ปริญญาใบเดียวอาจไม่พอ! Double Major อาจเป็นตั๋วสู่อาชีพที่มั่นคงมากกว่า

ปริญญาใบเดียวอาจไม่พอ! Double Major อาจเป็นตั๋วสู่อาชีพที่มั่นคงมากกว่า

สมัครงานยุคนี้แนบปริญญาใบเดียวในเรซูเม่อาจไม่พอ! วิจัยพบเด็กจบใหม่ Double Major ที่มีทักษะหลากหลาย (จบ 2 สาขาวิชา) จะเพิ่มโอกาสในโลกการทำงานได้มากกว่า

Key Points:

  • วิจัยใหม่พบว่า การเรียนจบมาด้วยทักษะที่หลากหลายดังกล่าว มีประโยชน์ต่อชีวิตการทำงานอย่างมาก
  • โดยในกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาที่เรียนสองสาขาวิชาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มักจะได้เปรียบในการหางานมากกว่ากลุ่มที่เรียนในสองสาขาที่สอดคล้องกัน
  • ปรากฏการณ์การศึกษาเล่าเรียนแบบ Double Major มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเพิ่มขึ้น 66% ในระยะเวลาเกือบ 20 ปี 

หลายปีมานี้เกิดปรากฏการณ์ “นักศึกษาระดับปริญญาตรี” นิยมเรียนต่อในสาขาวิชาเอกมากกว่าหนึ่งสาขา หรือเรียนปริญญาตรีมากกว่า 1 ใบ (Double Major) มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เลือกเรียนในสาขาที่พ่อแม่ต้องการหรือสาขาที่ตลาดงานต้องการ ไปพร้อมๆ กับการเรียนในสาขาที่ตัวเองอยากเรียนจริงๆ ซึ่งงานวิจัยใหม่พบว่า การเรียนจบมาด้วยทักษะที่หลากหลายดังกล่าว มีประโยชน์ต่อชีวิตการทำงานอย่างมาก

การศึกษาวิจัยด้านการทำงานฉบับใหม่จาก สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (ณ ม.ค. 2024) รายงานว่า ในระยะยาว ผู้ที่เรียนจบจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยใน 2 สาขาวิชาเอก หรือมีปริญญา 2 ใบ จะได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของรายได้ เช่น การตัดเงินเดือน การพักงาน การเลิกจ้าง การว่างงาน “น้อยกว่า” ผู้ที่จบสาขาวิชาเอกเดียวถึง 56% หรือพูดง่ายๆ จะมีความมั่นคงในอาชีพมากกว่านั่นเอง

ผลวิจัยดังกล่าวยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาที่เรียนสองสาขาวิชาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แทนที่จะเป็นสองสาขาที่สอดคล้องกันอย่างใกล้ชิด เช่น คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ หรือธุรกิจและการบัญชี

ทั้งนี้การวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อหาคำตอบว่าการเรียนจบสองสาขาวิชาหรือจบปริญญาสองใบ จะเป็นเกราะกำบังไม่ให้ตกงานได้ 100% หรือไม่ แต่มีจุดมุ่งหมายคือเน้นศึกษาหาคำตอบว่า การเรียนรู้ทักษะที่หลากหลายช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานหรือไม่ (เหมือนการกระจายพอร์ตการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง) ซึ่งผลวิจัยปรากฏว่า ช่วยเพิ่มโอกาสได้จริง!

การเอาตัวรอดในโลกการทำงานยุคนี้ ยิ่งมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา เพราะ AI จะเข้ามาแย่งงานในบางอุตสาหกรรม

ศาสตราจารย์ นิโคล สมิธ นักวิจัยและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ Georgetown University Center on Education and the Workforce เชื่อว่าการทำ Double Major หรือการเรียนเบิ้ลสองสาขาวิชาหรือสองปริญญาที่แตกต่างกันนั้น ช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาชีพ การเรียนวิชาเอกสองเท่าจะทำให้ผู้เรียนจบเอาตัวรอดในโลกการทำงานเป็นสองเท่าเช่นกัน

ขณะที่ ดรูว์ แฮงค์ส ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ และเป็นรองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์มนุษย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ก็เห็นด้วยกับ นิโคล สมิธ ว่า การเอาตัวรอดให้มีงานทำในยุคนี้ยิ่งมีความสำคัญและจำเป็นมากว่าที่ผ่านมา เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาแย่งตำแหน่งงานบางอย่างไปจากมนุษย์ ขณะเดียวกันก็จะสร้างงานใหม่ และเปลี่ยนแปลงงานในสายงานอื่นๆ อีกหลายหลายอาชีพ 

“หาก AI ครอบงำอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง การที่คุณเรียนจบแบบ Double Major อาจมีโอกาสหรือความสามารถในการปรับตัวได้ง่ายกว่า นอกจากนี้การเรียนจบด้วยสองสาขาวิชาที่ต่างกัน ก็มีแนวโน้มที่จะได้งานในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทักษะระดับสูง และขยายขอบเขตทางอาชีพได้กว้างขึ้น ซึ่งเป็นงานประเภทที่ AI ไม่สามารแย่งงานไปได้” ดรูว์ แฮงค์ส กล่าว

หากเทียบเทรนด์การเรียนในอดีตกับปัจจุบัน พบว่าปรากฏการณ์การศึกษาเล่าเรียนแบบ Double Major มีมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกราฟที่ชี้พุ่งขึ้นไม่หยุด โดยผลสำรวจจาก “ศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติสหรัฐ” พบว่า ในปี 2022 มีนักศึกษามากกว่า 100,000 คน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาเอกที่สองเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 66% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2002 ซึ่งมีตัวเลขผู้เรียนจบสองสาขาเพียง 61,000 คน 

อย่างไรก็ตาม การเรียนจบในสองสาขาพร้อมกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เพราะแต่ละหลักสูตรมาพร้อมกับการเรียนเก็บหน่วยกิตวิชาบังคับหลายวิชา แล้วไหนจะต้องทำโปรเจกต์จบหรือการฝึกงานในระยะเวลาตามกำหนดอีก ซึ่งนั่นต้องทุ่มเทเวลาให้การเรียนทั้งสองสาขาอย่างมาก ซึ่งบางครั้งทำให้ผู้ที่ลงเรียนวิชาเอกมากกว่าหนึ่งสาขา ติดอยู่ในรายการ “รอจบ” อีกทั้งงานวิจัยข้างต้นก็พบด้วยว่า วัยทำงานที่เรียนจบด้วยวิชาเอกสองสาขา อายุระหว่าง 30-65 ปี ส่วนใหญ่จะต้องเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 8 ปีถึงจะจบ 

การเรียนแบบ Double Major ช่วยเพิ่มโอกาสในโลกการทำงานได้อย่างไรบ้าง?

เรื่องนี้มีเคสตัวอย่างจากผู้คนในหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น เฟรด เออร์แซม ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Coinbase (แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับการซื้อ ขายเงินดิจิทัล) เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการศึกษาสาขาวิชาเอกสองสาขา โดยเขาจบจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ด้วยสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์

ขณะที่ ไทย ลี ซีอีโอของ SHI International ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านไอที เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 2 สาขา ได้ปริญญา 2 ใบในสาขาวิชาชีววิทยาและเศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยแอมเฮิร์สต์ 

ส่วน โจนาธาน เกรย์ ประธานของบริษัท Blackstone ซึ่งเป็นบริษัทไพรเวทอิควิตี้ (การลงทุนในหุ้นนอกตลาด) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เขาคนนี้จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์จาก Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย และยังจบปริญญาตรีสาขาภาษาอังกฤษจากวิทยาลัยศิลปะและวิทยาศาสตร์อีกด้วย การเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์ทำให้เกรย์ได้งานที่บริษัท Blackstone ในขณะที่การเรียนจบสาขาภาษาอังกฤษ ทำให้เขาได้ฝึกฝนทักษะการเขียนและการสื่อสารที่จะช่วยให้เขาแตกต่างในโลกของอาชีพด้านการเงิน 

เขาบอกว่ามันอาจเป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะการเรียนให้จบทั้งสองมหาวิทยาลัยทำให้ชีวิตยากขึ้น นอกจากจะต้องเข้าเรียน 5 คลาสเรียนในแต่ละภาคการศึกษาแล้ว ยังต้องใช้เวลาช่วงปิดเทอมฤดูร้อน 2 ครั้งไปกับการเรียนเก็บหน่วยกิตเพิ่มให้ครบสำหรับทั้งสองปริญญา แต่นั่นก็ทำให้เรียนจบแล้วได้งานแทบจะทันที

“เวลาไปทำงานผมก็เข้าใจในเนื้องาน (เช่น เข้าใจว่างบดุลคืออะไร) ได้เป็นอย่างดี และผมก็ทำสเปรดชีต Excel ได้ สามารถเรียกใช้แบบจำลองชุดข้อมูลได้ รวมถึงสามารถเขียน Memo (บันทึกหรือการแจ้งเตือนที่ใช้สำหรับการสื่อสารเกี่ยวกับขั้นตอนหรือธุรกิจอย่างเป็นทางการภายในองค์กร) ได้อย่างราบรื่นว่า ทำไมฉันถึงคิดว่าหุ้นบางตัวเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ การรวมทักษะทั้งสองเข้าด้วยกันนั้นทรงพลังมาก” เขากล่าว

นักศึกษาที่จบสองสาขาวิชาเอก เป็นที่ต้องการของนายจ้างมากกว่า ถูกเลือกรับเข้าทำงานเร็วกว่า

โจนาธาน เกรย์ มองว่าปริญญา 2 ใบหรือการเรียน 2 สาขาวิชาเอก ถือเป็นทรัพย์สินเพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานทักษะสูง เพราะมันบ่งบอกว่าคนๆ นี้มีมีความรู้ทางปัญญาที่เพิ่มพูนและมีความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งนั่นดีต่อการถูกเลือกรับเข้าทำงานเป็นอันดับต้นๆ ท่ามกลางผู้สมัครมากมาย

มาร์กาเร็ต แมคฟาดเดน อธิการบดีที่ Colby College วิทยาลัยด้านศิลปศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงในรัฐเมน สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีนักศึกษาในวิทยาลัยเลือกเรียนสาขาเอกที่สองมากขึ้น 39% (ถือว่าสูงผิดปกติ) ได้เห็นตัวอย่างดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ โดยพบว่า บัณฑิตใหม่คนหนึ่งที่สำเร็จการศึกษาวิชาเอกเศรษฐศาสตร์ และจบอีกหนึ่งวิชาเอกสาขา American Studies โดยศึกษาโครงการเกี่ยวกับผู้หญิงในสื่อ 

บัณฑิตคนดังกล่าวได้รับการว่าจ้างจากบริษัทการเงินแห่งหนึ่งซึ่งชื่นชมภูมิหลังทางวิชาการที่ไม่ธรรมดาของเธอ “เธอเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มามากและมีการเตรียมตัวอย่างเหมาะสม แต่จุดหลักๆ ที่ทำให้เธอได้งานก็เพราะบริษัทสนใจคนที่ไม่เพียงแต่มีทักษะด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสนใจที่จะขยายฐานลูกค้าเพื่อดึงดูดผู้หญิงมากขึ้น 

“พวกเขาจึงสนใจใครสักคนที่มีความเชี่ยวชาญเพิ่มเติมเหมือนกับที่เธอมีในเรื่องการศึกษาผู้หญิงในสื่อ” McFadden กล่าว 

จากเรื่องราวทั้งหมดที่ว่ามา จึงอธิบายได้ชัดเจนว่าทำไมผู้สำเร็จการศึกษาแบบ Double Major จึงมีความมั่นคงในอาชีพการงานในระยะยาวมากกว่าผู้ที่จบจากสาขาเดียว