8 มีนาคม "วันสตรีสากล" ส่องแคมเปญปีนี้ "โลกดิจิทัลต้องปลอดภัยกับผู้หญิง"

8 มีนาคม "วันสตรีสากล" ส่องแคมเปญปีนี้ "โลกดิจิทัลต้องปลอดภัยกับผู้หญิง"

"วันสตรีสากล" ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ชวนรู้ประวัติและความสำคัญของวันนี้ พร้อมส่องแคมเปญล่าสุดประจำปี 2023 ที่องค์กรหลักอย่าง UN women รณรงค์ให้เป็นปีที่โลกดิจิทัลปลอดภัยต่อผู้หญิงมากขึ้น และเท่าเทียมกันมากขึ้น

8 มีนาคม ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น "วันสตรีสากล" เชื่อว่าเป็นวันที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันดี แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ลึกถึงประวัติ ที่มา และความสำคัญของวันดังกล่าว สำหรับใครที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน กรุงเทพธุรกิจ จะพาไปย้อนรอยต้นกำเนิดวันสตรีสากลว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่ไหน เมื่อไร?

พร้อมอัปเดตแคมเปญรณรงค์ล่าสุด เนื่องในวัน "International Women's Day" ในปี 2023 เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิสตรี และการป้องกันภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับสตรีทั่วโลก 

1. "วันสตรีสากล" เกิดจากการเรียกร้องสิทธิของสาวโรงงานทอผ้า

ประวัติความเป็นมาของ "วันสตรีสากล" เกิดจากการเรียกร้องประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เนื่องจากในขณะที่พวกเธอออกมารวมตัวกันเพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิ ก็มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์สะเทือนใจดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)

จากนั้นในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าอีกแห่งหนึ่ง ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส พวกเธอต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ แถมยังได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด จนทำให้สาวโรงงานหลายคนเกิดการเจ็บป่วยล้มตายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก และเหตุการณ์คล้ายกันนี้ก็เกิดขึ้นทั่วไปในกลุ่มกรรมกรโรงงาน ทั้งในอเมริกาและยุโรป 

8 มีนาคม \"วันสตรีสากล\" ส่องแคมเปญปีนี้ \"โลกดิจิทัลต้องปลอดภัยกับผู้หญิง\"

2. "คลาร่า เซทคิน" ผู้ให้กำเนิด "วันสตรีสากล" 

จากสถานการณ์การเอาเปรียบแรงงานสตรีในโรงงานทอผ้าหลายๆ แห่ง จึงทำให้ "คลาร่า เซทคิน" (CLARE ZETKIN) นักการเมืองสตรีสายสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ออกมาปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

3. "แรงงงานหญิง" ประสบความสำเร็จ ได้รับค่าแรงเท่าผู้ชาย!

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบ 3/8 คือ

  • ให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง
  • ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง 8 ชั่วโมง
  • ให้เวลาพักผ่อนเพื่อคุณภาพชีวิตอีก 8 ชั่วโมง

พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย รวมถึงได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันสตรีสากล" จากความพยายามของ คลาร่า  ในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับสตรี ทำให้เธอได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น "มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล"

8 มีนาคม \"วันสตรีสากล\" ส่องแคมเปญปีนี้ \"โลกดิจิทัลต้องปลอดภัยกับผู้หญิง\"

4. "วันสตรีสากล" ทุกคนร่วมรำลึกถึงการเรียกร้องสิทธิสตรีในอดีต

ในวันสตรีสากล บรรดาผู้หญิงหลายๆ ประเทศจากทุกทวีป รวมทั้งองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง จะรวมตัวกันเพื่อร่วมเฉลิมฉลองให้กับวันสำคัญนี้ และร่วมรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในอดีต อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ ประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันสตรีสากล จึงกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดประจำชาติ ในขณะที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ก็ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองทุกปีอีกด้วย

จากการที่กำหนดวันสตรีสากลขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 ทำให้ในปีถัดมา 8 มีนาคม ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) มีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากลเป็นครั้งแรก โดยมีประชาชนทั้งชายและหญิงมากกว่า 1 ล้านคน จากทั้งประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ เข้าชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการทำงานของสตรี พร้อมขอให้ยุติการแบ่งแยกในการทำงาน จากนั้นในปีถัดมาก็เริ่มมีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากลขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน ตามมา

ต่อมาในปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) แรงงานหญิงชาวรัสเซียได้ร่วมชุมนุมที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อประท้วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เป็นเหตุให้ต้องสูญเสียทหารรัสเซียกว่า 2 ล้านคน ต่อมาพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียถูกโค่นล้มอำนาจ รัฐบาลที่เข้ามาบริหารใหม่จึงกำหนดให้สตรีมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม

5. UN กำหนดให้ทั่วโลกมี "วันสตรีสากล" ของแต่ละประเทศ

ต่อมาในปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เข้ามามีบทบาทในการเชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลก กำหนดวันใดวันหนึ่งเป็นวันฉลองแห่งชาติ ว่าด้วย "สิทธิของสตรีและสันติภาพสากล" โดยให้พิจารณาตามขนบธรรมเนียมประเพณี และสภาพทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ ซึ่งมีหลายประเทศสนับสนุนและได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการประกาศเกียรติคุณ ยกย่องสตรีที่ทำคุณประโยชน์ให้กับโลกทั้งที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือมีชีวิตอยู่ เช่น เจ้าหญิงไดอาน่า แห่งอังกฤษ, แม่ชีเทเรซา แห่งประเทศอินเดีย, ประธานาธิบดีเมกาวาตี แห่งอินโดนีเซีย และนางออง ซาน ซูจี ของพม่า ที่พยายามเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับประเทศ

8 มีนาคม \"วันสตรีสากล\" ส่องแคมเปญปีนี้ \"โลกดิจิทัลต้องปลอดภัยกับผู้หญิง\"

6. วันสตรีสากลในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมุ่งให้เห็นความสำคัญของสุภาพสตรีเช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2532 ประเทศไทยจึงได้ก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในสังคม รวมทั้งระลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของสตรี นับตั้งแต่นั้นมา วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ประเทศไทยจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองเนื่องในวันสตรีสากลด้วย 

โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญก็คือ การจัดให้มีการประกาศเกียรติคุณแก่สตรีดีเด่นประจำปี เนื่องในวันสตรีสากล เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติสตรีผู้สร้างประโยชน์ในสาขาอาชีพต่างๆ โดยผู้ที่เคยได้รับรางวัลดังกล่าว ได้แก่ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ปวีณา หงสกุล ฯลฯ

7. เปิดแคมเปญ "วันสตรีสากล" ล่าสุด ประจำปี 2566

ข้อมูลจาก UNwomen.org ระบุถึงธีมรณรงค์เนื่องใน "วันสตรีสากล 2566" ไว้ว่า จากยุคแรกเริ่มของการใช้คอมพิวเตอร์จนถึงยุคปัจจุบัน ที่มีการใช้งานสื่อโซเชียลและปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในโลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ช่องว่างระหว่างเพศยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบางครั้งการเข้าถึงทางดิจิทัลทำให้ผู้หญิงไม่สามารถปลดล็อกศักยภาพของเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ผู้หญิงยังคงมีอุปสรรคในการก้าวเข้ามาทำงานในสายอาชีพต่างๆ หรือการมีส่วนร่วมในการออกแบบทางเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยังพบว่าในโลกออนไลน์มีภัยคุกคามต่อผู้หญิงที่แพร่หลายและรุนแรงมากขึ้นด้วย

ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปิดประตูบานใหม่สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ทั่วโลก ยุคดิจิทัลเป็นโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในการขจัดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ 

ดังนั้นในวันที่ 8 มีนาคมนี้ UN จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล นักเคลื่อนไหว และภาคเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนให้โลกดิจิทัลปลอดภัยขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น และเท่าเทียมกันมากขึ้น เรามีโอกาสที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่า ไม่ใช่แค่สำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง แต่เพื่อมนุษยชาติและทุกชีวิตบนโลก

------------------------------------------

อ้างอิง : UNwomen.org, กรมประชาสัมพันธ์