วัยทำงานติดกับดัก 'งานเร่ง' ลด Productivity แถมทำให้ 'สุขภาพจิต' แย่ลง

วัยทำงานติดกับดัก 'งานเร่ง' ลด Productivity แถมทำให้ 'สุขภาพจิต' แย่ลง

“วัยทำงาน” หลายคนอาจติดกับดัก “งานเร่ง” ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่บางครั้งการเร่งรีบจนลนลาน ก็ไม่ได้ช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น นอกจากจะลด Productivity แล้ว ยังทำให้ “สุขภาพจิต” แย่ลงอีกด้วย

Key Points:

  • บริบทสังคมยุคนี้ สร้างบรรทัดฐานและคาดหวังให้คนทำงานต้องทำได้รวดเร็ว, ทำได้หลายอย่างพร้อมๆ กัน, ต้องมี Productivity ในงานสูง ฯลฯ จนวัยทำงานกดดันตัวเองตลอดเวลา
  • เมื่อคนเรารู้สึกกดดันเรื่องเวลา จึงตอบสนองด้วย “พฤติกรรมการเร่งรีบ” เพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น แต่รู้หรือไม่? ยิ่งรีบร้อนงานก็ยิ่งไม่เสร็จ แถมกระทบกับสุขภาพจิตใจ
  • แพทย์ ชี้ การกดดันตัวเองและเร่งรีบจนเป็นนิสัย จะเกิดความเครียดอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น และมันไม่ใช่วิธีทำงานที่ยั่งยืน

ในโลกการทำงานที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างทุกวันนี้ ทำให้ “วัยทำงาน” ถูกกดดันเรื่อง “เวลา” ในการทำงานแทบจะตลอดเวลา ยิ่งเมื่อมีคำสั่งงานด่วน งานแทรก งานนี้ขอก่อน ก็ยิ่งทำให้ตารางงานแน่นไปทั้งวัน เมื่อคนเรารู้สึกกดดันเรื่องเวลา จึงตอบสนองด้วย “พฤติกรรมการเร่งรีบ” เพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น แต่รู้หรือไม่? การเร่งรีบมากเกินพอดีก็ไม่ได้การันตีว่างานจะเสร็จเสมอไป แถมยังทำให้สุขภาพจิตแย่ลง

แล้วทำไมชาวออฟฟิศส่วนใหญ่ถึงต้องทำงานเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา หรือบางคนก็งานยุ่งอยู่เสมอ?

 

  • สาเหตุพฤติกรรม "รีบเร่ง" ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อ "ยิ่งงานยุ่งมากเท่าไร ก็ยิ่งมี Productivity มากเท่านั้น"

ดร.ทชิกิ เดวิส ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้าน Well-being technology ในสหรัฐ อธิบายว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่มีงานยุ่งหรือเร่งรีบตลอดเวลา โดยเฉพาะสาเหตุจากบริบททางสังคมที่สร้างบรรทัดฐานและคาดหวังให้คนทำงานต้องทำงานได้รวดเร็ว, ทำได้หลายอย่างพร้อมๆ กัน, ต้องมี Productivity ในงานสูง ฯลฯ 

ยกตัวอย่างสังคมการทำงานบริษัทในสหรัฐ มีบริบททางสังคมการทำงานที่มองว่า “ความยุ่งเป็นสัญญาณของประสิทธิภาพในหน้าที่การงาน” ผู้คนเชื่อว่ายิ่งยุ่งมากเท่าไร ตนเองก็ยิ่งมี Productivity และประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ วัยทำงานหลายคนจึงอัดตารางงานจำนวนมากในเวลาไม่กี่ชั่วโมงของแต่ละวัน 

อีกทั้งในบางกรณีพบว่า การที่ใครบางคนดูงานยุ่งตลอดเวลาก็กลายเป็น “ภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำ” ไปเสียอย่างนั้น เราอาจเคยเห็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่มักจะเร่งรีบพูดคุย เร่งรีบการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น เพื่อประกาศฐานะอันสูงส่งของตนเอง หรือพูดอีกอย่างก็คือ บุคคลเหล่านี้มองว่า “การเร่งรีบ” เป็นวิธีการสื่อถึงความสำคัญของพวกเขา

นอกจากนี้ การที่วัยทำงานมีพฤติกรรม “เร่งรีบทำงานตลอดเวลา” นั้น อาจเกิดจากขาดการจัดลำดับความสำคัญของงานต่างๆ เนื่องจากบางครั้งคนเราก็ประเมินเนื้องานและความสำคัญของงานบางอย่างอย่างผิดพลาดไป ทำให้เกิดงานคั่งค้าง ทำไม่ทัน สุดท้ายจึงต้องเร่งรีบทำในที่สุด รวมไปถึงบางครั้งคนเราก็ไม่มีความอดทนมากพอที่จะค่อยๆ ทำงานไปเรื่อยๆ ตามกรอบระยะเวลาของมัน แต่ใจร้อนรีบเร่งทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์โดยเร็วที่สุด จนกลายเป็นติดนิสัยเร่งรีบกับทุกเรื่องโดยไม่จำเป็น

 

  • พฤติกรรม “ทำงานเร่งรีบ” จนเป็นนิสัย ต้นเหตุความเครียดและเหนื่อยล้ามากขึ้น

จากพฤติกรรมเสพติด “การเร่งรีบ” ทั้งหมดข้างต้นนั้น สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ ยืนยันจาก “แพทย์หญิงซูซาน เบียลี ฮาส” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต การจัดการความเครียด และการป้องกันภาวะเบิร์นเอาท์ ที่ได้อธิบายไว้ว่า การกดดันตัวเองและเร่งรีบจนเป็นนิสัย จะทำให้เกิดความเครียดอย่างต่อเนื่อง มันจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น และมันไม่ใช่วิธีทำงานที่ยั่งยืน หมายความว่า คนเราจะไม่สามารถเร่งตัวเองได้อย่างนั้นตลอดไป สักวันหนึ่งก็จะรู้สึกหมดแรงในที่สุด

เธอพบว่ามีคนไข้หลายเคสที่ทำงานในลักษณะแบบนี้มานานหลายปี จนในที่สุดก็พบว่าพวกเขาก็เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นภาวะเบิร์นเอาท์ ซึมเศร้า และภาวะเหนื่อยล้าทางจิตใจอื่นๆ บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับการทำงานให้ช้าลงหรือการจัดการ “สมดุลชีวิต” เพราะมองว่ามันจะมาขัดขวางเส้นทางความสำเร็จทางอาชีพของพวกเขา 

แต่แพทย์หญิงซูซาน ชี้ว่า มันตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง การทำงานหรือทำสิ่งต่างๆ ช้าลงเล็กน้อยไม่ได้เป็นปัจจัยลดทอนความสำเร็จ แต่มันจะทำให้คุณใช้ชีวิตอย่างตั้งใจมากขึ้น ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ส่งผลให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

 

  • รู้วิธีเอาชนะนิสัย "ทำงานเร่งรีบ" เพื่อปรับสมดุลอารมณ์ เพิ่ม Productivity 

ทั้งนี้ ดร.ทชิกิ และ แพทย์หญิงซูซาน มีคำแนะนำให้วัยทำงาน ลด ละ เลิก พฤติกรรมความเร่งรีบที่ไม่จำเป็น และฝึกการทำสิ่งต่างๆ ช้าลงแต่ยังคงทำงานเสร็จและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้

1. เท่าทันนิสัยการเร่งรีบของคุณ
เมื่อใดที่รู้สึกตัวว่ากำลังเร่งรีบอยู่ ให้หยุดก่อนแล้วถามตัวเองว่า สิ่งนี้หรืองานชิ้นนี้มันจำเป็นที่จะต้องรีบจริงๆ หรือไม่ การเร่งตัวเองให้ทำสิ่งนี้เสร็จภายในเวลาจำกัดนั้นคุ้มค่ากับความตึงเครียดที่จะได้รับหรือไม่? ส่วนใหญ่คำตอบมักจะ ไม่! จากนั้นก็ให้ค่อยๆ ผ่อนตัวเองลง หายใจเข้าลึกๆ แล้วทำงานอย่างมีสติและไม่กดดันตัวเองจนงานเสร็จ ทั้งนี้ การทำงานในภาวะที่ผ่อนคลายจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. จัดลำดับความสำคัญ ไม่ใช่ว่าทุกงานคืองานเร่ง
ในแต่ละวันให้คุณลองจัดลำดับงานให้ดีว่า งานไหนสำคัญที่สุดและเร่งด่วนกว่างานอื่นๆ ให้มุ่งความสนใจไปที่งานนั้นแล้วทำให้เสร็จ หากมีงานอื่นมารบกวนก็ให้แจ้งไปว่างานนี้ต้องเสร็จก่อน แล้วจะทยอยทำงานนั้นเป็นอย่างถัดไป

3. อย่าทำงานหลายอย่างพร้อมกัน!
มีการศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ว่า การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน มักจะไม่ได้ผลลัพธ์จริงๆ แต่มันกลับทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยและกระจัดกระจายมากขึ้น ควรเรียงลำดับแล้วทำทีละอย่าง แม้บางครั้งผ่อนปรนทำหลายอย่างได้บ้าง (กรณีฉุกเฉินจริงๆ) แต่อย่าทำสิ่งนั้นจนเป็นนิสัย

4. บริหารจัดการเวลา และยอมรับข้อจำกัดด้านเวลา
หากมีงานชิ้นใหญ่ที่ต้องการเวลาหลายวันในการทำมันให้เสร็จ ให้แบ่งเวลาทำมันทุกวันๆ ละ 1-2 ชั่วโมง (อย่าไปเร่งรีบทำตอนใกล้ๆ เดดไลน์) วางแผนทำงานนี้ทีละส่วนเล็กๆ ไปเรื่อยๆ จนเสร็จตามกำหนด แต่ถ้าพบว่าขอบเขตงานเยอะเกินกว่าที่จะทำได้เสร็จตามเวลากำหนด ก็สามารถปฏิเสธได้ว่าเวลาไม่พอจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบโดยไม่จำเป็น