“อากาศร้อน” ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ยิ่งร้อน ยิ่งเครียด ยิ่งนอนไม่หลับ

“อากาศร้อน” ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ยิ่งร้อน ยิ่งเครียด ยิ่งนอนไม่หลับ

หน้าร้อนยิ่งต้องระวัง! งานวิจัยชี้ “อากาศร้อน” ยิ่งร้อน ยิ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “สุขภาพจิต” ทำให้เกิดความเครียด เพราะร่างกายต้องใช้พลังงานในการปรับอุณหภูมิร่างกายให้สมดุล จนทำให้ร่างกายตึงเครียด อีกทั้งยังส่งผลให้นอนไม่หลับอีกด้วย

Key points:

  • การศึกษาหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า อากาศร้อนมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับปัญหาสุขภาพจิตทั้ง ความเครียด และสุขภาพจิตที่แย่ลง
  • ฤดูร้อนที่มีกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน ยังทำให้นอนไม่หลับ เพราะร่างกายไม่ปล่อยสารเมลาโทนินออกมา จึงไม่รู้สึกง่วง แถมไม่สบายตัว
  • งานวิจัยระบุ คนมีรายได้ต่ำมีสุขภาพจิตที่แย่มากกว่าคนที่มีรายได้สูง

 

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “ฤดูร้อน” อย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีแนวโน้มว่า อุณหภูมิจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในช่วงเดือนเม.ย. แม้ว่าความจริงแล้วประเทศไทยจะเผชิญกับอากาศร้อนอบอ้าวมาตั้งแต่ต้นปีแล้วก็ตาม จนหลายคนพูดกันว่าไทยมีแค่ “ฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนที่สุด

นอกจากจะต้องระวังปัญหาสุขภาพกายที่มาพร้อมกับอากาศร้อนแล้ว ผลวิจัยหลายชิ้นยังระบุว่า “อากาศร้อน” ยังส่งผลกับปัญหา “สุขภาพจิต” มากกว่าฤดูอื่นอีกด้วย

นิค โอบราโดวิช นักวิทยาศาสตร์สังคมเชิงคำนวณ จากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการพัฒนามนุษย์ และผู้เขียนงานวิจัยวิเคราะห์สภาพจิตใจ เมื่อปี 2018 กล่าวว่า “เมื่อเรามองภาพรวมของโรคทางจิตเวชทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าอากาศที่ร้อนสุดขั้วนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต”

  • ยิ่งร้อน ยิ่งเครียด

การศึกษาของดร.โอบราโดวิช พบความเชื่อมโยงระหว่างอุณหภูมิที่สูงขึ้นกับปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ รวมถึงความเหนื่อยล้าทางจิตใจ ความก้าวร้าว และอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น ทั้งนี้ความเชื่อมโยงดังกล่าวยังพบในผู้อาศัยอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด (อย่างไรก็ตาม แนวโน้มสุขภาพจิตขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างนอกเหนือจากอุณหภูมิด้วยเช่นกัน)

แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่ทราบถึงความเชื่อมโยงที่ทำให้สมองเกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่เป็นที่แน่ชัดว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นเชื่อมโยงกับสุขภาพจิตที่แย่ลง

“อุณหภูมิที่ร้อนจัดสามารถมีอิทธิพลต่อจิตใจของคุณในทุกด้าน ตั้งแต่อารมณ์ในแต่ละวัน ไปจนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะวิกฤติทางสุขภาพจิตเฉียบพลัน” ดร. โอบราโดวิช กล่าว

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Psychiatry เมื่อเดือนก.พ. 2022 ทำการตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ของผู้ใหญ่มากกว่า 2.2 ล้านคนที่เข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินจาก 2,775 โรงพยาบาลทั่วสหรัฐระหว่างปี 2010-2019 พบว่า มีผู้เข้ารับการรักษาอาการทางจิตเภท เช่น ทำร้ายตัวเอง ใช้สารเสพติด ความวิตกกังวล และความผิดปกติทางอารมณ์ ในวันที่อากาศร้อนที่สุด มากกว่าในวันที่อากาศเย็นที่สุดถึง 8% ซึ่งความร้อนนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ใหญ่ทุกเพศในสหรัฐ

ขณะที่ ผลการวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร The European Journal of Psychiatry ฉบับประจำเดือนต.ค.-ธ.ค. 2021 ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มีอาการกำเริบชั่วคราว อีกทั้งการรับแสงแดดในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเมเนีย (Mania) หรือ ภาวะมีความสุขมากกว่าปรกติได้

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจความเห็นชาวอเมริกันระหว่างปี 2008-2013 จำนวน 1.9 ล้านคน เกี่ยวกับความเห็นที่มีต่อสภาพอากาศ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมีความเพลิดเพลินและเกิดความสุขลดลงในวันที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 21 องศาเซลเซียส รวมถึงมีความเครียด ความโกรธและความเหนื่อยล้าเพิ่มมากขึ้นกว่าวันที่มีอุณหภูมิระหว่าง 10-15 องศาเซลเซียส ซึ่งยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้นจะยิ่งเพิ่มอารมณ์ในด้านลบขึ้นอีก โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส

​​

  • ยิ่งร้อน ยิ่งนอนไม่หลับ 

“เมื่อเราไม่สบายตัว ร่างกายของเราไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะความไม่สบายตัวจากความร้อนทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานอย่างมากในการควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้ปรกติ ดังนั้นเราสามารถอดทนต่อความเจ็บปวดได้น้อยลง แต่ความวุ่นวายใจ และความฉุนเฉียวเกิดขึ้นได้ง่าย” ซี. มันโร คัลลัม นักประสาทวิทยาคลินิกแห่ง UT Southwestern Medical Center ในสหรัฐกล่าวกับหนังสือพิมพ์ New York Times

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.มาร์ติน พอลลัส ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์และประธานสถาบัน Laureate Institute for Brain Research ในสหรัฐระบุว่า ขณะที่ร่างกายพยายามควบคุมอุณหภูมิเมื่อเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ร่างกายจะเพิ่มความตึงเครียด จนเกิดความเครียดสะสม ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่แล้วจึงมีความเสี่ยงที่อาการจะแย่ลงไปอีกหลังจากเผชิญกับสภาพอากกาศร้อนอบอ้าว 

 

นอกจากความเครียดแล้ว อากาศร้อนยังส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สุขภาพจิตแย่ลงได้ ดร.โอบราโดวิชกล่าวว่า ในค่ำคืนที่อากาศร้อนจะทำให้เรานอนหลับได้ยากยิ่งขึ้น

“มีบทความจำนวนมากทั้งจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ที่กล่าวอย่างชัดเจนว่าการนอนไม่เพียงพอ การนอนหลับยาก และโรคนอนไม่หลับนั้นมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับสุขภาพที่แย่ลง เมื่อเวลาผ่านไป”

สถาบันการนอนหลับแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า โดยปรกติแล้วเมื่อพระอาทิตย์ตกดินและความมืดมิดเข้าปกคลุม ระดับเมลาโทนินของเราจะเพิ่มขึ้น เรารู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย เป็นสัญญาณบอกสมองว่าถึงเวลานอนแล้ว แต่ในฤดูร้อนที่มีช่วงกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน ทำให้เมลาโทนินทำงานช้าลง แม้จะเข้าสู่เวลากลางคืนไปแล้วก็ตาม ในทางซีกโลกเหนือแสดงอาทิตย์จะส่องแทบจะตลอดเวลา ส่วนบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรอากาศจะร้อนอบอ้าวจนนอนแทบไม่หลับ และทำให้นาฬืกาชีวิตผิดปรกติไปจากเดิม 

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขด้วยการทำห้องนอนให้มืดสนิท ติดม่านทึบกันแสง ใส่ที่ปิดตา เปิดเครื่องปรับอากาศทำให้ห้องเย็นขึ้น ก็จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำแบบนี้ได้ การติดแอร์สักเครื่องก็ใช้เงินไม่น้อย ม่านทึบกันแสงก็ราคาไม่ถูก 

จากการศึกษาของดร.โอบราโดวิช ในปี 2018 พบว่า ผู้ที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากความร้อนมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง และผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย เมื่อรวมกันแล้วสรุปได้ว่าผู้หญิงที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตจากความร้อนมากกว่าผู้ชายที่มีรายได้สูงถึงสองเท่า

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ไปได้ แต่วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยทุเลาความร้อนในร่างกาย และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ คือการดื่มน้ำให้เยอะ ๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


ที่มา: Insider, The New York Times