อาการ “เบิร์นเอาท์” ของเหล่าวัยทำงานเกิดจากอะไรกันแน่ หนักแค่ไหนควรลาออก?

อาการ “เบิร์นเอาท์” ของเหล่าวัยทำงานเกิดจากอะไรกันแน่ หนักแค่ไหนควรลาออก?

เหนื่อยล้าทางจิตใจ รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จและไร้ค่าตลอดเวลา เหล่านี้คืออาการ “เบิร์นเอาท์” ที่ “วัยทำงาน” หลายคนกำลังเผชิญอยู่ แท้จริงแล้วเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่? อาการเรื้อรังถึงจุดไหนถึงควรลาออก?

Key Points:

  • ภาวะเบิร์นเอาท์ทำให้เหนื่อยล้า หงุดหงิด รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จและไร้ค่าตลอดเวลา หากมีอาการดังกล่าวในระดับรุนแรง นั่นอาจหมายถึงการหางานใหม่ที่ใช่กว่า
  • วิจัยชี้ มีสาเหตุ 6 รูปแบบของการทำงานที่ไม่สมดุล ซึ่งชาวออฟฟิศหลายคนอาจกำลังเผชิญอยู่ หากสะสมไปนานๆ เข้า ก็นำไปสู่ภาวะเบิร์นเอาท์ได้
  • โดยสาเหตุหลักๆ ได้แก่ ปริมาณงานล้นมือ, รู้สึกว่าตัวเองควบคุมอะไรไม่ได้เลย, ผลตอบแทนไม่คุ้มกับความพยายาม, ถูกปฏิบัติแบบไม่เป็นธรรม, คุณค่าของงานหรือเป้าหมายความสำเร็จไม่ตรงกัน

ในโลกของการทำงานยุคนี้ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักคำว่า “Burnout” หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน ที่ไม่ใช่ “ความขี้เกียจ” แม้ดูผิวเผินอาจจะดูคล้ายกัน แต่ความรู้สึกภายในกลับต่างกันสิ้นเชิง จริงๆ แล้วเบิร์นเอาท์ คือ อาการผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจที่ตอบสนองต่อความเครียด เร่งรีบ และความกดดันจากการทำงานที่สะสมเรื้อรังมานาน จนเกิดเป็นความเหนื่อยล้าทางจิตใจ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียอย่างรุนแรง (ร่วมกับมีอาการนอนไม่หลับ) หมดแรงจูงใจในการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขึ้นทะเบียนรับรองให้ “ภาวะหมดไฟ” เป็นโรคอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนในยุคปัจจุบัน

ขณะที่ความขี้เกียจไม่ใช่โรค แต่เป็นพฤติกรรมที่เสพติดความสบาย มีแรงจูงใจในการใช้ชีวิตแต่แค่ตัดสินใจที่จะไม่ทำสิ่งต่างๆ และไม่มีสัญญาณของปัญหาภาวะอารมณ์หรือปัญหาสุขภาพจิตใดๆ 

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายจาก “อลิซาเบธ เกรซ ซอนเดอร์ส” โค้ชนักบริหารเวลา ผู้เชี่ยวชาญด้านประสิทธิภาพการทำงานและสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน กล่าวผ่าน Harvard Business Review ไว้ว่า ภาวะเบิร์นเอาท์ สามารถทำให้คุณเหนื่อยล้า หงุดหงิดใจ และรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จและไร้ค่าตลอดเวลา และหากมีอาการดังกล่าวในระดับรุนแรง นั่นอาจหมายความว่าคุณไม่ได้ทำงานอยู่ในจุดที่ถูกต้องอีกต่อไป 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการเบิร์นเอาท์จากการทำงานนั้น รุนแรงถึงขั้นที่ควรลาออกหรือไม่? ก่อนจะตอบคำถามนี้.. อาจต้องพิจารณาถึงสาเหตุของอาการ “เบิร์นเอาท์” ว่ามันเกิดจากอะไรกันแน่? รวมถึงชวนรู้วิธีปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อให้ยังทำงานต่อไปได้ (ลองปรับก่อนที่จะตัดสินใจลาออก) 

ทั้งนี้มีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยของ คริสตินา มาสลัค และ ไมเคิล พี. ไลเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยอาคาเดียในแคนาดา ที่ได้สรุปสาเหตุ 6 รูปแบบการทำงานที่ไม่สมดุลที่มนุษย์งานอาจกำลังเผชิญอยู่ จนนำไปสู่ภาวะเบิร์นเอาท์ได้ ดังนี้

อาการ “เบิร์นเอาท์” ของเหล่าวัยทำงานเกิดจากอะไรกันแน่ หนักแค่ไหนควรลาออก?

1. ปริมาณงานล้นมือ

เมื่อคุณมีภาระงาน (Job description) ที่ตรงกับความสามารถของคุณ คุณสามารถทำงานให้สำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโอกาสพักผ่อนและฟื้นตัว และหาเวลาสำหรับพัฒนาตัวเองให้เติบโตก้าวหน้าในอาชีพได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่ามีภาระมากเกินไปอยู่บ่อยๆ จนสะสมนานวัน คุณจะไม่มีโอกาสฟื้นฟูสมดุลเหล่านี้

วิธีปรับแก้: จัดการความเครียดจากภาระงานล้นมือสะสม โดยให้ประเมินว่าคุณทำได้ดีและทำได้ครอบคลุมแค่ไหน จากนั้นวางแผนการทำงาน จัดลำดับความสำคัญ หากมีงานไหนขอความช่วยเหลือได้ก็ขอให้คนอื่นช่วย และรู้จักปฏิเสธงานที่มากเกินจะทำไหว หัดปล่อยวางบ้าง การพัฒนาทักษะการบริหารเวลาสามารถลดความรู้สึกเหนื่อยหน่ายและช่วยให้คุณพักผ่อนได้อย่างมาก

2. รู้สึกว่าตัวเองควบคุมอะไรไม่ได้เลย

การรู้สึกขาดความเป็นอิสระในงานที่รับผิดชอบอยู่ เช่น เข้าถึงทรัพยากรในออฟฟิศไม่ได้ ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของตนเอง สิ่งเหล่านี้อาจเพิ่มความเครียดและความกังวล สับสน ขาดสมาธิ จนทำให้ประสิทธิผลลดลง นำไปสู่อาการเบิร์นเอาท์ในที่สุด

วิธีปรับแก้: หากรู้สึกว่าควบคุมอะไรไม่ได้ ให้ถอยออกมา 1 ก้าว แล้วถามตัวเองว่า “อะไรที่ทำให้ฉันรู้สึกแบบนี้” เช่น หัวหน้าโทรหาตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน และต้องรับสายตลอดเวลา? หรือ ลำดับตำแหน่งงานภายในองค์กร ทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่มีวันก้าวไปข้างหน้าได้? หรือ คุณไม่สามารถคาดการณ์หรือวางแผนงานในทีม/งานตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ? ฯลฯ หากมีปัญหาเหล่านี้ให้ลองคุยตรงๆ กับหัวหน้า เพื่อหาทางออกและสร้างขอบเขตการทำงานร่วมกัน เช่น ขอไม่ตอบแชทเรื่องงาน 24 ชม. ทุกวัน เป็นต้น

3. รางวัลหรือผลตอบแทนไม่คุ้มกับความพยายาม

หากผลตอบแทน (ทั้งในแง่ตัวเงินและในแง่ความรู้สึก) ที่ได้จากการทำงานของคุณ ไม่ตรงกับปริมาณความพยายามและเวลาที่คุณทุ่มเทให้กับงานเหล่านั้น คุณก็มีแนวโน้มจะรู้สึกว่าการลงทุนนั้นไม่คุ้มกับผลตอบแทน จนท้อแท้ หมดใจ และหมดไฟตามมา

วิธีปรับแก้: พิจารณาและตัดสินใจว่าสิ่งใดที่ทำให้คุณรู้สึกว่าได้รับการชื่นชมอย่างเหมาะสม เช่น ขอขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง หรืออาจต้องการเสียงตอบรับเชิงบวก (คำชื่นชม) มากขึ้น หรือบางทีคุณอาจต้องใช้ประโยชน์จากสิทธิ์พนักงานต่างๆ เช่น ขอใช้วันหยุดชดเชยเพื่อพักผ่อนหลังปิดโปรเจกต์ใหญ่ได้สำเร็จ ลองดูว่ารางวัลใดจะทำให้คุณรู้สึกว่าคุ้มค่ากับความทุ่มเทนั้น และมีโอกาสที่จะได้รับรางวัลในสภาพแวดล้อมการทำงานปัจจุบันหรือไม่?

4. สังคมในที่ทำงานเป็นพิษ (Toxic workplace) 

คุณทำงานกับใครบ้าง แล้วความสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร พวกเขาให้การสนับสนุนและไว้วางใจได้แค่ไหน? ในหลายกรณี คุณไม่สามารถเลือกเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าของคุณได้ บางครั้งชาวออฟฟิศมักเจอ Toxic people อยู่ในทีมเดียวกัน ซึ่งมักทำให้ทำงานด้วยยาก งานไม่ราบรื่น ไม่สำเร็จบ่อยๆ จนท้อใจ

วิธีปรับแก้: คุณสามารถปรับปรุงไดนามิกในการทำงานร่วมกันได้ ด้วยการพูดคุยและสื่อสารระหว่างกันให้มากขึ้น อาจเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น เมื่อเจอหน้าก็ถามว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง และรับฟังอย่างจริงใจ หรือส่งอีเมลถึงคนอื่นๆ ในทีมเพื่อแจ้งให้ทราบว่าคุณชื่นชมการนำเสนอของพวกเขา หรือเลือกที่จะสื่อสารเรื่องยากๆ ด้วยความเคารพและไม่ตัดสิน เป็นต้น ความรู้สึกหมดไฟสามารถติดต่อได้ ดังนั้น ต้องยกระดับการมีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ ในทีม พยายามให้กำลังใจกันและสร้างบรรยากาศการทำงานในเชิงบวก แต่ถ้าพบว่าคุณทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้แล้วแต่มันไม่ดีขึ้น คนอื่นไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ต้องการความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น คุณอาจต้องการพิจารณา "ลาออก" แล้วเปลี่ยนงานใหม่

อาการ “เบิร์นเอาท์” ของเหล่าวัยทำงานเกิดจากอะไรกันแน่ หนักแค่ไหนควรลาออก?

5. ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม หรือไม่เท่าเทียมกับคนอื่นในทีม

ลองพิจารณาว่าคุณได้รับการปฏิบัติที่ยุติธรรมและเสมอภาคหรือไม่ เช่น คุณได้รับการยอมรับจากการมีส่วนร่วมในการทำงานหรือไม่? ในขณะที่บุคคลอื่นได้รับคำชม แต่ผลงานของคุณกลับไม่มีใครสังเกตเห็น? มีคนอื่นได้รับการผ่อนผันเวลากำหนดส่งงาน ได้รับความช่วยเหลือด้านแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม ขณะที่คุณร้องขอสิ่งเดียวกันแต่กลับไม่ได้รับ? หากได้รับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมแบบนี้สะสมไปนานๆ เข้า ก็ย่อมทำให้รู้สึกแปลกแยก ไม่มีคุณค่า จนนำไปสู่ความรู้สึกไร้ค่า หมดใจและหมดไฟได้

วิธีปรับแก้: อาจเริ่มด้วยการพูดระบายออกมา บางครั้งคนเราก็ไม่รู้สึกถึงผลของการกระทำของตนเองว่ามันมีความอคติแฝงอยู่ จนกว่าจะมีคนมาบอกตรงๆ ดังนั้น หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมก็สามารถถามและขอสิ่งที่ต้องการออกไปได้ เช่น บางผลงานที่สำเร็จเกิดจากการทำร่วมกันหลายคน คุณสามารถขอให้กล่าวถึงคุณด้วยในฐานะเป็นผู้ร่วมทำงานนั้นเช่นกัน และหากคุณยังพบว่าคำตอบดูเหมือนไม่เท่าเทียมกัน คุณสามารถหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างสุภาพ: “ฉันสังเกตเห็นว่าทีมงานในชิคาโกมีเวลาเพิ่มอีกสัปดาห์ในการทำงานในโครงการของพวกเขา ซึ่งเดิมครบกำหนดในวันเดียวกับของเรา คุณช่วยฉันเข้าใจได้ไหมว่าทำไมมันถึงเป็นไปไม่ได้สำหรับทีมของเราเช่นกัน” เป็นต้น

6. มองเห็นคุณค่า/เป้าหมายความสำเร็จ ไม่ตรงกัน 

หากคุณให้ความสำคัญกับบางสิ่งที่บริษัทของคุณไม่เห็นคุณค่า แรงจูงใจในการทำงานหนักและความอุตสาหะจะลดลงอย่างมาก อุดมคติและแรงจูงใจมักจะฝังแน่นอยู่ในบุคคลและองค์กร 

วิธีปรับแก้: ก่อนจะบอกว่าการทำงานที่นี่ทำให้คุณเบิร์นเอาท์ ให้คุณลองคิดอย่างรอบคอบว่า "ค่านิยมของคุณ" กับ "ค่านิยมขององค์กร" นั้นยังสอดคล้องกันหรือตรงกันหรือไม่? นอกจากนี้ ให้พิจารณาด้วยว่าผู้นำในบริษัทของคุณได้เปลี่ยนค่านิยมไปหรือไม่? เจ้านาย ทีมของฉัน และองค์กรของฉันตัดสินใจและลงทุนทรัพยากรอย่างไร? ฉันรู้สึกดีกับแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่เหล่านั้นหรือไม่? พวกเขาดูเหมือนเปิดรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? หากพบว่าค่านิยมของผู้มีอิทธิพลในองค์กรแตกต่างจากค่านิยมคุณ อาจถึงเวลาพิจารณามองหางานใหม่ที่มีเป้าหมายตรงกับค่านิยมของคุณมากว่าที่นี่

ย้ำอีกทีว่า "ภาวะเบิร์นเอาท์" ไม่ใช่แค่ความเหนื่อยแบบธรรมดาทั่วๆ ไป หรือที่บางคนชอบตัดสินว่า "ขี้เกียจ แล้วเอาเบิร์นเอาท์มาอ้าง" แต่มันคือความเหนื่อยล้าทั้งทางใจและทางกายที่มีปัญหาซับซ้อนกว่านั้น ซึ่งต้องใช้วิธีแก้ไขที่ซับซ้อนเช่นกัน แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจ "ลาออก" ให้คิดให้ถี่ถ้วนว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้คุณหมดไฟจากการทำงานในบริษัทปัจจุบัน และขอให้ลองพยายามเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและปรับวิธีการทำงานก่อน หากคุณพบว่าแม้คุณพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังรู้สึกไม่มีอะไรดีขึ้นและยังเบิร์นเอาท์เรื้อรัง นั่นก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลและถึงเวลาแล้วที่ต้องจากบริษัทแห่งนั้นไปในที่สุด