'โลกร้อน' ทำ 'ทะเลร้อนขึ้น' 0.1 องศาฯ สถิติใหม่ที่ไม่เคยพบ อาจเป็นหายนะโลก?

'โลกร้อน' ทำ 'ทะเลร้อนขึ้น' 0.1 องศาฯ สถิติใหม่ที่ไม่เคยพบ อาจเป็นหายนะโลก?

“โลกร้อน” ไม่ได้ร้อนแค่บนบก แต่ในทะเลก็ร้อนด้วย ล่าสุดนักวิทย์พบ “อุณหภูมิน้ำทะเล” สูงขึ้น 0.1 องศาฯ ทำลายสถิติที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำไมเหตุการณ์ "ทะเลร้อนขึ้น" ทำให้นักวิทย์ทั่วโลกตื่นตระหนก และอาจเป็นหายนะครั้งใหญ่?

Key Points: 

  • โลกร้อน” ไม่ได้ร้อนแค่บนบกแต่ในทะเลก็ร้อนด้วย ล่าสุดมีรายงานว่า “อุณหภูมิน้ำทะเล” ในมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้น จากเดิม 21 องศาเซลเซียสในปี 2559 กลายเป็น 21.1-21.2 องศาเซลเซียส ในปี 2566 ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ที่พุ่งสูงทะลุชาร์ต เท่าที่เคยมีบันทึกมา
  • คำถามต่อมาคือ ทำไมอุณหภูมิสูงขึ้นแค่ 0.1 องศาฯ จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกตื่นตระหนก? และหลายคนพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า มหาสมุทรร้อนขึ้นคราวนี้อาจสร้างหายนะครั้งใหญ่
  • ศาสตราจารย์ด้านพลศาสตร์มหาสมุทรและภูมิอากาศ อธิบายว่า อุณหภูมิที่มากขึ้น 0.1-0.2 องศาฯ อาจจะดูเหมือนน้อยนิด แต่เมื่อพิจารณาถึงความร้อนที่ทำให้มวลน้ำขนาดใหญ่ในมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้นได้ขนาดนี้ จึงเป็น “พลังงานจำนวนมหาศาล” ที่เราคาดไม่ถึง

หลายคนคงทราบแล้วว่าเมื่อช่วงเมษายนที่ผ่านมา ประเทศในแถบเอเชีย (รวมถึงประเทศไทย) ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนสุดโหดที่เรียกว่า “Monster Asian Heatwave” หรือปีศาจคลื่นความร้อนแห่งเอเชีย ผ่านไปหนึ่งเดือน แม้อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย แต่ผลพวงจากฮีทเวฟดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องไม่หยุด 

หนึ่งในนั้นคือทำให้ “อุณหภูมิน้ำทะเล” ในมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้น จากเดิม 21 องศาเซลเซียสในปี 2559 กลายเป็น 21.1-21.2 องศาเซลเซียส ในปี 2566 ซึ่งค่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่วัดได้ปีนี้ ถือเป็นสถิติใหม่ที่พุ่งสูงทะลุชาร์ต เท่าที่เคยมีบันทึกมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

'โลกร้อน' ทำ 'ทะเลร้อนขึ้น' 0.1 องศาฯ สถิติใหม่ที่ไม่เคยพบ อาจเป็นหายนะโลก?

เกรกอรี ซี. จอห์นสัน นักสมุทรศาสตร์แห่ง National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) บอกเล่าผ่าน CNN ว่า อุณหภูมิน้ำทะเลช่วงนี้ แม้จะลดลงจากกลางเดือน เม.ย. 2566 เล็กน้อย แต่ก็ยังสูงกว่าที่เคยบันทึกไว้ในช่วงเวลานี้ของปี ซึ่ง NOAA ได้คำนวณอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทร โดยใช้เครือข่ายของเรือ ทุ่น ดาวเทียม และทุ่นลอยน้ำ ทั้งนี้อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นนั้น ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามและไม่ใช่เรื่องเล่นๆ 

ขณะที่ แมธิว อิงแลนด์ ศาสตราจารย์ด้านพลศาสตร์มหาสมุทรและภูมิอากาศ แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า อุณหภูมิที่มากขึ้น 0.1-0.2 องศาฯ อาจจะดูเหมือนน้อยนิด แต่เมื่อพิจารณาถึงความร้อนที่ทำให้มวลน้ำขนาดใหญ่ในมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้นได้ขนาดนี้ จึงเป็น “พลังงานจำนวนมหาศาล” ที่หลายคนคาดไม่ถึง

นักวิทยาศาสตร์บางคนอย่างศาสตราจารย์ ไมค์ เมเรดิธ จาก British Antarctic Survey แสดงความกังวลว่า อุณหภูมิความร้อนของน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนี้ เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจและน่าเป็นห่วงมาก มันอาจเป็นจุดสูงสุดในระยะสั้นหรืออาจเป็นจุดเริ่มต้นของบางสิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้น อย่างไรก็ตาม นักวิทย์ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าผลที่ตามมาแน่ๆ จากปรากฏการณ์น้ำทะเลร้อนขึ้น ที่ส่งผลเสียต่อโลกของเรา ได้แก่ 

1. เกิดปะการังฟอกขาว ทำให้ระบบนิเวศใต้ทะเลเสียสมดุล

2. เกิดปรากฏการณ์สาหร่ายพิษขยายจำนวน (Algal Blooming) จนดูดออกซิเจนจากน้ำไปหมด และทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลตายจำนวนมาก หรือบางชนิดอาจสูญพันธุ์

3. น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้น เพิ่มระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้น เกิดน้ำท่วมในเมืองที่อยู่ระดับต่ำ

4. พื้นผิวน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นทำให้เกิดพายุไซโคลนและไต้ฝุ่นได้บ่อยขึ้น และทวีความรุนแรง

5. เกิดกระแสน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนทิศ หรืออ่อนกำลังลง ผลที่ตามมาอาจเลวร้าย เช่น ฤดูหนาวที่หนาวจัดในยุโรปตะวันตก ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และการหยุดชะงักของลมมรสุมเขตร้อน

6. มหาสมุทรมีประสิทธิภาพน้อยลงในการดูดซับก๊าซมลพิษในสิ่งแวดล้อม

'โลกร้อน' ทำ 'ทะเลร้อนขึ้น' 0.1 องศาฯ สถิติใหม่ที่ไม่เคยพบ อาจเป็นหายนะโลก?

โดยเฉพาะกรณีหลังสุด นักวิทยาศาสตร์มองตรงกันว่า น้ำทะเลที่อุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นสัญญาณของวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่ดำเนินไปในอัตราที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ มหาสมุทรได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนกันชนของโลก สำหรับวิกฤติสภาพภูมิอากาศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยทำหน้าที่ “ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” จำนวนมหาศาลที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ และกักเก็บพลังงานและความร้อนส่วนเกินประมาณ 90% ที่มนุษย์สร้างขึ้น ช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนบนบกบางส่วน แต่เมื่อปีนี้พบว่าน้ำทะเลร้อนขึ้น อาจหมายถึงขีดจำกัดของความจุของมหาสมุทรในการดูดซับส่วนเกินเหล่านี้

ขณะที่ในประเทศไทยเอง ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศของโลกที่มีพื้นที่ท้องทะเลไม่น้อย และจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรง ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.เกษตรศาสตร์ เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับหายนะจากโลกร้อนและน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น ไว้ว่า

ภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ หมายรวมถึงปัญหา “Marine Heat Wave” (คลื่นความร้อนในทะเล) ด้วย ท้องทะเลจะเกิดภาวะน้ำทะเลร้อนขึ้นเช่นกัน ทำให้เกิดความแปรปรวนขั้นสูงและสร้างความเสียหามหาศาล หากมองภาพความเสียหายในทะเลไทย ฝั่งอ่าวไทย พบว่าปีนี้ทะเลไทยฝั่งอ่าวไทยเกิดปะการังฟอกขาวในหลายพื้นที่ มีปะการังนับแสนๆ ก้อน ตายหมด

สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในแง่อื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็น การไม่มีแนวกันคลื่นตามธรรมชาติจากปะการัง, สัตว์ทะเลตายจำนวนมาก, ชาวประมงทำมาหากินไม่ได้ เป็นต้น

'โลกร้อน' ทำ 'ทะเลร้อนขึ้น' 0.1 องศาฯ สถิติใหม่ที่ไม่เคยพบ อาจเป็นหายนะโลก?

ล่าสุด (15 พ.ค.) อาจารย์ธรณ์​ได้กล่าวถึงปัญหาโลกร้อนอีกครั้ง ผ่านเฟซบุ๊ก ThonThamrongnawasawat ในกรณีที่พรรคก้าวไกลได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและมีการกล่าวถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งอาจารย์ธรณ์ได้มีข้อเสนอไว้ว่า

โลกร้อนเป็นประเด็นสำคัญสุดๆ ในเวทีโลกยุคปัจจุบันและเกี่ยวพันไปถึงเศรษฐกิจ สังคม พรรคก้าวไกลมีนโยบายชัดเจนในเรื่องโลกร้อน นั่นเป็นเรื่องที่ดีและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะปรากฏใน MOU นอกจากการกำหนดนโยบายยกเลิกถ่านหิน เร่งใช้โซลาร์ประชาชน และปลูกป่าแล้ว อีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามคือ การทำระบบ CCS (carbon capture & storage) หลายประเทศกำลังเร่งเรื่องนี้ เมืองไทยก็เริ่มบ้างแล้ว และการใช้ Nature Based คือใช้ระบบนิเวศเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอน เร่งดูแลฟื้นฟูทั้งท้องทะเลทั้งป่า 

นอกจากนี้ หากกลับมามองในภาพรวมของทั้งโลก มีรายงานจาก "องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก" ได้ทำนายไว้เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2566 ระบุว่า มีโอกาสประมาณ 80% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของปีนี้ แต่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์งุนงงก็คือ อุณหภูมิได้สูงขึ้นมากก่อนที่เอลนีโญจะมาถึงด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นของน้ำทะเลร้อนขึ้นเป็นประวัติการณ์ครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องค้นหาต่อไปว่ามีสาเหตุจากอะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ศาสตราจารย์แมธิว อิงแลนด์ ศาสตราจารย์ มองว่าสิ่งที่เราควรเร่งทำในตอนนี้ก็คือ เร่งลงมือทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนเพื่อลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด เพราะวิถีภาวะโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่นี้จะไม่หยุด จนกว่าเราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจนเหลือศูนย์ 

---------------------------------

อ้างอิง : TheGuardianCNNEarth System Science Data