ไขคำตอบทำไม ‘ไผ่’ กับ ‘ข้าว’ ถึงเป็นญาติกัน

ไขคำตอบทำไม ‘ไผ่’ กับ ‘ข้าว’ ถึงเป็นญาติกัน

รู้ไหม? ว่า “ไผ่” ไม่ใช่ต้นไม้อย่างที่บางคนเข้าใจ แถมทราบไหมว่า แม้จะมีลักษณะแตกต่างกันแต่ ไผ่ และ ข้าว กลับเป็นพืชตระกูลเดียวกัน

Key Points:

  • ไผ่ แม้จะมีลักษณะภายนอกคล้ายต้นไม้ทั่วไปแต่ความจริงแล้วหากจำแนกจากรากและลำต้นพวกมันจัดอยู่ในพืชตระกูลหญ้า 
  • สำหรับไผ่นั้นถือว่าเป็นหญ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสูงไม่ถึง 40 ม. และสามารถนำมากินได้
  • ข้าวเป็นอีกหนึ่งพืชตระกูลหญ้าที่สามารถนำเมล็ดมากินได้ แต่มีการขยายพันธุ์ที่แตกต่างกับไผ่

“ต้นไผ่” มีมากมายหลายชนิด สามารถจำแนกตามสายพันธุ์ได้ถึง 1,000 ชนิด และบางชนิดเมื่อมีโตเต็มที่หรือมีอายุมากก็จะมีความสูงได้มากถึง 40 เมตร ซึ่งพวกมันถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณชื้น ป่าเบญจพรรณแล้ง และ ป่าดิบแล้งทั่วไป ส่วนใหญ่พวกมันจะอยู่รวมกันเป็นกอซึ่งหากอยู่รวมกันมากๆ อาจเรียกได้ว่าป่าไผ่

ด้วยความที่มีลำต้น ราก และ ใบ เหมือนกับต้นไม้ประเภทอื่นๆ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่า ต้นไผ่ คือต้นไม้ทั่วไปชนิดหนึ่ง แต่ในความจริงแล้ว ด้วยลักษณะทางพันธุกรรมของพวกมัน ไผ่ถูกจัดอยู่ใน พืชตระกูลหญ้า เช่นเดียวกับ “ข้าว” ที่หลายคนอาจไม่ทราบว่า มันคือหญ้าเช่นเดียวกัน

  • รู้จัก “พืชตระกูลหญ้า”

ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก “พืชตระกูลหญ้า” กันก่อนว่าเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีระบบรากเป็นรากฝอย ประกอบด้วยรากเล็กๆ ขนาดเท่ากันจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากต้นโดยตรงหรือเกิดจากข้อที่อยู่ผิวดินหรือข้อที่อยู่ใต้ดิน ส่วนลำต้นมีลักษณะเป็นข้อและปล้อง ซึ่งแต่ละปล้องมีขนาดไม่เท่ากัน ต่างกันไปตามพันธุ์ ส่วนจำนวนปล้องจะเท่ากับจำนวนของใบหญ้า และตาจะอยู่ที่ข้อตรงซอกใบข้อละ 1 ตา สลับกันไปจากข้อหนึ่งไปอีกข้อหนึ่ง

สำหรับการเจริญเติบโตของพืชตระกูลหญ้า มีทั้งทางยอดและด้านข้างเป็นการแตกหน่อ หรือแตกแขนงออกจากตาที่ตรงซอกใบระหว่างกาบใบและลำต้นเป็นข้อใหม่เรียกว่า การแตกกอ โดยจะแตกกิ่งทางด้านซ้าย และขวาสลับกัน

  • ต้นไผ่ หญ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับ “ต้นไผ่” ที่ใครหลายคนเข้าใจว่าคือต้นไม้ทั่วไปนั้น ความจริงแล้วเป็นหนึ่งในพืชตระกูลหญ้า เพราะไผ่สืบพันธุ์โดยการแตกหน่อ พวกมันจะขึ้นรวมกันเป็นกอและมีลำต้นเป็นปล้อง ทำให้พวกมันคือหญ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งพวกมันสามารสูงได้มากถึง 40 เมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 30 เซนติเมตร

ต้นไผ่มีมากถึง 91 สกุล 1,000 ชนิด พบได้ทั่วไปทุกสภาพอากาศ ตั้งแต่ภูเขาหนาวเย็นถึงเขตร้อนชื้นของโลก โดยไผ่แต่ละกอมีอายุประมาณ 50-60 ปี สำหรับประเทศไทยพบได้มากกว่า 60 ชนิด

  • ประโยชน์ของไผ่มีให้ทั้งสัตว์และมนุษย์

ทุกส่วนของต้นไผ่เรียกว่ามีประโยชน์กับทั้งสัตว์ป่าและมนุษย์ เช่น หมูป่า เม่น อ้น เก้ง กวาง และ กระทิง ก็กินรากไผ่เป็นอาหาร ส่วนยอดอ่อนและใบไผ่ก็เป็นอาหารของสัตว์ใหญ่อย่างช้าง สำหรับลำต้นของไผ่มนุษย์ก็สามารถนำมาสร้างบ้านทำหลังคา ต่อแพ ได้อีกด้วย หรือแม้แต่เยื่อไผ่ก็สามารถนำมาทำอาหารได้

  • ข้าวเองก็ไม่ใช่ต้นไม้ แต่เป็นหญ้า

สำหรับ “ข้าว” ที่เป็นอาหารหลักของมนุษย์เกือบทั่วโลกนั้นก็ไม่ใช่ต้นไม้ แต่จัดอยู่ในพืชตระกูลหญ้าเช่นเดียวกับไผ่ เพียงแต่มีเมล็ดที่สามารถนำมาบริโภคได้ โดยลักษณะทั่วไปของข้าวจะคล้ายกับไผ่ ดังนี้

- มีรากอยู่ใต้ผิวดินเพื่อใช้ยึดลำต้นกับ ไม่มีรากแก้;

- มีรากฝอยที่แตกแขนงอยู่ใต้ดิน แต่บางครั้งก็มีรากพิเศษเกิดขึ้นที่ข้อซึ่งอยู่เหนือพื้นดินด้วย

- มีลำต้นลักษณะเป็นปล้องเท่ากับจำนวนใบข้าวที่ปกติมีประมาณ 20-25 ปล้อง

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ข้าวแตกต่างกับไผ่ก็คือ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสร ตัวเมีย ผ่าน รวง ดอกข้าวและเมล็ดข้าว

ดังนั้นแม้ว่า “ต้นไผ่” และ “ข้าว” จะมีลักษณะส่วนใหญ่ที่คล้ายคลึงกับต้นไม้ทั่วไป แต่ความจริงแล้วพวกมันคือพืชตระกูลหญ้าที่สามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้นั่นเอง

อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์วิทยศาสตร์ข้าว, TCIJ และ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร