่เราทำเพื่อความสนุกสนาน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ หรือเพื่อเชื่อมต่อกับสังคม

6. มรดก: สิ่งที่คุณจะทิ้งไว้ข้างหลัง

เปิด 3 ขั้นตอนสู่การทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ!

เมื่อแยกแยะเป้าหมายหลักๆ ทั้ง 6 ด้านของชีวิตได้แล้ว จากนั้นจะเป็นขั้นตอนปฏิบัติ 3 ข้อที่เหล่าผู้ประสบความสำเร็จลงมือทำเพื่อให้ตนเองบรรลุตามเป้าหมาย ได้แก่ 

ขั้นตอนที่ 1 : ระบุเป้าหมาย
ให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ภายใน 1 เดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือนต่อจากนี้ ต้องการให้เป้าหมายชีวิตด้านใดสำเร็จ เลือกมา 1 จาก 6 เป้าหมายข้างต้น 

อีริคและอลันบอกว่า การมีเป้าหมายดีๆ สัก 2-3 เป้าหมาย ดีกว่าการตั้งเป้าหมายกระจัดกระจายมากมายจนนับไม่ถ้วนจนอาจทำตามเป้าไม่ได้ ลองเริ่มจากเป้าหมายจำนวนน้อยๆ ก่อน หลังจากนั้นค่อยๆ เพิ่มเติมทีหลังได้ อีกอย่างคือ การตั้งใจทำตามเป้าหมายทีละอย่าง จะช่วยให้เราโฟกัสเป้าหมายได้ชัดเจนระดับดีเทล ส่งผลให้ตั้งใจทำมันอย่างมุ่งเน้นและเข้มงวดมากขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น หากเลือกเป้าหมายว่าอยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ควรตั้งเป้าหมายแบบหลวมๆ ว่า “ฉันจะมีรูปร่างที่ดีขึ้น” แต่ควรตั้งให้ชัดๆ เลยว่า “ฉันจะวิ่งให้ได้ 6 กิโลเมตรใน 1 ชั่วโมง และจะต้องทำให้ได้ภายในเดือนธันวาคม เพื่อที่ฉันจะได้พร้อมสำหรับการแข่งขันบาสเก็ตบอลฤดูหนาว” เป็นต้น

แต่มีข้อควรระวังอย่าหนึ่ง คือ อย่ามุ่งไปที่ผลลัพธ์อย่างเดียว แต่ต้องเน้นกระบวนการด้วย เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งคนเราจะตั้งผลลัพธ์แบบทะเยอทะยานมากเกินไป โดยไม่มีกระบวนการที่ชัดเจน จนอาจทำไม่ได้และล้มเหลว ดังนั้นอย่าลืมวางกระบวนการที่จะทำเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้นด้วย เช่น ตั้งเป้าหมายว่าอยากคว้าตำแหน่ง "รองประธานบริษัท มาให้ได้ภายในอายุ 35 ปี" ก็อาจต้องเซ็ตกระบวนการไว้ว่า "จะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงต่อวันในการศึกษาธุรกิจไปทุกๆ วัน" ย้ำอีกที! มือสมัครเล่นมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ แต่มืออาชีพมักจะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการ

ขั้นตอนที่ 2 : เขียนลงไปในบันทึก
การเขียนเป้าหมายลงในสมุดบันทึกหรือโน้ตแบบดิจิทัลก็ได้ จะทำให้คุณเกิดความรับผิดชอบกับเป้าหมายนั้นมากขึ้น คุณจะรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบมัน ต้องทำให้มันเกิดขึ้น 

ยกตัวอย่างเคสของ "โทบี มิลเลอร์" นักสโนว์บอร์ดมืออาชีพ เขาแชร์การวางแผนฝึกซ้อมสโนว์บอร์ดที่เขาตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเก่งขึ้น ไว้ว่า เริ่มจากการจดเทคนิคการเล่นทั้งหมดที่เขาอยากเรียนรู้ลงในบันทึกส่วนตัว เขียนเป้าหมายโดยรวมที่ต้องการไปให้ถึง และเขียนตารางการซ้อมในแต่ละเทคนิคที่อยากฝึกฝน และเขานำบันทึกดังกล่าวติดตัวไปด้วยเสมอ “หากฉันมีวันที่แย่ ฉันจะใช้เป้าหมายเพื่อเปลี่ยนให้เป็นวันที่ดี เพราะแม้จะพลาดบ้างแต่ฉันก็สามารถเรียนรู้จากมันได้เสมอ” เขากล่าว

ขั้นตอนที่ 3 : แบ่งปันเป้าหมายกับผู้อื่นหรือต่อสาธารณะ
การแบ่งปันเป้าหมายของคุณกับคนรัก เพื่อนสนิท ครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน จะช่วยเพิ่มความรับผิดชอบต่อเป้าหมายนั้นมากยิ่งขึ้น คุณสามารถเพิ่มความจริงจังและเข้มงวดไปอีกขั้นหนึ่ง โดยการอัปเดต “ความคืบหน้า” ของคุณเป็นประจำ ซึ่งการแบ่งปันเป้าหมายกับผู้อื่นจะช่วยให้ทำสิ่งนั้นสำเร็จได้มากขึ้น 

ยืนยันจากงานวิจัยเรื่อง “Study focuses on strategies for achieving goals, resolutions” ในปี 2015 ของ “ดร.เกล แมทธิวส์” นักจิตวิทยา ที่ระบุว่า หากเราตั้งเป้าหมายและทำตามเป้านั้นไปเพียงลำพัง จะมีโอกาสทำได้สำเร็จ 43% แต่ถ้าเราเขียนเป้าหมายและแบ่งปันมันกับเพื่อนๆ จะช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จขึ้นเป็น 62% และยิ่งถ้าเราส่งการอัปเดตความคืบหน้ารายสัปดาห์ให้เพื่อนด้วย โอกาสที่จะทำสำเร็จก็ยิ่งเพิ่มสูงถึง 76%

ดังนั้น การประกาศเป้าหมายของเรากับเพื่อนๆ รวมถึงการอัปเดตอยู่เสมอ จึงมีประโยชน์ต่อตัวเราได้มากกว่า เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมในการผลักดันตัวเองไปสู่ความสำเร็จ!

สุดท้ายนี้นักจิตวิทยาและนักการสื่อสารทั้งสองคนข้างต้น ได้ให้เคล็ดลับเพิ่มเติมไว้อีกว่า ผู้คนมักมีแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมายตามคุณค่าของตนเอง (ภายใน) มากกว่าเป้าหมายที่ผู้อื่นคิด (ภายนอก) 

ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าเป้าหมายของคุณเกิดจากความต้องการของเราเองจริงๆ ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า ทำไมถึงเลือกทำเป้าหมายนี้? เช่น หากเป้าหมายว่าอยากลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมภายใน 5 เดือน  เพราะเหตุใดถึงต้องการลดน้ำหนัก? เป็นเพราะมีคนบอกว่าคุณดูไม่สมส่วน (ความคิดจากภายนอก) หรือเป็นเพราะคุณต้องการที่จะรู้สึกดีขึ้นและมีสุขภาพดีขึ้น (ความคิดจากภายใน) กันแน่? 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเป้าหมายที่มีความหมายกับตัวเราจริงๆ ควรเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความคิดและทำซ้ำๆ ใช้เวลาทบทวนกับมัน และปรับปรุงเป้าหมายนั้นให้ดีขึ้นอยู่เสมอ