3 มิถุนายน "วันวิสาขบูชา 2566" เปิดประวัติและหาคำตอบ ต้องเวียนเทียนไหม?

3 มิถุนายน "วันวิสาขบูชา 2566" เปิดประวัติและหาคำตอบ ต้องเวียนเทียนไหม?

"วันวิสาขบูชา 2566" ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนาระดับโลกที่ได้รับการยอมรับจาก UN ซึ่งชาวพุทธนิยมไป "เวียนเทียน" เสริมสิริมงคล ทั้งยังเป็น "วันหยุดราชการ" ซึ่งจะไปหยุดชดเชยให้ในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน

"วันวิสาขบูชา" เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนาระดับโลกที่ได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยปีนี้ "วันวิสาขบูชา 2566" ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน และยังเป็นวันเดียวกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระราชินีฯ อีกด้วย ชวนพุทธศาสนิกชนชาวไทยรู้จักประวัติวันวิสาขบูชา และความสำคัญของการ "เวียนเทียน" โดยแต่ละปีจะมีวันสำคัญทางศาสนาที่เวียนได้เพียง 4 ครั้งเท่านั้น 

1. "วันวิสาขบูชา" วันสำคัญระดับโลก!

ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วม เช่น บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฏาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ร่วมกันเสนอให้สหประชาชาติ (UN) รับรองให้ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญสากล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

จากนั้นคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้ “วันวิสาขบูชา (Vesak Day)” ถือเป็น “วันสำคัญของโลก” ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่า "สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ และเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ 

2. วันวิสาขบูชา = วันประสูติ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน

“วันวิสาขบูชา” หนึ่งในวันสำคัญทางศาสนาพุทธที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง กล่าวคือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหมือนกันทั้งสามวัน (แต่ต่างปีกัน) นั่นคือ 

ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ : เจ้าชายสิทธัตถะ “ประสูติ” ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน 

ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา : เจ้าชายสิทธัตถะ “ตรัสรู้” เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา

ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง : พระองค์เสด็จ “ปรินิพพาน” ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา

3. “วันวิสาขบูชา” ในไทย (สุโขทัย, อยุธยา, รัตนโกสินทร์)

มีบันทึกหลักฐานพบว่า “วันวิสาขบูชา” ในไทยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากเมืองลังกา โดยสมัยนั้นกษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ต่อมาพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา เชื่อว่าได้นำพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

ส่วนในสมัยอยุธยา อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่แผ่เข้ามาในไทย มีอำนาจสูงกว่าพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวันวิสาขบูชา แต่ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ทรงดำริให้มีฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่อีกครั้ง และสืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน

4. วันวิสาขบูชาต้อง "เวียนเทียน" ไหม? เวียนเทียนแล้วดียังไง?

มีข้อมูลจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และเว็บไซต์ธรรมะไทยอธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า พิธีกรรม "เวียนเทียน" เป็นกุศลพิธีอย่างหนึ่ง ที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติในเบื้องต้นอย่างสามัญ โดยพิธีกรรมเวียนเทียนนั้น สามารถเวียนเทียนได้ในวันสำคัญทางศาสนา 4 วันด้วยกัน คือ วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา, วันอาสาฬหบูชา, วันอัฐมีบูชา

แล้วการ "เวียนเทียน" ในวันสำคัญทางศาสนา ในที่นี้คือเวียนเทียนวันวิสาขบูชา ทำแล้วดีอย่างไร? รู้คำตอบตามความเชื่อของชาวพุทธเถรวาท ดังนี้

ช่วยให้ชีวิตสุกสว่าง : การเวียนเทียนเปรียบเหมือนการเพิ่มความสุกสว่างให้ชีวิตราบรื่นเจริญรุ่งเรือง เป็นความเชื่อที่ตกทอดมาแต่โบราณในแถบอินเดียและเอเชียตะวันออก 

ช่วยเตือนสติชาวพุทธ : การเวียนเทียนนอกจากเพื่อแสดงความเคารพบูชาต่อปูชนียบุคคลหรือปูชนียสถานแล้ว ยังเป็นกุศโลบายเตือนสติให้ตระหนักถึง "วัฏสงสาร" หรือการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อให้ใช้ชีวิตไม่ประมาท

ได้อานิสงส์แรง-ได้บุญหนัก : การเวียนเทียนจะช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติมีจิตใจที่สะอาด สงบระหว่างที่เดินเวียนเทียน และตามความเชื่อคือ จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บุญกุศลหนักอีกด้วย 

5. เช็กลิสต์ "สังเวชนียสถาน" ที่เชื่อมโยง "วันวิสาขบูชา"

ปัจจุบันยังมีสถานที่ที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าหลงเหลือให้ได้เห็นกันอยู่ เรียกว่า "สังเวชนียสถาน"  ได้แก่ 

สถานที่ประสูติ "ลุมพินีวัน" ประเทศเนปาล ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล ปัจจุบันได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2540 

สถานที่ตรัสรู้ "พุทธคยา" ประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ที่ เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย โดยศาสนสถานสำคัญสูงสุดของพุทธคยา ก็คือ "พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์" ณ จุดที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ริมแม่น้ำเนรัญชรา

สถานที่ปรินิพพาน "กุสินารา" ประเทศอินเดีย เป็นที่ตั้งของ "สาลวโนทยาน" หรือ "ป่าไม้สาละ" ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน 

----------------------------------

อ้างอิง : กรมการศาสนาธรรมะไทย