เราจะเลือกวิถีผู้นำแบบ “ลูกพี่”  หรือผู้นำแบบ  “วาทยากร” 

เราจะเลือกวิถีผู้นำแบบ “ลูกพี่”  หรือผู้นำแบบ  “วาทยากร” 

องค์กรจะปรับตัวอย่างรวดเร็วได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือวิถีของผู้นำ (leadership)

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เราต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกประเทศและทุกองค์กรต้องปรับตัวขนานใหญ่ ยิ่งถ้ามีปัญหาเชิงโครงสร้างสะสมต่อเนื่องมานานด้วยแล้ว ยิ่งต้องหาทางพลิกโฉมแปลงร่าง (transformation) กันทีเดียว

แต่คุยกับเพื่อนๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็จะพบความกังวลร่วมกันว่าทำไมประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว องค์กรไทยจำนวนไม่น้อยที่อยากจะพลิกโฉมแปลงร่าง พอถึงเวลาลงมือทำจริง ก็ได้เพียงแค่ปะผุของเดิม

องค์กรจะปรับตัวอย่างรวดเร็วได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือวิถีของผู้นำ (leadership) ที่เป็นตัวกำหนดทั้งทิศทาง คุณค่า วัฒนธรรมองค์กร และวิธีการทำงานในองค์กร

วิถีของผู้นำมีหลากหลายรูปแบบ ผมมีข้อสันนิษฐานส่วนตัวว่า สาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยและองค์กรไทยจำนวนหนึ่งไม่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราติดกับดักวิถีผู้นำแบบลูกพี่ 

วัฒนธรรมลูกพี่นิยม ดูจะเป็นเรื่องพิเศษของสังคมไทย พยายามหาคำแปลภาษาอังกฤษก็ยังหาที่ตรงๆ ไม่ได้ จะพบแต่คำที่หมายถึงหัวหน้า gang หรือ mafia สื่อความหมายไปในทางอาชญากรรมเสียเป็นส่วนใหญ่

เคยถามเพื่อนหลายชาติหลายภาษาว่ามีวัฒนธรรมลูกพี่นิยมบ้างไหม ก็ไม่พบว่ามีวิธีปฏิบัติในสังคมอื่นที่ให้ความสำคัญกับลูกพี่เหมือนกับในสังคมไทย

วัฒนธรรมลูกพี่นิยมในสังคมไทยน่าจะเกิดมานานมากแล้ว โครงสร้างสังคมสมัยก่อนต้องมีผู้ทำหน้าที่คอยปกป้องดูแลคนในปกครองไม่ให้ถูกรังแก

รวมทั้งต้องคอยอุปถัมภ์ค้ำจุน  อาจจะได้รับอิทธิพลจากระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนาย มีทาสในเรือนเบี้ย มีไพร่ในสังกัด ตลอดไปจนถึงพวกเสือหัวหน้าโจรที่คุมแต่ละพื้นที่ คนที่อยากจะได้รับความคุ้มครอง หรืออยากมีอนาคตดีขึ้น ก็ต้องเข้ามาเป็นลูกน้องในสังกัดลูกพี่

ในปัจจุบันวัฒนธรรมลูกพี่นิยมก็ยังปรากฎอยู่มาก เพราะระบบอำนาจนิยมยังแพร่หลายในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอาชีวะที่รุ่นพี่พารุ่นน้องยกพวกตีกัน ในที่ทำงานบางแห่งรุ่นพี่ก็ยังคอยดูแลรุ่นน้องสถาบันเดียวกันเป็นพิเศษ

วินมอเตอร์ไซค์ก็ต้องมีหัวหน้าวินคอยกันไม่ให้คนนอกพื้นที่เข้ามาทำกิน ในวงการสีเขียวสีกากีก็มักจะได้ยินข่าวว่าแบ่งก๊กแบ่งเหล่ากันตามลูกพี่  หรือแม้แต่ในวงการการเมืองก็มีนักการเมืองบ้านใหญ่เป็นลูกพี่อยู่ในหลายจังหวัด

วัฒนธรรมลูกพี่ที่สืบทอดกับมานานได้สร้างวิถีผู้นำแบบลูกพี่ ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับองค์กร

ผู้นำแบบลูกพี่ต้องคอยแสดงบารมีของตัวเองให้เด่นชัดว่ามีอิทธิพลเหนือลูกน้อง (และเก่งกว่าลูกพี่ค่ายอื่นๆ) มักมีพฤติกรรมที่แสดงอัตตาของตัวเอง

ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยปกป้องดูแลให้ลูกน้องรัก อุปถัมภ์ค้ำจุนด้วยวิธีต่างๆ  ยิ่งถ้าลูกพี่กล้าได้กล้าเสีย มีใจนักเลงด้วยแล้ว ยิ่งได้ใจจากลูกน้องมากขึ้น 

ผู้นำแบบลูกพี่มักจะมีลูกน้องมือขวามือซ้ายเป็นคนใกล้ชิด ลูกน้องคนอื่นๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงวงในก็ต้องหาทางไต่เต้าผ่านมือขวามือซ้ายเหล่านี้ รูปแบบการบริหารจัดการก็มักเอาคนที่ใกล้ชิดไว้ใจเป็นที่ตั้ง ให้ความสำคัญกับคนพวกเดียวกันมากกว่าคนที่มีความรู้ความสามารถ

นอกจากนี้ ผู้นำวิถีลูกพี่มักรวบอำนาจตัดสินใจแบบ top-down ไม่ค่อยสร้างระบบงานให้ชัดเจน ลูกน้องจะติดนิสัยต้องคอยเอาใจนาย ต้องเสียเวลามานั่งเฝ้าลูกพี่มากกว่าจะไปทำงานทำการ หรือพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเอง

ลูกน้องคนไหนที่มักคิดต่าง เห็นต่าง ก็จะถูกมองว่าชอบท้าทาย อยู่ได้ยากในองค์กรที่มีผู้นำแบบลูกพี่ 

ในกรณีที่องค์กรเปลี่ยนผู้นำ และเกิดได้ผู้นำคนใหม่ที่มีความเป็นลูกพี่สูง สิ่งแรกที่ผู้นำแบบลูกพี่มักทำคือทดสอบความภักดีว่าเป็นพวกเดียวกันหรือไม่

หลายแห่งก็ล้างบางทีมงานเก่า เอาคนที่เป็นพวกเดียวกันมาทำงาน ในระดับประเทศเราก็จะเห็นพฤติกรรมทำนองนี้บ่อยครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็จะเกิดการล้างบางข้าราชการ ผู้บริหารและกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนองค์กรอิสระโดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถของคนที่อยู่เดิม

หลายองค์กรที่ผู้นำมีความเป็นลูกพี่สูงมักจะมีปัญหาตำแหน่งว่างมากมาย หาคนทำงานไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะสังคมไทยขาดคนที่มีความรู้ความสามารถ

แต่เป็นเพราะผู้นำวิถีลูกพี่มักมองหาเฉพาะคนที่เป็นพวกเดียวกัน รู้จักกัน หรือต้องมีคนที่ตัวเองไว้ใจแนะนำมา ไม่นิยมมองกว้างออกไปแสวงหาคนที่มีความรู้ความสามารถที่ไม่ได้เป็นพรรคพวกของตัวเอง

วิถีผู้นำที่อาจจะอยู่ตรงกันข้ามกับแบบลูกพี่ น่าจะเป็นผู้นำแบบวาทยากร (conductor leadership) วาทยากรทำหน้าที่ประกอบเพลง ผสมผสานให้นักดนตรีหลากหลายประเภทบรรเลงร่วมกันออกมาเป็นเพลงได้อย่างไพเราะ

วาทยากรเก่งๆ ต้องแสวงหานักดนตรีที่มีความสามารถสูงมาร่วมวง เปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถแสดงฝีมือได้อย่างเต็มที่ และคอยกำกับนักดนตรีทั้งวงให้เล่นเพลงเดียวกันตามเพลงที่ประกอบไว้ 

ผู้นำแบบวาทยากรต้องมีความรู้ความสามารถสูงจนได้รับการยอมรับจากลูกวง วาทยากรเก่งๆ จะต้องมีมาตรฐานสูง สามารถกำกับให้นักดนตรีทั้งวงบรรเลงเพลงไปในทิศทางเดียวกัน

ที่สำคัญผู้นำแบบวาทยากรต้องรู้จักความสามารถของนักดนตรีแต่ละคนเป็นอย่างดี สามารถคัดเลือกและผสมผสานนักดนตรีมารวมกันเป็นวงได้อย่างเหมาะสม และรู้จักวิธีที่จะประสานความสามารถของคนเก่งเพื่อสร้างพลัง

วิถีผู้นำแบบวาทยากรยังต้องมีระบบการทำงานที่ชัดเจนเหมือนมีโน๊ตเพลงกำกับให้นักดนตรีแต่ละคนแสดงบทบาทของตนเองได้ถูกจังหวะ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำแบบวาทยากรก็คงต้องมีนักดนตรีบางคนที่เป็นลูกรัก แต่นักดนตรีทุกคนรับรู้โน๊ตเพลงเท่ากัน ไม่ได้รู้แต่เพียงคนที่เป็นมือซ้ายมือขวาของลูกพี่ หรือคนวงใน

การกำหนดบทบาทให้นักดนตรีแต่ละคนเล่นก็ต้องโปร่งใส ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เพราะนักดนตรีทุกคนได้ยินเวลาซ้อมร่วมกันว่าแต่ละคนฝีมือเป็นอย่างไร 

นอกจากนี้ผู้นำแบบวาทยากรต้องสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักดนตรีทุกคนมุ่งสู่มาตรฐานสูง ต้องรับผิดชอบความสำเร็จของการแสดงร่วมกัน เพราะถ้าคนใดคนหนึ่งอ่อนซ้อม เล่นผิดจังหวะไปก็ทำให้เสียหายได้ทั้งวง

หลายองค์กรไทยก็มีผู้นำแบบวาทยากร โดยเฉพาะองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ที่ขยายหน้างานกว้างขึ้นมาก ต้องเผชิญการแข่งขันสูง และต้องปรับตัวรวดเร็ว

ผู้นำขององค์กรเหล่านี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จให้เกิดขึ้นด้วยการประสานพลังของคนเก่งทั้งองค์กร

ในระยะต่อไป ประเทศไทยและองค์กรไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้นอีก ต้องอาศัยคนที่มีความสามารถหลากหลายด้าน ต้องส่งเสริมให้คนคิดต่าง มีมุมมองที่หลากหลาย

วิธีการทำงานแบบรวมศูนย์ (centralized) และ top-down จะไม่ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะในบริบทการทำงานที่จะกระจายตัวและเป็น platform-based มากขึ้น 

ถ้าผู้นำยังใช้วิถีผู้นำแบบลูกพี่เป็นหลักแล้ว จะเป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปข้างหน้าอย่างยิ่ง ขาดโอกาสรับฟังความเห็นต่าง ไม่สามารถดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมรับวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ถือลูกพี่เป็นใหญ่

ข้อสันนิษฐานเรื่องกับดักวิถีผู้นำแบบลูกพี่นี้มาจากข้อสังเกตส่วนตัว ในฐานะที่เป็นคน Gen X ซึ่งเติบโตมากับวัฒนธรรมลูกพี่นิยมในสังคมไทย แต่เห็นว่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยเฉพาะการสร้างพลังจากคนรุ่นใหม่

ถ้าข้อสันนิษฐานนี้พอมีมูลอยู่บ้าง ก็คงไม่มีทางอื่น นอกจากเราต้องช่วยกันส่งเสริมให้ผู้นำทั้งในระดับประเทศ และระดับองค์กรตระหนักถึงปัญหานี้ และเปลี่ยนจากวิถีผู้นำแบบลูกพี่ไปเป็นผู้นำแบบวาทยากรโดยเร็ว