รวมมาครบ! ‘คำแห่งปี’ 2023 จากสถาบันดังทั่วโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์

รวมมาครบ! ‘คำแห่งปี’ 2023 จากสถาบันดังทั่วโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์

สำนักภาษาทั่วโลกยกคำศัพท์เกี่ยวกับ “ปัญญาประดิษฐ์” เป็น “คำแห่งปี” ตั้งแต่ “AI” “Authentic” (แท้จริง) และ “Hallucinate” (สร้างข้อมูลเท็จ) รับยุคที่พิสูจน์ความจริงได้ยาก ขณะที่ “ญี่ปุ่น” ยก “ภาษี” เป็น “อักษรคันจิแห่งปี” ส่วน “ฉ่ำ” เป็นคำที่มียอดเอ็นเกจสูงสุดบนโซเชียลไทย

เป็นธรรมเนียมที่ทุกปีบรรดาผู้จัดทำหนังสืออ้างอิงและพจนานุกรมจะต้องคัดเลือก  “คำแห่งปี” หรือ “Word of The Year” ขึ้นมาหนึ่งคำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีนั้น ๆ โดยในปีนี้เกือบทุกสถาบันเลือกให้คำที่เกี่ยวข้องกับ “ปัญญาประดิษฐ์” เป็น “คำแห่งปี 2023” ตั้งแต่ “AI” “Authentic” (แท้จริง) และ “Hallucinate” (สร้างข้อมูลเท็จ) สะท้อนว่าปีนี้เป็น “เอไอ” เข้ามามีบทบาทในสังคมเป็นอย่างมาก จนยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าอะไรเป็นเรื่องจริงหรือปลอม 

แต่ละสำนักจะมีคำว่าอะไรบ้าง และมีความหมายว่าอย่างไร กรุงเทพธุรกิจรวบรวมไว้ที่นี่แล้ว

  • “AI” จาก Collins English Dictionary 

เริ่มต้นกันที่ “Collins English Dictionary” พจนานุกรมภาษาอังกฤษที่จัดทำโดยสำนักพิมพ์ HarperCollins ของสหรัฐ ยกให้คำว่า “AI” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” เพราะเป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว และถูกพูดถึงอย่างมากในปี 2023

ทุกวันนี้ AI แฝงตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของมวลมนุษยชาติ โดยที่เราเองอาจจะไม่รู้ตัว เช่น ตัวช่วยพิมพ์ที่คาดว่าเราจะพิมพ์อะไรต่อ ฟิลเตอร์ต่าง ๆ ที่ใช้อย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง การนำมาใช้วินิจฉัยด้านการดูแลสุขภาพ รถยนต์ไร้คนขับ 

เนื่องด้วย AI ถูกพัฒนาความสามารถอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น แถมทำได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วผ่านโปรแกรม Gen-AI ต่าง ๆ จนทำให้คนทั่วไปสามารถใช้ AI สร้างผลงานเชิงสร้างสรรค์ ทั้งงานศิลปะ งานเพลง ภาพถ่าย จนกลายเป็นข้อถกเถียงว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะกฎหมายยังตามไม่ทันเทคโนโลยี อีกทั้งทำให้ผู้คนหวั่นใจว่า AI อาจจะแย่งงานมนุษย์ หรืออาจยึดครองโลกได้เช่นกัน

Collins ระบุว่า AI เปรียบเสมือนกับการสร้างแบบจำลองการทำงานทางจิตของมนุษย์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในมุมหนึ่งเทคโนโลยีช่วยลดข้อผิดพลาดของมนุษย์และช่วยให้ทำงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกัน AI ก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อขโมยงาน ทำลายข้อมูล และสร้างความคลุมเครือทางจริยธรรม

รวมมาครบ! ‘คำแห่งปี’ 2023 จากสถาบันดังทั่วโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์

  • “authentic” จาก Merriam-Webster

Merriam-Webster ดิกชันนารีที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ ระบุว่าในปี 2023 ผู้คนค้นหาคำว่า “Authentic” เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจาก AI แพร่ระบาดทั่วโซเชียลมีเดียจนทำให้ผู้คนเริ่มแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นจริงปลอม อีกทั้ง “Authentic” มีความหมายกว้างไม่ได้แปลว่า ของแท้ หรือ ของจริงเท่านั้น แต่ตามข้อมูลของพจนานุกรมยังรวมถึง “ไม่เป็นเท็จหรือเลียนแบบ” และ “บุคลิกภาพ จิตวิญญาณ หรืออุปนิสัยที่แท้จริงของบุคคล” อีกด้วย 

รวมไปถึง “ความต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีคุณภาพอย่างชัดเจน” ซึ่งในบริบทนี้มักจะหมายถึงการแสดงออกถึงอัตลักษณ์บางอย่าง เช่น อาหาร

นอกจากนี้ “Authentic” ยังถูกใช้พาดหัวข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหล่านักร้องและเซเล็บคนดัง เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ แซม สมิธ และไลนีย์ วิลสัน เมื่อต้องการค้นหา “ตัวตนที่แท้จริง” และ “เสียงจริง” ของเหล่าคนดัง

ส่วนอีลอน มัสก์ ที่มักจะกล่าวให้ผู้คนควรมี “ความจริงใจ” (authentic) ต่อกันบนโลกโซเชียล แต่เขากลับทำสิ่งตรงข้าม หลังจากเข้าซื้อทวิตเตอร์ ซึ่งปัจจุบันคือ X ได้ยกเลิกเครื่องหมายยืนยันตัวตนสีฟ้า หรือว่า Blue Check แต่กลับมอบให้กับใครก็ตามที่สมัครบริการรายเดือนแทน

การเพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์แยกได้ยากขึ้นว่าอะไรคือเรื่องจริง หรือถูกทำขึ้นส่งผลให้คนดัง แบรนด์ และเหล่าอินฟลูในโซเชียลมีเดีย ต่างกระตือรือร้นที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นตัวจริง

รวมมาครบ! ‘คำแห่งปี’ 2023 จากสถาบันดังทั่วโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์

  • “hallucinate” จาก Cambridge Dictionary และ Dictionary.com

hallucinate” เป็นคำที่ถูกผู้จัดทำพจนานุกรมยกเป็น “คำแห่งปี” ถึง 2 สำนัก คือ Cambridge Dictionary ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และ Dictionary.com ดิกชันนารีออนไลน์ที่ได้รับความนิยม โดยแต่สำนักให้ความหมายของคำนี้ไว้ดังนี้

แคมบริดจ์ระบุว่าความหมายดั้งเดิมของ hallucinate ว่าเป็น “อาการหลอน” ที่มองเห็น ได้ยิน รู้สึก หรือดมกลิ่น ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งมักเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพหรือเสพยา แต่ในตอนนี้มีการเพิ่มความหมายเพิ่มขึ้น โดยใช้กับระบบปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT ซึ่งสร้างข้อความที่เลียนแบบการเขียนของมนุษย์ คล้ายกับอาการหลอน และทำให้เกิดข้อมูลเท็จ

ดังนั้นแคมบริดจ์เลือกคำนี้เป็นคำแห่งปีเพราะการสร้างข้อมูลเท็จของ AI ทำให้เกิดเรื่องไม่จริง และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนต่างพูดถึง AI โดยข้อมูลจากโพสต์ของแคมบริดจ์ระบุว่า Gen-AI เป็นเครื่องมือที่ “ทรงพลัง” แต่ “ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ” พร้อมแนะนำว่ามนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ได้

รวมมาครบ! ‘คำแห่งปี’ 2023 จากสถาบันดังทั่วโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์

ขณะที่ Dictionary.com ให้ความหมายของ hallucinate ไว้ว่าเป็นอาการที่ AI ผลิตข้อมูลอันเป็นเท็จขัดต่อเจตนาของผู้ใช้ และนำเสนอเสมือนเป็นความจริงและเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งเว็บไซต์เปิดเผยว่าในปีนี้มีการค้นหาคำว่า hallucinate เพิ่มขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

อีกทั้งมีการค้นหาความหมายคำศัพท์เกี่ยวกับ AI เพิ่มขึ้นถึง 62% เมื่อเทียบกับปี 2022

แกรนท์ บาร์เร็ตต์ หัวหน้าแผนกพจนานุกรมของเว็บไซต์ Dictionary.com กล่าวว่า ที่ยกให้คำนี้เป็นคำแห่งปี เพราะว่าคำนี้สามารถสรุปผลกระทบจากเทคโนโลยีที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและความยุ่งเหยิงต่ออนาคตของมนุษย์ได้ อีกทั้งยังเป็นการพิสูจน์ว่า AI เป็นหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะส่งผลสืบเนื่องต่ออนาคตได้มากที่สุดในช่วงชีวิตของเรา อีกทั้งเป็นคำที่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่เทคโนโลยีทำให้เราตกอยู่ในความฝันหรือนิยายที่สร้างขึ้นมาด้วยมือของเราเอง

รวมมาครบ! ‘คำแห่งปี’ 2023 จากสถาบันดังทั่วโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์

  • “rizz” จาก Oxford

ขณะที่ “Oxford English Dictionary” ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มาแปลกกว่าที่อื่น ยกให้คำว่า “rizz” เป็นคำแห่งปี โดยคำนี้เป็นสแลงมีความหมายว่า เสน่ห์ มีแรงดึดดูดเย้ายวนใจ เหมือนกับคำว่า charisma ซึ่งสามารถใช้เป็นคำกริยาได้เมื่อคู่กับคำว่า up เป็น rizz up แปลว่า มีเสน่ห์หรือเย้ายวนใจ

คำนี้นิยมใช้กันมากในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวเจน Z ที่ใช้คำนี้ใน TikTok และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ สำนักพิมพ์ให้เหตุผลที่ยกให้คำนี้เป็นคำแห่งปีเพราะ คำนี้เป็นการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ที่พยายามสร้างพื้นที่ของตนเอง ผ่านการสร้างสรรค์คำใหม่ ๆ สำหรับสื่อสารระหว่างกัน ให้เป็นภาษาของตนเอง

“ตอนนี้เจน Z เข้ามามีบทบาท สร้างผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น ความแตกต่างในไลฟ์สไตล์และมุมมองของเขากับรุ่นอื่น ๆ ก็ส่งผลต่อการใช้ภาษาด้วยเช่นกัน” สำนักพิมพ์กล่าวในแถลงการณ์

รวมมาครบ! ‘คำแห่งปี’ 2023 จากสถาบันดังทั่วโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์
 

  • ญี่ปุ่นยกให้ “ภาษี” เป็น “อักษรคันจิแห่งปี” 

ทุกวันที่ 12 ธ.ค. ของทุกปีเจ้าอาวาสวัดคิโยมิซุเดระ (วัดน้ำใส) จะประกาศผล “อักษรคันจิแห่งปี” (Kanji of the Year) ผ่านการเขียนอักษรคันจิด้วยพู่กันลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ โดยในปีนี้คำที่ได้รับเลือก คือ อ่านว่า เซอิ หรือ เซย์ แปลว่า ภาษี ได้รับคะแนนโหวตจากประชาชนสูงถึง 5,976 เสียง จากคะแนนโหวตทั้งหมด 147,878 เสียง 

จากข้อมูลของสมาคมทดสอบความถนัดคันจิของญี่ปุ่นผู้จัดการโหวตหาอักษรคันจิแห่งปีระบุว่า ตลอดปี 2023 นโยบายภาษีปรากฏในหน้าข่าวและมีการหารือของผู้กำหนดนโยบายอยู่เสมอ อีกทั้งในปีนี้ญี่ปุ่นยังมีการจัดเก็บภาษีการบริโภครูปแบบใหม่ที่เรียกว่า JCT ซึ่งบังคับใช้เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนเองก็เป็นกังวลราคาน้ำมันและสินค้าในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่คำว่าภาษีถูกเลือกให้เป็นตัวอักษรคันจิแห่งปี ครั้งแรกที่คำนี้ได้รับเลือกคือปี 2014 เมื่อภาษีการบริโภคของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 8% จาก 5%

รวมมาครบ! ‘คำแห่งปี’ 2023 จากสถาบันดังทั่วโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์

  • “ฉ่ำ” เป็นคำที่มียอดเอ็นเกจสูงสุดบนโซเชียลไทย

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เก็บรวบรวมข้อมูลคำศัพท์และวลีฮิตมากกว่า 40 คำที่ใช้กันบนโลกโซเชียลในปี 2023 ด้วยเครื่องมือ Social Listening หรือ ZOCIAL EYE ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 12 ธ.ค. 2023 พบว่าฉ่ำ” เป็นคำที่มีจำนวนการพูดถึงและจำนวนเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด ถึง 68,658,379 ครั้ง

ฉ่ำ ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะเป็นคำวิเศษณ์ที่มีความหมายว่า ชุ่มชื่น, ชุ่มน้ำในตัว แต่ด้วยความสร้างสรรค์ของคนไทยได้นำคำนี้มาใช้ในอีกความหมายว่า มาก, เยอะ, สุด ๆ  โดยใช้ขยายความของคำนาม หรือกริยาอีกที เช่น วีนฉ่ำ แพงฉ่ำ เป็นต้น


ที่มา: AP NewsCambridgeCBS NewsCollins DictionaryDictionary.com, Japan TimesKankenMerriam-WebsterOxford, QuartzThe EconomistThe GuardianWisesight

กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี

รวมมาครบ! ‘คำแห่งปี’ 2023 จากสถาบันดังทั่วโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์