‘คนวัยเก๋า’ 50+ ยังทำงานได้ แต่หางานยาก ตำแหน่งงานไม่รองรับ-ถูกเหยียดวัย

‘คนวัยเก๋า’ 50+ ยังทำงานได้ แต่หางานยาก ตำแหน่งงานไม่รองรับ-ถูกเหยียดวัย

แรงงานวัย 50 บวก ที่เคยเออร์รี รีไทร์ไปแล้ว อยากกลับมาทำงาน หลังค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ แต่ยังมีปัญหา “เหยียดวัย” และงานยังมีจำกัด ไม่สอดคล้องความต้องการสูงวัย นอกเสียจากคนเหล่านั้นจะมี “มีของ” จนบริษัทไม่กล้าปฏิเสธ

หลายประเทศในโลกกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” ไม่เพียงแต่ผู้คนมีอายุยืนมากขึ้น จากนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า แต่จำนวนเด็กทารกที่เกิดขึ้นกลับลดลงเป็นปรากฏการณ์ ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศมีบุตรเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งยืดระยะเวลาเกษียณอายุต่อไป เพื่อให้มี “แรงงาน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้

ถึงจะมีมาตรการขยายอายุการทำงานออกไป แต่บริษัททั่วไปยังคงรับสมัครพนักงานในช่วงอายุไม่เกิน 45 ปีเหมือนเดิม ทำให้คนวัยกลางคนไปจนถึงช่วง 50 ปี หางานได้ยากขึ้น หมายความว่าหากพวกเขา “ตกงาน” ในช่วงตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พวกเขาแทบจะไม่มีโอกาสหางานใหม่ได้เลย แม้ว่าพวกเขาจะยังสามารถทำงานได้ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่ และอาจมีประสบการณ์มากกว่าด้วยซ้ำ

  • แรงงานวัย 50+ หางานทำยาก

คณะกรรมการฝีมือแรงงานแห่งชาติของออสเตรเลีย ระบุว่าในปี 2020 คนรุ่นใหญ่ว่างงานโดยเฉลี่ย 76 สัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าครึ่งหนึ่งของคนหนุ่มสาวที่ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 33 สัปดาห์เท่านั้น ถึงจะได้งานใหม่ ส่วนคนที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปีใช้เวลา 54 สัปดาห์

ขณะที่รายงานของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกพบว่า สหรัฐ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีงานรองรับผู้สูงอายุมากที่สุดประเทศหนึ่ง ในช่วงปี 1990-2020 มีการจ้างงานในกลุ่มอาชีพที่เป็นมิตรต่ออายุ (age-friendly jobs) เพิ่มขึ้น 33.1 ล้านตำแหน่ง แต่กลับมีเพียง 15.2 ล้านคนเท่านั้นที่เป็นแรงงานที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป 

นอกจากนี้ ในรายงานยังพบว่า กลุ่มคนที่เรียนไม่จบปริญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ชายที่มีวุฒิการศึกษาไม่ถึงระดับปริญญามักจะไม่ได้รับตำแหน่งงานที่เปิดให้แก่ผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงได้รับเลือกให้ทำงานด้านนี้มากกว่า เพราะส่วนหนึ่งผู้หญิงต้องดูแลผู้สูงอายุภายในครอบครัวด้วย

ทั้งนี้ “งานที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ” เป็นงานที่ให้อิสระในการทำงาน มีกิจกรรมร่วมกับองค์กรในระดับปานกลางมากกว่า ตารางานสามารถยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนต่อการทำงานได้ มีระยะการเดินทางสั้นกว่า และสามารถใช้การสื่อสารทางไกลได้ โดยตัวอย่างของงานประเภทนี้ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล พนักงานขายประกัน พนักงานต้อนรับ และตัวแทนจองห้องพัก

เพื่อให้ได้งานเหล่านี้มา และมีการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น แรงงานสูงวัยหลายคนยินดีที่จะลดค่าจ้างของตนลง 20% เลยทีเดียว

  • เหยียดวัยในที่ทำงาน

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทต้องลดทุนเพื่อให้บริษัทอยู่รอด ด้วยการปลดพนักงานออก และพนักงานกลุ่มแรกที่มักจะโดนให้ออกก่อนก็คือ พนักงานรุ่นใหญ่ โดยมาพร้อมกับข้อเสนอเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปรกติ หลายบริษัทขาดแคลนแรงงาน จำเป็นต้องกลับมาเปิดรับพนักงานอีกครั้ง ซึ่งมาพร้อมกับข้อเสนองานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่อย เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานทุกวัยเอาไว้ ทำให้แรงงานสูงวัยกลับมามีทางเลือกอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน แรงงานวัย 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มีความคิดอยากกลับไปทำงานอีกครั้ง เนื่องจากในปัจจุบันมีค่าครองชีพสูง สวนทางกับรายได้ที่พวกเขามี นอกจากนี้ยังไม่มีเงินเก็บเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหลังเกษียณอีกด้วย

เมื่อรับแรงงานผู้สูงวัยเข้ามาแล้ว นายจ้างจำเป็นจะต้องฝึกอบรม และรักษาผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันของคนหลากหลายวัย เพราะในตอนนี้สถานที่ทำงานประกอบไปด้วยผู้คนหลายรุ่น ทั้งเบบีบูมเมอร์ เจน X เจน Y และเจน Z ที่สำคัญจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับอายุที่ไม่ก่อให้เกิดการเหยียดวัยในสถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ “วัยวุฒิ” ข่มเหงเด็กรุ่นใหม่ หรือ ใช้การก้าวทันโลกกดทับคนรุ่นเก่า

จากผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกระบุว่า การเหยียดอายุส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุแย่ลง ส่งผลให้เกิดความโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงาเพิ่มยิ่งขึ้น คุณภาพชีวิตแย่ลง และเกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และเป็นต้นตอของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ 6.3 ล้านคนทั่วโลก

แอนดรูว์ สก็อตต์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์จาก London Business School กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ พากันรับสมัครงานที่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัยมากขึ้น แต่กลับไม่มีนโยบายหรือสวัสดิการที่รองรับพนักงานกลุ่มนี้เท่าที่ควร”

 

  • เคล็บลับในการหางานสำหรับแรงงานวัยเก๋า

อายุที่มากขึ้นเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แต่คุณสามารถนำประสบการณ์ที่สะสมมาและคอนเน็กชันที่คุณมีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นเครื่องมือสร้างการยอมรับต่อนายจ้างได้ แต่ก่อนอื่นคุณจำเป็นต้องสำรวจในตลาดงานก่อนว่า ในแวดวงอุตสาหกรรมที่คุณต้องการนั้น เปิดรับกลุ่มผู้สูงวัยเข้าทำงานอยู่หรือไม่ ซึ่งตรวจสอบได้จากนโยบาย ESG ที่เป็นการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลขององค์กร (Environmental, Social and Governance) ซึ่งข้อปฏิบัติหรือนโยบายขององค์กรที่มีต่อพนักงานสูงอายุจะอยู่ในหมวดสังคม (S)

เมื่อเข้าสัมภาษณ์งาน คุณควรต้องบอกถึงข้อดีและสิ่งที่คุณจะมอบให้แก่องค์กรในฐานะพนักงานที่มากไปด้วยประสบการณ์ และกล่าวให้นายจ้างรู้ว่าหากคุณได้งานแล้ว คุณยินดีที่จะอยู่กับบริษัทนี้หลายปี หรืออาจจะจนถึงวันเกษียณ เนื่องจากโอกาสในการเปลี่ยนงานของพนักงานสูงวัยนั้นมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ อีกทั้งอาจจะกล่าวว่า พนักงานรุ่นน้องจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานของคุณ และช่วยหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในการทำงานได้ ทำให้พวกเขามองว่าคุณเป็น “ขิงแก่” มากกว่า “ไม้ใกล้ฝั่ง” 


ที่มา: ABCBusiness InsiderForbesMake Use Of