เลิกเกลียดวันจันทร์! เริ่มสัปดาห์แบบ "Bare Minimum Mondays" ทำงานแค่จำเป็น

เลิกเกลียดวันจันทร์! เริ่มสัปดาห์แบบ "Bare Minimum Mondays" ทำงานแค่จำเป็น

ชาว TikTok คิดค้นแนวคิดใหม่ช่วยให้อาการ “เกลียดวันจันทร์” หายเป็นปลิดทิ้งด้วย “Bare Minimum Mondays” ทำงานในวันจันทร์ให้น้อยที่สุด เลือกทำแต่ที่จำเป็น ภาคต่อจาก “Quiet Quitting” เพื่อฟื้นฟูจิตใจให้กลับเข้าสู่โหมดการทำงาน

เริ่มต้นสัปดาห์แห่งการทำงานทั้งที มันควรจะเป็นเช้าวันจันทร์ที่แสนสดใส แต่กลับกลายเป็นวันที่แสนหดหู่ของใครหลายคน เพราะต้องตื่นแต่เช้า หอบร่างกายสะโหลสะเหล ฝ่ารถติดไปทำงาน แค่คิดก็ท้อแล้ว ทั้งที่เมื่อวานยังได้นอนตื่นสาย พักผ่อนอย่างเต็มที่อยู่แท้ ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายคนจะมีอาการ “เกลียดวันจันทร์” (Monday Blues) ไปโดยปริยาย แต่อาการนี้จะหมดไป ด้วยแนวคิด “Bare Minimum Mondays

ชาว TikTok มักคิดเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อให้เข้ากับชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ล่าสุดเกิดเทรนด์ Bare Minimum Mondays โดยติ๊กต็อกเกอร์ชื่อว่า เมริสา โจ เมย์ส เป็นผู้เสนอแนวคิดนี้ และกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย มียอดเข้าชมเกือบ 2 ล้านครั้ง 

สำหรับแนวคิด Bare Minimum Mondays นั้นคล้ายกับ Quiet Quitting ที่เป็นการทำงานไปตามหน้าที่ ไม่ทำงานหนักจนกดดันตนเองมากเกินไป ทำงานสบาย ๆ ตามความหมายของ “Bare Minimum” ที่แปลว่า ทำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เลือกทำเฉพาะงานที่จำเป็น เน้นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่มีการประชุม และเน้นการดูแลตนเองให้มากขึ้น แต่ “Bare Minimum Mondays” นั้นอนุญาตให้ทำเฉพาะในวันจันทร์เท่านั้น

จากการสำรวจของ YouGov บริษัทวิจัยข้อมูล เมื่อปี 2021 พบว่า 58% ของชาวสหรัฐที่ทำแบบสำรวจชอบวันจันทร์น้อยที่สุดในสัปดาห์ ส่วนวันเสาร์เป็นวันที่ชาวสหรัฐชอบมากที่สุดถึง 35% ตามมาด้วยวันศุกร์ที่ 29%

สาเหตุหลักที่ผู้คนต่าง เกลียดวันจันทร์ จนมีคะแนนนำลิ่วแซงหน้าวันอื่น ๆ เพราะวันจันทร์เป็นวันแรกของการทำงาน หลังจากวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ทุกคนได้ใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือจะนอนทั้งวันอยู่ในห้องก็ตาม ทำให้เราปรับตัวไม่ทัน จนระรานไปถึงวันอาทิตย์ จนมีคำเรียกว่า  “Sunday Scaries” วันอาทิตย์แสนสาหัส ที่หลายคนใช้เวลาไปในวันอาทิตย์อย่างขวัญผวา แทนที่จะได้ใช้เวลาพักผ่อนอย่างมีความสุข แต่ก็สุขไม่สุด เพราะมัวแต่คิดถึงความสาหัสสากรรจ์ของการทำงานที่กำลังจะมาถึง จนไม่อยากให้วันอาทิตย์สิ้นสุดลง 

 

  • ตารางการทำงานแบบ Bare Minimum Mondays

เมย์สได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Insider ว่าเดิมทีเธอเป็นพนักงานฝ่ายขายในบริษัทขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ และพบว่าตัวเองกำลัง หมดไฟ และเกิดภาวะ Sunday Scaries ในทุกสัปดาห์ จึงทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากงาน มาร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพ ที่ชื่อว่า Spacetime Monotasking

ในเดือนมี.ค. ปีที่แล้ว เมย์สเริ่มทำงานเพียงเล็กน้อยในวันจันทร์ และเธอรู้สึกว่ามันดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเธอก็ทำตลอดมา และแชร์แนวคิดนี้ลง TikTok จนกลายเป็นไวรัล 

สำหรับกิจวัตรประจำวันของเธอในทุกวันจันทร์มีดังนี้

เธอจะเริ่มวันจันทร์ด้วยการตั้งเป้าหมาย 2-3 ข้อที่เมื่อทำเสร็จแล้วจะทำให้เธอตื่นเต้น หลังจากนั้นเธอจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วแรกของวันไปกับการอ่านหนังสือ เขียนโน้ต จัดบ้าน หรือทำอะไรก็ตามที่รู้สึกดีอย่างช้า ๆ สำหรับการเริ่มวันใหม่ โดยไม่แตะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แม้แต่น้อย  

จากนั้นราว ๆ 10 โมงเช้า เธอจะเริ่มทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น การถ่ายทำคอนเทนต์ หรือ คิดคอนเซปท์งานต่าง ๆ ซึ่งงานเหล่านี้ล้วนเป็นงานที่ทำให้เธอรู้สึกสนุกกับการใช้ความคิด เมื่อผ่านไปได้ 1 ชั่วโมง เธอจะพักไปทานอาหารกลางวัน หรือเดินเล่น หลังจากนั้นกลับมาทำงานหลักของเธอต่ออีก 2 ชั่วโมง ซึ่งถ้าหากยังไม่เสร็จเธอจะทำต่อไปอีก 1 ชั่วโมง

เมย์สกล่าวว่า ระหว่างที่ทำงานนั้น เธอจะใช้สมาธิอย่างเต็มที่ ไม่วอกแวก ไม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น ทำให้เธอสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แถมใช้เวลาน้อยลง แต่ได้เนื้องานเท่ากับทำงาน 8 ชั่วโมงในวันปกติ

 

  • วิธีเริ่มต้นวันจันทร์ที่แสนสดใส

ในทางปฏิบัติแล้ว Bare Minimum Mondays อาจจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับทุกคน ซึ่งเมย์สก็รู้ดี และเธอบอกว่าที่เธอทำแบบนี้ได้เพราะเธอทำงานจากที่บ้าน ซึ่งหากใครอยากจะลองดูก็ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าหากคิดว่าตนเองไม่เหมาะกับนี้  “กรุงเทพธุรกิจ” มีอีกหลายทางเลือกมานำเสนอ

วิธีง่าย ๆ ที่คุณสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการเกลียดวันจันทร์ได้ เพียงแค่คุณสละเวลาเพียงเล็กน้อยในช่วงเสาร์-อาทิตย์สำหรับวางแผนและเตรียมตัวให้พร้อมในการเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ 

เริ่มจากตั้งเป้าหมายว่าในสัปดาห์มีอะไรที่คุณต้องทำให้เสร็จ จากนั้นเลือกเสื้อผ้าที่อยากจะใส่ในวันจันทร์ให้เรียบร้อย แล้วรีบเข้านอนให้ไว ให้เพียงพอ ตื่นเช้ามาจะได้รู้สึกสดชื่น

รวมถึงออกกำลังกายเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นออกไปจ๊อกกิ้ง เล่นโยคะ หรือกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่ทำให้คุณรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ซึ่งจะช่วยสามารถลดความกลัวภายในจิตใจ ทำให้คุณรู้สึกดีกับตนเอง ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมีไอเดียบรรเจิดยิ่งขึ้น

เมื่อคุณเริ่มทำงาน ให้เริ่มต้นจากงานที่ยากที่สุด หรือไม่อยากทำก่อน เพราะถ้าคุณผ่านสิ่งยากที่สุดไปได้แล้ว วันที่เหลือคุณก็จะทำงานได้อย่างสบาย ๆ ไม่มีงานสุมหัว ขณะเดียวกันถ้ามัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง งานก็จะสุมหัวคุณทั้งวัน แถมเมื่อใกล้ถึงเส้นตาย ต้องมาเร่งทำงาน จนงานที่ออกมาไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้นไม่ควรกดดันตัวเองให้มากจนเกินไป ปล่อยจอยและดื่มด่ำกับความสุนทรีย์ของวันจันทร์อย่างละเมียดละไม แต่อย่าลืมทำงานด้วยนะ

จากการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากวันหยุดสู่วันทำงาน ซึ่งหลายคนอาจจะต้องการเวลาปรับตัวให้เข้าสู่โหมดการทำงานมากกว่าแค่วันจันทร์แค่วันเดียว ทำให้เกิดศัพท์ใหม่ เช่น "Try-Less Tuesday" หรือ วันอังคารทำงานน้อย

นอกเหนือจากนี้ ในวันพุธไปจนถึงวันศุกร์ ก็มีศัพท์ในทำนองเดียวกันเกิดขึ้น เพื่อแทนเป้าหมายในแต่ละวันว่าจะทำงานน้อย ๆ แต่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ วันพุธหยุดทำงาน (Work-Not Wednesday) วันพฤหัสอยู่เฉย ๆ (Thumb-Your-Nose Thursday) และ วันศุกร์สุดสบาย (Feckless Friday)

แน่นอนว่าคำศัพท์เหล่านี้มันอาจจะฟังดูน่าเอ็นดูและน่าขำในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึง “ด้านมืด” ของการทำงาน ที่เป็นทั้งความท้าทาย แต่ก็น่าเบื่อและทำให้เครียดด้วย จนลุกลามเกิดความรู้สึกไม่มีส่วนร่วมหรือไม่มีคุณค่าในที่ทำงาน จนกลายเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่อยู่คู่กับแรงงานมาช้านานตั้งแต่มนุษย์เข้ามาทำงานในออฟฟิศ 

 

  • เปลี่ยนวิธีคิด หรือไม่ก็เปลี่ยนงาน

การหัวเสียกับการทำงานในวันจันทร์ นั้นไม่ช่วยให้อะไรให้ดีขึ้น แถมจะทำให้การเริ่มต้นวันใหม่ของเพื่อนร่วมงานของคุณไม่สดใสไปด้วย บรรยากาศการทำงานคงหดหู่และไม่เป็นมิตร หากคนรอบ ๆ ตัวคุณต้องมารับฟังว่าคุณเหนื่อยหน่ายกับการทำงานขนาดไหน พร้อมส่งต่อความคิดลบ ๆ และรังสีความโศกเศร้าไปทั่วออฟฟิศ ทุกคนคงจะไม่กล้าเข้าใกล้คุณ และ “โอกาส” ที่คุณจะได้รับงานดี ๆ ก็คงจะหายไป แถมเจ้านายคงจะไม่ปลื้มอีกด้วย

ดังนั้นคุณควรคิดบวก ถ้าเป็นไปได้ลองชวนเพื่อนร่วมงานไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน หรือไปแฮงเอาท์กันหลังเลิกงาน เพื่อเติมไฟในชีวิต และอย่างน้อยจะได้มีเป้าหมายให้คิดถึง แต่ถ้าหากคุณยังรู้สึกไม่ดีขึ้นเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ จนเริ่มไม่อยากทำงานอีกต่อไป ควรปรึกษากับหัวหน้าของคุณว่า มีงานอื่น ๆ ที่จะช่วยทำให้คุณกลับมามีไฟในการทำงานได้หรือไม่ หรือลองถามว่าคุณมีโอกาสจะเลื่อนตำแหน่งในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ ถ้าทำตอบว่ามีก็อาจจะทำให้คุณกลับมามีเป้าหมายเพื่อเลื่อนตำแหน่ง แต่ถ้าไม่มีก็ควรหางานสำรองเอาไปเพื่อไปเติบโตที่อื่น ดีกว่าอยู่ไปวัน ๆ ให้ไฟในตัวค่อย ๆ มอดดับในไม่ช้า

 

ที่มา: CNNEntrepreneurForbesInsider 1Insider 2The Guardian