ลิเวอร์พูล อัปเกรดอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์โรด ความพยายามเพื่อก้าวข้ามกำแพงร้อยล้านให้ได้

ลิเวอร์พูล อัปเกรดอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์โรด ความพยายามเพื่อก้าวข้ามกำแพงร้อยล้านให้ได้

ลิเวอร์พูล ได้รับข่าวดี ล่าสุดสโมสรเผยว่าอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์โรด สนามแอนฟิลด์ เตรียมเปิดใช้งานในส่วนที่มีการขยายความจุเพิ่มได้บางส่วน ประเดิมเกมแรกในศึกแดงเดือด รับการมาเยือนของ แมนฯยูไนเต็ด

Key Points

  • การปรับปรุงอัฒจันทร์สนามแอนฟิลด์ในฝั่ง “แอนฟิลด์โรด” นั้นถือเป็นการปรับปรุงสนามในเฟสที่ 2 ในยุคของกลุ่ม Fenway Sports Group ทำให้ความจุรวมของสโมสรจะเพิ่มเป็น 61,000 ที่นั่ง สนามแอนฟิลด์จะกลายเป็นสนามใหญ่อันดับที่ 5 ของประเทศทันที
  • ระหว่างการก่อสร้างเกิดปัญหาที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อผู้รับเหมาอย่างบริษัทบังกิงแฮม กรุ๊ป ประสบปัญหาทางการเงินอย่างสาหัสจนสุดท้ายล้มละลายในเดือนสิงหาคม 2023 และส่งผลกระทบต่อลิเวอร์พูลทันทีเพราะการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด
  • หากคำนวนจากตัวเลขในฤดูกาล 2022-23 ลิเวอร์พูลมีรายได้เฉพาะค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 4.2 ล้านปอนด์ หรือราว 187.11 ล้านบาทต่อเกม นั่นหมายถึงสโมสรจะขาดรายได้ไป 18 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 750,000 ปอนด์หรือราว 33.41 ล้านบาทต่อเกม
  • เป้าหมายของลิเวอร์พูลอยู่ที่การก้าวข้ามกำแพงร้อยล้าน ในเรื่องการทำรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมในสนามให้ได้ภายในฤดูกาล 2024-2025 ซึ่งปัจจุบันในอังกฤษมีเพียงแค่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (111 ล้านปอนด์) และสเปอร์ส (106 ล้านปอนด์) ที่ทำได้

ก่อนหน้าที่เหล่านักเตะหงส์แดง ลิเวอร์พูลจะยกทัพไปเยือนแมนเชสเตอร์ ซิตี้ในเกมบิ๊กแมตช์พรีเมียร์ลีก ก็มีข่าวดีที่มาเซอร์ไพรส์ทุกคนในวัน Thanks Giving เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

ข่าวดีที่ว่าคือการประกาศจากสโมสรว่าอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์โรดที่การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดมาหลายเดือนจะสามารถเปิดใช้งานในส่วนที่มีการขยายความจุเพิ่มได้บางส่วน โดยเกมแรกที่เตรียมจะเปิดใช้งานคือเกมแดงเดือด ที่จะพบคู่ปรับตลอดกาลปีศาจแดง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในวันที่ 17 ธันวาคม 2566

เรื่องนี้นอกจากจะเป็นข่าวดีสำหรับแฟนๆที่จะมีตั๋วเข้าชมการแข่งขันจำหน่ายเพิ่มอีกถึง 9,000 ที่นั่ง สำหรับสโมสรดังแห่งเมอร์ซีย์ไซด์นี่เป็นข่าวดีที่พวกเขารอคอยมาอย่างยาวนาน เพราะอัฒจันทร์ที่ปรับปรุงโฉมใหม่ด้วยงบประมาณมหาศาลนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายกำแพงร้อยล้านให้ได้

ลิเวอร์พูลลงทุนกับอัฒจันทร์แห่งนี้ไปเท่าไร แล้วอะไรคือกำแพงที่ว่า?

อัฒจันทร์ใหม่ฝั่งที่ 2 ของสนามระดับตำนาน สำหรับการปรับปรุงอัฒจันทร์สนามแอนฟิลด์ในฝั่ง “แอนฟิลด์โรด” นั้นถือเป็นการปรับปรุงสนามในเฟสที่ 2 ในยุคของกลุ่ม Fenway Sports Group

ก่อนหน้านี้กลุ่มนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำโดยจอห์น เฮนรี เจ้าของสโมสรได้มีการปรับปรุงสนามแอนฟิลด์ในเฟสแรกไปแล้วด้วยการอัพเกรดอัฒจันทร์หลัก หรือ “เมนสแตนด์” โดยเพิ่มความจุจากเดิมอีก 8,500 ที่นั่ง ซึ่งทำให้สนามแอนฟิลด์มีความจุเพิ่มเป็น 54,472 ที่นั่ง

การอัปเกรดเฟสแรกนั้นใช้ระยะเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2014 ก่อนจะเสร็จพร้อมใช้งานทันต้อนรับฤดูกาล 2016-2017 พอดี โดยการก่อสร้างนั้นไม่กระทบกับสนามแต่อย่างใดเพราะมีการออกแบบและวางแผนการก่อสร้างอย่างดีที่เหมือนนำอัฒจันทร์ส่วนที่ต่อเติมมาประกอบร่างเข้ากับของเดิมอีกที

ความสำเร็จจากการอัปเกรดฝั่งเมนสแตนด์นั้นเป็นเพียงแค่ขั้นแรกเท่านั้น เพราะเป้าหมายสำหรับ FSG คือการต่อเติมความจุสนามให้มากพอจะรองรับความต้องการของแฟนฟุตบอลจากทั่วโลก และนั่นนำไปสู่แผนการอัพเกรดในเฟสที่ 2 ที่ได้ทำการขออนุญาตการก่อสร้างในเดือนสิงหาคม 2019 โดยแผนการตอนนั้นจะเพิ่มความจุสนามอีก 4,825 ที่นั่ง ทำให้มีความจุรวม 58,000 ที่นั่ง

เพียงแต่ก่อนจะเริ่มก่อสร้างสโมสรลิเวอร์พูลเปลี่ยนแผนกะทันหันเพราะอยากจะสร้างให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีก ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกับชุมชนท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบอีกครั้ง รวมถึงต้องทำการยื่นขออนุญาตการก่อสร้างใหม่ด้วย

อุปสรรคและปัญหาที่ไม่คาดคิด

การอัปเกรดอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์โรด เจออุปสรรคสำคัญเข้าให้ในปี 2020 หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้ลิเวอร์พูลขอชะลอแผนนี้ออกไปก่อนในเดือนมีนาคม 2020 ก่อนที่จะกลับมาเดินหน้าต่อในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

สุดท้ายแผนการต่อเติมสนามได้รับการอนุมัติจากสภาเมืองในที่สุดในเดือนมิถุนายน 2021 โดยแผนใหม่นี้จะเพิ่มความจุฝั่งแอนฟิลด์โรดอีก 7,000 ที่นั่ง ทำให้ความจุรวมของสโมสรจะเพิ่มเป็น 61,000 ที่นั่ง สนามแอนฟิลด์จะกลายเป็นสนามใหญ่อันดับที่ 5 ของประเทศทันที

การก่อสร้างเริ่มต้นในอีก 3 เดือนหลังจากนั้น โดยคาดหวังว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยทันเปิดใช้ในฤดูกาล 2023-2024 

แต่ปัญหาที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อผู้รับเหมาอย่างบริษัทบังกิงแฮม กรุ๊ป ประสบปัญหาทางการเงินอย่างสาหัสจนสุดท้ายล้มละลายในเดือนสิงหาคม 2023 และส่งผลกระทบต่อลิเวอร์พูลทันทีเพราะการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด

ลิเวอร์พูลต้องพยายามแก้ปัญหาด้วยการหาบริษัทผู้รับเหมารายใหม่ซึ่งได้บริษัทเรย์เนอร์ โรเวน มารับช่วงต่อในเดือนกันยายน แต่ไม่มีใครรู้ว่าอัฒจันทร์ฝั่งนี้จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อไร สโมสรได้แต่บอกว่า “จะยังไม่มีการเปิดใช้งานทั่วไปภายในปี 2023” เท่านั้น

ราคาที่ต้องจ่ายเพราะความล่าช้า

จากการที่อัฒจันทร์แอนฟิลด์ โรดเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด คำถามที่น่าสนใจคือเรื่องนี้จะสร้างความเสียหายให้กับลิเวอร์พูลมากแค่ไหน?

เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่ที่ชัดเจนคือตั้งแต่เปิดฤดูกาล 2023-2024 เป็นต้นมาจำนวนผู้ชมในสนามแอนฟิลด์ต้องลดลงไปจากเดิมราว 4,000 คนจากเมื่อฤดูกาลที่แล้ว โดยความจุสนามจะลดลงเหลือแค่ 50,000 คนเท่านั้น

หากคำนวนจากตัวเลขในฤดูกาล 2022-2023 ลิเวอร์พูลมีรายได้เฉพาะค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 4.2 ล้านปอนด์ หรือราว 187.11 ล้านบาทต่อเกม นั่นหมายถึงสโมสรจะขาดรายได้ไป 18% หรือราว 750,000 ปอนด์หรือราว 33.41 ล้านบาทต่อเกม

และหากคิดถึงความจุเต็มเมื่อสนามเปิดใช้งานอัฒจันทร์ใหม่อย่างสมบูรณ์ หมายถึงการที่ลิเวอร์พูลมีจำนวนผู้ชมลดลงไปกว่า 11,000 คน หรือคิดง่ายๆคือ 1 ใน 6 ของจำนวนความจุทั้งหมดตัวเลขก็จะยิ่งเยอะขึ้นไปอีก

โดยไม่นับเรื่องรายได้ส่วนอื่นๆ เช่น การจำหน่ายสินค้าที่ระลึก อาหารและเครื่องดื่ม และอีกมากมายที่สโมสรสามารถหารายได้จากแฟนบอลที่มาชมเกมในสนาม ทั้งแฟนท้องถิ่นชาวสเกาเซอร์ และแฟนบอลสเกาซ์เทียมจากทั่วโลก

สิ้นอาถรรพ์ ‘นิวแอนฟิลด์’

ด้วยเหตุผลดังกล่าวน่าจะพอทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมข่าวการเตรียมเปิดใช้อัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์ โรดจึงถือเป็นข่าวดีสำหรับลิเวอร์พูล

เพราะนี่คือ “หลักประกันทางรายได้” ที่มั่นคงของสโมสรในอนาคต

ปมเรื่องของสนามเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งลิเวอร์พูลเอาไว้ยาวนานตั้งแต่ช่วงยุค 90 ในยุคของเดวิด มัวร์ส อดีตประธานสโมสรผู้ล่วงลับและริค แพร์รี ซีอีโอสโมสร ซึ่งเริ่มมีความคิดที่จะสร้างสนามแอนฟิลด์แห่งใหม่หรือ “นิวแอนฟิลด์” ขึ้น 

เพราะมีการประเมินแล้วว่าด้วยศักยภาพของแอนฟิลด์ที่เก่าแก่และมีความจุ 45,500 ที่นั่งนั้นเป็นเรื่องยากที่จะแข่งขันกับสโมสรอื่น โดยเฉพาะแมนฯยูไนเต็ดที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ดมีความจุถึง 74,000 ที่นั่ง

แต่แผนการดังกล่าวทั้งล่าช้าและติดขัดไปหมด จนส่งผลให้มัวร์ส ซึ่งเป็นทายาทครอบครัวเจ้าของบริษัทรับพนันถูกกฎหมายลิตเติลวูด ตัดสินใจขายหุ้นให้ทอม ฮิคส์และจอร์จ จิลเล็ตต์ นักธุรกิจชาวอเมริกันที่ขายฝันเรื่องการช่วยสร้างสนามใหม่ แต่ความจริงแล้วคือฝันร้ายที่เกือบทำลิเวอร์พูลล่มจม

โชคดีที่กลุ่ม FSG เข้ามาเทคโอเวอร์กิจการสโมสรในปี 2010 และหนึ่งในภารกิจหลักคือการสร้างสนามใหม่ให้ลิเวอร์พูลให้ได้ เพียงแต่หลังจากที่ได้เข้ามาศึกษาแล้วทางกลุ่มซึ่งเป็นเจ้าของทีมเบสบอลระดับตำนานที่มีสนามเก่าแก่เช่นกันอย่าง บอสตัน เรด ซอกซ์ พบว่าแนวทางที่ดีกว่าคือการปรับปรุงสนามเดิมให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นงานที่พวกเขาเคยผ่านมาก่อน

การต่อเติมสนามนั้นยังประหยัดงบประมาณกว่ามากด้วย โดยเฟสแรกใช้งบประมาณต่อเติมเมนแสตนด์ 120 ล้านปอนด์ ในขณะที่เฟสที่ 2 การก่อเติมฝั่งแอนฟิลด์ โรดใช้งบประมาณราว 80 ล้านปอนด์ รวมกันแค่ 200 ล้านปอนด์หรือราว 8,910 ล้านบาทเท่านั้น โดยที่ยังรักษาตัวตนและจิตวิญญาณของสโมสรเอาไว้ได้ด้วย

ราคานี้ถูกมากเมื่อเทียบกับท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส ที่สร้างสนามใหม่ 63,000 ที่นั่งด้วยงบ 1,000 ล้านปอนด์ หรือกว่า 44,550 ล้านบาท

กำแพงร้อยล้าน

ทั้งนี้ หลังเปิดใช้งานอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์ โรดส่วนชั้นบน (Upper tier) ในเกม “แดงเดือด” วันที่ 17 ธันวาคมแล้ว ซึ่งจะมีการทดสอบการใช้งาน 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้นโดยจะมีคนเข้าไปทดสอบจำนวน 3,000 คนก่อนเพื่อดูเรื่องความปลอดภัย หากไม่มีปัญหาลิเวอร์พูลคาดว่าจะทยอยเปิดใช้งานส่วนที่เหลือได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยทีมหงส์แดงจะมีเกมในบ้านรออยู่อีกคือเกมคาราวบาว คัพ (ลีกคัพ) รอบ 8 ทีมสุดท้ายที่จะพบกับเวสต์แฮม ยูไนเต็ดวันที่ 20 ธันวาคม ต่อด้วยกรมาเยือนของอาร์เซนอลในอีก 3 วันต่อมา และในวันปีใหม่จะต้อนรับการมาเยือนของนิวคาสเซิล

ที่สุดแล้วสนามแอนฟิลด์จะมีความจุ 61,000 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมในวันที่กลุ่ม FSG เข้ามาเทคโอเวอร์ถึง 34%

ในปีงบประมาณของฤดูกาล 2021-2022 ลิเวอร์พูลทำรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน 87 ล้านปอนด์ หรือราว 3,875 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ที่รายได้อยู่ที่ 45 ล้านปอนด์ หรือราว 2,000 ล้านบาท

เงินที่ได้เพิ่มขึ้น 42 ล้านปอนด์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 93.3%

ดังนั้น หากความจุของสนามแอนฟิลด์เวอร์ชั่นพร้อมเต็มสูบ 61,000 ที่นั่ง ก็มีโอกาสที่จะสามารถทำรายได้มากขึ้นไปอีก

เป้าหมายของลิเวอร์พูลอยู่ที่การก้าวข้ามกำแพง “ร้อยล้าน” ในเรื่องการทำรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมในสนามให้ได้ภายในฤดูกาล 2024-2025 ซึ่งปัจจุบันในอังกฤษมีเพียงแค่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (111 ล้านปอนด์) และสเปอร์ส (106 ล้านปอนด์) ที่ทำได้

ในยุคที่สโมสรฟุตบอลพึ่งพาค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและเงินรางวัลจากการแข่งขันมากขึ้น แต่สุดท้ายสิ่งที่สโมสรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ดีที่สุดคือรายได้จากการค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน และส่วนต่างของรายได้ตรงนี้นั้นมีความสำคัญต่อการที่สโมสรจะสามารถพัฒนาเพื่อแข่งขันกับสโมสรอื่นได้อย่างเข้มแข็งด้วยรากฐานที่มั่นคง

ลิเวอร์พูลเป็นรองคู่แข่งมานานกว่า 3 ทศวรรษ วันนี้พวกเขากำลังจะมาถึงจุดที่พร้อมชนกับทุกทีมแล้ว

 

 

ภาพจาก liverpoolfc.com