เบญจรงค์ไทยสู่เส้นสายเครื่องประดับ“หัสยา ปรีชารัตน์ “สืบทอดศิลปหัตถกรรม

เบญจรงค์ไทยสู่เส้นสายเครื่องประดับ“หัสยา ปรีชารัตน์ “สืบทอดศิลปหัตถกรรม

การผสานความเป็นไทยยุคดั้งเดิมและความเป็นไทยร่วมสมัยให้เข้ากันอย่างลงตัว ไม่ใช่เรื่องเพราะต้องอาศัยองค์ความรู้ การปรับตัว ให้ทันกับสถานการณ์ และความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง เครื่องเบญจรงค์ไทยกับเครื่องประดับที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

คุณหัสยา ปรีชารัตน์ ผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2566 ด้านงานเครื่องเบญจรงค์ จาก sacit หรือสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) และเป็นเจ้าของแบรนด์ “HATSAYA” สร้างสรรค์เครื่องประดับที่เน้นลวดลายเครื่องเบญจรงค์ นับเป็นหนึ่งความสำเร็จของการถ่ายทอดผ่านเทคนิคลวดลายของเครื่องเบญจรงค์ที่สืบทอดฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์และทรงคุณค่า ต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่นที่สั่งสมประสบการณ์งานเครื่องเบญจรงค์ดั้งเดิมของครอบครัว พร้อมประยุกต์นำมาเป็นแฟชั่นจิวเวลรี่ที่ร่วมสมัย

ผลงานโดดเด่นของ HATSAYA คือ เม็ดชาร์ม (Charm) ที่นำมาร้อยเรียงบนเครื่องเงินแท้โดยทำเป็นจี้สร้อยคอ ต่างหู และสร้อยข้อมือ มีเฉดสีพรีเมียมให้เลือกถึง 3 สี ได้แก่ สีทอง สีแพลทินัมและสีโรสโกลด์            ที่สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีมีโอกาสได้ลูกค้าใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยผู้ชื่นชอบเครื่องประดับ และต่างชาติแถบเอเชีย ดูไบ และอาหรับ นิยมซื้อสินค้าเพื่อเป็นของฝากของขวัญ

อย่างไรก็ดี จากความมุ่งมั่นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ปรับตัวต่อสถานการณ์ ทำให้คุณหัสยา ต่อยอดงานเครื่องเบญจรงค์ที่ไม่ซ้ำใคร สร้างจุดขายใหม่อยู่เสมอ โดยล่าสุดยังได้พัฒนา “เครื่องเบญจรงค์ตกไม่แตก” ใช้ดินผสมมวลสารต่างๆ เข้าไป เพิ่มความหนาแน่นของดิน สร้างความยืดหยุ่น แข็งแรง และไม่ลืมที่จะใส่รายละเอียดต่างๆ ของลวดลายที่ร่วมสมัย ซึ่งในตลาดยังไม่มีสินค้าประเภทเบญจรงค์ตกไม่แตกแบบนี้สิ่งเหล่านี้คือจุดแข็งของแบรนด์ HATSAYA การนำเอาองค์ความรู้มาพัฒนาแบรนด์อย่างแท้จริง

เบญจรงค์ไทยสู่เส้นสายเครื่องประดับ“หัสยา ปรีชารัตน์ “สืบทอดศิลปหัตถกรรม

คุณหัสยา ยังเผยด้วยว่า อีกจุดแข็งที่ทำให้ HATSAYA เติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากความผสมผสานระหว่างงานเบญจรงค์ไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พัฒนาต่อยอดสู่เครื่องประดับที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีการเรียนรู้ช่องทางการขายให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดที่ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้

โดยระยะเวลาที่ผ่านมา HATSAYA พยายามเดินสายออก Pop-Up Store ทุกเดือน เพื่อให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังไม่หยุดพัฒนาเปิดตัว Collection ใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ทุกชิ้นงานจะยังคงเน้นอัตลักษณ์ความเป็นไทย ด้วยลวดลายเครื่องเบญจรงค์ที่มีเอกลักษณ์ เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาสินค้าเท่าทันต่อความต้องการตลาดแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ เผยแพร่เอกลักษณ์ความเป็นไทยให้คงอยู่

“งานเครื่องเบญจรงค์เป็นศิลปหัตถกรรมที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งทางด้านรูปทรงและลวดลายต่างๆ จึงมองว่างานหัตถศิลป์ไทยเหล่านี้จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากความนิยมซื้อเป็นของที่ระลึก มอบของขวัญให้แขกผู้ใหญ่ หรือของขวัญคู่ค้าต่างชาติ เพราะชิ้นงานที่บ่งบอกชัดเจนถึงความเป็นไทย”

จากความมุ่งมั่นสืบทอดภูมิปัญญาด้านงานเบญจรงค์มาโดยตลอด ทำให้วันนี้คุณหัสยาเป็นหนึ่งในผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2566 ของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ประจำปีนี้ด้วย 
“รู้สึกเป็นเกียรติ และภูมิใจที่ทาง sacit ได้เชิดชูเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม เพราะเหมือนเป็นกำลังใจให้เราสานต่องานตรงนี้ขึ้นไปอีก ที่ผ่านมาเราได้ร่วมงานกับ sacit มาตั้งแต่ได้รับการเชิดชูเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เมื่อปี 2560 หรือกว่า 6 ปีแล้ว” 
ขณะที่เป้าหมายของการต่อยอดความสำเร็จในอนาคต ต้องการเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศ เผยแพร่งานเครื่องเบญจรงค์ที่สื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยไปยังต่างประเทศ อาทิ ภูมิภาคเอเชีย หรือตะวันออกกลาง เนื่องจากตลาดเหล่านี้ชื่นชอบความสวยงามของเครื่องเบญจรงค์ไทย