เปิดลิสต์ ‘แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ’ ที่พังพินาศเพราะน้ำมือมนุษย์

เปิดลิสต์ ‘แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ’ ที่พังพินาศเพราะน้ำมือมนุษย์

“แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของสายลุย เพราะได้สัมผัสกับความงดงามอันแปลกตาของธรรมชาติ แต่ปัจจุบันสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้กำลังถูกทำลายด้วยฝีมือมนุษย์อย่างช้าๆ

Key Points:

  • “แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ของหลายประเทศทั่วโลก ด้วยความสวยงามแบบ Unseen ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค
  • ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในหลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาจาก “นักท่องเที่ยว” ที่เข้าชมเป็นจำนวนมากต่อปี รวมถึงมีบางส่วนไม่รักษากฎ จนทำให้ธรรมชาติเสียหายและยากที่จะเยียวยา
  • รัฐบาลหลายประเทศเริ่มออกมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในบางสถานที่ รวมถึงเพิ่มอัตราภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว แต่การแก้ปัญหาเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ขึ้นชื่อว่าเป็น “แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” แน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่กลับได้รับความนิยมสูงจากนักท่องเที่ยว ไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นมา (สวนน้ำ, เมืองจำลอง, สวนสนุก ฯลฯ) เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้มีจุดเด่นที่ความสวยงามสุดแปลกตา รวมถึงมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าตื่นเต้นจึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ไปเยือนสถานที่แห่งนั้นสักครั้งในชีวิต

ปัจจุบัน “แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” หลายแห่ง เริ่มเสื่อมโทรมลงไปทุกที แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะกาลเวลา แต่ก็ต้องยอมรับว่าอีกปัจจัยสำคัญก็เกิดจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลจากการลักลอบล่าสัตว์ป่า การตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่าธรรมชาติ หรือการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป จนส่งผลให้สถานที่เหล่านั้นไม่สามารถรองรับได้ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ไม่รักษากฎระเบียบ

  • แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ หนึ่งในปัจจัยสำคัญอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” กลายเป็นช่องทางสร้างรายได้อันสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ทำให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางออกไปค้นหาความสวยงามและความแปลกใหม่ได้ไม่ยาก

โดยเฉพาะ “แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” ของบางประเทศที่มีชื่อเสียงโด่งดังได้กลายเป็นจุดขายสำคัญที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะมีทั้งทรัพยากร สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่สัตว์หายากบางชนิดที่มีเฉพาะถิ่นเท่านั้น (หาดูที่อื่นไม่ได้) จึงส่งผลให้เกิด Demand ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างถิ่น เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ สามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้

1. อุทยานแห่งชาติ (National Park)

2. วนอุทยาน (Forest Park)

3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Sanctuary)

4. เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (Non Hunting Area)

5. สวนพฤกษศาสตร์ (Botanical Garden)

6. สวนรุกขชาติ (Arboretum)

แม้ว่าหลายประเทศจะมี “แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” เป็นจุดเด่นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ก็มีหลายแห่งที่เริ่มเสื่อมสภาพลงไปจากฝีมือมนุษย์ และในบางแห่งอาจจะไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

  • เมื่อแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเสื่อมโทรมลงจากน้ำมือมนุษย์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” เสื่อมโทรมลง ก็เหมือนกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มีตัวการหลักคือ “มนุษย์” โดยเป็นการทำลายธรรมชาติผ่าน “กิจกรรมท่องเที่ยว” ที่ไร้ความผิดรับชอบ ไม่รักษากฎระเบียบ ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติหลายแห่งกำลังเผชิญภัยคุกคามจนต้องปิดตัวลงไปในที่สุด

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติยอดฮิตที่กำลังจะหายไปและเหลือเพียงแค่ชื่อนั้นมีหลายแห่งด้วยกัน โดยกรุงเทพธุรกิจรวบรวมแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนไว้ดังนี้

Lava field moss, Republic of Iceland

ทุ่งลาวามอส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟหลายครั้งอดีต ซึ่งในปัจจุบันมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็นลาวาไหลออกมา

เปิดลิสต์ ‘แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ’ ที่พังพินาศเพราะน้ำมือมนุษย์

เอลธรอน ทุ่งลาวามอสขนาดใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ (Meandering Wild)

หลังจากที่ “ลาวา” เย็นตัวลงเมื่อเวลาผ่านไปก็จะเกิดตะไคร้น้ำจำนวนมากปกคลุมพื้นที่บริเวณนั้นทำให้เรียกว่า “ทุ่งลาวามอส” ที่มีอายุแตกต่างกันไปในแต่ละต้น โดยทุ่งที่ใหญ่ที่สุดคือ เอลธรอน ครอบคลุมพื้นที่ 565 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปกคลุมด้วย “มอส” ที่ใช้เวลาหลายร้อยปีในการเติบโต เนื่องจากมอสเหล่านี้มีความเปราะบางเป็นอย่างมากทางการไอซ์แลนด์จึงไม่อนุญาตให้ลงไปเหยียบ ทำได้แค่ถ่ายรูปจากจุดที่กำหนดให้เท่านั้น แต่ปัจจุบันมอสเหล่านี้กำลังได้รับความเสียหายจากนักท่องเที่ยวที่ฝ่าฝืนกฎและลงไปเดินในทุ่ง

Cozumel, Mexico

โกซูเมล ประเทศเม็กซิโก เป็นเกาะที่ตั้งอยู่นอกคาบสมุทรยูกาตัน มีน้ำทะเลสีฟ้าและแนวปะการังที่สวยงามเป็นจุดเด่นไม่เหมือนใคร ทำให้เป็นอีกหนึ่งในจุดหมายที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากเดินทางมาเห็นด้วยตาตัวเอง

เปิดลิสต์ ‘แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ’ ที่พังพินาศเพราะน้ำมือมนุษย์

ปะการังบริเวณโกซูเมล เม็กซิโก (Reader's Digest)

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเยือนโกซูเมลมักโดยสารมากับเรือสำราญ ซึ่งเรือขนาดใหญ่ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อ “แนวปะการัง” สมบัติล้ำค่าที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะลงไปด้วย เนื่องจากแนวปะการังเหล่านั้นมีความละเอียดอ่อน หากกระทบเพียงนิดเดียวก็เกิดความเสียหายได้ง่าย และที่สำคัญพวกมันต้องใช้เวลายาวนานในการเติบโต

จากปัญหาดังกล่าวนักชีววิทยาทางทะเลจึงร่วมกันก่อตั้ง “องค์กรฟื้นฟูแนวปะการังโกซูเมล” หรือ “Cozumel Coral Reef Restoration Program” ขึ้นมาเพื่อคอยดูแลป้องกันไม่ให้ต้องสูญเสียทรัพยากรทางทะเลที่มีค่าไปมากกว่านี้

Raja Ampat Islands, Indonesia

หมู่เกาะราชาอัมพัต ประเทศอินโดนีเซีย อยู่ใกล้กับเกาะนิวกินี ประกอบด้วยเกาะขนาดใหญ่จำนวน 4 เกาะ, เกาะขนาดกลางจำนวน 1 เกาะ และเกาะขนาดเล็กอีกหลายพันเกาะ โดยเกาะทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของ “Coral Triangle” หรือ “สามเหลี่ยมปะการัง” หนึ่งในพื้นที่ที่มีความสำคัญในมหาสมุทรแปซิฟิกเนื่องจากเป็นแนวปะการังที่มีความยาวติดต่อกันเป็นรูปสามเหลี่ยมระหว่างน่านน้ำในหลายประเทศ

เปิดลิสต์ ‘แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ’ ที่พังพินาศเพราะน้ำมือมนุษย์

สามเหลี่ยมปะการัง บริเวณอินโดนีเซีย (Livescience)

จึงเรียกได้ว่าเป็นจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และมีความสมบูรณ์มากที่สุด ทำให้เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนได้ไม่ยาก และแน่นอนว่าเมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบมากขึ้นเช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “หมู่เกาะราชาอัมพัต” มีความคล้ายคลึงกับ “โกซูเมล” ก็คือ นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเยี่ยมชมด้วย “เรือสำราญ” จึงส่งผลเสียต่อแนวปะการัง และหนึ่งในเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ ในปี 2017 มีเรือสำราญความยาวประมาณ 90 เมตร จมลงและเกยตื้นบริเวณแนวปะการัง ทำให้เกิดความเสียหายทางธรรมชาติเป็นมูลค่าสูงถึง 18.6 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 683,922,000 บาท

โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมประเมินว่าแนวปะการังต้องใช้เวลานานหลายสิบปีในการฟื้นตัว

Pig Beach, The Bahamas

ชายหาดหมู หมู่เกาะบาฮามาส ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก อยู่ทางตอนเหนือของประเทศคิวบาและทะเลแคริบเบียน มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติชื่อดังก็คือ Pig Beach หรือชายหาดหมู (Big Major Cay) เพราะมีหมูป่าจำนวนมากลงมาว่ายน้ำและเดินเล่นบริเวณชายหาด ทำให้กลายเป็นหนึ่งจุดเช็กอินที่หลายคนนิยมมาถ่ายรูปกับหมูน้อยน่ารัก

เปิดลิสต์ ‘แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ’ ที่พังพินาศเพราะน้ำมือมนุษย์

หมูป่าบริเวณชายหมดหมู หมู่เกาะบาฮามาส (Flying and Travel)

แต่เมื่อปี 2017 ก็เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นที่ชายหาดหมู เนื่องจากพวกมันตายไปเป็นจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน มีข้อมูลเปิดเผยออกมาภายหลังว่า สาเหตุการตายหมู่ของหมูเหล่านี้ ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการที่นักท่องเที่ยวชอบให้อาหารมัน โดยไม่มีความรู้ว่าพวกมันกินอะไรได้หรือกินอะไรไม่ได้

ล่าสุดรัฐบาลได้สั่งห้ามนักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์บนเกาะเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันขึ้นอีก (รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย)

Mallorca, Spain

มายอร์กา เป็นเกาะในประเทศสเปน อยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะแบลีแอริก มีประชากรมากเป็นอันดับสองของสเปน

เปิดลิสต์ ‘แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ’ ที่พังพินาศเพราะน้ำมือมนุษย์

มายอร์กา ประเทศสเปน (Town and Country)

แน่นอนว่าด้วยความโดดเด่นจากหลายองค์ประกอบ เช่น อ่าวที่มีแนวเขากำบัง, ภูเขาหินปูน, ซากปรักหักพังของเมืองโรมันโบราณ รวมถึงรีสอร์ตริมชายหาดที่สวยงาม และสถานบันเทิงยามค่ำคืน ทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก มีรายงานว่าเคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปประมาณ 10 ล้านคนในปี 2017

แม้ว่านักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจะหมายถึงการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่า “กิจกรรมท่องเที่ยว” เหล่านี้ ส่งผลให้เกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง ทางการสเปนจึงมีมาตรการเพิ่มภาษีนักท่องเที่ยวเป็น 5 ดอลลาร์ต่อคน ต่อวัน (184 บาท) และพยายามหาแนวทางสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับชุมชนท้องถิ่น

ไม่ใช่แค่ “แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” 5 แห่งข้างต้นเท่านั้นที่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากนักท่องเที่ยว แต่ยังมีอีกหลายแห่งทั่วโลกต้องพบกับปัญหาในลักษณะเดียวกัน เช่น แม่น้ำสลิมส์ ประเทศแคนาดา ที่ปริมาณน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ธารน้ำแข็งชาคัลตายา ประเทศโบลิเวีย ที่มีอายุมากกว่า 18,000 ปี กำลังละลายหายไปจนต้องงดกิจกรรมการเล่นสกี

รวมไปถึง มาชูปิกชู ประเทศเปรู หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองสาบสูญแห่งอินคา” (The Lost City of The Incas) เป็นซากอารยธรรมของชาวอินคา ซึ่งเป็นอารยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตั้งอยู่บนเทือกเขาแอนดีสในประเทศเปรู มีทั้งสิ่งปลูกสร้างจากฝีมือมนุษย์โบราณ และมีหุบเขาธรรมชาติที่เรียงรายสลับซับซ้อน หลอมรวมกันจนเกิดเป็นความสวยงามแปลกตา จึงถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่หลายคนใฝ่ฝันว่าต้องไปเยือนให้ได้สักครั้ง และยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ในปี 2007

การเดินทางเพื่อเข้าชมป้อมปราการโบราณของชาวอินคาแห่งนี้ แม้จะยากลำบาก แต่ภายในหนึ่งปีก็มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่เป็นจำนวนมาก (เฉพาะเดือน ม.ค.-ก.ค. 2018 มีนักท่องเที่ยวเข้าไปมากถึง 610,000 คน)

แม้ว่าคณะกรรมาธิการเพื่อการส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวของเปรูจะระบุว่า พวกเขาพยายามจำกัดนักท่องเที่ยวให้เหลือเพียง 800 คนต่อวัน รวมถึงการเปิดให้จองตั๋วล่วงหน้าแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถลดผลกระทบจากนักท่องเที่ยวลงได้

“แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” เป็นส่วนสำคัญที่สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับหลายประเทศทั่วโลกก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นภัยคุกคามที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติอย่างร้ายแรง เพราะนอกจากจะต้องรองรับ “นักท่องเที่ยว” เป็นจำนวนมากในแต่ละวันแล้ว พวกมันยังต้องต่อสู้กับนักท่องเที่ยวที่ไม่มีความรับผิดชอบอีกด้วย

สุดท้ายแล้วการดูแลรักษาและฟื้นฟู “แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” ไม่ได้เป็นแค่หน้าที่ของภาครัฐหรือชาวบ้านในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ “นักท่องเที่ยว” ที่เดินทางไปเยือนสถานที่เหล่านั้นก็จำเป็นต้องรักษากฎข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาสถานที่อันสวยงามตามธรรมชาติเหล่านั้นให้อยู่คู่โลกของเราให้ได้นานที่สุด

อ้างอิงข้อมูล : Reader's Digest, Gistda, National Geographic(1)National Geographic(2), The Statestimes และ Meandering Wild