รู้จัก "Quiet Quitting" งานไม่แฮปปี้ ก็แค่ทำตามหน้าที่ แต่ไม่ต้องลาออก

รู้จัก "Quiet Quitting" งานไม่แฮปปี้ ก็แค่ทำตามหน้าที่ แต่ไม่ต้องลาออก

"Quiet Quitting" หรือ "ลาออกแบบเงียบๆ" วิธีฮีลใจตัวเองของคนรุ่นใหม่ ที่กำลังเผชิญหน้ากับงานที่ไม่แฮปปี้ แต่ยังไม่พร้อมลาออก เลือกทำตามหน้าที่ ไม่ต้องการความก้าวหน้า เพื่อลดความเครียดและความกดดันจากสังคมการทำงาน

"Quiet Quitting" หรือ "QQ" อีกหนึ่งพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ที่กำลังถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ "TikTok" และ "Twitter" ที่ใช้ชีวิตเสมือน “ลาออกแบบเงียบๆ” แต่ “ไม่ได้ลาออกจริงๆ” โดยใช้วิธีกำหนดขอบเขตการทำงานของตัวเองอย่างชัดเจนเพื่อ “ลดความเครียด” หรือหาทางหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟในการทำงานไปแบบดื้อๆ

QQ มักมาจากการที่เริ่มรู้สึกว่าความพอใจหรือภูมิใจในงานที่ตัวเองทำอยู่ลดลง ทำให้ไม่ได้รู้สึกกระตือรือร้นกับการทำงานเพื่อการเติบโตอีกต่อไป

ทว่า แม้จะไม่ได้ความสุขกับการทำงานแล้ว แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะลาออก จึงเลือกโฟกัสกับงานในส่วนแค่ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบเท่านั้น เพราะไม่ได้รู้สึกว่าต้องการความเติบโตอย่างโดดเด่น แต่อยากมีชีวิตที่บาลานซ์ในชีวิตมากกว่า

ความน่าสนใจคือพฤติกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ "Gen Z" ที่มองหา "งานที่แฟร์" และ "Work Life Balance" มากกว่าการเติบโตอย่างโดดเด่นในองค์กรที่ต้องแลกมาด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจเหมือนคนในเจเนอเรชันก่อนๆ 

นอกจากนี้การทำงานแบบ QQ ยังมีแรงกระตุ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่หลายองค์กรลดจำนวนคน แต่ต้องการปริมาณงานเท่าเดิม ทำให้พนักงานต้องทำหลายหน้าที่จนเหนื่อยล้าเกินจะแบกรับ

รายงานสถานที่ทำงานทั่วโลกของ "Gallup" ปี 2022 พบว่ามีเพียง 9% ของคนงานในสหราชอาณาจักรที่มีส่วนร่วมหรือกระตือรือร้นในการทำงาน ขณะที่การสำรวจพนักงานของ NHS ซึ่งดำเนินการในฤดูใบไม้ร่วงปี 2564 แสดงให้เห็นว่าขวัญกำลังใจลดลงจาก 6.1 จาก 10 เป็น 5.8 และความผูกพันของพนักงานลดลงจาก 7.0 เป็น 6.8

ด้วยบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปจากในอดีต การแข่งขันสูง ตำแหน่งงานน้อย แต่ต้องทักษะมากมายในคนๆ เดียว ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญกับความกดดันจนรู้สึกเบื่อหน่าย หรือรู้สึกถูกเอาเปรียบหากต้องทำงานเพิ่มที่นอกเหนือจากเนื้องานที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น

แม้แนวคิดนี้จะช่างขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องการทำงานของเจนเนอเรชันอื่นอย่าง อย่างไรก็ตาม การมีคนทำงานสไตล์ QQ ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนขี้เกียจและไม่ได้เป็นภัยต่อองค์กร แต่เป็นเรื่องที่หัวหน้างานและองค์กรควรรู้เพื่อจุดไฟในตัวคนรุ่นใหม่ให้ได้แบบไม่รบกวนการออกไปใช้ชีวิตมากจนหมดไฟ และ "ลาออก" ไปจริงๆ 

------------------------------------------------

อ้างอิง: haystodayfortune