“ความเครียด” สามารถถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนได้

“ความเครียด” สามารถถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนได้

“ความเครียด” แม้ไม่ใช่โรคติดต่อแต่สามารถส่งต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ จนทำให้ทั้งวงเครียดตามไปด้วย แต่ความเครียดเหล่านี้ก็สามารถช่วยสานสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้เช่นกัน หากใช้อย่างเหมาะสม และอยู่ในระดับที่พอเหมาะ

Key Points:

  • วิจัยระบุ ความเครียดสามารถส่งต่อให้กับคนอื่นได้ด้วย ถ้าหนึ่งคนเครียดคนอื่นจะรับรู้ความเครียดได้
  • ความเครียดสามารถช่วยสานสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้คนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
  • “Eustress” เป็นความเครียดในระดับเหมาะสม ที่สามารถควบคุมได้ ทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้น และเพิ่มศักยภาพการทำงานได้

 

มนุษย์ล้วนมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมโลกด้วยกันตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เมื่อใครสักคนรู้สึกไม่ดี เรามักจะทนไม่ได้ และโผเข้าปลอบโยนเพื่อให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ได้คาดคิดก็คือ ความรู้สึกด้านลบของคนเหล่านั้น สามารถแพร่และทำให้คนรอบข้างมีความรู้สึกเช่นนั้นด้วย โดยที่ไม่รู้ตัว 

คุณเคยสังเกตว่าตัวเองเผลอเกร็งไหล่ กดกรามแน่น เวลาเข้าไปปลอบคนที่อยู่ในภาวะวิตกกังวลหรือไม่ ? เพราะว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า “ความเครียด” สามารถแพร่กระจายไปสู่คนรอบข้างได้

“ความเครียด” กลายเป็นสภาวะที่เกือบทุกคนต้องเจอในชีวิตปัจจุบัน ทุกคนต่างรู้ดีว่าความเครียดทำให้เกิดโรคร้ายนานับปการ เช่น โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคทางจิตเวชต่าง ๆ โดยข้อมูลการสำรวจเนื่องใน “วันสุขภาพจิตโลก” (World Mental Health Day 2022) โดย Ipsos Group S.A. บริษัทวิจัยตลาดข้ามชาติ พบว่า ผู้คนราว 36% เป็นกังวลกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากที่สุด ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนให้ความสำคัญโรคจิตเวชมากโรคมะเร็งที่ 34% 

แน่นอนว่าแพทย์และผู้เชี่ยวชาญต่างให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการแก้เครียดหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยวางให้มากขึ้น หัดพูดคำว่า “ช่างมัน” ออกกำลังกาย เล่นโยคะ ทำกิจกรรมที่ชอบ เขียนโน้ตระบายความรู้สึก ตลอดจนไปพบแพทย์ แต่หลายครั้งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดและความวิตกกังวลจากคนอื่น ๆ ได้

  • ความเครียดส่งต่อให้คนอื่นได้

งานวิจัยที่พึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Personality and Social Psychology เมื่อม.ค. 2023 ที่ผ่านมา ด้วยการศึกษากลุ่มทดลองตัวอย่างวัยผู้ใหญ่จำนวน 315 คน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ที่ต้องเผชิญกับความเครียดในชีวิตประจำวัน พบว่า ความเครียดสามารถเกิดได้จากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม 

เมื่อมีเพื่อนเครียดอยู่รอบตัว ความเครียดจากบุคคลนั้นสามารถแพร่กระจายไปทั่วกลุ่มได้ จนทำให้ทุกคนในกลุ่มมีความเครียด ซึ่งยิ่งมีผลมากกับคนที่มีความเครียดสะสม หรือไม่มั่นคงทางอารมณ์ และมีความเสี่ยงเป็นโรคทางจิตเวช แต่ความเครียดโดยมากไม่สามารถแพร่ไปถึงคนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์สูง และผู้มีสติมั่นคง

อย่างไรก็ตาม เรื่องความเครียดสามารถติดต่อกันได้นั้นเป็นประเด็นที่ทำการศึกษามานานแล้ว และมีหลักฐานแน่ชัดว่า ความเครียดสามารถส่งต่อไปยังบุคคลรอบข้างได้จริง

ในปี 2017 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากอาสาสมัคร 63 คน ขณะที่รับชมวิดีโอของคนที่ไม่มีความเครียด ผู้ที่มีความเครียด และผู้ที่อยู่ในภาวะหลังเกิดความเครียด จากผลการวิจัยพบว่า เมื่ออาสาสมัครชมวิดีโอของคนที่มีความเครียด อัตราการเต้นของหัวใจของพวกเขาลดลง โดยการชะลอตัวของหัวใจบ่งบอกถึงการตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งมักเกิดในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องแสดงพฤติกรรมตอบโต้ หรือ อยู่ในช่วงที่กำลังเก็บข้อมูล

ดังนั้นอาสาสมัครจึงรับรู้และรับความเครียดจากวิดีโอเท่านั้น แต่เนื่องจากผู้ที่มีความเครียดเป็นสื่อวิดีโอ อาสาสมัครจึงไม่จำเป็นต้องแสดงออกเพื่อช่วยเหลือหรือปลอบโยน จึงทำให้หัวใจเต้นช้าลงนั่นเอง

  • ความเครียดสานสัมพันธ์กันผู้อื่น

แม้ว่าความเครียดจะไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่การรับรู้ถึงความเครียดของผู้อื่น ก็ยังมีประโยชน์อยู่บ้างในแง่การสร้างเสริมความสัมพันธ์ได้ด้วย เพราะ ความเครียดสามารถดึงดูดให้บุคคลใกล้ชิดกันมากขึ้น

สเตฟานี ดิมิทรอฟฟ์ นักวิจัยด้านประสาทจิตวิทยาคลินิก เปิดเผยกับนิตยสาร Vogue เมื่อปี 2017 ว่า ความเครียดส่งผลกระทบเชิงบวกกับอารมณ์ของผู้ที่ได้รับความเครียด “หากมนุษย์ไม่มีการเชื่อมต่อทางอารมณ์ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจกัน เราคงไม่มีทางรู้ว่าคนอื่นคิดอะไรอยู่ เมื่อคุณมีแนวโน้มจะเกิดความเครียด คุณก็พร้อมจะรับอารมณ์อื่น ๆ รวมถึงความสุขด้วย”

ชิฮาน ลี หนึ่งในผู้ทำการวิจัยครั้งล่าสุดกล่าวว่า วิจัยของพวกเขาสามารถใช้สำหรับการออกแบบโปรแกรมลดความเครียดของประชาชน และส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน ด้วยการสร้างกลุ่มคนที่มีความเครียดต่ำ มีแรงต้านทานต่อความเครียดทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีความเครียดสูง 

ขณะที่ ศ.โทนี่ บูคานัน จากมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ระบุว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการด้านการรับรู้ความรู้สึกของเพื่อนร่วมสายพันธุ์ช่วยในการรักษาเผ่าพันธุ์ไว้ได้ “มนุษย์และสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง จะมีโอกาสอยู่รอดในธรรมชาติได้มากขึ้น หากสนใจกับความเครียดของคนอื่น เพราะความเครียดเป็นสัญญาณเตือนอันตราย และกระตุ้นร่างกายให้ตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น”

ทั้งนี้ การส่งต่อความเครียดนี้ยังพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่าง ๆ ด้วย จากการศึกษาในปี 2018 พบว่า หนูมีการแบ่งปันความเครียดระหว่างกันด้วยเช่นกัน และมีหลักฐานชี้ว่าสุนัขก็มีพฤติกรรมนี้ด้วยเช่นกัน
 

  • ขจัดความเครียดจากผู้อื่น

ในเมื่อความเครียดของคนเพียงคนเดียวสามารถทำให้คนทั้งออฟฟิศเครียดตามไปได้ แล้วเราจะมีวิธีป้องกันตัวจากความเครียดของคนอื่นได้อย่างไร ?

โจ เฮอร์เบิร์ต ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า การตอบสนองต่อความเครียดขึ้นอยู่ปฏิกิริยาของแต่ละคน ทั้งทางอารมณ์และทางสรีรวิทยา ไม่ว่าจะเป็น ฮอร์โมน ความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ ซึ่งการตอบสนองต่อความเครียดเป็นสิ่งที่สามารถฝึกได้ ด้วยวิธีการคลายเครียดและทำสมาธิต่าง ๆ ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงได้

แต่ไม่ใช่ว่าในโลกนี้จะมีความเครียดที่ทำลายสุขภาพเพียงอย่างเดียว ยังมีความเครียดที่ส่งผลบวกกับเราด้วย ซึ่งเรียกว่า “Eustress” เป็นความเครียดในระดับเหมาะสม ที่สามารถควบคุมได้ ทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้น และเพิ่มศักยภาพการทำงานได้ ดังนั้นเราควรจะต้องเผชิญกับความเครียดบ้าง เพื่อเป็นการกระตุ้นตัวเอง และรักษาความเครียดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากรู้ตัวว่ากำลังเครียดมากเกินไป ควรหาทางระบายความเครียด หรือพบจิตแพทย์

 

ที่มา:  Grow KudosHealth LineIFLScience,  Live ScienceWashington PostVogue