เครื่องบิน JAL โดนชนไฟท่วม แต่ 379 คนรอดชีวิต! ชวนรู้ที่มาของกฎอพยพ 90 วินาที

เครื่องบิน JAL โดนชนไฟท่วม แต่ 379 คนรอดชีวิต! ชวนรู้ที่มาของกฎอพยพ 90 วินาที

เหตุ "เครื่องบินชนกัน" ในกรุงโตเกียวรุนแรงระดับหายนะ แต่ทุกคนบนเครื่องบิน JAL รอดปาฏิหาริย์! ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่พัฒนาจากโศกนาฏกรรมในอดีต (written in blood) เคสนี้ย้ำว่า ทุกคนต้องรู้วิธีเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน!

Key Points: 

  • กรณี “เครื่องบินชนกัน” ที่สนามบินฮาเนดะ แม้จะน่าเศร้าที่ลูกเรือ 5 คนบนเครื่องบิน Dash8 เสียชีวิต แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เกิดบทเรียนสำคัญที่ว่า JAL (แอร์บัส A350) สามารถอพยพ 379 คนให้รอดชีวิต! 
  • มาตรฐานความปลอดภัยในการบินในปัจจุบัน ทั้งกฎระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ถูกพัฒนาขึ้นจากโศกนาฏกรรมเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบินในอดีต (Safety rules written in blood: ถูกเขียนด้วยเลือดของผู้เดินทางที่โชคร้าย)
  • หนึ่งในมาตรฐานความปลอดภัยในการบิน ที่ถูกพัฒนามาจากเหตุฉุกเฉินร้ายแรงในอดีต ก็คือ ข้อกำหนดเรื่อง “การอพยพภายใน 90 วินาที” ซึ่งมาจากผลวิจัยของ FAA

อุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่ไม่คาดคิดกรณี “เครื่องบินชนกัน” ที่สนามบินฮาเนดะ ในกรุงโตเกียว (ระหว่างเครื่องบินพาณิชย์ JAL แอร์บัส A350 กับ เครื่องบิน Dash8 ของหน่วยยามฝั่งญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 แม้จะน่าเศร้าที่ลูกเรือ 5 ใน 6 คนบนเครื่องบิน Dash8 เสียชีวิตจากเหตุครั้งนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็นำมาซึ่งบทเรียนสำคัญที่ว่า “Japan Airlines (JAL)” สามารถทำการอพยพได้ยอดเยี่ยมมาก ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 379 คน บนเครื่องบินแอร์บัส A350 รอดชีวิตอย่างน่าอัศจรรย์!

 

  • “Written in blood” มาตรฐานความปลอดภัยที่พัฒนาขึ้นจากโศกนาฏกรรมในอดีต

สำนักข่าว CNN รายงานว่า เหตุการณ์เครื่องบินชนกันรุนแรงระดับ “หายนะ” ที่เกิดขึ้น ณ สนามบินฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของขั้นตอนด้านความปลอดภัยในการบิน ซึ่งเป็นมรดกมาจากโศกนาฏกรรมในอดีตที่หล่อหลอมจนกลายมาเป็น “มาตรฐานความปลอดภัย” ในปัจจุบัน หรือที่เรียกขานกันว่า Safety rules ‘written in blood’ 

เกรแฮม เบรธเวต ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยแครนฟีลด์ (Cranfield University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านการบินและอวกาศแห่งอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ขั้นตอนปฏิบัติในการอพยพผู้โดยสารของ Japan Airlines ที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยมครั้งนี้ ถูกพัฒนาบทเรียนมาจากอุบัติเหตุร้ายแรงในปี 1985 

เครื่องบิน JAL โดนชนไฟท่วม แต่ 379 คนรอดชีวิต! ชวนรู้ที่มาของกฎอพยพ 90 วินาที

ในครั้งนั้นเครื่องบินของ JAL เที่ยวบิน 123 (บินจากโตเกียวไปโอซาก้า) ประสบเหตุเครื่องบินตก ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 520 ราย เนื่องจากการซ่อมแซมส่วนหางอย่างผิดพลาดโดยช่างเทคนิคของโบอิ้ง เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของสายการบิน ซึ่งนำไปสู่วัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในเรื่องความปลอดภัยและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่นักบินคนหนึ่งก็ให้ข้อมูลผ่าน CNN ไว้ในทำนองเดียวกันว่า พนักงานของ JAL ต่างตระหนักดีถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการบินในปัจจุบัน กฎระเบียบและขั้นตอนด้านความปลอดภัยเหล่านี้ล้วนถูกเขียนด้วยเลือดของผู้เดินทางที่โชคร้าย ความเป็นจริงอันน่าเศร้านี้เน้นย้ำถึงความจริงที่ว่า อุบัติเหตุแต่ละครั้งถูกเปลี่ยนเป็นโอกาสในการเรียนรู้ที่หลายๆ สายการบินแบ่งปันกันทั่วทั้งอุตสาหกรรมการบิน เพื่อให้ทีมงานทุกคนสามารถทำงานได้ดีขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น ความมุ่งมั่นด้านความปลอดภัยของ Japan Airlines ก็ปรากฏชัดเจนจากการจัดอันดับสายการบินที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดอันดับของ AirlineRatings.com ทั้งนี้ เจฟฟรีย์ โธมัส บรรณาธิการบริหารของเว็บไวต์ดังกล่าว ได้ยกย่องสายการบินนี้ด้วยว่า มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ JAL พัฒนาขึ้นหลังจากเหตุการณ์เครื่องบินตกปี 1985 นั้น เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความยึดมั่นในการตรวจสอบและขั้นตอนด้านความปลอดภัยที่เข้มงวด 

เครื่องบิน JAL โดนชนไฟท่วม แต่ 379 คนรอดชีวิต! ชวนรู้ที่มาของกฎอพยพ 90 วินาที

 

  • กฎอพยพ 90 วินาที เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน คืออะไร?

ยกตัวอย่างหนึ่งในขั้นตอนความปลอดภัยที่ถูกพัฒนามาจากเหตุร้ายแรงบนเครื่องบินในอดีต ก็คือ ข้อกำหนดเรื่อง “การอพยพภายใน 90 วินาที”

ข้อมูลจาก SimpleFlying ระบุว่า ต้นกำเนิดของกฎข้อนี้เกิดจาก ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 มีการวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุและพัฒนาการของเพลิงไหม้หลังจากเครื่องบินตก ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1964 โดย สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ได้ทำการทดสอบกรณีเครื่องบินตกกับเครื่องบินขนส่งดักลาส DC-7 และในเดือนกันยายนปีเดียวกันก็ได้ทดสอบการชนของเครื่องบิน Lockheed L1649 ด้วย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจำลองอุบัติเหตุจริงที่เกิดขึ้นและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต

ในระหว่างการทดสอบเหล่านี้ กล้องความเร็วสูงถูกติดตั้งไว้ภายในเครื่องบินและรอบๆ บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อบันทึกผลกระทบของเหตุฉุกเฉินเหล่านั้น อีกทั้งนักวิจัยใช้หุ่นจำลองมานั่งเป็นนักบินและผู้โดยสารบนเครื่อง เพื่อทดสอบการอพยพผู้โดยสารหลังเกิดเหตุและคำนวณอัตราการรอดชีวิตด้วย

ในเวลาเดียวกัน FAA ได้ริเริ่มการวิจัยอีกชิ้นเกี่ยวกับ “การป้องกันอัคคีภัยหลังเกิดเหตุเครื่องบินตกและเครื่องบินชน” ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อเกิดเหตุแล้วมักจะตามมาด้วยไฟไหม้ ดังนั้น เพื่อให้สามารถช่วยชีวิตทุกคนได้นั้น ต้องประเมินว่าห้องโดยสารในเครื่องบินสามารถป้องกันควันไฟและเปลวไฟได้นานแค่ไหน จึงจะเพียงพอต่อการอพยพผู้โดยสาร

ผลการวิจัยพบว่า ห้องโดยสารที่มีโครงสร้างแข็งแรงและเต็มไปด้วยเปลวไฟยังคงสามารถอยู่อาศัยได้ประมาณ 2 นาที จากผลการค้นพบดังกล่าว เบื้องต้น FAA เสนอให้เวลาอพยพไว้ 2 นาที อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการวิเคราะห์การทดสอบและการวิจัยเพิ่มเติม ทำให้ FAA ลดเวลาลงเหลือ 90 วินาที และส่งผลให้มีการปรับปรุงความปลอดภัยของเครื่องบินอื่นๆ อีกหลายประการ

เครื่องบิน JAL โดนชนไฟท่วม แต่ 379 คนรอดชีวิต! ชวนรู้ที่มาของกฎอพยพ 90 วินาที

 

  • วิธีเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน ทุกคนต้องรู้!

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน ไม่เพียงแค่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามคำสั่งของลูกเรือและนักบินเท่านั้น แต่การเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากเหตุไม่คาดคิดในเบื้องต้นก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องรู้ ทั้งนี้ มีคำแนะนำจากอดีตลูกเรือผู้เชี่ยวชาญของ “ศูนย์ฝึกการบินของ British Airways” ในกรุงลอนดอน ได้ระบุถึงวิธีการฝึกเอาตัวรอดไว้ดังนี้ 

1. มองหาทางออกฉุกเฉินไว้ก่อน 
เมื่อขึ้นเครื่องบินให้ปรับทัศนวิสัยให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายในห้องโดยสาร เพื่อจดจำทางเดิน,  ทางออกฉุกเฉิน, จำนวนแถวที่นั่งระหว่างคุณกับทางออกที่ใกล้ที่สุดสองแห่ง

2. ฟังลูกเรือสาธิตวิธีการด้านความปลอดภัยเสมอ! 
อย่าทึกทักไปว่าตัวเองรู้หมดแล้ว เนื่องจากเครื่องบินแต่ละประเภทมีคำแนะนำด้านความปลอดภัยที่แตกต่างกัน

3. หากนั่งติดประตูฉุกเฉิน ให้ศึกษาวิธีเปิดประตู 
เมื่อเกิดเหตุขึ้นจริงๆ ลูกเรือจะไม่มีเวลามาบอกวิธีเปิดประตู แต่คุณต้องทำมันได้ทันที ดังนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีความมั่นใจในการควบคุมอุบัติเหตุ

4. หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง
ต้องถอดรองเท้าเหล่านี้ออกก่อนจึงจะสามารถอพยพได้ เนื่องจากต้องกระโดดลงไปบนสไลเดอร์ฉุกเฉินที่เป็นเบาะลมยาง 

5. ที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดอาจจะไม่มีอยู่จริง
บางข้อมูลชี้ว่าที่นั่งหลังปีกบินเป็นต้นไป (ส่วนท้ายเครื่อง) จะปลอดภัยกว่าส่วนหัวเครื่อง แต่นั่นก็ไม่เสมอไป เพราะเหตุเครื่องบินตกบางกรณีก็พบผู้รอดชีวิตบริเวณกลางลำเครื่องบินมากกว่าส่วนท้าย ทางที่ดีที่สุดคือต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมอยู่เสมอขณะเครื่องกำลังบินขึ้นและขณะที่เครื่องกำลังลงจอด

6. อย่าดึงเสื้อชูชีพให้พองลมในห้องโดยสาร
ในกรณีต้องสวมเสื้อชูชีพ เมื่อสวมแล้วอย่าดึงเชือกให้เสื้อพองลมภายในห้องโดยสาร เพราะจะยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตมากว่าเดิม ต้องหนีรอดออกมาอยู่นอกเครื่องบินให้ได้ก่อนจึงค่อยดึงให้เสื้อชูชีพให้พองลม

7. นั่งท่ารั้ง เตรียมรับแรงกระแทก
เมื่อรู้ตัวว่าเครื่องประสบเหตุฉุกเฉิน ต้องนั่งรั้งตัวเองไว้กับเก้าอี้เพื่อเตรียมรับแรงกระแทก โดยให้นั่งอยู่กับที่แล้วก้มศีรษะลงที่เข่าหรือพิงศีรษะที่เบาะข้างหน้า วางมือไว้ด้านหลังศีรษะ แต่อย่าประสานนิ้ว วางข้อศอกไว้ข้างศีรษะและอย่าให้เกินจากหัวเข่า ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิต

8. กระโดดทันที
เมื่อต้องอพยพออกจากเครื่องบิน หลังประตูทางออกจะเป็นสไลเดอร์พองลม ให้พับแขนพาดหน้าอก โน้มตัวไปข้างหน้า แล้วกระโดดโดยให้เท้าลงไปก่อน หากคุณลังเล ลูกเรือมีแนวโน้มที่จะผลักคุณ เพราะต้องรีบอพยพทุกคนให้ได้ภายในเวลาจำกัด