“Gen Z” เจอแรงกดดันในงานสูงกว่าเจนอื่น เหตุเทคโนโลยีทำชีวิตเสียสมดุล

“Gen Z” เจอแรงกดดันในงานสูงกว่าเจนอื่น เหตุเทคโนโลยีทำชีวิตเสียสมดุล

“Gen Z” เจอแรงกดดันในชีวิตการทำงานสูงกว่าคนเจนก่อนๆ เพราะเทคโนโลยีทำให้ “โลกการทำงาน” กับ “ชีวิตส่วนตัว” แยกจากกันไม่ออก

KEY

POINTS

  • Gen Z เผชิญกับแรงกดดันมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เนื่องจากเติบโตมาโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาทำลายขอบเขตระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว
  • ในขณะที่ช่วงที่คนรุ่นก่อนๆ เริ่มต้นชีวิตทำงาน มันเป็นโลกที่แตกต่างไปจากเด็กรุ่นใหม่ยุคนี้อย่างสิ้นเชิง
  • สิ่งที่อาจพบเห็นมากขึ้นต่อจากนี้คือ Gen Z กำลังพยายามวางขอบเขตชีวิตส่วนตัวให้กลับคืนมา พวกเขามองหาวิธีทำงานรูปแบบอื่นๆ เช่น การทำงานแบบ Act your Wage, Quiet Quitting และ Lazy girl jobs

“Gen Z” เจอแรงกดดันในชีวิตการทำงานสูงกว่าคนเจนก่อนๆ เพราะเทคโนโลยีทำให้ “โลกการทำงาน” กับ “ชีวิตส่วนตัว” แยกจากกันไม่ออก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตคนเราง่ายขึ้น ขณะเดียวกันมันก็ทำให้โลกนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วไปพร้อมกัน โดยเฉพาะคนที่เกิดมาในยุคดิจิทัลอย่าง “Gen Z” พวกเขากำลังเจอความท้าทายในชีวิตการทำงานที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ

โดยก่อนหน้านี้มีรายงานการสำรวจจาก Deloitte ในปี 2023 ที่สำรวจเกี่ยวกับวัยทำงาน “Gen Z” จำนวน 14,483 คนใน 44 ประเทศ พบว่า 46% ของชาว Gen Z เผชิญกับความวิตกกังวลและความเครียดอย่างต่อเนื่องในที่ทำงาน นอกจากนี้มากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างยังรายงานด้วยว่า พวกเขารู้สึกเหนื่อยล้า ระดับพลังงานต่ำ และจิตใจหลุดออกจากงาน โดยสาเหตุหลักมาจากสภาพแวดล้อมเชิงลบหรือโดยถากถางดูถูกในที่ทำงาน

Gen Z เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีทำลายขอบเขต เวลางาน-เวลาส่วนตัว

ด้าน แคธลีน ไพค์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเป็นซีอีโอของบริษัท One Mind at Work (ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงาน) แสดงความคิดเห็นว่า กลุ่มวัยทำงาน Gen Z กำลังเผชิญกับแรงกดดันมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เนื่องจากเติบโตมาโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาทำลายขอบเขตระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว

เมื่อเปรียบเทียบการทำงานของคนรุ่นนี้กับคนรุ่นก่อนๆ พบว่า คนรุ่นก่อนไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เกิดจากเทคโนโลยีแบบเดียวกันในช่วงเริ่มต้นอาชีพของพวกเขา

“สำหรับผู้บริหารรุ่นซีเนียร์ในตอนนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้วจะพบว่า เวลาไปทำงานในแต่ละวัน พวกเขาจะขับรถไปทำงานโดยไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มี FedEx ในช่วงที่คนรุ่นก่อนๆ เริ่มต้นชีวิตทำงาน มันเป็นโลกที่แตกต่างไปจากยุคนี้อย่างสิ้นเชิง” เธอกล่าว

ศาสตราจารย์ไพค์ อธิบายต่อว่า ในอดีตไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ในทันทีเหมือนยุคนี้ และเมื่อวัยทำงานรุ่นก่อนๆ กลับบ้าน พวกเขาก็ตัดขาดจากงานอย่างแท้จริง (ไม่สามารถเข้าถึงงานได้ตลอดเวลาเหมือนยุคนี้) มันเป็นเหมือนโครงสร้างมหภาคตามธรรมชาติที่ทำให้เกิดการหยุดทำงานตามเวลา ตามระบบนาฬิกาชีวิตจำนวนมากและระเหยไปจนหมด

Gen Z เจอแรงกดดันสูง เหตุเทคโนโลยีทำให้เวลางาน เวลาส่วนตัว แยกจากกันไม่ออก

"Gen Z" หาทางออกด้วยการทำงานในรูปแบบอื่นๆ เพื่อแยกชีวิตส่วนตัวออกจากงานได้

ในขณะที่เมื่อมองกลับมาในยุคนี้ จะเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นผู้ร้ายที่อยู่เบื้องหลังการดิ้นรนต่อสู้ในชีวิตการทำงานของคนรุ่น Gen Z ส่งผลให้คนรุ่นนี้พยายามสร้างความแตกต่างระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“สิ่งที่พบเห็นมากขึ้นในสังคมการทำงานก็คือ Gen Z กำลังพยายามวางขอบเขตชีวิตส่วนตัวให้กลับคืนมา มันเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างคนแต่ละรุ่น คนทำงานรุ่นใหม่จำนวนมากหันไปหาเทรนด์การทำงานแบบอื่นๆ เช่น 

- เทรนด์การทำงานแบบ Act your Wage คือ การทำงานตามค่าจ้างที่ได้รับ ไม่ทำอะไรเกินตัว

- เทรนด์การทำงานแบบ Quiet Quitting คือ การทำงานไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ทุ่มเททำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ เพื่อเยียวยาตนเองไม่ให้เบิร์นเอาท์ 

- เทรนด์การทำงานแบบ Lazy girl jobs คือ การทำงานที่สามารถจัดตารางงานเองได้ งานไม่ทำให้ชีวิตส่วนตัวยุ่งเหยิงเกินไป หรือเป็นงานที่สามารถปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตนเองได้ มักเป็นงานที่มีระดับความเครียดต่ำแต่ก็มีผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจ

โดยสรุปก็คือ เน้นหางานหรือรูปแบบการทำงานให้ยุ่งน้อยที่สุด เพื่อรักษางานของตนไว้แต่ขณะเดียวกันก็พยายามหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟในการทำงาน

Gen Z เจอแรงกดดันสูง เหตุเทคโนโลยีทำให้เวลางาน เวลาส่วนตัว แยกจากกันไม่ออก

ต้องแยกแยะให้ออกระหว่าง อารมณ์ปกติ หรือ อาการป่วยทางจิตใจ

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ไพค์ชี้ชวนให้คิดว่า การที่ Gen Z หลายคนเผชิญกับภาวะความเครียด วิตกกังวล และความกดดันต่างๆ ในที่ทำงานนั้น บางครั้งอารมณ์เหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ปกติ ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทางจิตใจเสมอไป การเผชิญกับความเครียดเนื่องจากเดดไลน์ที่ต้องส่งงาน ความรู้สึกเศร้า ความผิดหวัง หรือวิตกกังวลเป็นครั้งคราว ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิต

อีกทั้งการรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลในการทำงาน อาจเป็นตัวบ่งชี้ที่มีประโยชน์ที่จะช่วยให้คุณทำงานให้สำเร็จได้อย่างดีด้วยซ้ำ 

ท้ายที่สุด ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสรุปว่า ชาว Gen Z ที่อยากประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน ต้องยอมรับความเครียดและความกังวลที่เกิดจากงานบ้าง “เราต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลวทันทีแล้วลองใหม่อีกครั้ง” นั่นจะทำให้เราเติบโตจากความผิดพลาด รวมถึงการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม การขอความช่วยเหลือ และรู้วิธีการผลักดันขีดความสามารถของตนเอง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในชีวิตการทำงานทั้งนั้น