‘รีสกิล-อัปสกิล’ เป็นเรื่องจำเป็น รีบทำก่อนพนักงานแห่ลาออก

‘รีสกิล-อัปสกิล’ เป็นเรื่องจำเป็น รีบทำก่อนพนักงานแห่ลาออก

การพัฒนาทักษะบุคลากรในองค์กร ทั้ง “รีสกิล” และ “อัปสกิล” เป็นสิ่งจำเป็นที่บริษัทต้องรีบทำ เพราะช่วยให้พนักงานไม่ย้ายงานหนี มองเห็นการเติบโตในสายอาชีพ มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทักษะการคิดวิเคราะห์ ความเป็นผู้นำ และการบริหารเวลา

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักทางสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแตกต่างไปจากเดิม อีกทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยีและ “เอไอ” ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรจำเป็นต้องคอยส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานคอย “รีสกิล” และ “อัปสกิล” อยู่เสมอ

 

  • ความสำคัญของการพัฒนาทักษะบุคลากรในองค์กร

จากข้อมูลของ PwC บริษัทตรวจสอบบัญชี พบว่า 77% ของพนักงานกำลังรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรือพัฒนาทักษะเดิมของตนเอง เพื่อทำให้ได้งานใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งนับตั้งแต่ในช่วงเกิดเทรนด์ “การลาออกครั้งใหญ่” พนักงานหันมาให้ความสำคัญกับโอกาสในเติบโตในหน้าที่การงานของตนเองมากขึ้น ตั้งแต่การพัฒนาทักษะ เพิ่มการเรียนรู้ และมีความยืนหยุ่นในการทำงานมากขึ้น พร้อมมีแนวคิดว่าจะได้ตำแหน่งที่ดีขึ้นหากย้ายงานใหม่ มากกว่าจะรอให้ได้เลื่อนตำแหน่งจากบริษัทเดิม

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมองค์กรจำเป็นต้องคอยจัดกิจกรรมช่วยเพิ่มทักษะด้านใหม่ ๆ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพ และมอบโอกาสการเรียนรู้ให้แก่พนักงาน เพื่อดึงดูดให้พวกเขาอยู่ทำงานต่อ และเห็นว่ามีทางหนทางก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยทักษะเหล่านั้นจะต้องช่วยให้ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ตรงต่อความต้องการขององค์กร และองค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากทักษะและความสามารถของพนักงานได้เต็มที่ในฐานะผู้ให้การสนับสนุน 

ขณะที่ผลสำรวจอีกชิ้นของ PwC ที่ทำการสำรวจความเห็นของซีอีโอบริษัทต่าง ๆ ระบุว่า 93% ของซีอีโอบริษัทที่มีโครงการพัฒนาทักษะพนักงานเปิดเผยว่าพนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม สามารถรักษาพนักงานศักยภาพสูงไว้กับองค์กรได้มากกว่าเดิม และมีผลิตภาพ (productivity) สูงขึ้นเช่นกัน 

ในส่วนของพนักงานเองก็คาดหวังว่าบริษัทของตนเองจะสนับสนุนการเพิ่มทักษะเช่นกัน โดย 77% ของพนักงานกล่าวว่าพวกเขาสนใจที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรืออัปเดตทักษะของตนเอง

อาร์ทิส โรเซนทอลส์ สมาชิกสภาธุรกิจของ Forbes ได้เขียนบทความแนะนำทักษะที่องค์กรควรเร่งอัปสกิลและรีสกิลให้แก่พนักงาน เพื่อปรับองค์กรให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีดังนี้

  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ 

ในรายงานการสำรวจข้อมูลงานในอนาคตจาก “World Economic Forum” เมื่อเดือนพ.ค. 2023 ทำการสำรวจบริษัท 803 แห่งใน 45 ประเทศเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน พบว่า การคิดเชิงวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับพนักงานในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า พนักงานที่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์สามารถทำงานได้อย่างอิสระ มีอำนาจในการตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ดีกว่า ดังนั้นทักษะนี้จึงถือว่ามีคุณค่าสูงสุดและเป็นที่ต้องการตัวเป็นอย่างมาก

โรเซนทอลส์ ระบุว่าการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์สามารถฝึกได้ง่าย ๆ ด้วยการกำหนดโยบายให้ต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนทุกครั้ง เพราะแนวทางนี้จะช่วยให้พนักงานฝึกคิดวิเคราะห์ก่อนจะลงมือทำอะไร และ

สร้างนิสัย “การค้นหาข้อมูล” แก่ทุกคนในบริษัทไปในตัว ซึ่งเมื่อทำบ่อย ๆ พวกเขาจะสามารถสรุปผลได้อย่างรวดเร็ว และมีมุมมองที่เฉียบแหลมยิ่งขึ้น

 

  • ทักษะความเป็นผู้นำ

ทักษะความเป็นผู้นำประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่การตัดสินใจอย่างอิสระ หนักแน่นไม่โน้มเอียงไปตามความเห็นของคนอื่น หรือมีอคติ ตลอดจนความสามารถในการรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ สามารถสื่อสารแนวคิดอย่างมีประสิทธิภาพ และจัดการบุคลากรให้เหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งทักษะความเป็นผู้นำนับเป็นทักษะที่มีความสำคัญสำหรับทุกคน แม้ทั้งทีมของคุณจะมีแค่ตัวคุณก็ตาม คุณก็ต้องจัดการตัวเองให้ได้เช่นกัน

ผู้จัดการหน้าใหม่ที่เพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ถือเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับการเพิ่มทักษะความเป็นผู้นำอย่างเร่งด่วน เนื่องจากพวกเขาพึ่งก้าวขึ้นมาเป็น “หัวหน้า” ครั้งแรก บางทีพวกเขาอาจไม่ได้มีประสบการณ์การนำทีมผู้อื่นมากก่อน และยิ่งถ้าเป็นคนที่มีประสบการณ์ไม่มาก อาจจะโดนลูกทีมที่อยู่มานาน “ข่ม” เอาได้ เพราะไม่รู้วิธีการรับมือ

ดังนั้นหากไม่จัดการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษา ก็มีความเสี่ยงที่องค์กรจะได้ผู้จัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

การเปิดโอกาสให้ผู้จัดการใหม่ได้ทำความรู้จักกับคนในทีมก่อนจะเริ่มงานจริง และให้ผู้จัดการรุ่นก่อนมาอบรม ให้ข้อมูลที่จำเป็น จะช่วยให้พวกเขามีทักษะความเป็นผู้นำมากขึ้น นอกจากนี้ “การประชุม” ภายในองค์กรเป็นประจำ เพื่อให้คนในองค์กรได้ถ่ายทอดความรู้แบ่งปันข้อมูลกับเพื่อนร่วมงาน ก็จะทำให้พวกเขามีได้ฝึกทักษะการพูดในที่สาธารณะไปในตัวอีกด้วย

โรเซนทอลส์แนะนำว่าลองปล่อยให้ผู้จัดการได้ทำตัวเป็นผู้นำ ด้วยการให้ตัดสินใจในเรื่องที่อยู่ในอำนาจขอบเขตความรับผิดชอบของพวกเขาเอง จะช่วยให้เรียนรู้ทักษะความเป็นผู้นำได้ดีขึ้น

 

  • ทักษะการบริหารเวลา

ทุกคนบนโลกมีเวลาเท่ากัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำทุกอย่างได้เสร็จตามกำหนดเวลา เนื่องจากพนักงานไม่เพียงพอกับการทำงาน เมื่องานสะสมเป็นดินพอกหางหมูก็จะทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน โดย

ผลวิจัยของ Microsoft เกี่ยวกับการทำงานในปี 2022 พบว่า พนักงาน 48% และผู้จัดการ 53% รู้สึกหมดไฟในการทำงาน 

แม้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากการขาดแรงงาน แต่การบริหารเวลาไม่เหมาะสม จนไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ ดังนั้นทักษะการบริหารเวลาจึงอีกทักษะที่สำคัญสำหรับองค์กร

วิธีที่โรเซนทอลส์ใช้ฝึกให้พนักงานบริหารเวลาสามารถทำได้โดย เริ่มต้นจากการติดตามการทำงานของพวกเขาเอง เพื่อดูว่าส่วนมากแล้วใช้เวลาไปกับอะไร ซึ่งบริษัทอาจจะใช้เครื่องมือติดตามเวลา หรือให้พนักงานจดตารางงานที่ทำในแต่ละวัน โรเซนทอลส์ระบุว่าการเช็กเวลาเป็นการช่วยเคลียร์ตารางงานและได้เวลาคืนกลับมาหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์

ขั้นตอนต่อไปคือการฝึกจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่ใช้อย่างแพร่หลายคือ SCRUM ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์กที่จะช่วยจัดการการทำงานของทีมให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน สามารถตรวจสอบได้ และปรับเปลี่ยนโครงการได้หากไม่เป็นไปตามแผน โดยจะช่วยให้จัดงานต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ทำให้พนักงานจัดลำดับความสำคัญของงานได้ง่ายขึ้น

ในฐานะผู้จัดการ โรเซนทอลส์ แนะนำว่าองค์กรต้องสนับสนุนให้ทีมรีบอัปสกิลและรีสกิลให้เร็วที่สุด หากองค์กรไม่มีโครงการ ก็ต้องมีงบประมาณสำหรับให้พนักงานซื้อหนังสือหรือเข้าร่วมอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้พนักงานพัฒนาตนเองซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าแก่ตัวพนักงาน ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมกับบริษัท และสร้างความพึงพอใจในที่ทำงานมากขึ้น

 

ที่มา: CornerstoneForbes