ฮาวทู ‘ประหยัดไฟ’ รับหน้าร้อนปี 2023 หลังอัตราค่าไฟปรับเพิ่ม 5 สต.

ฮาวทู ‘ประหยัดไฟ’ รับหน้าร้อนปี 2023 หลังอัตราค่าไฟปรับเพิ่ม 5 สต.

ฮาวทู "ประหยัดไฟ" รับหน้าร้อนปี 2023 หลังล่าสุด กกพ. เคาะอัตราค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 66 ปรับเพิ่มขึ้น 5 สตางค์ เป็น 4.77 บาทต่อหน่วย จากเดิมวด ม.ค.-เม.ย. 66 เคยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

จากการประชุม ครั้งที่ 15/2566 (ครั้งที่ 843) วันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นและการพิจารณา “ค่า Ft” รอบใหม่ และมีมติเห็นชอบค่า Ft เป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 กกพ. มีมติเรียกเก็บในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ดังนั้น ค่าไฟงวดเดือน เม.ย.- พ.ค. 66 สำหรับภาคประชาชนจึงปรับขึ้นหน่วยละ 5 สตางค์ ส่วนภาคอุตสาหกรรมลดลง 56 สตางค์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ทั้งนี้การปรับ “ค่า Ft” จะมีการปรับอยู่เรื่อยๆ ทุกๆ 4 เดือน เพื่อให้อัตราค่าไฟสอดคล้องกับราคาต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนผู้ใช้ไฟบ้านทั่วไปยังคงต้องหามาตรการรับมือค่าไฟในหน้าร้อนกันทุกปี เพราะไม่ใช่แค่การการปรับขึ้นค่า Ft ที่มีผลต่อบิลค่าไฟเท่านั้น แต่อากาศที่ร้อนขึ้นก็ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟมากขึ้นด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การเปิดใช้งานแอร์หรือเครื่องปรับอากาศนั้น ต้องรู้ก่อนว่า หากอากาศร้อนขึ้น 6 °C แม้เปิดแอร์ 1 ชม. เท่าเดิม ค่าไฟจะแพงขึ้น 14% หรือประมาณ 93-94 บาท แล้วแบบนี้จะมีวิธีการ “ประหยัดไฟ” ในหน้าร้อนนี้ได้อย่างไรบ้าง? เรื่องนี้มีคำแนะนำจาก “การไฟฟ้านครหลวง” มาบอกต่อ ดังนี้

ฮาวทู ‘ประหยัดไฟ’ รับหน้าร้อนปี 2023 หลังอัตราค่าไฟปรับเพิ่ม 5 สต.

  • ปรับอุณหภูมิแอร์ที่ 26-27 °C และเปิดพัดลมช่วยกระจายความเย็น
  • ไม่ควรตั้งอุณหภูมิแอร์ไว้ต่ำกว่า 25 °C
  • เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 + 3 ดาว (ยิ่งดาวมากยิ่งประหยัด)
  • ไม่ควรเปิดตู้เย็นบ่อยๆ หรือเปิดประตูตู้เย็นค้างไว้นานๆ
  • งดใช้ทีวีหลายเครื่องพร้อมกันในบ้าน และไม่เปิดทีวีนานๆ หลายชั่วโมง
  • ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน
  • เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED กินไฟน้อยกว่า สว่าง ทนทาน รักษ์โลก

นอกจากนี้ ทุกคนควรรู้ด้วยว่าไม่ใช่แค่ “เครื่องปรับอากาศ” เท่านั้นที่กินไฟครั้งละมากๆ แต่ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่กินไฟมากในการใช้งานแต่ละครั้ง ดังนั้นหากเลี่ยงการใช้งานติดต่อกันนานนๆ ได้ ก็จะยิ่งช่วยให้ประหยัดไฟมากขึ้น โดยเครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟเหล่านั้น ได้แก่

1. เครื่องทำน้ำอุ่น : ขนาด 3,500-6,000 วัตต์ จะมีอัตราค่าไฟประมาณ 13.5 -23.5 บาท /ชม.

2. เตาแม่เหล็กไฟฟ้า : ขนาด 2,000-3,500 วัตต์ จะมีอัตราค่าไฟประมาณ 8-14 บาท /ชม.

3. เตารีดไฟฟ้า : ขนาด 1,000-2,800 วัตต์ จะมีอัตราค่าไฟประมาณ 3.5-10 บาท/ ชม.

4. เครื่องเป่าผม : ขนาด 1,600-2,300 วัตต์ จะมีอัตราค่าไฟประมาณ 6-9 บาท /ชม.

5. เครื่องดูดฝุ่น : ขนาด 1,400-2,000 วัตต์ จะมีอัตราค่าไฟประมาณ 6-8 บาท /ชม.

เอาเป็นว่า หน้าร้อนนี้พยายามลด ละ เลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่กินไฟมากโดยไม่จำเป็นไว้ก่อน น่าจะเป็นหนทางการประหยัดไฟในหน้าร้อนที่ดีอีกทางหนึ่ง ยกเว้นเครื่องปรับอากาศที่ไม่ว่าจะบ้านไหนก็คงจำเป็นต้องเปิดใช้งานจริงๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้