วันออกพรรษา 2566 เปิดประวัติ ความสำคัญ และกิจกรรมของพุทธศาสนิกชน

วันออกพรรษา 2566 เปิดประวัติ ความสำคัญ และกิจกรรมของพุทธศาสนิกชน

วันออกพรรษา 2566 เปิดประวัติความสำคัญ และประเพณีที่นิยมปฏิบัติ พร้อมส่องประเพณีสำคัญของชาวพุทธอย่างการ "ตักบาตรเทโวโรหณะ"

"วันออกพรรษา" ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินทางจันทรคติ และปีนี้ตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม 2566 เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยกิจกรรมสำคัญในวันออกพรรษาที่พุทธศาสนิกชนนิยมปฏิบัติกันสืบต่อมาทุกปี ได้แก่ การทำบุญที่เรียกว่า "ตักบาตรเทโวโรหณะ" รวมถึงการเข้าวัด ฟังธรรม ไหว้พระ และร่วมงานประเพณีต่างๆ

วันออกพรรษา 2566 เปิดประวัติ ความสำคัญ และกิจกรรมของพุทธศาสนิกชน

  • ประวัติของวันออกพรรษา

วันออกพรรษา ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งวันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถือเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์

วันออกพรรษา จึงหมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน  11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้

  • ความสำคัญของวันออกพรรษา

วันออกพรรษา เรียกว่าอย่างหนึ่งว่า "วันปวารณา" หรือ "วันมหาปวารณา" คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ทั้งหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน

เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบไตรมาสได้ปวารณาออกพรรษา และได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ หรือข้อยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ คือ

  1. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา (ออกจากวัดไปโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์รูปอื่นก่อนได้)
  2. เที่ยวไปไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ 3 ผืน
  3. ฉันคณโภชน์ได้ (โภชนะที่คณะรับนิมนต์ไว้)
  4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ยกเว้นสิกขาบทข้อนิสสัคคิยปาจิตตีย์บางข้อ)
  5. จีวรลาภอันเกิดในที่นั้นเป็นของภิกษุ (เมื่อมีผู้มาถวายจีวรเกินกว่าไตรครองสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง)

 

  • วันออกพรรษา หรือวันพระพุทธเจ้าเปิดโลก

ครั้งนั้นในพรรษาที่ 7 นับแต่ปีที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา (3 เดือน) ครั้นถึงวันปวารณาออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธองค์จึงเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ ทั้ง 3 ได้แก่ บันไดเงิน และ บันไดทอง และ บันไดแก้ว ซึ่งสักกเทวราช (พระอินทร์) ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ ที่ ประตูเมืองสังกัสนคร

ที่นั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนต่างมารอรับตักบาตรภัตตาหารกันอย่างเนืองแน่นชาวพุทธจึงยึดถือปรากฎการณ์ในวัน แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี (ถัดจากวันสิ้นสุดการจำพรรษา 1 วัน) เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ เรียก "วันเทโวโรหณะ" และ วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก เพราะวันนั้นโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ มนุษย์ และ บาดาล (นรก) ต่างสามารถแลเห็นกันได้ตลอดทั้ง 3 โลก โลกนั่นเอง

วันออกพรรษา 2566 เปิดประวัติ ความสำคัญ และกิจกรรมของพุทธศาสนิกชน

  • ประเพณี "ตักบาตรเทโวโรหณะ"

พุทธศาสนิกชนชาวไทย เมื่อถึง "วันออกพรรษา" จะนิยมทำบุญตักบาตรกัน ซึ่งเป็นประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้ว เรียกว่า "ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหณะ" แปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หรือการตักบาตรนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" และการตักบาตรเทโวนี้ จะกระทำในวันขึ้น 15 เดือน 11 หรือวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน

ในหลายพื้นที่ยังทำเป็นข้าวต้มลูกโยน มาไว้สำหรับใส่บาตรการตักบาตรเทโวเริ่มมาตั้งแต่ตอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนจึงได้พร้อมใจกันนำภัตตาหารมาถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จนั้นมีจำนวนมาก บางพวกที่อยู่ห่างจึงไม่สามารถใส่อาหารลงในบาตรได้ จึงต้องทำข้าวให้เป็นก้อน แล้วโยนใส่บาตร จนกระทั่งเป็นประเพณีนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

 

วันออกพรรษา 2566 เปิดประวัติ ความสำคัญ และกิจกรรมของพุทธศาสนิกชน

 

อ้างอิง  :  

www.myhora.com/

www.dmc.tv/