“วาฬ” สัตว์ที่นอนน้อยที่สุดในโลก ใช้เวลานอนเพียงวันละ 6-15 นาที เท่านั้น

“วาฬ” สัตว์ที่นอนน้อยที่สุดในโลก ใช้เวลานอนเพียงวันละ 6-15 นาที เท่านั้น

การนอนเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับสัตว์บางชนิดอย่างวาฬ พวกมันกลับใช้เวลานอนน้อยมากเนื่องจากต้องคอยระวังภัยอยู่ตลอดเวลา แถมยังนอนหลับไม่สนิทเพราะสมองหลับแค่ครึ่งเดียว

Key Points:

  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกกลับนอนน้อยที่สุดในโลก เพราะพวกมันนอนเพียงแค่วันละ 6-15 นาที เท่านั้น
  • นอกจากวาฬจะนอนน้อยแล้วยังนอนหลับไม่สนิทอีกด้วยเนื่องจากต้องคอยระวังภัยจากผู้ล่าและขยับไปหายใจบนผิวน้ำเป็นระยะ
  • ขณะนอนหลับวาฬจะสลับการทำงานของสมองซีกซ้ายและซีกขวา รวมถึงลืมตาไว้หนึ่งข้างด้วย

“วาฬ” ถือเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้หลายคนอาจจะคิดภาพพวกมันนอนหลับได้ค่อนข้างยาก แต่เมื่อไม่นานมานี้มีภาพของ ฝูงวาฬสเปิร์ม หลับนิ่งในแนวตั้งโดยไม่ขยับ โดยภาพดังกล่าวถูกส่งมายังโครงการ YourShot ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งพฤติกรรมของพวกมันนอกจากจะสร้างความงุนงงให้ชาวเน็ตแล้วยังนำไปสู่คำถามว่า วาฬ นอนหลับอย่างไร?

ข้อมูลจาก National Geographic ระบุว่าเมื่อปี 2008 มีผลการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Current Biology ที่เป็นการสรุปเกี่ยวกับท่าทางการนอนหลับในแนวตั้งของวาฬไว้ และพวกมันใช้เวลาเพียงร้อยละ 7 ของชีวิตสำหรับการนอนเท่านั้น

  • วาฬและพฤติกรรมการนอนสุดแปลก

นอกจากวาฬจะนอนน้อยมากโดยใช้เวลาเพียงแค่ 6-15 นาที เท่านั้น พวกมันยังนอนหลับในท่ายืนเอาครีบแนบลำตัว และจะนอนใกล้กับผิวน้ำอีกด้วย

จากการศึกษาวาฬในอควาเรียมส่วนใหญ่แล้วเวลานอนหลับพวกมันจะใช้สมองเพียงครึ่งเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงตนเองจากนักล่า, รักษาความสัมพันธ์ในสังคม, ควบคุมอัตราการหายใจ ไปจนถึงเพื่อช่วยให้การว่ายน้ำต่อมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้การนอนของวาฬรวมไปถึงโลมาจะมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก(เป็นผลจากการใช้สมองครึ่งเดียว) โดยพวกมันจะขยับตัวและเคลื่อนไหวในตอนที่ต้องขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำเท่านั้น

สำหรับการใช้สมองระหว่างนอนหลับ พวกมันจะใช้สมองซีกซ้ายและซีกขวาสลับกัน รวมถึงยังลืมตาอีกข้างหนึ่งไว้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกมันนอกจากจะนอนน้อยแล้วยังนอนหลับไม่สนิทอีกด้วย เหตุผลที่พวกมันต้องสลับการทำงานของสมองสองซีกระหว่างการนอนนั้นเป็นเพราะต้องระวังภัยและสั่งการเรื่องการหายใจไปพร้อมกัน ต่างกับมนุษย์และสัตว์จำพวกอื่นที่สามารถนอนหลับได้อย่างสนิทเพราะการหายใจถูกควบคุมด้วยประสาทอัตโนมัติ

นอกจากการนอนในท่ายืนแล้ว “โลมา” ในบ่อเลี้ยงนอนโดยเอาส่วนหัวพาดไว้ที่ขอบบ่อ หรือลอยตัวนิ่งๆ อยู่ใกล้ผิวน้ำ วาฬสีเทาในบ่อเลี้ยงมีการนอน 2 แบบ คือไม่เคลื่อนไหว ลอยตัวใกล้ผิวน้ำ ครีบแนบลำตัว ส่วนหางแตะพื้นบ่อ และนอนราบกับพื้นบ่อ ครีบแนบลำตัว

ดังนั้นขณะที่มนุษย์อย่างเราๆ ไปดำน้ำแล้วบังเอิญเจอวาฬนอนอยู่ในแนวตั้งอย่าเพิ่งเข้าไปใกล้หรือพยายามถ่ายรูปพวกมันเพราะอย่าลืมว่ามันนอนหลับด้วยสมองและตาเพียงข้างเดียวเท่านั้นการเข้าไปใกล้ฝูงวาฬที่นอนหลับอยู่อาจไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไรนัก

อ้างอิงข้อมูล : National Geographic และ คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง