ชาจีน 'ต้าหงเผา' แพงที่สุดในโลก ราคาเกือบ 42 ล้านบาท/กก. ที่สุดของชาพรีเมียม

ชาจีน 'ต้าหงเผา' แพงที่สุดในโลก ราคาเกือบ 42 ล้านบาท/กก. ที่สุดของชาพรีเมียม

"ชาพรีเมียม" วัดกันที่ตรงไหน? ถ้าข้อบ่งชี้คือเรื่องราคา ก็รับประกันได้ว่า ชาจีน “ต้าหงเผา” คือที่สุดของความพรีเมียมหรูหรา เพราะราคาแพงระยับ กิโลกรัมละเกือบ 42 ล้านบาท! 

Key Points: 

  • ชาคุณภาพดีเกรดพรีเมียม มีปัจจัยการวัดผลหลายอย่าง ทั้งต้นแม่พันธุ์ที่ดี, วิธีการปลูก, ระดับความสูงในการปลูก, ฤดูกาลที่ปลูก-เก็บเกี่ยว, กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ฯลฯ ยิ่งควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้ดี ก็ยิ่งทำให้ได้ชาที่มีคุณภาพสูง และมีราคาแพงตามไปด้วย
  • ชาพรีเมียมที่ “แพงที่สุดในโลก” คือชาอู่หลง “ต้าหงเผา” (大红袍 ; Da-Hong Pao) ราคากิโลกรัมละ 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราคา ณ ปี 2547 หากลองคำนวณตามอัตราค่าเงินในปัจจุบันพบว่า ราคาจะอยู่ประมาณ 41.9 ล้านบาท) 
  • สาเหตุที่ “ต้าหงเผา” มีราคาแพงที่สุดในโลก ก็เนื่องจากเป็นชาสายพันธุ์ดีเยี่ยม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาตินุ่มล้ำลึก ทั้งนี้ ทางการจีนได้ยกเลิกการเก็บใบชาจากต้นแม่พันธุ์ไปตั้งแต่ปี 2549 

ช่วงนี้เมนู “บิงซูชาไทย” น่าจะฮอตฮิตเป็นพิเศษ เหตุเพราะดราม่า ‘ปังชา’ ยังร้อนแรง มีการวิพาษ์วิจารณ์ในหลากหลายประเด็นทั้งเรื่องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า, ทะเบียนสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์, โลโก้ และรูปวาดต่างๆ ซึ่งล่าสุด ทางเจ้าของแบรนด์ก็ได้ออกมาขอโทษไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบผ่านสื่อต่างๆ และได้เคลียร์รายละเอียดกันไปหลายส่วนแล้ว

แต่อีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงเช่นกันก็คือ “ชาพรีเมียม” ที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลักในเมนูปังชา เมื่อนำมาเสิร์ฟพร้อมเครื่องเคราต่างๆ ทำให้เมนูนี้ขายในราคาเกือบ 400 บาท (รวมค่าเซอร์วิสชาร์จ) จนมีหลายคนเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมชาพรีเมียมถึงมีราคาแพง และความพรีเมียมนั้นดูจากอะไร?

ชาจีน \'ต้าหงเผา\' แพงที่สุดในโลก ราคาเกือบ 42 ล้านบาท/กก. ที่สุดของชาพรีเมียม ภาพจาก: PangchaThaiteaCafe

 

  • “ชาพรีเมียม” ต้องควบคุมปัจจัยหลายอย่าง จึงมีราคาแพงกว่าชาทั่วไป

เรื่องนี้มีข้อมูลจากทั้งจาก “กรมวิชาการเกษตร” และจากหลายแหล่งระบุตรงกันว่า ชาคุณภาพดีเกรดพรีเมียมนั้น มีปัจจัยการวัดผลที่ละเอียดยิบย่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์จากต้นแม่ที่ดี, วิธีการปลูก (ปลูกแบบออร์แกนิก/แบบอินทรีย์), ระดับความสูงในการปลูก (ควรสูงที่ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป), ฤดูกาลในการปลูก, ฤดูกาลเก็บเกี่ยว, วิธีการเก็บใบชา (ยอดตูม/ยอดอ่อน), วิธีการหมักใบชา, วิธีการทำแห้ง, วิธีคัดใบชา, วิธีการเก็บรักษา ฯลฯ 

โดยเฉพาะกระบวนการเก็บเกี่ยวและการผลิตนั้นสำคัญมาก กล่าวคือ ต้องเก็บจากยอดชาอ่อนเท่านั้น (1 ยอดกับ 2 ใบแรก) หลังเก็บเกี่ยวแล้ว ต้องนำส่งโรงผลิตทันทีหลังเก็บภายในไม่กี่ชั่วโมง เพื่อให้ใบชาคงความสดใหม่ ส่วนกระบวนการผลิตต้องได้มาตรฐาน (ควบคุมความชื้น อุณหภูมิ กลิ่น) หากการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ก็จะทำให้ชาเสื่อมคุณภาพลง

จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ยิ่งควบคุมปัจจัยเหล่านั้นได้ดีเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้ชาที่มีคุณภาพสูง ซึ่งทำให้ “ใบชาแห้ง” มีราคาแพงสูงตามไปด้วย ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่าใบชาที่ราคาแพง ก็คือ ชาคุณภาพดีระดับพรีเมียม ซึ่งในโลกนี้มีชาพรีเมียมชื่อดังจริงๆ อยู่ไม่กี่ชนิด 

ชาจีน \'ต้าหงเผา\' แพงที่สุดในโลก ราคาเกือบ 42 ล้านบาท/กก. ที่สุดของชาพรีเมียม

 

  • ชาอู่หลง “ต้าหงเผา” (大红袍) แพงที่สุดในโลก ราคา กก.ละ 1.2 ล้านดอลลาร์

สำหรับชาพรีเมียมชนิดที่ “แพงที่สุดในโลก” และได้รับการยอมรับในวงการชาพรีเมียมมาทุกยุคทุกสมัย คงหนีไม่พ้น “ชาต้าหงเผา” (大红袍 ; Da-Hong Pao) ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นราคาย้อนหลังไปเมื่อปี 2547 แต่เมื่อลองนำมาคำนวณในอัตราค่าเงินปัจจุบัน จะพบว่ามีราคาสูงถึงประมาณ 41.9 ล้านบาท! (คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 31 ส.ค.66) แต่ทั้งนี้ ชาตัวนี้ในราคาดังกล่าว เป็นใบชาจากต้นแม่พันธุ์ซึ่งปัจจุบันทางการจีนสั่งยกเลิกไม่ให้เก็บใบชาจากต้นแม่ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว (ประเด็นนี้มีขยายความเพิ่มเติมในเนื้อหาข้างล่างต่อไป)

ต้าหงเผา ถูกยกย่องให้เป็น “ราชาแห่งชาอู่หลง” มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในประเทศจีน เพราะมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนกลิ่นควันไฟผสมผสานกับน้ำผึ้งหรือลูกพีช มีรสชาติคล้ายบรั่นดีทว่านุ่มละมุนลิ้น นิยมปลูกมากที่แถบเทือกเขาอู่อี๋ซาน ของมณฑลฝูเจี้ยน สูงจากระดับน้ำทะเล 2,158 เมตร นับเป็นสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้หลักของมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดน “ต้นกำเนิดของชาอู่หลง” 

ทั้งนี้ ชาอู่หลงเป็นชาจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปีนับตั้งแต่สมัยราชวงค์ฮั่น (อ้างอิงข้อมูลจาก: thaibizchina) และถูกแบ่งย่อยออกเป็น 5 ชนิดหลัก ได้แก่ ชาต้าหงเผา ชาเถี่ยกวนอิน ชาสุยเซียน ชาหล่อฮั่นเฉินเซียง และชาแดง โดยชาต้าหงเผาเป็นชาที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพดีที่สุด และมีราคาแพงที่สุด

ชาจีน \'ต้าหงเผา\' แพงที่สุดในโลก ราคาเกือบ 42 ล้านบาท/กก. ที่สุดของชาพรีเมียม ภาพจาก: suning

 

  • ทำไมชา “ต้าหงเผา” ถึงมีราคาแพงสุดเอื้อม

สาเหตุที่ทำให้ชาต้าหงเผามีราคาแพงที่สุดในโลกนั้น ก็เนื่องมาจากเป็นชาสายพันธุ์ดีเยี่ยมจากต้นชาแม่พันธุ์ที่มีเพียง 6 ต้นในโลก (ว่ากันว่าเป็นต้นชาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ) ซึ่งทุกต้นมีอายุมากกว่า 350 ปี ในแต่ละปีผลผลิตใบชาต้าหงเผาจากต้นแม่พันธุ์ทั้ง 6 ต้นดังกล่าว มีไม่ถึง 100 กรัมเท่านั้น จึงกลายเป็นสินค้าหายาก คุณภาพสูง จึงทำให้ราคาดีดไปไกลถึงหลักล้านดอลลาร์ กลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่ทางการจีนหวงแหน ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลย้อนรอยประวัติความเป็นมา ต้นกำเนิด และเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ของชาต้นแม่พันธุ์ ดังจะได้อ่านตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป

ย้อนกลับไปในปี 2546 บริษัทประกันชีวิตประชาชนแห่งชาติจีน สาขาอู่อี๋ซาน ร่วมกับรัฐบาลเมืองอู่อี๋ซาน ได้ทำประกันชีวิตให้กับต้นชาแม่พันธุ์ทั้ง 6 ต้นนี้ ในฐานะต้นกำเนิดแห่งวัฒนธรรมชาต้าหงเผาด้วยทุนประกันสูงถึง 100 ล้านหยวน

ต่อมาในปี 2547 ผลผลิตใบชาต้าหงเผาจากต้นแม่พันธุ์จำนวน 20 กรัมถูกนำขึ้นประมูล โดยนายหวางอี้ ชาวจีน-อเมริกัน ได้ชนะการประมูลใบชาที่ราคาสูงสุด 208,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือถ้าลองคิดเป็นกิโลกรัมก็จะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เวลานั้น นับเป็นการซื้อขายใบชาที่แพงที่สุดในโลก (ถ้าคำนวณค่าเงินในปัจจุบันก็ตกอยู่ที่ประมาณ 41.9 ล้านบาท) ย้ำอีกที!! ใบชาชนิดนี้และราคานี้ปัจจุบันไม่มีจำหน่ายแล้ว! 

ในยุคนั้น ทางการจีนจัดให้มีตำรวจเฝ้ารักษาความปลอดภัยต้นชาต้าหงเผาแม่พันธุ์นี้ตลอด 24 ชั่วโมง และในช่วงก่อนปี 2549 ผลผลิตใบชาจากต้นแม่พันธุ์ทั้งหมดจะถูกจัดส่งให้แก่รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อนำส่งรัฐบาลกลางสำหรับมอบเป็นของขวัญทางวัฒนธรรมให้แก่แขกระดับสูงจากต่างประเทศ และมีประวัติศาสตร์ในการดูแลต้นแม่พันธุ์เพิ่มเติม ได้แก่ 

- ในปี 2548 รัฐบาลเมืองอู่อี๋ซานส่งมอบผลผลิตใบชาต้าหงเผาจากต้นชาแม่พันธุ์จำนวน 20 กรัม ให้แก่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีนที่กรุงปักกิ่งเพื่อการเก็บรักษาอย่างเป็นทางการ นับเป็นใบชาชนิดแรกที่ถูกเก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน 

- ในปี 2549 รัฐบาลฝูเจี้ยนออกนโยบาย ยกเลิกเก็บใบชาจากต้นแม่พันธุ์ดังกล่าว เรียกว่านโยบาย “ถิงไฉ่หลิวหยัง” เพื่อให้ต้นชาทั้ง 6 ต้นได้พักฟื้นฟูความแข็งแรง รวมทั้งรักษาสภาพที่มีเอกลักษณ์และคุณสมบัติที่ดีของต้นแม่พันธุ์ 

- ต่อมาไม่นาน รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนได้จัดตั้ง "ศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านใบชาต้าหงเผาอู่อี๋ซาน" เพื่อนำไปขยายพันธุ์ในบริเวณใกล้เคียง (ชาต้าหงเผาที่มีจำหน่ายในปัจจุบันไม่ใช่ใบชาจากต้นแม่พันธุ์ แต่เป็นชาจากต้นรุ่นลูกที่ถูกขยายพันธุ์ออกมา)

- ในปี 2556 ต้นชาต้าหงเผาแม่พันธุ์ทั้ง 6 ต้นนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และมรดกโลกทางธรรมชาติโดย UNESCO

ชาจีน \'ต้าหงเผา\' แพงที่สุดในโลก ราคาเกือบ 42 ล้านบาท/กก. ที่สุดของชาพรีเมียม ภาพจาก: Thaichaiwala

 

  • “มณฑลฝูเจี้ยน” ตัวตึงแห่งวงการผลิตชาจีนพรีเมียม

สำหรับ “มณฑลฝูเจี้ยน” เป็น 1 ใน 18 แหล่งอุตสาหกรรมใบชาขนาดใหญ่ของจีน โดยในปี 2561 ฝูเจี้ยนมีพื้นที่การปลูกชากว่า 1.3 ล้านไร่ อยู่ในอันดับ 5 ของจีน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น มีพื้นที่ป่าไม้สูงถึงร้อยละ 62 ของพื้นที่ทั้งมณฑล (มากเป็นอันดับ 1 ของจีน), มีคุณภาพอากาศที่ดีติด 5 อันดับแรกของจีน, มีเนื้อดินที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก เป็นต้น 

โดยฝูเจี้ยนเป็นมณฑลที่มีปริมาณผลผลิตใบชาสูงเป็นอันดับ 2 ของจีนรองจากมณฑลกุ้ยโจว โดยมีผลผลิตชาทั้งหมด 401,600 ตันต่อปี มีมูลค่ารวม 25,736 ล้านหยวน และฝูเจี้ยนส่งออกใบชาทั้งหมด 24,100 ตันต่อปี ติดอันดับ 4 ของจีน รองจากเจ้อเจียง (168,500 ตัน) อันฮุย (59,200 ตัน) และหูหนาน (32,400 ตัน) 

ล่าสุด.. สำนักข่าวซินหัวรายงานถึงข้อมูลจาก สำนักงานศุลกากรแห่งชาติของจีน ระบุว่า ปริมาณการส่งออกชาของจีน เมื่อปี 2565 อยู่ที่ 375,300 ตัน เพิ่มขึ้น 1.59% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี 

โดยประเภทของชาที่จีนส่งออกมากที่สุด คือ ชาเขียว 313,900 ตัน คิดเป็น 83.6% ของปริมาณชาทั้งหมดที่ส่งออก ตามด้วย ชาดำ และชาอู่หลง ที่ส่งออกอยู่ที่ 8.9% และ 5.2% ตามลำดับ ขณะที่ มณฑลฝูเจี้ยน ยังคงครองอันดับ 1 ของประเทศ ในด้านมูลค่าการส่งออกชา ด้วยสัดส่วน 25.52%

ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นชาพรีเมียมราคาแพงแค่ไหนก็ตาม สิ่งสำคัญมากกว่านั้นน่าจะอยู่ที่การควบคุมคุณภาพของชาให้ดีที่สุด รวมถึงวิธีการปรุง-การออกแบบ-การเสิร์ฟ ให้ถูกปากถูกใจผู้บริโภคในราคาที่สมเหตุสมผล ก็เชื่อว่าจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคต่อไปได้อีกยาวนาน 

-----------------------------------------

อ้างอิง : กรมวิชาการเกษตร, LifestyleAsia, FinancesOnline, ThaibizChina, Thaichaiwala