"เซอร์วิสชาร์จ" จุกๆ เกือบ 8 หมื่น! เปิดใจคนโรงแรม ทำไมปีนี้รับทรัพย์อู้ฟู่ ?

"เซอร์วิสชาร์จ" จุกๆ เกือบ 8 หมื่น! เปิดใจคนโรงแรม ทำไมปีนี้รับทรัพย์อู้ฟู่ ?

รวยอู้ฟู่ไม่หยุด! เมื่อ "ธุรกิจโรงแรม" สุดหรูระดับลักชัวรี แห่แชร์ยอด "เซอร์วิสชาร์จ" ของพนักงานกันอย่างยิ่งใหญ่ บางแห่งได้เกือบแปดหมื่น! รับทรัพย์จุกๆ ต้อนรับปี 2566

เมื่อไม่นานมานี้ ในโลกโซเชียลทั้งจากทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก (เพจ Hotel Service Charge Update) ต่างแห่แชร์ยอดเงิน “เซอร์วิสชาร์จ” ของพนักงานบริการสายงานโรงแรมกันอย่างล้นหลาม เพราะต้นปีนี้พบว่า “ธุรกิจโรงแรม” หลายแห่งไม่ว่าจะในระดับหรูหราแบบลักชัวรี (6 ดาวขึ้นไป), โรงแรม 5 ดาว, โรงแรมขนาดเล็ก 3-4 ดาว ต่างก็เริ่มฟื้นตัวเต็มอัตรา

แน่นอนว่าเป็นอานิสงส์จากภาค “การท่องเที่ยวไทย” กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากซบเซาอย่างหนักในช่วงโควิด-19 ระบาดเมื่อ 3 ปีก่อน

โดยหนึ่งในชาวทวิตเตอร์ได้โพสต์ข้อความว่า “..ปังไม่ไหว จะเป็นลม service charge โรงแรม JW Marriot Phuket เฉลี่ยๆ แล้วได้คนละเกือบแปดหมื่น ตอนแรกนึกว่าพนักงานน้อยหรอ เปล่าจ้า จ้างประจำตั้งเกือบ 600 คน ขุ่นพระ คือรวมๆ แล้วค่า sc อย่างเดียวเกือบห้าสิบล้านต่อเดือน บ้ามาก การท่องเที่ยวไทยกลับมาแล้วสินะ..”

\"เซอร์วิสชาร์จ\" จุกๆ เกือบ 8 หมื่น! เปิดใจคนโรงแรม ทำไมปีนี้รับทรัพย์อู้ฟู่ ?

ส่วนอีกโพสต์หนึ่งในโลกโซเชียลที่แชร์ข้อมูล “เซอร์วิสชาร์จ” ของพนักงานโรงแรมหรูหลายๆ แห่ง มาโชว์ให้เห็นกันชัดๆ ว่า ผลประกอบการของแต่ละโรงแรมเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างมาก ซึ่งสะท้อนได้จากค่าเซอร์วิสชาร์จ ณ เดือนมกราคม 2566 ของพนักงานโรงแรมเหล่านี้ เช่น 

  • FourSeasons Samui : 64,500
  • FourSeasons Bkk : 36,800
  • Mandarin Oriental Bkk : 30,000
  • Capella Bkk : 33,000
  • Siam Kemp : 32,600
  • Park Hyatt Bkk : 35,400
  • Anantara Layan : 58,500
  • Anantara GT : 40,700
  • Anantara MK : 57,200 

\"เซอร์วิสชาร์จ\" จุกๆ เกือบ 8 หมื่น! เปิดใจคนโรงแรม ทำไมปีนี้รับทรัพย์อู้ฟู่ ?

ยิ่งโรงแรมไหนมียอดจองห้องพักมาก ก็ยิ่งมีรายรับเข้ามามาก ทำให้พนักงานพลอยได้รับค่า “เซอร์วิสชาร์จ” มากตามไปด้วย

 

  • เซอร์วิสชาร์จคืออะไร? ต่างกับการ “ให้ทิป” อย่างไร?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรงแรมที่พักส่วนใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศ มักจะมีการเรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จไม่ต่างกับร้านอาหาร ทั้งนี้ “เซอร์วิสชาร์จ” (Service Charge) หมายถึง ค่าบริการที่ผู้ประกอบการคิดเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ โดยมีอัตราการเรียกเก็บตามกฎหมายอยู่ที่ไม่เกิน 10%

แล้วทำไมโรงแรมถึงต้องเรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จ? นั่นเป็นเพราะว่า “ธุรกิจโรงแรม” ถือเป็นการซื้อขายงานบริการรูปแบบหนึ่งที่ให้มากกว่าการเช่าห้องพักรายวัน ซึ่งจะต้องมีงานบริการส่วนอื่นเพิ่มเติมเข้ามาด้วย เช่น บริการนำรถเข้าจอด, ยกกระเป๋าส่งถึงห้อง, สปา, สระว่ายน้ำ, ห้องอาหาร เป็นต้น

ดังนั้น ธุรกิจโรงแรมจึงต้องมีการรเรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จ เพื่อเป็นเหมือนการให้ทิปพนักงานนั่นเอง ซึ่งผู้บริโภคจะไม่ต้องให้ทิปพนักงานเพิ่มก็ได้ เพราะได้จ่ายเซอร์วิสชาร์จรวมไปแล้ว เว้นแต่คุณจะถูกใจบริการของพนักงานคนไหนมากเป็นพิเศษ สามารถให้ทิปเพิ่มเป็นการส่วนตัวก็ได้ ทั้งนี้ วิธีการคิดเซอร์วิสชาร์จก็จะแตกต่างกันออกไปตามนโยบายของแต่ละโรงแรม

โดยหลักๆ คือ โรงแรมจะนำเงินเซอร์วิสชาร์จแบ่งออกเป็น 2 ส่วน (อัตราเท่าไรขึ้นอยู่กับนโยบาย) ส่วนหนึ่งให้พนักงาน อีกส่วนหนึ่งหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของโรงแรม เช่น ค่าซ่อมบำรุงอาคาร, ค่าโบนัส, ค่าข้าวของเสียหาย ฯลฯ เหลือเท่าไรก็แบ่งให้พนักงานในอัตราเท่าๆ กัน หรือบางโรงแรมก็จะนำยอดรวมของเซอร์วิสชาร์จทั้งหมดมาหารแบ่งให้พนักงานทุกคนก็มีเช่นกัน 

\"เซอร์วิสชาร์จ\" จุกๆ เกือบ 8 หมื่น! เปิดใจคนโรงแรม ทำไมปีนี้รับทรัพย์อู้ฟู่ ?

 

  • ทำไมปีนี้พนักงานบริการในโรงแรมรับ "เซอร์วิสชาร์จ" สูงมาก?

หลังจากโพสต์เซอร์วิสชาร์จดังกล่าวถูกแชร์ออกไปไม่นาน ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า ทำไมสายงานโรงแรมปีนี้ถึงได้รับทรัพย์อู้ฟู่ขนาดนี้? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ต่อสายตรงพูดคุยกับตัวแทนคนโรงแรมตัวจริงเสียงจริง เพื่อไขคำตอบให้กระจ่างมากขึ้น

หนึ่งในพนักงานโรงแรม ที่ทำงานในตำแหน่ง Associate of Front Office Department ของโรงแรมหรูระดับลักชัวรี บนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มาหลายแห่ง ตลอดการทำงานมายาวนาน 8-9 ปีในสายงานนี้ เธอยอมรับว่า ช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ พนักงานโรงแรมเกือบทุกโรงแรมได้เงินเซอร์วิสชาร์จเพิ่มขึ้นเยอะมาก เมื่อเทียบกับช่วงโควิดระบาด เพราะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวเกาะสมุยได้สะดวกขึ้น (ไม่มีการกักตัว ไม่มีมาตรการที่ยุ่งยากเหมือนช่วงโควิด) ยอดจองห้องพักโรงแรมก็สูงขึ้นกว่าเดิมมาก

นักท่องเที่ยวเองก็อัดอั้นและอยากท่องเที่ยวมานานแล้ว แต่โควิดทำให้เที่ยวไม่ได้ เมื่อสถานการณ์โควิดผ่อนคลายลง นักท่องเที่ยวจึงหลั่งไหลเข้ามาที่เกาะสมุยอย่างล้นหลาม โรงแรมแต่ละแห่งก็มียอดจองห้องพักพุ่งสูงขึ้นมากอย่างผิดหูผิดตา

“นักท่องเที่ยวมากันไม่หยุด มาเรื่อยๆ ไม่มีแผ่ว จนไม่รู้ช่วงไหนหน้าไฮซีซั่น ช่วงไหนหน้าโลว์ซีซั่นของเกาะสมุยแล้ว เพราะว่านักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะตลอดเวลาทุกเดือนแบบไม่หยุดจริงๆ” เธอเล่าให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

\"เซอร์วิสชาร์จ\" จุกๆ เกือบ 8 หมื่น! เปิดใจคนโรงแรม ทำไมปีนี้รับทรัพย์อู้ฟู่ ?

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้พนักงานโรงแรมได้รับเซอร์วิสชาร์จสูงมากในปีนี้นั้น Front Officer รายนี้ให้คำตอบว่า เนื่องจากราคาค่าห้องพักของโรงแรมจำพวกลักชัวรีมีราคาแพงอยู่แล้ว ราคาแพงจากการใส่ความลักชัวรีในคุณภาพผลิตภัณฑ์ (ตัวห้องพักและของใช้ต่างๆ ในห้องพักที่มีคุณภาพสูง) ซึ่งต้นทุนมีการขึ้นราคาบ้างแล้ว

อีกทั้งโรงแรมระดับนี้ยังขายความลักชัวรีด้านเซอร์วิสด้วย ก็คือการบริการที่มีคุณภาพสูง ซึ่งต้นทุนด้านนี้คือ "ทรัพยากรมนุษย์" ที่ไม่ได้มีการตีค่าต้นทุนเป็นตัวเลขเป๊ะๆ ได้เหมือนกับผลิตภัณฑ์ห้องพัก ดังนั้นโรงแรมลักชัวรีบางแห่งจึงสามารถขึ้นราคาค่าห้องพัก จากการคิดค่าบริการเหล่านี้เพิ่มเติม จึงทำให้โรงแรมได้กำไรเยอะขึ้นนั่นเอง

ขณะที่พนักงานโรงแรมตำแหน่ง Associate of Reservation Department ของโรงแรมหรูอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะสมุยเช่นกัน  ก็เล่าไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้แทบทุกโรงแรมบนเกาะสมุย พนักงานได้ค่าเซอร์วิสชาร์จมากขึ้น นอกจากโรงแรมมีกำไรมากขึ้นจากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวพร้อมจ่ายเต็มที่หลังจากอัดอั้นมานาน

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้พนักงานโรงแรมได้เซอร์วิสชาร์จมากขึ้น ก็มาจาก พนักงานภาคบริการในโรงแรมมีจำนวนลดลง จากการที่ล็อกดาวน์ในช่วงโควิดระบาดหนักเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มีการ Lay Off พนักงานออกไปจำนวนหนึ่ง เนื่องจากตอนนั้นธุรกิจโรงแรมทรุดหนักจนต้องตัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ออกไป แต่พอโควิดคลายลง โรงแรมบางแห่งก็ไม่ได้จ้างพนักงานกลับเข้ามาเพิ่มเติม แต่ใช้พนักงานที่เหลืออยู่น้อยลงเหล่านั้นในการรันงานทั้งหมด เมื่อหารค่าเซอร์วิสชาร์จต่อคน แต่ละคนจึงได้เงินก้อนนี้ในจำนวนที่สูงขึ้น

ส่วนพนักงานโรงแรมระดับหัวหน้างาน ในตำแหน่ง Associate of Housekeeping Supervisor ของโรงแรมลักชัวรีแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็ยืนยันเช่นกันว่า หลังจากช่วงโควิดคลายลง ธุรกิจโรงแรมก็ฟื้นตัวอย่างมาก โดยเฉพาะค่าบริการ (Service charge) ของพนักงานโรงแรมได้เพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงโควิด เกือบจะ 100% ส่วนหนึ่งมองว่าเรทค่าห้องมีการปรับสูงขึ้นด้วย (จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น) และที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วมาจนถึงต้นปีนี้ ก็มีเทศกาลต่างๆ ไล่เรียงมาหลายเทศกาล ทั้งลอยกระทง, คริสต์มาส, เคาท์ดาวน์ปีใหม่ ฯลฯ ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังจ่ายสูงเริ่มกลับมาเที่ยวในเมืองไทยกันอย่างหนาแน่น ธุรกิจโรงแรมจึงพลอยได้รับผลดีไปด้วย

\"เซอร์วิสชาร์จ\" จุกๆ เกือบ 8 หมื่น! เปิดใจคนโรงแรม ทำไมปีนี้รับทรัพย์อู้ฟู่ ?

 

  • สายงานโรงแรมไม่ง่าย! ได้เงินเยอะจริง แต่แลกมาด้วยงานหนัก

เห็นแบบนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนอยากจะกระโดดเข้ามาทำงานสายนี้แน่ๆ แต่เดี๋ยวก่อน! ใช่ว่างานภาคบริการจะเป็นงานสบายๆ ที่ได้เงินเยอะ ตรงกันข้าม! งานบริการเป็นสายงานที่ต้องทำงานหนัก ทำงานไม่เป็นเวลา รวมถึงมีแรงกดดันสูงทั้งจากหัวหน้างานและจากลูกค้าที่ต้องการการบริการที่สุดที่สุดจากพวกเขา จึงพูดได้ว่าแม้จะได้เงินค่าเซอร์วิสชาร์จสุดอู้ฟู่ แต่ภาระงานก็หนักหนาเอาการอยู่ไม่น้อย 

ยืนยันจากพนักงาน Front Officer คนเดิม เธอบอกว่า งานโรงแรมเป็นงานที่หนักมาก อย่างที่บอกไปว่าต้นทุนส่วนหนึ่งของธุรกิจโรงแรมลักชัวรี คือ "การบริการคุณภาพสูงของพนักงาน" นั่นทำให้นักท่องเที่ยวกำลังจ่ายสูง เลือกที่จะเข้าพักกับโรงแรมระดับนี้กันจำนวนมาก เมื่อมีลูกค้ามากขึ้น พนักงานโรงแรมก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นตามไปด้วย (จำนวนพนักงานมีน้อย/ขาดแคลน) และพนักงานแต่ละส่วนก็ต้องรักษามาตรฐานการบริการให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ความลักชัวรีของโรงแรมไว้ให้ได้ตามมาตรฐาน แม้ว่าจำนวนลูกค้าจะ Overload ขนาดไหนก็ตาม

นั่นจึงเป็นสาเหตุให้พนักงานโรงแรมส่วยใหญ่ทำงานหนัก ทำงานเกินเวลาเสมอ จากปกติทำงาน 8-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่บางช่วงเวลาลูกค้าเข้ามาเยอะมากจนต้องทำงานล่วงเวลาไป 11-12 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ได้ตัดเป็นโอทีเหมือนกับการทำงานบริษัทหรือโรงงาน เพราะลักษณะงานคือ การทำงานกับคนที่ไม่สามารถมีมาตรวัดปริมาณใดๆ ได้ ทุกอย่างต้องทำได้อย่างยืดหยุ่น ทำให้การควบคุมปริมาณงานหรือวางแผนจัดการงานในแต่ละวันไม่สามารถทำได้ตามกรอบเหมือนสายงานอื่นๆ 

ด้านพนักงานโรงแรม ตำแหน่ง Associate of Housekeeping Supervisor ก็เล่าว่า ช่วงหลังโควิดมานี้พนักงานภาคบริการในโรงแรมลดจำนวนลงจริง ทำให้พนักงานที่เหลืออยู่ต้องทำงานหนักขึ้น บางครั้งต้องทำงานมากกว่าชั่วโมงทำงานปกติ หรืออาจจะต้องทำงานในวันหยุดด้วย แต่ทั้งนี้วันหยุดเหล่านั้นก็สะสมไว้ใช้พักผ่อนในเดือนถัดไปได้ 

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครอยากเปลี่ยนสายงานไปทำงานเป็นพนักงานโรงแรมเพียงเพราะเห็นว่าได้ค่าเซอร์วิสชาร์จก้อนโต อาจจะต้องคิดทบทวนใหม่ให้ดี หากคุณรับไม่ได้กับการที่ต้องทำงานล่วงเวลา หรือต้องทำงานทุกๆ วันเสาร์-อาทิตย์ คุณก็อาจจะไม่เหมาะกับงานภาคบริการในโรงแรงหรูระดับลักชัวรี แต่ถ้ารู้สึกว่าชอบงานบริการและมั่นใจว่าตนเองเป็นคนสู้งานหนักได้ดี และมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ หากคุณสมบัติครบขนาดนี้ก็ไม่ต้องรออะไรแล้ว รีบเขียนใบสมัครและก้าวสู่สายงานโรงแรมหรูได้เลย!

------------------------------------------

อ้างอิง : TonsTweetings, PromthidaHotelsupHotel service charge update