“Anti Work - Quiet Quitting” เทรนด์การทำงาน ปี 2565

“Anti Work - Quiet Quitting” เทรนด์การทำงาน ปี 2565

“Anti Work” “Act Your Wage” และ “Quiet Quitting” กลายเป็นเทรนด์การทำงานยอดฮิตประจำปีนี้ ตามรายงานของ “Reddit” เว็บบอร์ดของสหรัฐ สะท้อนคนรุ่นใหม่ไม่แฮปปี้ในการทำงาน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ยังคงส่งผลกระทบต่อ “ตลาดงาน” อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปีนี้เกิดเทรนด์การทำงานต่าง ๆ มากมาย โดยข้อมูลจาก “Reddit” เว็บบอร์ดยอดนิยมของสหรัฐระบุว่าคำที่ได้ความนิยมสูงสุดในห้องสนทนาย่อย (Subreddit) หรือชุมชนที่เกี่ยวกับการทำงานในปี 2565 ได้แก่ “Anti Work” “Act Your Wage” และ “Quiet Quitting” ซึ่งทุกคำมีความหมายไปในทิศทางเดียวกัน คือ ไม่ต้องการทำงานหนักเกินไป และก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า งานนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตมากเพียงใด 

Anti Work เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่ต้องการใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องทำงาน รวมถึงคนที่ต้องการจะออกจากงาน โดยในห้องสนทนาดังกล่าวของ Reddit มีผู้ใช้งานมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 104% เมื่อเทียบจากเดือน ก.ย. 2564

Quiet Quitting หรือ QQ เป็นการทำงานไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ได้ทุ่มเททำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ซึ่งจุดประสงค์หลักของ QQ คือ การเยียวยาตนเองไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะหมดไฟในการทำงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ

Act Your Wage การทำงานให้ตามค่าจ้างที่ได้รับ อย่าทำอะไรเกินตัว ซึ่งชุมชนนี้มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 95% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว

ผู้ใช้งาน Reddit หรือที่เรียกว่า เรดดิตเตอร์แลกเปลี่ยนทัศนคติ ชีวิตการทำงาน รวมทั้งขอหรือให้คำปรึกษาด้านอาชีพและเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน

“แต่ละห้องสนทนานั้นมีหัวข้อกันพูดคุยที่คล้าย ๆ กัน เพื่อแสวงหาแนวทาง ทำความเข้าใจ จัดการ และความสุขในที่ทำงาน เพราะผู้คนต่างเผชิญกับรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไป ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเจน Z ที่เป็นผู้ใช้งานมากที่สุดของแพลตฟอร์ม” ร็อบ เกจ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกระดับโลก ของ Reddit เปิดเผยกับสำนักข่าว CNBC 

  • HR พึ่งพาไม่ได้

นาตาลี บอมการ์ตเนอร์ นักจิตวิทยาในที่ทำงานและผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรม ระบุว่า เทรนด์การทำงานที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการทบทวนบทบาทการทำงานของเหล่าพนักงานอีกครั้งอย่างถี่ถ้วนขึ้น

“เราต่างรู้ดีว่าผู้คนเกิดความลำบากใจอย่างท่วมท้นในที่ทำงาน ทั้งยังถูกขอให้ทำงานหนักขึ้น โดยใช้เวลาน้อยลงอีก ทำให้พนักงานต่างเกิดความไม่พอใจต่อการทำงาน ทำให้พวกเขามองหาที่ระบายความไม่พอใจและความกังวลนั้น ๆ”

ดี ซี. มาร์แชล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Diverse & Engaged บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการบุคคลของสหรัฐ กล่าวว่า ในอดีตเมื่อเกิดปัญหาในการทำงานพนักงานมักจะแจ้งฝ่ายบุคคลเป็นอันดับแรก แต่ในปัจจุบันกลับเลือกที่จะปรึกษาคนในโลกออนไลน์ที่ไม่รู้จักแทน แสดงให้เห็นว่าการดูแลพนักงานอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หรือให้คำตอบที่ตรงจุด อีกทั้งมีความกังวลว่าหากแจ้งปัญหาไป อาจทำให้เกิดปัญหาต่อหน้าที่การงานได้อีกด้วย

จากการวิจัยของ Achievers Workforce Institute สถาบันวิจัยข้อมูลเชิงลึกระบุว่า มีพนักงานเพียง 14% เท่านั้น ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งหากบริษัทของตนสอบถามความคิดเห็นของพนักงานเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในการทำงาน

การหันไปใช้โซเชียลมีเดียเพื่อระบายหรือขอคำปรึกษาเรื่องงานของคนวัยทำงานเหมือนกัน เป็นรูปแบบหนึ่งในการคลายเครียดและหาตัวช่วยเมื่อเกิดปัญหาในที่ทำงานของคนในยุคปัจจุบัน

“พวกเขาได้รับความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน เนื่องจากมีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาความคับข้องใจได้บ้าง อีกทั้งชุมชนเหล่านี้เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยจากฝ่ายบริหาร และพนักงานจะได้รับมุมมองที่ต่างออกไป พร้อมวิธีการรับมือกับปัญหาของคนอื่นเมื่อเจอสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน” บอมการ์ตเนอร์เสริม

  • ฟังหูไว้หู

แม้ว่าการได้เล่าเรื่องหรือขอคำปรึกษาจากผู้คนในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับปัญหาในที่ทำงานจะเป็นวิธีช่วยระบายความเครียดได้ดี แต่อาจจะไม่ใช่ช่องทางที่ได้รับวิธีการแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด หรือได้สนทนาเชิงลึก

“ความเห็นของคนในโลกอินเทอร์เน็ตส่วนมากไม่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพที่สามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะพบคอมเมนต์ว่า พวกเขาได้รับคำแนะนำจากนักบำบัด แพทย์ หรือนักบัญชีภาษีอากร เพื่อช่วยแก้ปัญหา” อัลเลน หว่อง ผู้ควบคุมห้องสนทนาย่อย r/fatFIRE ใน Reddit ระบุ

ขณะที่ บอมการ์ตเนอร์กล่าวว่า เหล่าพนักงานที่ขอคำปรึกษาจากคนในโลกออนไลน์ จำเป็นต้องตระหนักว่าพวกเขาอาจไม่ได้รับคำแนะนำที่ดีหรือถูกต้องที่สุด 

“ผู้ขอคำปรึกษาอาจจะไม่ได้เล่าเรื่องทั้งหมด คนในโลกโซเชียลจึงไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทำให้ไม่สามารถให้คำปรึกษาได้อย่างครบถ้วน ดังนั้น ผู้ขอคำปรึกษาจึงต้องใช้วิจารณญาณประเมินว่าคำแนะนำเหล่านั้นสามารถนำมาปรับใช้ในบริบทของตนได้หรือไม่ ที่สำคัญต้องระวังอย่าให้อารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาครอบงำ จนส่งผลต่อการหาวิธีแก้ไขปัญหา”

เหล่าผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้บริษัทต้องเพิ่มความสำคัญและรับฟังข้อเสนอแนะจากพนักงานให้มากขึ้น โดยบอมการ์ตเนอร์ระบุว่า “พนักงานส่วนใหญ่ยังคงรู้สึกสบายใจที่จะให้ข้อเสนอแนะผ่านแบบสำรวจ ดังนั้น ควรใช้การแสดงความคิดเห็นแบบไม่ระบุชื่อ เพื่อป้องกันการตรวจสอบชื่อและได้ข้อมูลที่พนักงานต้องการเสนออย่างแท้จริง"

ความไม่พอใจของพนักงานที่มีต่อองค์กรที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งตอกย้ำว่า บริษัทควรให้พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กรตั้งแต่ก่อนเริ่มการจ้างงาน 

เบน พอร์ รองประธาน Harver บริษัทจัดสรรบุคลากรชั้นนำของโลก กล่าวว่า “การแสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กรตามความเป็นจริง จะช่วยให้ผู้สมัครงานเข้าใจเนื้องาน และมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะรับงานนี้หรือไม่ ถึงแม้วิธีนี้อาจไม่ได้ช่วยขจัดความผิดหวังในที่ทำงานของพนักงาน แต่อย่างน้อยก็ช่วยยืดระยะเวลาการทำงานในองค์กรและการมีส่วนร่วมของพนักงานกับองค์กร”

 

ที่มา: CNBC