คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางไปทำงานเฉลี่ย 58 นาที นานกว่าค่าเฉลี่ยที่เหมาะสม

คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางไปทำงานเฉลี่ย 58 นาที นานกว่าค่าเฉลี่ยที่เหมาะสม

กว่าจะถึงที่ทำงานเดินทางเป็นชั่วโมง! คน “กรุงเทพฯ” ใช้เวลาเดินทางไปทำงานเฉลี่ย 58 นาทีต่อเที่ยว นานกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปที่ชี้ว่าไม่ควรเกิน 30 นาที วิจัยเผย ยิ่งติดอยู่บนถนนนาน ก็ยิ่งเครียดและสุขภาพจิตย่ำแย่

Key Points:

  • เมืองอิสตันบูล รั้งอันดับหนึ่งเมืองที่ผู้คนใช้เวลาเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะไปทำงานเฉลี่ยนานที่สุดในโลก คือ 77 นาทีต่อเที่ยว
  • ส่วนนิวยอร์ก-กรุงเทพฯ ผู้คนใช้เวลาเดินทางไปทำงานเฉลี่ย 58 นาทีต่อเที่ยว หรือเกือบ 2 ชั่วโมงในการเดินทางไป-กลับ
  • มีงานวิจัยหลายชิ้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้เวลาเดินทางไปทำงานที่ยาวนานกับสุขภาพจิตที่แย่ลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางไปทำงานที่ต้องติดแหง็กบนท้องถนนนานๆ เป็นสิ่งที่วัยทำงานทุกคนล้วนเอือมระอา แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับมันทุกวัน โดยเฉพาะเมืองหลวงของประเทศไทยอย่าง “กรุงเทพฯ” ที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติดและต้องใช้เวลาเดินทางนานเป็นพิเศษ แต่ถึงอย่างนั้น กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่แค่เมืองเดียวในโลกที่ผู้คนต้องอดทนกับการเดินทางไปทำงาน เพราะทั้งนิวยอร์ก, เม็กซิโกซิตี้, อิสตันบูล และอีกหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน

กรุงเทพฯ - นิวยอร์ก ใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานพอกัน เฉลี่ย 58 นาทีต่อเที่ยว

ว่าแต่.. เวลาในการเดินทางยาวนานดังกล่าว มันนานแค่ไหนกัน?

เรื่องนี้มีคำตอบจากรายงาน "การขนส่งสาธารณะทั่วโลกประจำปี 2022" ของ Moovit ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์การขนส่งของโลก เปิดเผยผลวิเคราะห์ว่า เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี รั้งอันดับหนึ่งของเมืองที่ผู้คนใช้เวลาเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะไปทำงานเฉลี่ยนานที่สุดในโลก คือ 77 นาทีต่อเที่ยว อันดับสองคือ เม็กซิโกซิตี้ โดยใช้เวลาเดินทางเฉลี่ย 73 นาทีต่อเที่ยว

ส่วนมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผู้คนใช้เวลาเดินทางไปทำงานใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ประเทศไทย คือเฉลี่ย 58 นาทีต่อเที่ยว (เกือบ 2 ชั่วโมงในการเดินทางไป-กลับ) ถัดมาในเมืองลอสแอนเจลิส ปารีส และโรม ผู้คนใช้เวลาเดินทางโดยเฉลี่ย 52 นาทีต่อเที่ยว ขณะที่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผู้คนใช้เวลาเดินทางโดยเฉลี่ย 46 นาทีต่อเที่ยว

วิจัยเผย ยิ่งใช้เวลาเดินทางไปทำงานนาน ก็ยิ่งเพิ่มความเครียด

ทั้งนี้ การเดินทางไปทำงานที่ใช้เวลายาวนานในทุกๆ วัน ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของวัยทำงาน ที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้เวลาเดินทางไปทำงานที่ยาวนานกับสุขภาพจิตที่แย่ลง ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยจากสาขาสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอินฮา ประเทศเกาหลี ค้นพบว่า ชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางไปทำงานนานกว่าหนึ่งชั่วโมงทุกวัน มีแนวโน้มที่จะมีอาการซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่เดินทางน้อยกว่า 30 นาที ถึง 16%

ขณะที่ ดร.ซอนยา นัตแมน จากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยดีคิน (Deakin University) ประเทศออสเตรเลีย ก็ให้ข้อมูลผ่านบทความวิชาการในทำนองเดียวกันว่า การต้องต่อสู้กับการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนและการเดินทางระยะไกลไปทำงานเป็นประจำ ส่งผลให้สุขภาพจิตของคนทำงานแย่ลง เพิ่มความเครียด และยังส่งผลให้อารมณ์ของผู้คนโกรธเกรียวเพิ่มขึ้น 

นอกจากการจราจรที่ติดขัดจะทำให้วัยทำงานเครียดมากขึ้นแล้ว การนั่งแช่อยู่บนรถนานๆ ขณะเดินทางไปทำงาน (ไม่ว่าจะขับรถส่วนตัวหรือนั่งรถขนส่งสาธารณะ) ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายด้วย เพราะทำให้ขาดความกระตือรือร้น ขาดการเคลื่อนไหว เสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหัวใจ ไม่ว่าคุณจะใช้เวลาออกกำลังกายนานเท่าใดก็ตาม 

เวลาเดินทางไปทำงานที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 30 นาทีต่อเที่ยว

คำถามต่อมาคือ เวลาที่เหมาะสมในการเดินทางไปทำงานของผู้คนควรจะอยู่ที่เท่าไร?  

ข้อมูลเชิงวิเคราะห์จาก Linkedin และ Jobera ซึ่งเป็นเว็บไซต์หางานชื่อดังระดับโลก ต่างระบุตรงกันว่า แม้เวลาที่ใช้ในการเดินทางไปทำงานจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การจราจร ความเร่งด่วน สภาพถนน สิ่งอำนวยความสะดวกการคมนาคม ค่าธรรมเนียมผ่านทางด่วน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เวลาที่เหมาะในการเดินทางควรอยู่ระหว่าง 5-16 นาทีต่อเที่ยว หรือมากสุดไม่ควรเกิน 30 นาทีต่อเที่ยว ซึ่งมีการสำรวจพบว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่พนักงานสามารถรับได้และไม่ทำให้พวกเขาเหนื่อยกับการเดินทางมากเกินไป

หากวัยทำงานรู้สึกว่าตนเองใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานเกินไปในแต่ละวัน จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ อาจถึงเวลาที่จะพิจารณาย้ายที่อยู่ให้ใกล้ที่ทำงานมากขึ้น หรือหางานใหม่ที่ใกล้บ้านมากขึ้น

แต่ก็อย่างที่หลายคนรู้ดีว่า ชีวิตคนเราไม่สามารถเลือกได้ขนาดนั้น ใครไม่สามารถย้ายที่พักหรือย้ายที่ทำงานได้ในเร็วๆ นี้ ดร.ซอนยา แนะนำว่า วิธีหนึ่งที่ช่วยให้ลดผลเสียจากการเดินทางนานๆ บนท้องถนนได้ก็คือ หากนั่งรถสาธารณะให้ยืนดีกว่านั่ง (หรือยืนสลับนั่ง) เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว และพยายามทำให้การเดินทางของคุณปราศจากความเครียดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ฟังพอดแคสต์ ฟังเพลง หรือหนังสือเสียง สวมรวมถึงเลือกรองเท้าที่ใส่สบาย ยืนนานๆ แล้วไม่เมื่อยไม่เจ็บเท้า เป็นต้น