ออฟฟิศเดียวกัน แต่พูดคนละภาษา ‘เจน Z’ ใช้แต่ ‘สแลง’ ที่คนรุ่นอื่นไม่เข้าใจ

ออฟฟิศเดียวกัน แต่พูดคนละภาษา ‘เจน Z’ ใช้แต่ ‘สแลง’ ที่คนรุ่นอื่นไม่เข้าใจ

ปัญหากวนใจชาวออฟฟิศ "เจน Z" หา “คำศัพท์” และ “คำสแลง” ใหม่ ๆ มาพูดในที่ทำงานอยู่เสมอ จนเกิด “กำแพงภาษา” คนรุ่นอื่น ๆ ฟังไม่เข้าใจ

Keypoint:

  • คนเจน Z นำศัพท์สแลงที่ใช้ในโลกโซเชียลเข้าไปใช้ในที่ทำงานมากขึ้น ทำให้รูปแบบการสนทนาในองค์กรเป็นกันเองและผ่อนคลายกว่าเก่า แต่ขณะเดียวกันคนเจนก่อนหน้าไม่เข้าใจความหมายของคนเหล่านั้น ทำให้สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง กลายเป็นปัญหาขององค์กร
  • คนรุ่นก่อนมักมองว่าการใช้คำพูดของคนเจน Z ในบางครั้ง ดูเป็นกันเองมากเกินไป แต่ความจริงจุดประสงค์ของคน Z ต้องการสะท้อนตัวตนออกมา และดูเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น  
  • ผลสำรวจชี้คนเจนก่อนพยายามเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ และเข้าใจวิธีการสื่อสารของคนเจน Z เพื่อจะได้สื่อสารได้เข้าใจมากขึ้น   

   

ปังไม่ไหว” 

“โดนช็อตฟีลอีกละ”

“พี่ก็คนไทยคนแรกเกิน”

“วันนี้โดนหัวหน้าวีนฉ่ำ นอยด์อะคุณน้า” 

นี่เป็นส่วนหนึ่งของ “ศัพท์สแลง” ที่ชาว “เจน Z” หยิบยกมาปรับใช้ในที่ทำงาน ซึ่งเป็น “คำศัพท์” สุดฮิตที่ใช้อย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล แม้ดูจะเป็นคำที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็สร้างความปวดหัวให้แก่คนเจนอื่น ๆ ในออฟฟิศได้ไม่น้อย แถมบางคำยังมีชื่อคนอื่นมาอีก ทั้งพี่จี้ พี่นัท นพนภา คุณน้า จนเกิดคำถามว่าคนพวกนี้เป็นใคร เกี่ยวอะไรด้วย กลายเป็นว่าคนแต่ละรุ่นคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่าคำเหล่านี้หมายความว่าอะไร 

การสำรวจข้อมูลของ Preply ตลาดการเรียนรู้ภาษาออนไลน์ พบว่า ราว 1 ใน 4 ของคนทุกรุ่นในออฟฟิศมีปัญหาในการสื่อสารกับคนรุ่นอื่น ๆ ซึ่งเมื่อแยกออกมาจะพบว่า 30% ของคนทำงานวัยเจน X ยอมรับว่าพวกเขามีปัญหาในการทำความเข้าใจเพื่อนร่วมงานวัยมิลเลนเนียลและเจน Z 

ในทางกลับกันเกือบ 25% ของคนทำงานเจน Z ก็ไม่เข้าใจและสื่อสารกับพนักงานรุ่นพี่ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ซึ่งดูเหมือนจะมีแค่ชาวมิลเลนเนียลเท่านั้นที่พยายามจะเรียนรู้คนอื่น เพราะมีชาวมิลเลนเนียลกว่า 28% ใช้คำสแลงในการสื่อสารกับคนเจน Z ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าใจเพื่อนร่วมงานที่รุ่นน้องได้ดีมากขึ้น

  • คนรุ่นใหม่พูดเป็นกันเองมากขึ้น

เจน Z ทำให้รูปแบบการทำงานในออฟฟิศดูมีชีวิตชีวามากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น อยากใส่ชุดลำลองมาทำงาน และตอนนี้พวกเขากำลังเปลี่ยนวิธีการสื่อสารในออฟฟิศให้ดูเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น

จากผลการสำรวจของ Barclays ธนาคารในสหราชอาณาจักร พบว่า 70% ของพนักงานในอังกฤษ สังเกตว่าการพูดคุยของคนในออฟฟิศตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนไปจากเดิม โดยพวกเขาเชื่อว่าเป็นเพราะเจน Z เข้ามามีบทบาทในการออฟฟิศ และตัวการหลักที่ทำให้การสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป ด้วยการลดพิธีรีตองลง พูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง 

สิ่งเหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาจากคำลงท้ายอีเมล ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรามักถูกสอนมาเสมอให้กล่าวด้วยคำที่สุภาพในท้ายอีเมล เช่น ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง ด้วยความเคารพอย่างสูง ด้วยความปรารถนาดี ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประโยคที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่เปลี่ยนมาใช้เป็นแค่ ขอบคุณอย่างยิ่ง หรือ ขอบคุณ (เฉย ๆ) 

นอกจากนี้ ถ้าพูดกันในวงเพื่อน หรือตอบแชทไลน์ที่ไม่ต้องทางการมาก ก็อาจมีการใช้คำสแลง หรือย่อคำให้สั้นลง เช่น ใจจ้า ข่อมค่า เพื่อให้ดูเป็นมิตรสนิทสนมกันมากขึ้น แต่บางคน โดยเฉพาะคนรุ่นก่อน ๆ ก็มองว่าคำเหล่านี้ดูเป็นกันเองมากเกินไป

“บรรทัดฐานในที่ทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปสะท้อนให้เห็นผ่านภาษาของพนักงานเจน Z ใช้ และวิธีการสื่อสารโดยทั่วไปก็เปลี่ยนไป ปัจจุบันอีเมลและการแชทไม่ได้แตกต่างจากการสนทนาทั่วไป ซึ่งบางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมนักสำหรับการสื่อสารอย่างเป็นทางการ” ดร.ลอรา เบลีย์ อาจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยเคนต์ กล่าว

เบลีย์อธิบายเพิ่มเติมว่า “สำหรับคนรุ่นเก่าแล้ว การเขียนอีเมลถือเป็นการสื่อสารทางลายลักษณ์อักษร ต้องเป็นทางการ และต้องมีมารยาทในการเขียนจดหมาย ในขณะที่คนเจน Z มองว่าโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงและทำให้ภาษาแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว”

 

  • ขอแค่เข้าใจ ไม่ต้องพยายาม

นอกจากเรื่องการสื่อสารแล้ว เรื่องที่คนแต่ละรุ่นให้ความสำคัญก็แตกต่างกันออกไป ลอรา เอมป์สัน ศาสตราจารย์ด้านการจัดการที่ Bayes Business School กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงหลายคนในบริษัทให้บริการด้านบัญชีมืออาชีพ Big 4 กำลังงุนงงกับการลำดับความสำคัญของพนักงานรุ่นใหม่ เพราะหนึ่งในพนักงานเคยพูดกับเขาว่า  เธอไม่รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานบริษัทนี้เลย จนกระทั่งบริษัทประกาศว่าจะเลิกใช้หลอดพลาสติกในโรงอาหาร ซึ่งแตกต่างจากตอนที่ผู้บริหารคนนั้นอายุเท่าพนักงานรุ่นใหม่ เขาจำได้ว่าเขาภูมิใจที่ทำงานในบริษัทมากที่สุดตอนที่เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี

เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาอื่น ๆ เราไม่จำเป็นต้องยอมจำนนหรือต่อต้านกับความคิดของคนรุ่นอื่น ๆ เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น สตีเฟน คาร์ราดินี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา กล่าวว่า “ถ้าหากทั้งสองฝ่ายเข้าใจความหมายไม่ตรงกัน ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะสื่อสารอะไร อาจทำให้เกิดปัญหาการสื่อสารผิดพลาดได้” 

การสำรวจข้อมูลของ Preply ยังแสดงให้เห็นว่า พนักงานแต่ละรุ่นก็พยายามที่จะเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ เพื่อจะได้เข้าใจกันได้มากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปแล้วคนเจน X จะเลือกถามคนที่อายุน้อยกว่า เมื่อพวกเขาอยากเรียนรู้สแลงของคนรุ่นใหม่ ส่วนคนรุ่นมิลเลนเนียลเรื่องเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ จาก YouTube ขณะที่คนเจน Z ได้คำศัพท์สแลงใหม่ ๆ และเรียนรู้คำศัพท์ของคนรุ่นก่อนหน้าจาก TikTok 

แต่ไม่ได้หมายความว่า พนักงานรุ่นพี่จะต้องพยายามใช้คำสแลงของเด็กเจน Z อยู่ตลอดเวลา ต้องมีคำว่า “ฉ่ำ” ทุกประโยค เพราะมันจะกลายเป็น “พยายาม” มากเกินไปจนทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกกระอักกระอ่วน แต่แค่รับรู้และไม่ต่อต้าน จนอีกฝ่ายรู้สึกว่าเป็น “คนละพวก” 

เอริก้า ดาวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำ กล่าวว่า การใช้คำสแลงสร้างความใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานได้ ตอนนี้ภาษากายไม่ใช่การสื่อสารหลักอีกต่อไป 

บรรทัดฐานในที่ทำงานเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อก่อนหัวหน้ามักบ่นเรื่องการใช้ “หูฟัง” ในที่ทำงาน แต่ตอนนี้ก็กลายเป็นเรื่องปรกติที่ใคร ๆ ก็ใช้ เรื่องภาษาก็เช่นกันคำศัพท์จากโลกโซเชียลกลายเป็นคำที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย อีกไม่นานก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่มันไม่ใช่คำหยาบคายหรือล้ำเส้นจนเกินไป



ที่มา: Business InsiderFast CompanyFinancial Times