'ภัยแล้ง' จาก 'เอลนีโญ' ปีนี้ อาจลากยาวถึงปี 2567 คนไทยรับมืออย่างไร?

'ภัยแล้ง' จาก 'เอลนีโญ' ปีนี้ อาจลากยาวถึงปี 2567 คนไทยรับมืออย่างไร?

ประเด็นดาราแต่งงาน เพื่อนบ้านทะเลาะกัน ตอนนี้อาจไม่สำคัญเท่าการเฝ้าระวัง "ภัยแล้ง" จาก "เอลนีโญ" ที่กำลังมาเยือนคนไทยปลายปีนี้ และอาจลากยาวไปจนถึงปี 2567

Key Points:

  • สภาพอากาศปีนี้ ไม่ใช่แค่ร้อนมากเป็นประวัติการณ์เท่านั้น แต่ไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก กำลังจะเผชิญกับปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่อาจรุนแรงขึ้นและกินเวลายาวนานไปถึงต้นปี 2567
  • เอลนีโญ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “El Niño – Southern Oscillation” เรียกอย่างสั้นว่า “ENSO” หมายถึง ความผันผวนซึ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ 
  • ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ ภัยแล้งหนัก ฝนขาดช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรจะแย่ลง ฝูงปลามีจำนวนลดลง นกชายฝั่งขาดอาหาร ชาวประมงขาดรายได้ เป็นต้น

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาสภาวะอากาศร้อนรุนแรงมากกว่าทุกปี เนื่องจากโดน “Monster Asian Heatwave” เล่นงาน จนทำให้อุณหภูมิในไทยบางพื้นที่พุ่งสูงทะลุ 44.6 องศาเซียลเซียส 

ประกอบกับข้อมูลจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ที่รายงานว่า พื้นที่ทั่วโลกในปี 2566 ทำลายสถิติอากาศร้อนที่สุดในรอบ 174 ปี โดยอุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +0.87 °C สูงขึ้นมากกว่าปี 2000 ซึ่งอยู่ที่ +0.34 °C เท่านั้น

ไม่ใช่แค่ร้อนมากเป็นประวัติการณ์เท่านั้น แต่ปีนี้ประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังจะเผชิญกับปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่อาจรุนแรงขึ้นและกินเวลายาวนานมากขึ้นด้วย 

 

  • เอลนีโญ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?

จริงๆ แล้ว “เอลนีโญ-ลานีญา” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยอาจจะเกิดขึ้นทุกๆ 3-4 ปี สลับหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ โดยช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ โลกเราเพิ่งจะผ่านพ้นสภาพอากาศแบบ “ลานีญา” ไปหมาดๆ มาปีนี้เรากำลังจะเข้าสู่สภาพอากาศแบบ “เอลนีโญ” ซึ่งส่งผลให้เกิด “ภัยแล้ง” ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย

\'ภัยแล้ง\' จาก \'เอลนีโญ\' ปีนี้ อาจลากยาวถึงปี 2567 คนไทยรับมืออย่างไร?

สำหรับ เอลนีโญ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “El Niño – Southern Oscillation” เรียกอย่างสั้นว่า “ENSO” หมายถึง ความผันผวนซึ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ 

ในสภาวะปกติของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ จะมี “กระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิก” พัดจากทิศตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ชายฝั่งประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้) ไปทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อินโดนีเซียและออสเตรเลีย) เป็นสภาพอากาศที่สมดุลทั้งกระแสลมและกระแสน้ำอุ่นในทะเล

แต่ถ้าปีไหนเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” จะพบว่ามหาสมุทรแปซิฟิกมีความกดอากาศและอุณหภูมิที่ผิดปกติไปจากเดิม ทำให้ “กระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิก” อ่อนกำลังลง เกิดกระแสลมเปลี่ยนทิศเป็นตรงกันข้าม คือ พัดจากทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อินโดนีเซียและออสเตรเลีย) ไปทางทิศตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ชายฝั่งประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้) เมื่อกระแสลมเปลี่ยนทิศ ก็ทำให้ “กระแสน้ำอุ่น-น้ำเย็น” แปรปรวนและไหลผิดทิศทางไปด้วย

 

  • ผลกระทบของ “เอลนีโญ” จะเกิดภัยพิบัติอะไรขึ้นบ้าง?  

จากการเปลี่ยนทิศทางของกระแสลมและกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ดังกล่าว ทำให้มีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ

1. ทางฝั่งของอินโดนีเซียและออสเตรเลีย (ใกล้กับไทย) : จะเกิดภัยแล้งหนัก ฝนขาดช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รวมถึงระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรจะแย่ลง ฝูงปลามีจำนวนลดลง นกชายฝั่งขาดอาหาร ชาวประมงขาดรายได้

2. ทางชายฝั่งประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ : จะเกิดพายุฝนอย่างหนัก อาจมีน้ำท่วมและดินถล่มอย่างรุนแรง 

\'ภัยแล้ง\' จาก \'เอลนีโญ\' ปีนี้ อาจลากยาวถึงปี 2567 คนไทยรับมืออย่างไร?

โดยปกติเอลนีโญจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี (พฤศจิกายน-ธันวาคม) ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของทางซีกโลกใต้ อย่างไรก็ตาม “เอลนีโญ” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีคาบเวลาที่แน่นอน ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี ขณะที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งอาจกินเวลา 2 - 3 เดือน หรือสามารถเกิดได้นานกว่านั้น อาจยาวนานถึง 12-18 เดือน

แต่ที่น่ากังวลในปีนี้ก็คือ มีรายงานพยากรณ์อากาศจาก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ มีโอกาส 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ และภายในสิ้นเดือนกันยายน 2566 มีโอกาสมากถึง 80% ที่จะเกิดเอลนีโญ ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย ก็มีพยากรณ์ออกมาในทิศทางเดียวกัน คือ คาดการณ์ปี 2566 ไทยมีแนวโน้มจะพบปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน และจะเกิดขึ้นยาวนานไปถึงปี 2567 

ส่วนฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้มาช้ากว่าปกติเล็กน้อย และปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5% อีกทั้งจะมี “ฝนทิ้งช่วง” ในเดือนมิถุนายน - กลางเดือนกรกฎาคม 2566 ทำให้เกิดภัยแล้งซ้ำซากบริเวณนอกเขตชลประทาน อาจเกิดการขาดแคลนน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้ในหลายพื้นที่

 

  • คนไทยควรตั้งรับสถานการณ์ "ภัยแล้ง" ในปีนี้อย่างไร?

จากการพยากรณ์ข้างต้น เรียกได้ว่าเอลนีโญมาเยือนคนไทยแน่ๆ แม้จะมีกำลังอ่อน แต่ก็ควรเตรียมรับมือกับ “ภัยแล้ง” ที่จะมาถึงในปีนี้ให้ดี ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็คือ “กรมชลประทาน” โดยก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่า ทางกรมฯ ได้เตรียมแผนรับมือเพื่อลดผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวไทย อธิบดีกรมฯ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญให้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด 

\'ภัยแล้ง\' จาก \'เอลนีโญ\' ปีนี้ อาจลากยาวถึงปี 2567 คนไทยรับมืออย่างไร?

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกร ได้แนะแนวทางการรับมือเอลนีโญไว้ว่า ในส่วนของภาครัฐ ควรจัดหาแหล่งน้ำสำรอง บริหารจัดการน้ำเร่งด่วน และเตรียมเครื่องมือที่จะใช้แก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน ขณะที่ในส่วนของเกษตรกร ควรลดต้นทุนการผลิต ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี และเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น อีกทั้งยังได้คาดการณ์ปริมาณ "ข้าวนาปี-นาปลัง" ของไทยในปีนี้ พบว่าผลผลิตจะอยู่ที่ -33.2 ล้านตัน (ข้าวเปลือก) ซึ่งน้อยลงจากปีก่อน อยู่ที่ -0.6% ถึง 0.9% โดยเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปก็ควรเตรียมรับมือภัยแล้งด้วยเช่นกัน โดยในระยะใกล้ ควรช่วยกันประหยัดทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอในช่วงภัยแล้งปีนี้ ส่วนระยะยาว ก็หนีไม่พ้นการช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอนที่เป็นตัวการทำให้สภาพอากาศแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน เพราะยิ่งโลกร้อนมากขึ้น ผลกระทบจากเอลนีโญก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ยืนยันจากงานวิจัยจากทีมนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters เมื่อปีที่แล้ว ชี้ชัดว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ที่เกิดถี่ๆ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานั้น เกิดจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าจะเป็นวงจรตามธรรมชาติ และคาดว่าต่อไปในอนาคต "เอลนีโญ" จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าลานีญา ทั้งคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิกหลังจากนี้

---------------------------------------
อ้างอิง : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ฯ, GISTDA, กรมชลประทาน, KasikornResearch, Thai PBS, BBC, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม