“เหยียดวัย” ในที่ทำงาน ไม่ใช่เรื่องเล่น! ระวังจบไม่สวยเสียเงินหลักล้าน

“เหยียดวัย” ในที่ทำงาน ไม่ใช่เรื่องเล่น! ระวังจบไม่สวยเสียเงินหลักล้าน

ย้อนคดี “เหยียดวัย” ในที่ทำงาน เมื่ออดีตผู้บริหารวัย 58 ปี ฟ้องบริษัทเก่า หลังโดนซีอีโอเหยียดกลางที่ประชุมว่า "เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ที่ไม่มีปัญญาจัดการคนมิลเลนเนียล" สุดท้ายชนะคดีได้เงินชดเชยหลักล้าน พร้อมทำความเข้าใจการเหยียดวัยคืออะไร ทำไมต้องให้ความสำคัญ

+กลายเป็นเรื่องใหญ่เมื่อ เกล็นน์ โควี วัย 58 ปี อดีตผู้บริหารระดับสูงของ Vesuvius บริษัทวิศวกรรมระดับโลก วัย 58 ปี ชนะคดีความบริษัทเก่าที่เขาทำงานมาเกือบ 40 ปี หลังถูก แพทริค อังเดร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท เหยียดโควีกลางที่ประชุมว่า “เป็นพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี” ไม่รู้วิธีการรับมือกับพนักงานรุ่นมิลเลนเนียล ทำให้โควียื่นฟ้องบริษัทโดยกล่าวว่า “บริษัทมีอคติอย่างลึกซึ้งต่อพนักงานอาวุโส นำมาสู่การเลือกปฏิบัติต่อพนักงานและถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม”

หลังจากต่อสู้ในชั้นศาล สุดท้ายเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ศาลกรุงลอนดอนได้ตัดสินให้ Vesuvius จ่ายเงินชดเชยเบื้องต้นให้กับโควี 34,407 ปอนด์ หรือประมาณ 1,390,619 บาท และเขาจะได้รับเงินชดเชยเพิ่มเติมอีกในภายหลัง

“ประการแรก อังเดรแสดงความเห็นในทางลบเกี่ยวกับอายุของโควี ประการที่สองพฤติกรรมการเหยียดโควีในที่ประชุม เป็นการคุกคามและสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เป็นมิตรต่อโควีเป็นการส่วนตัว” ผู้พิพากษาแอดคินกล่าว

นอกจากนี้ ในเดือนก.ย. 2561 อังเดรชี้แจงต่อคณะกรรมการของบริษัทว่าโควียังทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ และมีเวลาอีก 6 เดือนในการปรับปรุง โดยไม่ได้แจ้งให้นายโควีทราบ ในที่สุดโควีก็ถูกให้ออกจากงานในเดือนส.ค. 2562 โดยที่ไม่มีการหารือกับโควีมาก่อน

"มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบรรยายความปวดร้าวทางจิตใจทั้งหมดที่ผมกำลังเผชิญอยู่อย่างทุกข์ทรมานจากการเลือกปฏิบัติของบริษัท ทั้งที่ผมอุทิศชีวิตกว่า 37 ปีให้กับบริษัท ผมเสียความมั่นใจ ผมรู้สึกว่าตัวเองตกต่ำ ผมต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” โควีกล่าวในการพิจารณาคดีครั้งล่าสุด 

ศาลตัดสินให้บริษัทต้องจ่ายเงินให้โควีอีก 20,000 ปอนด์ หรือ 809,600 บาท เพื่อเป็น “ค่าเยียวยาสภาพจิตใจ” และจะมีการพิจารณาค่าชดเชยเพิ่มเติมจากการสูญเสียรายได้และโอกาสของเขาอีกครั้ง

ทางด้านโฆษกของบริษัท Vesuvius กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินคดีในครั้งนี้ และกำลังอยู่ในการตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ พร้อมยืนกรานว่า โควีไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติจากอายุของเขาอย่างแน่นอน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่พนักงานถูกไล่ออกหรือถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะอายุที่มากขึ้น ก่อนหน้านี้ 2 ผู้เข้าสมัครที่สอบตกในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2564 ของสหราชอาณาจักร ถูกกระทรวงการคลังตัดสิทธิ์ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากการเป็นสมาชิกของทินวัลด์ (Members of Tynwald [Resettlement Grant]) เนื่องจากพวกเขา “มีอายุมากเกินไป” ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วทั้งคู่ยื่นฟ้องต่อศาลและชนะคดีจนได้รับเงินชดเชยคนละ 22,561 ปอนด์ หรือประมาณ 914,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกเคสที่ผู้ถูกเหยียดจะชนะคดี หญิงชาวสก็อตรายหนึ่งถูกเพื่อนร่วมงานตั้งฉายาให้ว่า “คริสติน ลาการ์ด” ประธานธนาคารกลางสหภาพยุโรป (European Central Bank) เพราะเธอมีผมสีขาวเหมือนกับลาการ์ด ซึ่งทำให้เธอไม่พอใจและตัดสินใจฟ้องบริษัท โดยอ้างว่าเธอตกเป็นเหยื่อของ “วัฒนธรรมการกีดกันทางเพศและการเหยียดอายุ” และถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมงาน ก่อนที่เธอจะถูกปลดออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา แต่ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า “ถึงแม้ว่าการตั้งฉายาให้นี้จะสร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในที่ทำงาน แต่ก็เกิดขึ้นเพียงบางครั้งคราวเท่านั้น”

  • การเหยียดวัยส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ

จากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การเหยียดอายุ (Ageism) เป็นทัศนคติแบบเหมารวมและตัดสินด้วยอคติว่าแต่ละช่วงวัยควรมีคุณลักษณะอย่างไร จนทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นไปได้ทั้งในกรณีที่ผู้อาวุโสใช้ “วัยวุฒิ” ข่มและ “กดทับเด็กใหม่” หรือ มองว่าเด็กใหม่ไม่ประสีประสา ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่อาจจะใช้ทัศนคติและการก้าวทันโลกกดทับคนรุ่นเก่า หรือมองว่าคนรุ่นเก่านั้นเป็นภาระของตน ซึ่งพบได้มากที่สุดในที่ทำงาน เนื่องจากมีคนหลายช่วงวัยมารวมตัวกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ชาวเจน Z เข้าสู่ตลาดงาน ยิ่งทำให้ความหลากหลายระหว่างวัยในที่ทำงานมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผลวิจัยจาก WHO พบว่าการเหยียดอายุในผู้สูงอายุส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตแย่ลง ส่งผลให้เกิดความโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงาเพิ่มยิ่งขึ้น คุณภาพชีวิตแย่ลง และเกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดย WHO คาดการณ์ว่าการเหยียดอายุนี้เป็นต้นตอของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ 6,300,000 คนทั่วโลก

ขณะที่ รายงานจากสหประชาชาติเรื่อง “The Global report on ageism” เผยแพร่เมื่อ มี.ค. 2564 ระบุว่า สามารถพบคนที่มีทัศนคติแบบเหยียดวัยตั้งแต่ปานกลางไปจนถึงสูง ในทุก ๆ 2 คนบนโลก โดยกลุ่มประเทศรายได้น้อย ถึง ปานกลางค่อนข้างน้อย  ในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ทวีปแอฟริกา มีทัศนคติเหยียดวัยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่ความถดถอยของสุขภาพกาย สุขภาพใจ และระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทำให้แต่ละประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี ทั้งเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียโอกาสที่ผู้สูงอายุสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้

 

  • ผู้หญิงโดนเหยียดวัยมากกว่าผู้ชาย

แคเธอรีน แซนด์ฟอร์ด ซีอีโอของบริษัทจัดหางานและฝึกสอนอาชีพนิวซีแลนด์ แม้จะเป็นผู้สูงอายุเหมือนกัน แต่การปฏิบัติต่อชายสูงอายุกับหญิงสูงอายุนั้นยังคงแตกต่างกัน เห็นได้จากเคสการฟ้องร้องที่สกอตแลนด์ที่ถึงแม้เธอจะเห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล แต่เธอก็สังเกตได้เห็นถึงการไม่ให้เกียรติหญิงสูงวัยในที่ทำงานมากกว่าผู้ชาย

หากผู้ชายอยากจะทำผมสีดอกเลา แบบจอร์จ คลูนีย์ คนส่วนใหญ่ก็คงชมว่าเป็นแดดดี้ ดูถึงแม้ว่าจะแก่แล้วแต่ก็ยังดูดี ให้ความนิยมเชิงบวก แต่ถ้าหากผู้หญิงทำบ้าง หรือปล่อยให้มีผมหงอก จะถูกมองว่าแก่ และไม่ดูแลตัวเองทันที และถูกนำไปล้อเลียนเหมือนกับกรณีที่สกอตแลนด์ ซึ่งเป็นการพูดถึงในเชิงลบและบั่นทอนจิตใจ

ขณะที่ การสำรวจโดย Chartered สถาบันบุคลากรและการพัฒนา พบว่าผู้หญิง 59% ที่มีอาการวัยหมดประจำเดือนกล่าวว่าการหมดประจำเดือนสร้างผลกระทบด้านลบต่อการทำงาน สอดคล้องกับ การสำรวจของสมาคมการแพทย์อังกฤษ ที่พบว่าการหมดประจำเดือนส่งผลให้ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากตัดสินใจลดชั่วโมงการทำงาน รวมถึงตั้งใจจะเกษียณอายุก่อนกำหนด

การค้นพบที่น่าตกใจเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ภาวะหมดประจำเดือนสามารถเชื่อมโยงกับการเกษียณอายุก่อนกำหนดของผู้หญิง ทั้งที่กำลังอยู่จุดสูงสุดของอาชีพของพวกเธอ  ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ความหลายทางเพศและอายุของพนักงานลดน้อยลง และทำให้เกิดช่องว่างของอัตราค่าแรงและเงินออมหลังเกษียณของแต่ละเพศอีกด้วย

อีกทั้ง ผู้หญิงส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาเหล่านี้ เพราะกลัวว่าจะเกิดการเลือกปฏิบัติ หรือถูกมองว่ามีความสามารถในการทำงานที่น้อยกว่าคนอื่น จึงทำให้พวกเธอตัดสินใจที่จะออกจากงานในท้ายที่สุด

จะเห็นได้ว่า “การเหยียดวัย” นั้นส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและใจของผู้ถูกกระทำ อีกทั้งเป็นการปิดกั้นโอกาสได้ไม่แตกต่างจากการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ แต่กลับเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงทั้ง ๆ ที่มันฝังรากลึกอยู่โดยที่เราไม่ได้รู้ตัวด้วยซ้ำ


ที่มา: มนุษย์ต่างวัยสสส., BBCNZ BusinessTelegraphThe GuardianThe Story Exchange