อาหารหมดอายุยังกินได้ไหม กินก่อนเที่ยงคืนจะปลอดภัยหรือเปล่า?

อาหารหมดอายุยังกินได้ไหม กินก่อนเที่ยงคืนจะปลอดภัยหรือเปล่า?

หมดอายุแล้วยังไปต่อได้! เช็กความต่าง “วันหมดอายุ” VS “ควรบริโภคก่อน” กันความสับสน-ลดขยะทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญชี้ ต่างกันที่ความอันตรายของอาหาร แนะเร่งเปลี่ยนพฤติกรรมหยิบของด้านในก่อน “First in, First out” มาก่อนหยิบก่อนดีที่สุด

Key Points:

  • ปัญหา “Food waste” หรือ “ขยะอาหาร” เกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและในไทย มีงานศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ชี้ให้เห็นว่า ขยะอาหารในไทยเข้าขั้นวิกฤติแล้ว เป็นผลเสียทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของอาหาร
  • พฤติกรรมและความเข้าใจผิดหลายอย่างทำให้เกิด “ขยะอาหาร” มากขึ้น ทั้งการหยิบอาหารสดในชั้นวางซูเปอร์มาร์เก็ตด้านในก่อน รวมถึงความเข้าใจเรื่องวันหมดอายุด้วย
  • ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า ก่อนซื้ออาหารสดเข้าบ้านให้คำนวณตามความต้องการของครัวเรือน ซื้อแต่พอดี หลีกเลี่ยงการซื้อตุนเกินจำเป็น หากบริโภคไม่หมดก็จะกลายเป็น “ขยะอาหาร” ในท้ายที่สุด

ปัญหาขยะอาหารหรือ “Food waste” ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือไกลตัวอีกต่อไป เรามักเห็นภาพการทิ้งขยะอาหารของร้านเชนยักษ์ใหญ่อยู่บ่อยครั้ง แม้จะดูเป็นขยะย่อยสลายง่ายเมื่อเทียบกับขยะพลาสติก แต่ผลการศึกษาสถานการณ์ “ขยะอาหาร” จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้กลับชี้ให้เห็นว่า ขยะอาหารส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเข้าขั้นวิกฤติแล้ว มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อีกทั้งกระบวนการผลิตอาหารในปัจจุบันยังมีลักษณะแบบ “Mass production” เน้นผลิตจำนวนมากแต่ไม่ได้มีการเกลี่ยสัดส่วนตามความต้องการอย่างที่ควรจะเป็น 

ในขณะที่ขยะอาหารเหลือทิ้งเพิ่มขึ้นทุกปี อีกด้านหนึ่งก็พบว่า มีคนยากไร้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริโภคสารอาหารได้ครบถ้วน การเกลี่ยสัดส่วนอาหารและผลิตอาหารให้ตรงตามสัดส่วนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ปริมาณการเกิด “Food Waste” ลดลง รวมถึงการบริโภคอาหารอย่างถูกต้องตามหลัก “First in, First Out” ที่ยังมีความเข้าใจผิดอยู่ไม่น้อย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ปริมาณขยะอาหารลดลงได้ด้วยการเริ่มที่ตัวเรา

อาหารหมดอายุยังกินได้ไหม กินก่อนเที่ยงคืนจะปลอดภัยหรือเปล่า?

  • มาก่อนหยิบก่อน ซื้อเมื่อต้องกินต้องใช้

โดยทั่วไปชั้นวางอาหารและของสดในซูเปอร์มาร์เก็ตมักจัดวางสินค้าเรียงตามวันผลิตและวันหมดอายุตามหลัก “First in, First out” อยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะอาหารลงได้อีกทางหนึ่ง “พศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์” นักกำหนดอาหารวิชาชีพ และเจ้าของเพจ “เมื่อวานนี้ทานอะไร” เคยอธิบายถึงหลักการดังกล่าวไว้ว่า คนไทยบางกลุ่มมีค่านิยมหยิบสินค้าด้านในก่อน เพราะเชื่อว่า ของด้านในผลิตทีหลังจะทำให้ได้สินค้าที่สดใหม่กว่า ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด “Food waste” มากขึ้น เพราะตามหลักการแล้วห้างสรรพสินค้าหรือแผนกซูเปอร์มาร์เก็ตจะจัดวางสินค้าเรียงตามวันสิ้นอายุ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงและเรียกดูสินค้าได้ง่ายขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสดที่มีวันหมดอายุจำกัดนั้น ผู้บริโภคควรซื้อตุนแต่พอดี จัดสรรของสดให้เพียงพอกับความต้องการ หากเป็นไปตามนี้ก็จะไม่ต้องกังวลกับวันสิ้นอายุ เพราะสินค้าด้านหน้าจะมีการคำนวณวันหมดอายุพอดีกับช่วงเวลาที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าอยู่แล้ว วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณขยะอาหารได้อีกทางหนึ่ง แต่หากเลือกหยิบสินค้าด้านในก่อน สินค้าที่มีวันสิ้นอายุมาถึงเร็วกว่าก็จะกลายเป็น “ขยะอาหาร” ทันที

  • แบบไหนหมดอายุ สิ้นสุดวัน “Expired Date” ยังกินได้อยู่ไหม?

แม้วันหมดอายุจะมีไว้ย้ำเตือน “ความอันตรายในหีบห่อ” ตามหลักบรรจุภัณฑ์อาหาร แต่หลายครั้งเราอาจพบว่า อาหารที่เลยวันหมดอายุไปแล้วก็ยังมีหน้าตาปกติ สามารถรับประทานได้ ทว่าอีกด้านหนึ่งก็เกรงว่า หากรับประทานแล้วจะเกิดอันตรายกับร่างกายหรือไม่อย่างไร เรื่องนี้นักกำหนดอาหารอธิบายว่า อาหารที่เลยวันหมดอายุมีแนวโน้มที่จะมีอันตรายเกิดขึ้นกับร่างกายสูง ยิ่งเลยวันไปมากเท่าไร รสชาติ สี กลิ่น ก็จะยิ่งเปลี่ยนไปมากเท่านั้น

แต่หากผู้บริโภคพิจารณาแล้วว่า หน้าตาของอาหารยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก สีและกลิ่นไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไรก็อาจจะยังบริโภคได้โดยให้พิจารณาร่วมกับฉลากควบคู่ไปด้วยกัน หากเป็นอาหารที่เก็บมิดชิดในอุณหภูมิที่เหมาะสมก็จะช่วยยืดอายุอาหารได้มากขึ้น บางครั้งเราจึงเห็นขนมปังที่เลยวันหมดอายุไปแล้ว 1-2 วัน มีหน้าตา สี และกลิ่นปกติ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับประสาทสัมผัสของเราร่วมด้วย

อาหารหมดอายุยังกินได้ไหม กินก่อนเที่ยงคืนจะปลอดภัยหรือเปล่า?

  • “Best Before” เพื่อรสชาติที่ดีที่สุด

สำหรับอาหารบางประเภทที่ไม่มีวันหมดอายุ แต่จะเป็นป้าย “BBF” หรือ “Best Before” แทน หมายความว่า อาหารเหล่านี้ไม่มีการกำหนดวันสิ้นอายุเหมือนกับ “Expired Date” เพียงแต่ว่า รสชาติอาหารอาจมีความอร่อยน้อยลง ความหมายของ “BBF” คือ ถ้ากินภายในวันที่กำหนด ผู้บริโภคจะได้รับรสชาติอาหารที่ดีที่สุด มีคุณภาพสูงสุด เช่น โยเกิร์ต อาหารแช่แข็ง ไข่ไก่สด หรือซอสปรุงรสที่ไม่มีวันหมดอายุ ความหอมอร่อยจะเปลี่ยนไปเล็กน้อยแต่ยังคงรับประทานได้เรื่อยๆ 

  • ซื้อแต่พอดี ตุนเท่าที่จำเป็น

วิธีการลด “ขยะอาหาร” ที่เริ่มได้จากตัวเรา คือคำนวณปริมาณอาหารภายในครัวเรือนให้ดีก่อน ไม่เห็นแก่ของลดราคา ไม่ซื้อตุนเกินความจำเป็น บางครอบครัวมักมีปัญหา “เก็บจนลืม” มาเห็นอีกทีตอนที่อาหารสิ้นอายุไปหลายเดือนแล้ว ยิ่งวัตถุดิบบางชนิดอย่างผลไม้หรืออาหารสดหากแช่ทิ้งไว้นานๆ จะก่อให้เกิดแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “ลิสทีเรีย” (Listeria) ตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการ “อาหารเป็นพิษ” หากปล่อยทิ้งไว้นาน เชื้อเหล่านี้อาจลุกลามแพร่เชื้อไปยังอาหารอื่นๆ ที่ยังไม่สิ้นอายุในตู้เย็นเพิ่มเติมได้ด้วย

 

อ้างอิง: Food NetworkMake it MatterThairathThe MATTERMahidol Channel