จัด Outing อย่างไรให้ลูกจ้างแฮปปี้ บริษัทไม่เสียเงินฟรี แถมได้ประโยชน์จริง

จัด Outing อย่างไรให้ลูกจ้างแฮปปี้ บริษัทไม่เสียเงินฟรี แถมได้ประโยชน์จริง

เป็นเรื่องปกติที่หลายบริษัทจะจัดกิจกรรม Outing ให้พนักงานได้พักผ่อน และทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อละลายพฤติกรรมและหาแนวทางพัฒนาองค์กรร่วมกัน แต่จะทำอย่างไรให้ได้ผลจริง ไม่เปลืองงบประมาณ และไม่เสียเวลา

Key Points:

  • “Outing” เป็นกิจกรรมยอดนิยม ที่หลายองค์กรนำมาใช้สร้างความสัมพันธ์และพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ทั้งยังได้พักผ่อนไปในตัว
  • ข้อดีของการไป Outing นอกจากจะได้ไปเที่ยวนอกสถานที่กับเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ และละลายพฤติกรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แม้ว่าจะมีข้อดี แต่หากจัดกิจกรรมไม่เหมาะสม ไม่สอบถามความสมัครใจจากพนักงานกิจกรรม Outing ก็สามารถสร้างผลเสียต่อพนักงานและองค์กรได้เช่นกัน

หลายองค์กรมักจัด Outing หรือกิจกรรมนอกสถานที่ประจำปี เพราะเป็นหนึ่งในสวัสดิการสำหรับพนักงาน และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย เนื่องจากทำให้พนักงานได้ท่องเที่ยวพักผ่อนสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน และเป็นการเพิ่มพลังใจก่อนกลับมาทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรดีขึ้น

ในทางกลับกัน หากองค์กรจัดกิจกรรม Outing โดยไม่คำนึงถึงความต้องการและความสมัครใจของพนักงานอย่างแท้จริง ก็อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม

ดังนั้นแม้ว่ากิจกรรม “Outing” จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อพนักงานและองค์กรอย่างมากในภาพรวม แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจส่งผลเสียได้ แล้วควรจัดกิจกรรมท่องเที่ยวพักผ่อนให้พนักงานอย่างไร? จึงจะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมและสรุปเทคนิคการจัด Outing ที่น่าสนใจมาให้แล้ว ดังนี้

  • ข้อดีของกิจกรรม “Outing” ที่มีต่อองค์กรและพนักงาน

ก่อนอื่นมาสำรวจประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับจากกิจกรรม Outing ที่บริษัทจัดให้ไม่มากก็น้อย โดยสามารถแบ่งได้กว้างๆ 5 ประเด็นดังนี้

1. ได้เปิดเผยทักษะ และความสามารถที่ซ่อนอยู่
การจัดกิจกรรมพักผ่อนนอกสถานที่ ถือเป็นโอกาสให้พนักงานได้แสดงความสามารถต่างๆ ที่ไม่ได้แสดงออกมากนักในออฟฟิศ เช่น พนักงานบัญชีอาจมีความสามารถในการใบ้คำได้มากกว่าที่หลายคนคิด ทำให้หัวหน้าทีมรับรู้ถึงความสามารถใหม่ๆ ของลูกน้อง ช่วยให้มอบหมายงานได้ตรงทักษะความสามารถมากขึ้น รวมถึงได้มีการสื่อสารร่วมกันมากขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาการทำงานร่วมกัน

2. กระตุ้นให้พนักงานมีเป้าหมายการทำงานร่วมกัน
การสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะหากต้องทำงานในโครงการที่ไม่มีความท้าทาย ดังนั้นการลองจูงใจพนักงานด้วยการจัด Outing เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและสร้างความสนุกสนาน จึงถือเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการร่วมกันบรรลุเป้าหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น เกมปริศนาที่ทุกคนต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์

3. พนักงานได้พักผ่อนเพื่อสุขภาพจิตที่ดี
เนื่องจากความเครียดของการทำงานในแต่ละวันอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ดังนั้นการหาโอกาสให้ทีมได้พักผ่อนโดยเฉพาะการพักสมองนั้น ไม่ได้ส่งผลดีแค่กับตัวพนักงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อทีมและประสิทธิผลของงานอีกด้วย เพราะความเครียดของคนหนึ่งคน อาจส่งผลเสียต่องานของทั้งทีม

4. เพิ่มผลผลิตที่ดีภายในองค์กร
เนื่องจากในออฟฟิศนั้นมีอุปสรรคมากมายที่พนักงานต้องเจอในแต่ละวัน ทำให้ขัดขวางการทำงานและเกิดความตึงเครียด ดังนั้นการออกไป Outing จึงเป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานไม่ให้จำกัดอยู่แค่ในออฟฟิศ

5. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงานเป็นทีม
เพราะความผูกพันกันระหว่างคนในทีมถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นทีมที่มีความเข้มแข็งจึงจะมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากกว่า เพราะการสร้างความสัมพันธ์ของคนในทีมสำคัญไม่แพ้การประชุม

  • จัด Outing อย่างไรให้ได้ผลดี ทั้งต่อองค์กรและพนักงาน

หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน ไปจนถึงสร้างผลตอบรับที่ดีขององค์กร การวางแผนกิจกรรม “Outing” ก็จำเป็นเช่นกัน เพื่อให้พนักงานรู้สึกอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยอาจทำได้ง่ายๆ ดังนี้

- เลือกหรือจัดสรรสถานที่ที่คาดว่าจะถูกใจพนักงานมากที่สุด เพราะบางคนก็ไม่อยากไปเที่ยวที่เดิมซ้ำๆ หรือไม่อยากเดินทางไกลสำหรับคนที่มีภาระส่วนตัว ดังนั้นการทำแบบสอบถามก่อนที่จะเลือกสถานที่ ก็อาจช่วยให้พนักงานได้ไปเที่ยวในสถานที่ถูกใจคนส่วนใหญ่ได้ (สรุปผลตามเสียงส่วนมาก)

- เลือกสถานที่ที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย หรือสร้างความลำบากในการร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องทำเป็นกลุ่ม

- จัดโปรแกรมให้สนุกและคุ้มค่าที่สุด แต่อย่าอัดแน่นจนเกินไป เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนแต่ละกลุ่มช่วยกันออกความคิดเห็นและร่วมมือกันไปสู่ความสำเร็จ แต่ก็ไม่ควรจัดให้มีกิจกรรมมากหรือน้อยเกินไป เพราะจะทำให้ความสนุกกลายเป็นความอึดอัดและน่าเบื่อแทน

- เน้นกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยการให้พนักงานมีส่วนในการคิดกิจกรรมกลุ่มขึ้นมาร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมและมีบทบาทหน้าที่ในหลากหลายกิจกรรม แต่หากจริงจังจนเกินไปก็อาจกลายเป็นภาระได้

- เปิดช่องให้ผู้บริหารได้ให้กำลังใจพนักงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลายคนอาจมองว่ากิจกรรมดังกล่าวค่อนข้างเป็นเรื่องล้าสมัย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารและพนักงานให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเฉพาะการให้กำลังใจพนักงานที่ทำงานหนักเพื่อองค์กรอย่างเต็มที่มาตลอดทั้งปี

แม้ว่า Outing จะมีประโยชน์ต่อองค์กรโดยรวม แต่หากการจัด Outing นั้น สร้างความอึดอัดลำบากใจให้พนักงานผลลัพธ์ก็อาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม

  • กิจกรรมไม่ปัง-บังคับให้ร่วม Outing ก็อาจทำร้ายองค์กรได้

แม้ว่า “Outing” จะเป็นกิจกรรมที่มีข้อดี แต่ก็ยังมีพนักงานบางส่วนที่พยายามหลีกเลี่ยง (พบว่าในกูเกิลมีคนค้นหาวิธีปฏิเสธการเข้าร่วม Outing เป็นจำนวนมาก) เพราะในบางครั้งกิจกรรมกระทบกับวันหยุดพักผ่อนหรือเวลาทำงาน และบางกิจกรรมก็ไม่ได้เหมาะกับพนักงานทุกคน นอกจากนี้บางคนที่ไม่สะดวกใจจะไปจริงๆ แต่ถูกขอความร่วมมือ (แกมบังคับ) ให้เข้าร่วมก็อาจเกิดความรู้สึกไม่ดีกับองค์กร

จากข้อมูลของ BBC พบว่า บางกิจกรรมทำให้พนักงานบางคนเกิดความหวาดกลัวในจิตใจได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นตัวประหลาด น่าตลกขบขัน หรือทำให้รู้สึกแปลกแยก เช่น ให้คนขี้อายลุกขึ้นมาเต้นท่าแปลกๆ คนเดียว เพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้คนอื่น หรือบีบบังคับให้แต่ละคนเล่าเรื่องส่วนตัวมากๆ เพราะคิดว่าจะช่วยละลายพฤติกรรมได้ เช่น ความกลัว หรือ ประสบการณ์แย่ๆ ในวัยเด็ก

แม้ว่ากิจกรรมส่วนใหญ่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสามัคคี การสื่อสาร และกำลังใจระหว่างคนในทีม แต่ในทางปฏิบัติอาจทำให้พนักงานบางคนรู้สึกไม่ดี และกิจกรรมบางอย่างก็ดูไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงาน รวมถึงทำให้คนในทีมแตกสามัคคี ไม่ชอบหน้ากันไปเลยก็มี

บางกิจกรรมยังสร้างผลเสียต่อพนักงานบางคนมากกว่าที่คิด จากตัวอย่างของ BBC ก็คือ หัวหน้าต้องการให้ทุกคนรวมตัวกันเพื่อ “รำไทเก็ก” แต่มีพนักงานคนหนึ่งป่วยจึงไม่สามารถเข้าร่วมได้ เจ้านายจึงสั่งให้เขาไปนั่งเงียบๆ และดูเพื่อนร่วมงานทำกิจกรรม ทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวและเหมือนถูกลงโทษในเวลาเดียวกัน

แม้ว่าจุดประสงค์ของ “Outing” คือ การสร้างความร่วมมือและเปิดช่องให้มีการสื่อสารกันมากขึ้น แต่บางครั้งอาจกลายเป็นสร้างความรำคาญและอึดอัดใจให้กับพนักงานแทน ทำให้การสร้างกำลังใจเปลี่ยนเป็นการลดกำลังใจในการทำงานได้เช่นกัน

อีกมุมหนึ่งการสร้างความสามัคคีในทีมไม่ใช่แค่การจัด Outing ปีละครั้งสองครั้ง แต่ผู้บริหารหรือหัวหน้างานควรประเมินการทำงานของทีมแบบวันต่อวัน และควรให้ความสำคัญต่อการสื่อสาร ความร่วมมือ และการให้กำลังใจตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่ทำเพียง 1-2 ครั้งต่อปี

ขณะที่ข้อมูลจาก Forbes ระบุว่า มีบางปัจจัยที่ทำให้กิจกรรม Outing ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น

- บังคับให้พนักงานตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สบายใจ ดังนั้นหัวหน้าจึงควรสำรวจความเห็นหรือความพอใจในการเข้าร่วมของแต่ละคนก่อน

- การสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะสามารถทำลายทีมได้หากคนในทีมคุยกันไม่รู้เรื่อง หรือไม่อยากคุยกัน

- กิจกรรมเอื้อประโยชน์ให้สมาชิกแค่บางคน ไม่ใช่เพื่อทุกคน นั่นอาจกลายเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีสำหรับคนในทีมได้ (เช่น กิจกรรมที่จำกัดความถนัดสำหรับคนบางตำแหน่ง)

- ไม่มีเป้าหมายชัดเจน การมองข้ามเป้าหมายที่แท้จริงไปนั้นทำให้กิจกรรมหลายอย่างกลายเป็นเรื่องเสียเวลา

เนื่องจากการจัด “Outing” ของแต่ละองค์กรจำเป็นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ไปจนถึงค่าบริการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนั้นหากผลลัพธ์สวนทางกับรายจ่ายที่องค์กรสูญเสียไป ก็อาจเรียกได้ว่าขาดทุน แต่ถ้ามีการวางแผน จัดสรร และให้พนักงานเข้าร่วมตามความสมัครใจ “Outing” ก็ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้พนักงานมีความสุข ได้ผ่อนคลายความเครียด ขณะเดียวกันองค์กรก็จะได้ประโยชน์จากประสิทธิผลที่ดีของพนักงานเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูล : BBCForbes, Medium และ HR Note