โดนตราหน้าว่า 'เห็นแก่ตัว' เมื่อ 'เจน Z' ไม่อยากกลับเข้าออฟฟิศ

โดนตราหน้าว่า 'เห็นแก่ตัว' เมื่อ 'เจน Z' ไม่อยากกลับเข้าออฟฟิศ

ซีอีโอชาวออสเตรเลียเผย “เจน Z” ต้องเลิกเห็นแก่ตัว เลิก “Work From Home” แล้วกลับมาทำงานที่บริษัท สวนทางผู้เชี่ยวชาญที่แนะนำให้ทำงานแบบไฮบริด

การล็อกดาวน์ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานของคนทั่วโลก และพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้หนุ่มสาว “เจน Z” ชาวออสเตรเลียเริ่มลังเลใจ เมื่อถูกสั่งให้กลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ

ปัจจุบันการทำงานแบบผสมผสาน ทั้งเข้าออฟฟิศสลับกับทำงานที่บ้าน เป็นเรื่องปกติสำหรับหลายบริษัท แต่ก็มีบางบริษัทที่เชื่อว่า เมื่อเข้าสู่สภาวะปรกติแล้วก็ควรกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ไม่จำเป็นที่ต้องใช้ “การทำงานจากที่บ้าน” (Work From Home) และ “ทำงานระยะไกล” (Remote Working) อีกต่อไป

นิโคล ดันแคน ซีอีโอของ CR Commercial Property Group บริษัทอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในซีอีโอที่ต้องการให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ โดยเธอได้ตราหน้าคนรุ่นใหม่ว่า “เห็นแก่ตัว” ที่ต้องการรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ระหว่างให้สัมภาษณ์กับรายการวิทยุในสถานี 2GB 

“ก่อนหน้านี้เรายังเดินทาง 2-3 ชั่วโมงเพื่อไปทำงานได้เลย แล้วทำไมตอนนี้พอบริษัทอยากให้กลับเข้าออฟฟิศ ถึงได้ต่อต้านกัน” ดันแคนกล่าว โดยเธอยังชี้ว่าการทำงานจากที่บ้านทำให้พนักงานเสียสมาธิอีกด้วย 

นอกจากนี้ การไม่เข้าออฟฟิศ หรือทำงานผ่านออนไลน์ ยังส่งผลกระทบในวงกว้างกว่าที่คิด โดย ดันแคน ยกตัวอย่าง ธุรกิโรงแรมและการบริการที่กำลัง “ประสบปัญหา” เพราะผู้ใช้บริการลดลงจากการ Work From Home รวมถึงการติดต่อคุยงาน เจรจาธุรกิจผ่านออนไลน์ ทั้งนี้

  • ข้อดีของการกลับเข้าออฟฟิศ

ขณะที่ พอล นิโคเลา ผู้อำนวยการบริหารของ Business Sydney บริษัทดูแลนโยบายทางเศรษฐกิจ ยังมีความกังวลว่า ย่านศูนย์กลางธุรกิจของซิดนีย์จะได้รับผลกระทบ จากการที่ชาวออสเตรเลียที่ทำงานจากระยะไกล โดยเรียกร้องให้พนักงานกลับมาเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ 

“ผมไม่ได้บอกว่าต้องบังคับหรือออกเป็นกฏ แต่ที่ผมกำลังพูดคือสิ่งนี้สำคัญต่อความสำเร็จในการทำงานขององค์กร และความเป็นอยู่ที่ดีของคนงาน รวมถึงเป็นโอกาสในการทำงานสำหรับคนงานด้วย มันมีความสำคัญต่อความสำเร็จ” นิโคเลากล่าวกับสำนักข่าาว news.com.au

นิโคเลายังระบุอีกว่า “ความโดดเดี่ยว” และ “ความห่างไกล” จากการทำงานที่บ้าน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิต ของผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต เพราะพวกเขาจำเป็นต้องเข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานคนอื่น ๆ แม้ว่ารูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น การสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของพวกเขาด้วยก็ตาม

“เพราะการประชุมออนไลน์ไม่สามารถสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมและโต้ตอบกับเพื่อนร่วมงานแบบเห็นหน้ากันได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรเข้าออฟฟิศ 3-4 วันต่อสัปดาห์” เขากล่าว

นอกจากนี้ นิโคเลายังเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องอยู่ในสำนักงานเพื่อพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำที่สำคัญ เนื่องจากทักษะผู้นำบางประการไม่สามารถเรียนรู้ผ่านการประชุมหรือสั่งงานออนไลน์เพียงอย่างเดียว 

ในส่วนของ พนักงานใหม่ นิโคเลากล่าวว่าจำเป็นต้องให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการสนทนา ทุกคนในทีมต้องรับรู้การมีตัวตนของพวกเขา และมีการส่วนร่วมในเสนอวิธีการแก้ปัญหาอันเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ดังนั้น การกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์และทักษะจาก พนักงานอาวุโส และเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์มากกว่า

“ผมเรียนรู้จากที่ทำงานของผมเอง ผมพบว่า คนทำงานมีปฏิสัมพันธ์กันได้ดีขึ้นเมื่อเราอยู่ด้วยกันแบบเห็นหน้ากันมากกว่าที่เราทำออนไลน์” 

 

  • โลกเปลี่ยนไป คนต้องเปลี่ยนตาม ?

แคริน แซนเดอรส์ รองคณบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและองค์กรและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ให้ความเห็นว่า การที่นายจ้างพยายามบังคับให้พนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศให้มากขึ้น จะยิ่งทำให้พนักงานหมดกำลังใจและมีความมุ่งมั่นในการทำงานน้อยลง

แซนเดอรส์ระบุว่า มีวิจัยหลายชิ้นที่บ่งบอกว่า พนักงานออฟฟิศชาวออสเตรเลียชื่นชอบการทำงานแบบไฮบริด และอยากทำงานที่บ้านอย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์

หากนายจ้างยังคงดึงดันที่จะให้คนรุ่นใหม่เข้าทำงานที่ออฟฟิศ โดยไม่มีทางเลือกในการทำงานแบบผสมให้แก่พวกเขา พนักงานเหล่านั้นตัดสินใจลาออกไปทำงานกับบริษัทอื่นที่ตอบโจทย์พวกเขามากกว่า

อีกทั้งแซนเดอรส์ยังชี้ให้เห็นว่าการให้ชาวเจน Z ต้องเข้าออฟฟิศเพื่อเรียนรู้ทักษะการเป็นผู้นำ เป็นแนวคิดที่ “ล้าสมัย” และแสดงให้เห็นถึง “การพยายามควบคุม” 

“ในปัจจุบัน ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ในสำนักงานเท่านั้น คุณจะต้องรับมือและจัดการกับการประชุมออนไลน์ให้ได้ แม้ว่าพนักงานของพวกคุณจะอยู่ในเมืองเดียวกันก็ตาม คุณไม่สามารถกลับไปยังโลกเมื่อห้าปีก่อนได้ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว” 

นอกจากนี้ แซนเดอร์ยังเผยว่ามีผลการวิจัยหลายเล่มระบุว่าชาวออสเตรเลียชอบทำงานที่บ้านมากกว่าที่ออฟฟิศ เพราะจะทำให้พวกเขามีสมาธิเพิ่มมากขึ้น

“ถ้าคุณต้องการทำรายงานหรือวิเคราะห์ตัวเลข คุณต้องมีสมาธิ เวลา และความเงียบ ซึ่งการทำงานที่บ้านมอบสิ่งเหล่านี้ให้คุณได้ดีกว่าการทำงานที่ออฟฟิศเสียอีก” แซนเดอร์สกล่าวสรุป

ไม่ใช่เพียงแต่ซีอีโอของออสเตรเลียเท่านั้นที่ อยากให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศ ผู้บริหารยักษ์ใหญ่หลายบริษัทในสหรัฐก็มีแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ เจมส์ คลาร์ก ซีอีโอของ Clearlink บริษัทดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในสหรัฐ แฉพนักงานที่ทำงานที่บ้านว่า ไม่เปิดคอมพิวเตอร์ทำงานร่วมเดือน 


ที่มา: News.com.au