‘ขับเบนซ์’ เท่ากับ ‘รวย’ วิถีเห่อรถหรูในเกาหลีใต้ ‘รถเยอรมัน’ ครองแชมป์

‘ขับเบนซ์’ เท่ากับ ‘รวย’ วิถีเห่อรถหรูในเกาหลีใต้ ‘รถเยอรมัน’ ครองแชมป์

ทุบสถิติ! ยอดนำเข้ารถต่างประเทศ “เกาหลีใต้” สูงเกือบ 300,000 คันในปี 2022 “Mercedes-Benz” ครองแชมป์ 7 ปีซ้อน สะท้อนภาพตัวแทนความหรูหราและความสำเร็จของชาวเกาหลี

Key Points;

  • 70% ของรถที่นำเข้าทั้งหมดนั้น เป็นรถยนต์ที่ผลิตในเยอรมนี ซึ่งอันดับที่ 1 ยังคงเป็น Mercedes-Benz ซึ่งครองยอดขายอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 ด้วยยอดขาย 80,976 คัน 
  • Mercedes-Benz ถูกใช้เป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหรา มีระดับ ร่ำรวย และความสำเร็จขั้นสูงสุดมาจนถึงปัจจุบัน
  • ชาวเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับ “ภาพลักษณ์” ถ้าเป็นไปได้พวกเขาจึงพยายามเลือกซื้อรถนำเข้าจากต่างประเทศ จนมีคำศัพท์ใหม่ว่า “ฮาชากัม” (hachagam) ซึ่งเป็นความรู้สึกเมื่อคุณก้าวออกมาจากรถหรูแล้วมีคนมองมาด้วยความอิจฉา 

ดูซีรีส์เกาหลีเรื่องไหนๆ ก็มักเห็นตัวละครขับรถหรูแบรนด์ดังจากฝั่งตะวันตก จนอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วในความจริงเป็นแบบนั้นหรือไม่? เพราะนอกจาก KPOP จะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเกาหลีใต้แล้ว ยังมีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และกลายเป็นแบรนด์รถยนต์ที่คนทั่วโลกต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี 

ไม่ว่าจะเป็น “Hyundai” และ “KIA” ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 2 แบรนด์ต่างติดตลาดในเกาหลีใต้และกลายเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดของเกาหลีใต้เสมอ โดยในปีที่แล้ว Hyundai ทำยอดขายเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 553,839 คัน ขณะที่ KIA ทำยอดขายตามมาด้วย 541,068 คัน

แต่ก็ใช่ว่าชาวเกาหลีใต้จะไม่นิยมใช้รถจากต่างประเทศเลย ในปี 2022 ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ มียอดขายรถยนต์นำเข้าพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 300,000 คัน โดยสาเหตุหลักมาจากความอัดอั้นและความต้องการรถยนต์หรูในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 

  • ‘รถเยอรมัน’ ยอดนิยมในเกาหลีใต้

ข้อมูลจากสมาคมผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เกาหลี (Korea Automobile Importers and Distributors Association) ระบุว่า ยอดขายของแบรนด์รถยนต์นำเข้าในปี 2565 มีจำนวน 283,435 คัน เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับยอดขายของปีที่แล้ว เมื่อรวมกับยอดขายรถ Tesla จำนวน 14,571 คัน (เป็นจำนวนที่สมาคมฯ ไม่ได้นับรวม) จำนวนรถยนต์ที่นำเข้าทั้งหมดจะอยู่ 298,006 คัน เพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 10 ปีที่แล้ว

สิ่งที่น่าสนใจคือ 70% ของรถที่นำเข้าทั้งหมดนั้น เป็นรถยนต์ที่ผลิตในเยอรมนี ซึ่งอันดับที่ 1 ยังคงเป็น Mercedes-Benz ซึ่งครองยอดขายอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 ด้วยยอดขาย 80,976 คัน เพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อนหน้า 

อันดับสองเป็นของ BMW มียอดขายเพิ่มขึ้น 19.6% อยู่ที่ 78,545 คัน ขณะที่ Audi ทำยอดขายไปได้ 21,402 คัน และ Volkswagen ขายไปได้ทั้งสิ้น 15,791 คัน

ขณะที่ 10 อันดับรุ่นรถยนต์นำเข้าที่ทำยอดขายสูงสุดในเกาหลีใต้ พบว่า มีถึง 9 รุ่นที่เป็นรถจากเยอรมนีที่ติดอันดับ ประกอบไปด้วย Mercedes-Benz 3 รุ่น รวมถึงรุ่นที่ขายที่สุด คือ Mercedes-Benz E250 ขายไปได้ 12,172 คัน ส่วน BMW ติดอันดับรถยนต์ที่ขายดีที่สุดถึง 5 รุ่น ด้าน Audi ติด 1 รุ่น ส่วนอีกหนึ่งอันดับที่ไม่ใช่แบรนด์ของเยอรมนีเป็นของ Lexus

ด้วยจำนวนยอดนำเข้าที่สูงถึง 187,934 คัน ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่นำเข้ายานยนต์จากสหภาพยุโรปมากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ข้อมูลจาก สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งยุโรป หรือ ACEA (The European Automobile Manufacturers’ Association) ระบุว่าในปี 2022 เกาหลีใต้นำเข้ารถยนต์จากสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึง 24.9% คิดเป็น 3% ของยอดส่งออกทั้งโลก

ขณะที่แบรนด์รถยนต์นำเข้ามียอดสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ แต่ยอดขายรถเกาหลีอย่าง Hyundai Motor, KIA, GM Korea, Renault Korea และ KG Mobility ที่พึ่งเปลี่ยนชื่อมากจาก “ซังยอง มอเตอร์” (SsangYong Motors) กลับลดลงทำสถิติต่ำสุดตลอดกาลนับตั้งแต่ปี 2013 ด้วยยอดขายเพียง 1.39 ล้านคัน ลดลง 3.2% 

 

  • Benz สัญลักษณ์แห่งความหรูหรา

Mercedes-Benz เข้ามาขายในเกาหลีใต้ครั้งแรกในปี 1985 โดยมี Han Sung Motor เป็นตัวแทนจำหน่าย ก่อนที่แบรนด์รถยนต์สัญชาติเยอรมันจะเริ่มเปิดการขายอย่างเป็นทางการในเกาหลีใต้เมื่อปี 1987 ที่รัฐบาลเกาหลีใต้ยกเลิก มาตรการกีดกันและการปกป้องทางการค้า (Trade Protectionism) เพื่อให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำการค้าในประเทศได้

Mercedes-Benz จึงเป็นแบรนด์รถยนต์จากต่างประเทศรายแรก ๆ ที่เข้ามาทำตลาดในเกาหลีใต้ โดยไม่ได้มาด้วยรุ่น C-Class ที่มีราคาย่อมเยา แต่เปิดตัวด้วยรุ่น S-Class 560 SEL ซึ่งเป็นตัวท็อปในขณะนั้น ในราคาสูงกว่า 200 ล้านวอน ซึ่งราคาเทียบเท่ากับบ้านหรูในกรุงโซลในช่วงปี 1980

นอกจากนี้ Benz มักถูกใช้เป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีเกาหลีใต้อยู่เสมอ ตั้งแต่สมัยของอดีตประธานาธิบดีคิม แด-จุง ตั้งแต่ยุค 90 มาจนถึงปัจจุบัน   ดังนั้น โลโก้ดาว 3 แฉกของ Mercedes-Benz จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหรา มีระดับ ร่ำรวย และความสำเร็จขั้นสูงสุดของชาวเกาหลีใต้มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นรถที่คนเกาหลีใต้ใฝ่ฝัน เพราะว่ารู้จักมานานและคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก แม้ว่าในตอนนี้จะมีรถที่ราคาแพงกว่าก็ตาม

ชาวเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับ “ภาพลักษณ์” กลัวว่าคนอื่นจะมองตนเองไม่ดี ตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกไปจนถึง “รถยนต์” ที่เลือกใช้ ถ้าเป็นไปได้พวกเขาจึงพยายามเลือกซื้อรถนำเข้าจากต่างประเทศ จนมีคำศัพท์ใหม่ว่า “ฮาชากัม” (hachagam) ซึ่งเป็นความรู้สึกเมื่อคุณก้าวออกมาจากรถหรูแล้วมีคนมองมาด้วยความอิจฉา โดยเป็นการเล่นคำมาจาก “ซึงชากัม” (seungchagam) ซึ่งหมายถึงระดับความสะดวกสบายที่คุณรู้สึกได้ขณะขับรถ

คิม พิล-ซู  ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมยานยนต์แห่งมหาวิทยาลัยแดลิม กล่าวว่า “คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ ฮาชากัม มากกว่า ซึงชากัม นี่เหตุผลว่าทำไมคนเกาหลีจึงเลือกใช้แบรนด์รถยนต์นำเข้ามากกว่ารถยนต์ของเกาหลีใต้ เพราะต้องการได้รับความสนใจจากผู้อื่น

 

  • คนเกาหลี “พอใจ” รถ Lexus จากญี่ปุ่นมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้รถยุโรปจะเติบโตดีในเกาหลีใต้ แต่ถ้ามองไปที่ “ความพึงพอใจ” ในแบรนด์ จากการสำรวจของหนังสือพิมพ์ Korea Economic Daily ที่สอบถามผู้ขับขี่ 1,100 คนในรถยนต์นำเข้าที่ขายดีที่สุด 15 อันดับของเกาหลีใต้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 พบว่า ชาวเกาหลีใต้ยกให้ “Lexus” แบรนด์รถยนต์ระดับพรีเมียมของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Toyota Corp. เป็นแบรนด์ที่มีบริการหลังการขายที่ดีที่สุดในบรรดารถยนต์นำเข้าในเกาหลีใต้ ด้วยคะแนน 73.61% คะแนนเต็ม 100 รับคะแนนสูงสุดในด้านความพึงพอใจของผู้บริโภค สำหรับการระบุปัญหาที่แม่นยำและบริการซ่อมแซมที่รวดเร็ว 

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ Lexus สามารถขึ้นมาอันดับ 1 ในการสำรวจดังกล่าว หลังจากการสำรวจคราวที่แล้วรั้งอันดับ 2 ส่วนอันดับที่ 2 ในการสำรวจครั้งนี้ตกเป็นของ Volvo จากสวีเดน ด้วยคะแนน 75.3% และตามมาด้วย Porsche แบรนด์รถสปอร์ตสัญชาติเยอรมัน 74.4%

ผลสำรวจในครั้งนี้สวนทางกับค่านิยมของคนเกาหลีที่นิยมรถยนต์จากเยอรมนี โดย Mercedes-Benz หล่นไปอยู่อันดับที่ 5 ด้วยคะแนน 73.6 ตกจากอันดับ 3 ในการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ส่วน Audi ตกลงไป 2 อันดับมาอยู่อันดับที่ 12 ด้าน BMW อยู่อันดับที่ 13 ขณะที่ Volkswagen และ Peugeot อยู่ครองอันดับที่ 14 ร่วมกันซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุด

อี ฮยอง-แจ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยกุกมิน (Kookmin University) และหัวหน้าคณะกรรมการประเมินกล่าวว่า การที่แบรนด์ที่ขาดศูนย์บริการและช่างซ่อมบำรุงในเกาหลีสร้างผลกระทบต่อความพึงพอใจของผู้บริโภค 

เมื่อถามคนเกาหลีใต้ว่าต้องการ “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ EV แบรนด์ใดมากที่สุด พบว่าอันดับ 1 เป็นของ Tesla ที่ 18.3% ตามมาด้วย Mercedes-Benz ที่ 17.3% นอกจากนี้ยังพบว่าราวครึ่งหนึ่งของผู้ที่เป็นเจ้าของรถแบรนด์ต่างประเทศในเกาหลีใต้ตั้งใจจะซื้อ EV ภายใน 5 ปีข้างหน้า

ขณะที่ ศาสตราจารย์พิล-ซู กล่าวว่าแบรนด์รถยนต์นำเข้ามียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมากจากความต้องการของผู้บริโภคที่ล้นหลามในช่วงยุคโควิด-19 ที่ทำให้การขนส่งต้องหยุดชะงัก ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนชิปและซัพพลายเชนทำให้การผลิตล่าช้า จนส่งผลให้ผู้ซื้อต้องสินค้าเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ราคาของรถหรูจากต่างประเทศกับรถตัวท็อปของแบรนด์เกาหลีก็มีราคาไม่ต่างกันมาก ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นเหลือข้อได้เปรียบเพียงอย่างเดียวคือ ได้รับสินค้าเร็วกว่าเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม พิล-ซูกล่าวว่า ในปีนี้แบรนด์รถยนต์ต่างประเทศอาจไม่ได้ทำยอดขายมากเท่ากับปีที่แล้ว เนื่องจากปีนี้ไม่มีอานิสงส์ของความต้องการรถยนต์ที่เอ่อล้นในยุคโควิด-19 มาช่วยแล้ว อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ การกู้เงินเพื่อซื้อรถแพงขึ้นและยากมากขึ้น ซึ่งจะมีเพียงผู้ผลิตรถยนต์ระดับท็อปเท่านั้นที่สามารถเติบโตได้แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว
 

ที่มา: ACEACEICFocus 2 MoveThe Korea Economy DailyKorea Herald1Korea Herald2Korea Herald3