'สุนัข' พูดกับคนยังไง? รู้จักวิธีสื่อสารแบบหมาๆ ที่คนรัก 'หมา' ต้องรู้

'สุนัข' พูดกับคนยังไง? รู้จักวิธีสื่อสารแบบหมาๆ ที่คนรัก 'หมา' ต้องรู้

แม้ว่า "หมา" จะไม่สามารถพูดคุย “ภาษาคน” กับเจ้าของได้ แต่พวกมันเองก็มีวิธีสื่อสารรูปแบบอื่นๆ กับเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นภาษากายและการส่งเสียงที่แตกต่างกัน

Key Points:

  • แม้ว่าสัตว์เลี้ยงอย่าง “หมา” จะพูดภาษาคนไม่ได้ แต่พวกมันก็มีวิธีการสื่อสารกับเจ้าของ ทั้งทางภาษากายและการส่งเสียงรูปแบบต่างๆ
  • ลักษณะการสื่อสารทางกายของหมามีทั้งทางตา ปาก ขน หาง และ หู
  • สำหรับการสื่อสารด้วยเสียงของหมา มีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสามารถบ่งชี้ว่าพวกมันอารมณ์ดีหรือกำลังมีปัญหาบางอย่าง

การกระดิกหาง การเลีย ลักษณะของใบหู หรือแม้กระทั่งเสียงร้อง เสียงเห่าที่แตกต่างกันของหมาที่ส่งออกไปยังเจ้าของนั้น ล้วนมีความหมาย เพราะพวกมันพูดภาษาคนไม่ได้ พวกมันจึงมีวิธีการสื่อสารที่เป็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งการสื่อสารของพวกมันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะแสดงออกถึงความรู้สึกแล้ว ยังอาจหมายถึงความกลัวและความกังวลอีกด้วย

สุนัขส่วนใหญ่จะสื่อสารผ่านทางเสียงและภาษากาย ซึ่งเสียงจะมาในรูปแบบของการเห่า คราง คำราม และขู่ ส่วนภาษากายจะมีลักษณะท่าทางหรือการแสดงออกต่างๆ ซึ่งพวกมันมักจะสื่อสารผ่านทางภาษากายมากกว่าการใช้เสียง ส่วนวิธีการสื่อสารที่พบได้บ่อยคือการเห่า หอน กระดิกหาง และการเลีย 

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมการสื่อสารของน้องหมามาให้รู้จักกัน เพื่อที่เจ้าของสุนัขสามารถทำความเข้าใจสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ง่ายขึ้น ดังนี้

  • ลักษณะการสื่อสารของน้องหมา

การสื่อสารด้วยภาษากายของหมาที่มีต่อเจ้าของ สามารถแบ่งได้หลักๆ 3 ลักษณะ ดังนี้

1. การสื่อสารผ่านทางหาง ปาก และขน

ส่วนมากแล้วหมามักใช้หางในการสื่อสาร โดยการยกหางขึ้นและสะบัดไปมาอย่างรวดเร็ว นั่นแปลว่า พวกเขากำลังตื่นเต้น ดีใจ แต่ถ้าหากพวกเขารู้สึกกังวล หางจะเหยียดตรง แกว่งช้าๆ และเมื่อรู้สึกหวาดกลัว หางจะลดต่ำลงและซุกอยู่ระหว่างขา

สำหรับท่าทางหมาที่แสดงผ่านทางปาก ก็คือ การเลียตัวเองหรือแลบลิ้นบ่อย โดยพฤติกรรมนี้แสดงออกถึงความรู้สึกไม่สบายใจ และหากพบว่าริมฝีปากน้องหมาโค้งงอจนเห็นฟันแสดงว่ามีพฤติกรรมก้าวร้าว แต่ถ้าริมฝีปากเปิดเล็กน้อย มีลิ้นห้อยออกมา แปลว่ามันกำลังรู้สึกผ่อนคลาย

ในส่วนของขนนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เจ้าของสุนัขต้องรู้จักสังเกต หากขนอยู่ในสภาพปกติ แปลว่าพวกเขารู้สึกสงบ แต่ถ้าขนจนฟูฟ่องแสดงว่ารู้สึกกลัวหรือกำลังอารมณ์เสีย 

2. การสื่อสารผ่านทางดวงตาและใบหู

สำหรับการสังเกตใบหูนั้น ถ้าพวกเขารู้สึกสงบใบหูจะอยู่ในลักษณะปกติและเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าใบหูตั้งตรงแสดงว่ากำลังตื่นตัวหรือต้องการแสดงอำนาจ และถ้าใบหูลู่ลงแนบไปกับศีรษะพวกเขาอาจรู้สึกกลัวหรือกำลังมีความเครียด

ในส่วนของดวงตาก็สามารถบ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกได้ ซึ่งถ้าน้องหมาจ้องไปที่ใครโดยตรง อาจหมายถึงการแสดงอำนาจ หรือพยายามแสดงตัวเองว่าเป็นจ่าฝูง  และหากสังเกตพบว่ารูม่านตาขยาย แสดงว่าพร้อมที่จะจู่โจม แต่ถ้าเมื่อใดที่พวกเขารู้สึกไม่มีความสุขก็อาจหลบตาหรือหันหน้าหนี

3. การส่งเสียงร้อง

การสื่อสารด้วยเสียงของเหล่าน้องหมาน่าจะเป็นสิ่งที่เจ้าของหรือคนทั่วไปสามารถสังเกตได้ง่ายที่สุด นั่นหมายถึงพวกมันกำลังพยายามสื่อสารกับเจ้าของโดยตรง แต่ลักษณะการส่งเสียงก็มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งการส่งเสียงร้องของสุนัขไม่ได้หมายความว่ามันกำลังโกรธหรือกลัวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความตื่นเต้นดีใจอีกด้วย

หากน้องหมาเห่าอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว อาจหมายถึงมีความตื่นตัวหรือเป็นการเห่าเตือน แต่ถ้าเห่าด้วยเสียงสูง อาจหมายถึงกำลังตื่นเต้นหรือมีความสุข และถ้าหากเห่าเสียงดังหรือเห่าแรง อาจเป็นการเตือนว่าอย่าเพิ่งเข้าใกล้ ฯลฯ ทั้งนี้ ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเสียงของสุนัขอีกมากที่ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งมากขึ้น 

  • เจาะลึกทำความเข้าใจน้องหมาผ่านการ “ส่งเสียง” ให้มากขึ้น

นอกจากการแสดงออกด้วยภาษากายของเหล่าน้องหมาแล้ว การแสดงออกด้วยการส่งเสียงก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การที่สุนัขส่งเสียงออกมา หมายถึงการสื่อสารกับเจ้าของโดยตรง ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

1. เสียงเห่า โดยปกติแล้วหมาจะเห่าด้วยเสียงดังที่สม่ำเสมอเวลาเจอผู้บุกรุก แต่หากต้องการชวนเจ้าของเล่น หมาจะเห่าด้วยระดับเสียงสูง มีความถี่ไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวดัง เดี๋ยวเบา แต่ถ้าพวกเขาเห่าด้วยระดับเสียงสูงและมีเสียงโหนร่วมด้วย นั่นหมายความว่าน้องหมามีความกังวล

2. เสียงหอน หมาบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้หอนบ่อยเหมือนหมาป่า ส่วนใหญ่พวกเขาจะหอนเมื่อถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียว หรือเป็นการหอนเพื่อตอบสนองเวลาได้ยินเสียงแปลกๆ เช่น เสียงเครื่องบิน เสียงรถพยาบาล หรือเสียงแปลกๆ ที่เบามากๆ จนมนุษย์ไม่ได้ยิน

3. เสียงคำราม ไม่ได้แปลว่าพวกเขากำลังแสดงความก้าวร้าว แต่ทำไปด้วยหลายเหตุผล เช่น เพื่อป้องกันตัวเอง เพื่อเตือน หรือ เพื่อขู่ สำหรับน้องหมาบางตัวอาจแค่ชอบคำรามตอนที่เล่นโดยไม่มีเจตนาแสดงความก้าวร้าว เป็นแค่อารมณ์ที่รู้สึกสนุกสนาน

4. ครวญคราง สาเหตุหลักที่น้องหมาทำเสียง งื้กๆ ในลำคอ บางครั้งพวกเขาอาจมีความกังวลหรือไม่สบายใจ มักจะทำเสียงนี้เวลาต้องการการดูแลหรืออยากให้เจ้าของแสดงความสนใจหรืออยากชวนให้มาเล่นด้วย แต่ในบางครั้งก็เป็นการแสดงความเจ็บปวดหรือหวาดกลัวได้ด้วย ซึ่งจุดนี้เจ้าของต้องพยายามสังเกตให้ดีว่าสุนัขของคุณอยากจะชวนเล่นเฉยๆ หรือว่ากำลังมีอาการป่วย

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกด้วยการส่งเสียงหรือด้วยท่าทาง ล้วนมีความหมายกับเจ้าของเสมอ ซึ่งเจ้าของเองก็จำเป็นต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอว่าเหล่าน้องหมาต้องการสื่อสารอะไร พวกมันไม่ว่าจะสื่อให้เห็นว่าต้องการเล่นด้วย หรืออยู่ในภาวะหวาดกลัวและเจ็บปวด เพื่อเข้าใจจิตใจเบื้องลึกของพวกมันและหาวิธีรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันเวลา

อ้างอิงข้อมูล : Pedigree และ โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4