ทำงานวันละ 4 ชั่วโมงก็พอ ดีกว่านั่งหน้าจอทั้งวัน แต่งานไม่เดิน

ทำงานวันละ 4 ชั่วโมงก็พอ ดีกว่านั่งหน้าจอทั้งวัน แต่งานไม่เดิน

ผลสำรวจพบพนักงาน Amazon, Microsoft และ Google เกินครึ่งทำงานแค่ 4 ชั่วโมง จดจ่อให้เต็มที่ ทำให้เสร็จ แล้วเอาเวลาที่เหลือไปใช้ชีวิต ท้าทายความเชื่อแบบเดิมที่มองว่าคนนั่งทำงานเต็มเวลาเป็นพนักงานที่มีศักยภาพ

ปัจจุบันคนเราใช้เวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งหน่วยงานรัฐที่เริ่มทำงานตั้งแต่ 8.30 - 16.30 น. ส่วนเอกชนมีวัฒนธรรมการทำงานที่เรียกว่า “9-to-5” หมายถึงการทำงานในช่วงเวลา 9.00 - 17.00 น. แต่เราต่างรู้กันดีอยู่ว่า ในความเป็นจริง เราไม่ได้ทำงานกันตลอดเวลา 

เวลาที่เราเข้าออฟฟิศอย่างน้อยที่สุดต้องมีเวลาพักทานอาหารกลางวัน แวะเข้าห้องน้ำ แถมบางครั้งยังมีประชุมเข้ามาจนไม่ได้ทำงานตามหน้าที่ของตนเอง แต่ในบางครั้งที่เราทำงานมาก ๆ จนสมองเริ่มเบลอ เราอาจจะเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง มองชมวิว คิดอะไรเรื่อยเปื่อย หรือแอบหยิบมือถือขึ้นมาเช็กโซเชียลมีเดีย หาเรื่องคุยเม้าท์มอยกับเพื่อนร่วมงาน

ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนให้แก่คนทำงาน โดยเฉพาะเมื่อ Work From Home กันจนเป็นเรื่องปกติ หลายคนอาจจะทำงานไปพลาง เลี้ยงลูกไปพลาง บางคนก็อาจจะทำงานบ้าน หรือเล่นกับหมาสลับไปด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำงานตลอด 8 ชั่วโมง โดยไม่ได้ขยับไปไหนเลย 

เพื่อให้สอดรับต่อการทำงานในยุค New Normal บริษัทหลายแห่งเริ่มหันไปโฟกัสการทำงานที่เน้นผลลัพธ์มากกว่า โดยไม่สนใจว่า ในแต่ละวันพนักงานจะใช้เวลาทำงานเท่าไหร่ ตราบใดที่พวกเขายังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตามกำหนด แต่ก็ยังมีหลายบริษัทก็ยังหวังให้พนักงานทำงานงานเต็มอัตรา 8 ชั่วโมง จนทำให้เกิดคำถามว่าวัน ๆ หนึ่งพนักงานทำงานกันกี่ชั่วโมง ?

  • พนักงานบริษัทบิ๊กเทค กว่าครึ่ง ทำงานแค่วันละ 4 ชั่วโมง

ผู้ใช้รายหนึ่งในเว็บไซต์ Blind ชุมชนสำหรับกลุ่มอาชีพเทคโนโลยี ได้จัดทำแบบสำรวจถามคนในชุมชนว่า ปรกติแล้วใช้เวลาทำงานวันละกี่ชั่วโมง โดยผลการสำรวจพบว่า 45% ของผู้เข้ามาตอบแบบสอบถามเกือบ 10,000 คน  ยอมรับว่า ตัวเองทำงานเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน 

ขณะที่ผู้ใช้ที่สร้างแบบสำรวจยอมรับว่า ในฐานะวิศวกรซอฟต์แวร์ เขามีสมาธิในการทำงานอยู่ที่ราว 3-3.5 ชั่วโมง หลังจากนั้นเขาจะหมดไฟ และจำเป็นต้องพักราว ๆ 2 ชั่วโมงเพื่อเติมพลังก่อนกลับมาทำงานอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากจำแนกผู้ตอบแบบสอบถามตามบริษัท จะพบว่า 40% ของพนักงาน Amazon ที่ตอบคำถามจำนวน 919 คน ทำงานไม่เกิน 4 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ 43% ของพนักงาน Microsoft จำนวน 476 คน และ 40% ที่ Google จำนวน 393 คน ระบุว่าบริษัทของพวกเขามีรูปแบบการทำงานแบบผสมผสานคือ ทั้งเข้าออฟฟิศและทำงานจากที่บ้าน ส่วน พนักงานจาก Meta บริษัทที่ยังมีนโยบายทำงานระยะไกลอย่างเดียวจำนวน 33% จากผู้ตอบแบบสอบถาม 316 คน ระบุว่าพวกเขาทำงานไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง

พนักงานส่วนใหญ่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เงินเดือนได้ที่พวกเขาได้รับมาจาก “ผลงาน” ไม่ใช้ความพยายาม ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ดังนั้นการหยุดพักการทำงานเพื่อให้สมองโล่ง เช่น การเดินเล่น อาบน้ำ ไปร้านกาแฟ ไปสังสรรค์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่านั่งทำงานยาวทั้งวัน

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยในทำนองเดียวกันจาก Zippia เว็บไซต์ด้านทรัพยากรบุคคล ที่ทำการสำรวจช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา เพื่อถามความเห็นพนักงานจำนวน 1,000 คนพบว่า 47% พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วพนักงานใช้เวลาทำงานอย่างแข็งขันเพียง 4 ชั่วโมง 12 นาทีเท่านั้น และยอมรับว่า ตัวเองใช้เวลางานท่องโลกอินเทอร์เน็ตและเล่นโซเชียลมีเดีย ขณะที่ 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่า พวกเขาไม่ต้องการใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมงเพื่อทำงานให้เสร็จในแต่ละวัน

เคธี มอร์ริส ผู้ดำเนินการวิจัยจาก Zippia กล่าวว่า “เป็นเรื่องยากที่จะใช้เวลาทั้งวันในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็ม 100%”

 

  • ชั่วโมงทำงานไม่ได้แสดงถึงศักยภาพ

ในบางครั้งการเข้าออฟฟิศอาจทำงานได้ช้าลงกว่าอยู่บ้านด้วยซ้ำ ริค เฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเว็บไซต์ Blind กล่าวว่า “พนักงานพาตัวเองเข้าประชุมเพื่อแสดงให้เจ้านายเห็นว่าพวกเขาทำงานอยู่ กำลังยุ่งอยู่ นอกจากนี้การเข้าออฟฟิศอาจทำให้เสียสมาธิในการทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะพนักงานอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เมื่ออยู่รวมกันเยอะ ๆ ทำให้เกิดการพูดคุยระหว่างกัน ทำให้ว่อกแว่กจากการทำงานมากกว่าเดิม

เนื่องจากเวิร์คฟรอมโฮมได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ทำให้หลายบริษัทเลือกใช้ซอฟต์แวร์ติดตามการทำงานของพนักงานแต่ละคนว่าทำงานครบ 8 ชั่วโมงหรือไม่ แม้ว่า ผู้เชี่ยวชาญในที่ทำงานยืนยันว่านี่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานจะทำงานอย่างมีคุณภาพ

มาลิสสา คลาร์ก ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ระบุว่า อันที่จริงโควิดเปิดโอกาสให้เราได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ก่อนหน้านี้การทำงานจากที่บ้านเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ตอนนี้เป็นเรื่องปรกติ ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการทำงานจากที่บ้านได้ทำลายเส้นแบ่งพื้นที่ส่วนตัวกับการทำงานลง กลายเป็นว่าเราต้องทำงานจากทุกที่

ดังนั้นบริษัทจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์จากการทำงานมากกว่ามานั่งจับเวลาว่าพนักงานนั่งอยู่หน้าจอครบ 8 ชั่วโมงหรือเปล่า เพราะธรรมชาติของมนุษย์สามารถจดจ่อกับการทำงานได้ประมาณ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น

สอดคล้องกับความเห็นของมอร์ริสที่ระบุว่า “ระยะเวลาทำงานของพนักงานที่ลดลง ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ทำงานหนัก แต่พวกเขาจำเป็นต้องใช้เวลาเติมพลังและจัดการตนเองกับงานต่าง ๆ เพื่อสภาพจิตใจที่ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น” 

ปัจจุบันพนักงานมีรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป พวกเขาให้วิธีการทำงานด้วยระยะเวลาที่น้อยที่สุดแต่เนื้องานยังได้ประสิทธิภาพมากที่สุด และเอาเวลาที่เหลือไปใช้ชีวิต หาแรงบันดาลใจสำหรับการทำงานในวันถัดไป ดังนั้นต่อให้พนักงานนั่งทำงานอย่างขะมักเขม้นตลอด 8 ตลอด แต่ถ้าผลงานไม่เป็นตามที่คาดหวังไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่าพนักงานคนนั้นเป็นพนักงานที่มีศักยภาพ

 

ที่มา: Science ABCWorklife