รวมลิสต์ ‘ภัยธรรมชาติ’ ครึ่งปีแรก 2023 สัญญาณเตือน หายนะ ‘วันสิ้นโลก’ ?

รวมลิสต์ ‘ภัยธรรมชาติ’ ครึ่งปีแรก 2023 สัญญาณเตือน หายนะ ‘วันสิ้นโลก’ ?

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ที่ผ่านมา มีรายงานพบ “ภัยธรรมชาติ” เกิดขึ้นบนโลกบ่อยขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักๆ แน่นอนว่าเป็นผลกระทบที่เชื่อมโยงกับ "ภาวะโลกร้อน" ซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์

Key Points:

  • ในครึ่งแรกของปี 2023 เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ส่วนใหญ่เกิดจาก “ภาวะโลกร้อน” เช่น กระแสน้ำกัลฟ์สตรีมอาจหายไป สัตว์หลายชนิดล้มตาย เกิดไฟป่า และพายุทั่วโลก ไปจนถึงน้ำแข็งขั้วโลกละลาย
  • สัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์จากภาวะโลกร้อนมากที่สุด ได้แก่ โลมาวากีตา ที่เหลือเพียงแค่ 10 ตัวเท่านั้น รวมถึง แรดสุมาตรา ที่เพิ่งสูญพันธุ์จากมาเลเซียไปเมื่อปี 2019
  • ในช่วง 43 ปีที่ผ่านมา อาร์กติกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นของโลก 4 เท่า และหากแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ทางซีกโลกเหนือละลายหมด จะทำให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 7.4 เมตร

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานผลกระทบจากภาวะโลกร้อนให้เห็นบ่อยขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ทะเลหลายชนิดตายปริศนา, สัตว์ป่าบางชนิดใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกทำลาย, กระแสน้ำกัลฟ์สตรีมอาจล่มสลายหายไป, หิมะขั้วโลกอาจละลายเร็วกว่าที่คิด, สภาพอากาศแปรปรวน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจาก “ภาวะโลกร้อน” ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้มนุษย์รู้ว่า อีกไม่นาน “วันสิ้นโลก” อาจเกิดขึ้นจริงภายในไม่กี่ชั่วอายุคน ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “Climate Change” คือ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และสภาพอากาศในระยะยาว เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่หลังจากนั้นตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.1800 การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลับเกิดบ่อยขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมหาศาล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ จนเกิดเป็น “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ที่มีลักษณะคล้ายโดมกระจกใสคลุมชั้นบรรยากาศโลกไว้ ความร้อนจากดวงอาทิตย์ระบายออกไม่ได้ ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ (ภาวะโลกร้อน) เมื่อโลกร้อนขึ้นอย่างผิดปกติ ก็ส่งผลต่อเนื่องให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง เกิดภัยแล้ง พายุรุนแรง น้ำท่วมหนัก และจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้

โดยผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์โลก ความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ในมหาสมุทร สภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก จำนวนป่าไม้ที่ลดลง และอื่นๆ อีกมากมาย กรุงเทพธุรกิจ ขอหยิบยกเอาสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติบางส่วน ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มาสรุปให้ดังนี้

 

 

  • ปัญหาสัตว์ป่าเสี่ยงสูญพันธุ์ และสัตว์ตายปริศนา

แม้จะมีสัตว์หลายชนิดทั่วโลกทยอยสูญพันธุ์ไปตามกาลเวลา และสภาพแวดล้อม แต่ปัจจุบันเริ่มพบปรากฏการณ์การสูญพันธุ์แบบผิดปกติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีมากมายที่อาจป้องกันการสูญพันธุ์ของพวกมันได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสู้กับปัญหาสภาพอากาศ และการถูกล่าจากมนุษย์ได้ โดยสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ล่าสุด ได้แก่

1. โลมาวากีตา (Vaquita) สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่สุดในโลก มีขนาดประมาณ 1.2-1.5 เมตร ที่พบได้เฉพาะในอ่าวแคลิฟอร์เนียเท่านั้น จากข้อมูลของ The Guardian ล่าสุดระบุว่า พวกมันเหลืออยู่เพียง 10 ตัวเท่านั้น จากเดิม 567 ตัว ซึ่งคณะกรรมาธิการ ล่าวาฬระหว่างประเทศ หรือ International Whaling Commission (IWC) ออกประกาศแจ้งเตือนการสูญพันธุ์ของ “โลมาวากีตา” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 70 ปี โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการทำประมงผิดกฎหมาย

2. ซาวลา หรือ วัวหวูกวาง (Vu Quang ox) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1992 บริเวณพรมแดนระหว่างเวียดนามกับลาว ปัจจุบันแทบไม่มีใครพบเห็นอีกเลย ครั้งสุดท้ายที่มีการถ่ายภาพ “ซาวลา” ได้ก็คือปี 2013 ตามข้อมูลจาก IUCN พวกมันอาจเริ่มลดลงตั้งแต่มีการค้นพบแล้ว และยังมีความเสี่ยงสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดตัวใกล้เคียงกันในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังไม่มีเคยมีซาวลาในสวนสัตว์มาก่อน จึงคาดว่าสัตว์ชนิดนี้ไม่สามารถผสมพันธุ์เทียมเพื่อการอนุรักษ์ได้

3. แรดสุมาตรา หรือ กระซู่ (Sumatran rhino) ในอดีตการพบเจอ “แรดสุมาตรา” ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ เรื่องปกติ แต่จากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมันเริ่มหายไป รวมถึงถูกฆ่าเพื่อเอานอไปขาย พวกมันจึงเหลืออยู่ไม่กี่ตัวบนเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว โดยในมาเลเซียแรดสุมาตราตัวสุดท้ายตายไปเมื่อปี 2019 ส่วนในไทยมีรายงานพบเจอแรดสุมาตราเมื่อปี 1997 ก่อนที่จะไม่มีใครพบเจอพวกมันอีก

นอกจากนี้ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่กำลังเสี่ยงต่อการ “สูญพันธุ์” ได้แก่ นกสเตรสแมนน์บริสเติลฟรอนต์ (Strassmann Bristlefront), เสือดาวอามูร์ (Amur Leopard), หมาป่าแดง (Canis rufus) และ กอริลลาครอสริเวอร์ (Cross River gorilla) โดยสัตว์หลายชนิดต้องเจอกับปัญหาที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกทำลาย

ไม่ใช่ปัญหาการสูญพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีสัตว์ที่ตายอย่างปริศนาด้วย โดยในช่วงสิ้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า “เพนกวินมาเจลลัน” หรือ “Magellanic Penguins” กว่า 2,000 ตัว ถูกซัดมาเกยตื้นตายอยู่บริเวณชายหาดอุรุกวัย ในสภาพซูบผอมผิดปกติ จากการตรวจสอบพบว่าร้อยละ 90 ของเพนกวินเหล่านั้น ไม่มีไขมันสำรองในร่างกาย ไม่มีอาหารเหลืออยู่ในท้อง และยังมีอายุน้อย

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งอุรุกวัย (คาดว่าพายุรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน) ได้พัดเอาอาหารของพวกมันไปที่อื่น ทำให้อดอาหารจนอ่อนแอลงเรื่อยๆ และไม่ใช่แค่เพนกวินเท่านั้น แต่ในบริเวณนั้นยังมีซากนกทะเล ซากเต่า และซากสิงโตทะเลที่ร่างกายไร้อาหารในท้องรวมอยู่ด้วย

อ่านข่าว : 

สัญญาณหายนะ? 'เพนกวิน' กว่า 2,000 ตัว ตายเกลื่อนหาด คาดเกิดจาก 'โลกร้อน'

ทำไมทะเลที่ไม่มี ‘ฉลาม’ ถึงอันตรายที่สุด?

  • พื้นดินร้อนระอุ มหาสมุทรเดือด ไฟป่าลุกลาม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย

เมื่อไม่นานมานี้องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว และเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยเดือนก.ค.2023 ที่ผ่านมาถูกบันทึกว่าเป็นเดือนก.ค. ที่ร้อนที่สุดในโลก และอาจร้อนสุดในรอบ 120,000 ปี

ภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบไปทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาหาคลื่นความร้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ความถี่การเกิดไฟป่า และพายุที่มากขึ้น ไปจนถึงน้ำในมหาสมุทร

อีกหนึ่งปัญหาที่ตามมาจากภาวะโลกร้อนก็คือ “กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม” หรือ “Gulf Stream” หนึ่งในกระแสน้ำหลักของโลกในมหาสมุทรแอตแลนติก อาจล่มสลายภายในปี 2050 หรือ 27 ปีหลังจากนี้ แต่ในกรณีเลวร้ายที่สุด นักวิชาการคาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นภายในปี 2025 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะทำให้เกิดหายนะต่อสภาพอากาศทั่วโลก และอาจทำให้โลกกลับไปสู่ “ยุคน้ำแข็ง

ภาวะโลกร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นดิน และอากาศเท่านั้น แต่ยังทำให้น้ำทะเลเดือดไปด้วย เพราะ “อุณหภูมิน้ำทะเล” ในมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้น จากเดิม 21 องศาเซลเซียส เมื่อปี 2016 กลายเป็น 21.1 - 21.2 องศาเซลเซียส ในปัจจุบัน (2023) ถือเป็นอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงสุดที่เคยมีการบันทึกมา

อ่านข่าว : 

‘ภาวะโลกเดือด’ รับไม้ต่อจาก ‘โลกร้อน’ คนจะตายจากอากาศเพิ่มขึ้น

‘โลกร้อน’ ไม่หยุด! ส่งผล ‘กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม’ หายไปใน 3 ปี ?

'โลกร้อน' ทำ 'ทะเลร้อนขึ้น' 0.1 องศาฯ สถิติใหม่ที่ไม่เคยพบ อาจเป็นหายนะโลก?

อีกหนึ่งปัญหาที่ร้ายแรงไม่แพ้กันก็คือ “น้ำแข็งขั้วโลกละลาย” มีข้อมูลจาก The Conversation ว่าในช่วง 43 ปีที่ผ่านมา น้ำแข็งบริเวณอาร์กติกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกกว่า 4 เท่า เฉลี่ยแล้วจะอุ่นขึ้นกว่าปี 1980 ประมาณ 3 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิบริเวณดังกล่าวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมถึงปัญหาน้ำแข็งละลายที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันตามมา และที่เลวร้ายที่สุดก็คือ น้ำแข็งขั้วโลกอาจจะหายไปตลอดกาล และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น เช่น หมีขั้วโลก หรือ เพนกวิน เป็นต้น

ขณะที่จุดเสี่ยงอีกจุดที่เป็นผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็คือ “แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์” ซึ่งเป็นมวลน้ำแข็งขนาดใหญ่ของซีกโลกเหนือ หากละลายจนหมดจะส่งผลให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 7.4 เมตร

นอกจากนี้ยังมี “ไฟป่า” ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีไฟป่าเกิดขึ้นทั่วโลกจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินพอดีของมนุษย์โดยเฉพาะการ “ตัดไม้ทำลายป่า” ทำให้สภาพอากาศ และระบบนิเวศน์สูญเสียความสมดุล

ในปี 2020 มีเหตุการณ์ไฟป่าเกิดขึ้นในจุดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น ป่าแอมะซอน (Amazon) และ ขั้วโลกเหนือ หรืออาร์กติก (Arctic) ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา เกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน จึงได้รับการบันทึกว่าเป็นปีที่เกิดไฟป่าสูงสุดที่เคยมีมา และเช่นเคย.. คาดว่าเกิดจากปัญหาโลกร้อน

ส่วนพื้นที่ป่าของแคนาดา ก็พบว่าเกิดปัญหาไฟป่า และน้ำท่วมฉับพลันหลังอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึงประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส ณ เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้อากาศไม่เป็นไปตามฤดูกาล

ล่าสุดเกิดเหตุการณ์ไฟป่าบนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 89 ราย (12 ส.ค.) ถือว่ามากที่สุดในรอบกว่าร้อยปี มีพื้นที่ได้รับความเสียหายประมาณ 5,311 ไร่ หลายฝ่ายคาดว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่าในครั้งนี้มาจากพายุเฮอริเคนนอกชายฝั่ง ที่มีลมกระโชกแรง 80 ไมล์ต่อชั่วโมง หนึ่งในผลพวงจาก “ภาวะโลกร้อน

สุดท้ายแล้วผลกระทบที่เชื่อมโยงมาจากภาวะโลกร้อนนั้น ล้วนแต่มีความร้ายแรงกว่าที่คาดคิด และจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญเคยคาดการณ์เอาไว้มาก ถ้าหากมนุษย์ยังไม่รีบหันมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง “วันสิ้นโลก” อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

อ้างอิงข้อมูล : The GuardianIUCNThe Conversation, UN, European Scientist, และ BBC

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์